สองมือน้อยบรรจงปั้น ร่วมสืบสาน “ขนมต้มยวน” สสส. เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้าน “พยุหะคีรี”
สภาพแวดล้อมทางสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สื่อต่าง ๆ ที่รายล้อมรอบตัวล้วนมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ไม่น้อย แม้กระทั่งวัฒนธรรมอาหารการกินและขนมไทยที่เคยทำกินเองในครอบครัว ก็ค่อย ๆ หายไปและถูกแทนที่ด้วยขนมจากวัฒนธรรมต่างชาติ มีบางท้องที่เท่านั้นที่ยังเห็นความสำคัญช่วยต่อลมหายใจภูมิปัญญาพื้นถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
ในพื้นที่ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มีขนมไทยพื้นบ้านที่มีมานานคือ “ขนมต้มยวน(ญวน)” ทำจากแป้งข้าวเหนียวมีลักษณะคล้าย ขนมบัวลอย แต่มีขนาดใหญ่กว่าและมีไส้ถั่วเหลืองอยู่ข้างใน แม้จะมีการทำขายอยู่บ้างแต่จำนวนผู้ที่ทำขนมต้มยวนลดน้อยลง
สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เด็กๆ รวมกลุ่มกันดำเนิน โครงการ “ต้มยวน ชวนชิม ถิ่นพยุหะ” เพื่อร่วมกันสืบทอดวัฒนธรรมการกินของท้องถิ่น สร้างความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเองทุกขั้นตอน
นางสาวชนินทร์ชิตา ทรงปรีชา ครูสอนวิชาสังคม โรงเรียนพยุหะศึกษาคาร ที่ปรึกษาโครงการ เล่าถึงที่มาว่าปัจจุบันการเรียนการสอนในโรงเรียนจะต้องจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น และพบว่าการทำขนมต้มยวนเป็นหนึ่งในขนมพื้นบ้านที่อยู่คู่กับพยุหะคีรีมายาวนาน ปัจจุบันมีคนขายขนมชนิดนี้เพียงรายเดียว ขณะเดียวกันเมื่อถามนักเรียนที่เคยรับประทานขนมชนิดนี้ กลับไม่รู้ขั้นตอนการทำ จึงแนะนำให้นักเรียนรวมกลุ่มแบ่งหน้าที่ วางแผน ตั้งแต่การหาข้อมูล แสวงหาผู้รู้เพื่อสอนวิธีทำ จนกระทั่งสามารถทำขนมต้มยวนได้รสชาติกลมกล่อม
“แต่ก่อนขนมต้มยวนหารับประทานยาก มีแม่ค้าทำขายอยู่คนเดียว เคยขอร้องให้ช่วยสอนเด็กๆ แต่เขาหวงสูตรเพราะเกรงจะมีคู่แข่ง จนกระทั่งได้ครูภูมิปัญญาจิตอาสา และผู้สูงอายุหลายคนให้คำแนะนำ ค่อยๆ ทดลองปรับสูตรจนเด็กสามารถทำได้” ครูที่ปรึกษากล่าว พร้อมกับให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์สำหรับเด็กๆ โดยเป็นการสร้างโอกาส แม้ในวันหนึ่งไม่มีงานทำในอนาคต ขนมต้มยวนที่เคยเรียนรู้ในโรงเรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้
ด.ญ.ภิรัญญา ยานากะ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนพยุหะศึกษาคาร หัวหน้าโครงการ เล่าว่ารู้จักและเคยกินขนมต้มยวนแต่ไม่รู้มาก่อนว่าเป็นขนมท้องถิ่นของพยุหคีรี พอได้กินก็ติดใจในรสชาติของขนม อยากสืบทอดการทำขนมและยกระดับขนมท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นจึงได้รวมกลุ่มเพื่อน 11 คน ประชุมแบ่งหน้าที่ตั้งแต่ลงหาข้อมูลจากชาวบ้าน สัมภาษณ์ครูภูมิปัญญา จดบันทึก นำมาทดลองทำ และปรับเปลี่ยนเติมสีสันขนมต้มยวนเพิ่มขึ้นอีก
“แต่ก่อนเป็นคนกินอย่างเดียว ไม่รู้วิธีทำเลย พวกเราจึงไปหาความรู้จากครูภูมิปัญญา และทดลองทำอยู่หลายครั้งเหมือนกันกว่าจะนิ่ง ที่เราทดลองปรับเปลี่ยนก็คือเพิ่มสีเหลืองจากเนื้อฟักทองนึ่งที่นำไปผสมแป้งข้าวเหนียว แต่ก่อนจะมีสีธรรมชาติ สีเขียวจากใบเตยและสีม่วงจากอัญชัน ตอนนี้ก็มีสีเหลืองเพิ่มขึ้นมา”
ขณะที่ ด.ญ.อภิชญา ชำนาญรักษา ชั้น ป.5 เพื่อนนักเรียนในกลุ่มเดียวกัน เสริมว่าเรียนรู้การทำขนมมาตั้งแต่ชั้น ป.3 พอขึ้นชั้น ป.4 ก็ฝึกลงมือทำ ในช่วงทดลองก็พบปัญหาอยู่ 2-3 ครั้ง แต่ก็ได้รับคำแนะนำปรับปรุงแก้ไข กว่าจะทำได้คล่องใช้เวลาเกือบ 1 ปี มีการวางแผนไว้ว่าแต่ละเดือนจะทำอะไรบ้าง
“ตอนนี้พวกหนูมั่นใจว่าทำอร่อย เราต้องรู้จักวัตถุดิบ อย่างฟักทองต้องนำไปนึ่ง ขูดเอาแต่เนื้อบดให้ละเอียดผสมกับแป้งข้าวเหนียวก็จะได้ขนมสีเหลือง ส่วนตัวไส้เป็นถั่วเหลืองซีกนำไปนึ่ง ซึ่งพวกเราแบ่งงานกันทำ นวดแป้ง ปั้นไส้ ห่อเป็นลูก ตอนนี้ก็สอนให้รุ่นน้องลองทำ พวกหนูและยังเคยทำไปขายในร้านประชารัฐของโรงเรียน เด็กๆ ชอบกันมาก พ่อแม่ก็ภูมิใจกับพวกเรา”
กลุ่มนักเรียนในโครงการต่างเห็นพ้องว่าจะถ่ายทอดการทำขนมต้มยวนไปสู่รุ่นน้องต่อไป เหมือนกับที่ได้รับสืบทอดมาจากคนรุ่นก่อน เพราะนอกจากจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังเกิดความภาคภูมิใจในของดีที่ท้องถิ่นมีอยู่ สามารถนำไปประกอบอาชีพอย่างจริงจังในอนาคตได้
ทางด้าน นางอรุณี ทองคำเขียว ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เล่าว่าเคยทำขนมไทยขาย แต่หยุดขายมา 2 ปีแล้ว ปัจจุบันลูกค้าสั่งจึงจะทำ ขนมต้มยวนเป็นขนมพื้นบ้านที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ทุกบ้านต่างทำเป็นและนำไปทำบุญถวายพระ ส่วนมากลูกค้าจะสั่งไปเลี้ยงในงานทำบุญ แต่ขนมค้างคืนไม่ได้เพราะใช้กะทิสด หากแช่ในตู้เย็นไว้รุ่งขึ้นก็ยังกินได้ ถ้าไม่แช่ตู้เย็นก็จะเสีย
“เด็กๆ มาถามสูตร ส่วนผสม วัตถุดิบในการทำ อะไรเท่าไหร่อย่างไร บอกทุกอย่าง เราไม่หวงสูตร เพราะอยากให้เด็กรุ่นหลังๆได้ทำเป็น ตอนนี้เด็กๆ ทำขนมเองได้โดยไม่ต้องถามแล้ว ดูฝีมือแล้วตอนนี้ถือว่าเชี่ยวชาญ เชื่อว่าขนมท้องถิ่นจะไม่สูญหาย เพราะเด็กจะถ่ายทอดความรู้ต่อไปให้รุ่นน้อง เท่าที่ดูผู้ใหญ่บางคนยังทำสู้เด็กไม่ได้เลย” ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวอย่างภูมิใจ
หากจะมองว่าการเรียนรู้วิธีทำขนมต้มยวน ของดีประจำถิ่นยังรู้จักในวงแคบก็คงไม่ผิดนัก แต่เป้าหมายสูงสุดของกิจกรรมนี้คือ การที่ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในถิ่นที่อยู่อาศัย เกิดประสบการณ์ความทรงจำเชิงบวก รวมถึงบ่มเพาะทักษะชีวิตที่ดีในช่วงวัยเยาว์ให้ติดตัวตลอดไป.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
.