ขั้นตอนที่ควรดำเนินการอย่างทันที ก็คือ 1.ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไทยเพื่อรักษาความปลอดภัยชายแดนไทย ให้การสนับสนุนอย่างเข้มงวดในการตัดทรัพยากรจากประเทศไทยไปยังศูนย์หลอกลวง และความร่วมมือในการฟ้องร้องผู้กระทําความผิด และ 2.กําหนดมาตรการคว่ำบาตรผู้นํากะเหรี่ยง BGF และ DKBA ตลอดจนผู้มีส่วนติดอาวุธอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางอาญา ในขณะเดียวกัน จีนเองควรพิจารณาพัฒนาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ประเด็นเรื่องขุนศึกเมียนมาที่ดำเนินกิจกรรมอาชญากรรม สแกมเมอร์ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไทยต้องเผชิญมานานนับปี และล่าสุด สภาบันสันติภาพของสหรัฐอเมริกาได้มีการรายงานถึงบทบาทของ พ.อ.ซอว์ ชิต ทู หนึ่งในขุนศึกที่ดูจะมีบทบาทมากขึ้นหลังจีนผ่อนแรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
@กลยุทธ์ของ พ.อ. ชิต ทู ในการใช้ประโยชน์จากความโกลาหลและความขัดแย้งในปัจจุบัน
บทเรียนจากการล่มสลายอย่างกะทันหันของกองกำลังป้องกันพรมแดน (BGF) ในพื้นที่โกก้าง และมีการคาดว่ากองทัพเมียนมาอาจจะล่มสลายในรัฐกะเหรี่ยง พ.อ.ชิต ทู จึงได้ย้ายอาณาจักรของเขาออกไปจากพื้นที่เพื่อป้องกันความโกรธแค้นจากทางการจีน และเพื่อรับรองความปลอดภัยให้กับตัวเองในช่วงที่กองทัพเมียนมากำลังเสื่อมอำนาจ
มีการแปรสภาพกองกำลังของเขาจากชื่อเดิมคือ BGF เป็นชื่อใหม่คือ KNA สิ่งนี้บ่งชี้ให้เห็นว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นในกองกำลังต่อต้านเผด็จการเมียนมา การปรากฏป้ายโฆษณาบนบิลบอร์ดขนาดใหม่เตือนชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ว่าให้ออกจากพื้นที่ที่มีกิจกรรมฉ้อโกงหลอกลวงรอบเมืองเมียวดี ภายในวันที่ 31 ต.ค. นี่เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลจีนได้ทราบว่ากองทัพเมียนมาและกองกำลัง BGF มีแผนที่จะจัดการกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสาเหตุที่กองทัพเมียนมาต้องสื่อสารออกมาแบบนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุแบบปฏิบัติการ 1027 ที่เข้าไปโจมตีในพื้นที่ศูนย์ฉ้อโกงในดินแดนกะเหรี่ยงอีก โดยนี่เป็นสิ่งที่กองทัพไม่ประสบความสำเร็จในช่วงเดือน เม.ย. 2566
ในด้านปฏิบัติการทางทหาร พ.อ.ชิต ทูได้ส่งกองกำลัง KNA ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาเข้ามาในพื้นที่เมืองเมียวดี ขณะที่กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติต่อต้านรัฐประหาร ก็ส่งกองกำลังเข้ามาที่เมืองนี้เช่นกัน แม้ดูเหมือนว่าเป้าหมายของ พ.อ.ชิต ทู คือชัยชนะของ KNLA แต่ในความเป็นจริง พ.อ.ชิต ทูพยายามที่จะเข้าควบคุมเมียวดีในนามของกองทัพและรักษากองทัพให้อยู่ในด่านที่มีบทบาทในการควบคุมการค้าชายแดนส่วนใหญ่ระหว่างเมียนมากับไทย จากมุมมองของ พ.อ.ชิต ทู เขามองว่าที่ผ่านมาเขาปล่อยให้กองทัพเมียนมาไร้พลังเพื่อจะผลักดันให้กองกำลัง BGF/KNA ของเขาเข้ามามีบทบาทในการปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ อย่างไรก็ตามถ้าจีนกดดันให้กองกำลังเมียนมามาโจมตีกองกำลังของ พ.อ.ชิต ทู นี่เท่ากับว่าฝ่ายเผด็จการเมียนมาจะสูญเสียเมียวดีโดยสมบูรณ์
พ.อ.ซอว์ ชิต ทู (อ้างอิงวิดีโอจาก Karen News)
@การสร้างภาพประชาสัมพันธ์เพื่ออ้างว่าตัวเองต่อต้านอาชญากรรม
พ.อ.ชิต ทู ให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับความพยายามในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยจ้างที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ว่าตัวเองไม่เคยเกี่ยวข้องอาณาจักรอาชญากรรมของเขาที่เมืองชเวโก๊กโก (Shwe Kokko) กลยุทธ์การรณรงค์ประชาสัมพันธ์รวมถึงการสร้างภาพว่าปราบปรามกิจกรรมการหลอกลวง มีการเผยแพร่ภาพโปสเตอร์เกี่ยวกับการเนรเทศธุรกิจออนไลน์ผิดกฎหมายที่รอดําเนินการ การบริจาคให้กับชุมชนท้องถิ่น และอวดอ้างว่านายเสอ จื้อเจียง เป็นพันธมิตรของเขา และเป็นเจ้าของบริษัท Yatai International Holdings เป็นผู้มีส่วนในการกำกับดูแลอย่างมีความรับผิดชอบ แม้ว่าปัจจุบันนายเสอจะยังถูกคุมขังในเรือนจำที่กรุงเทพก็ตาม สรุปก็คือความพยายามร่วมมือกับสื่อและองค์กรด้านมนุษยธรรมนั้นก็เพื่อพยายามที่จะขัดเกลาภาพลักษณ์ของกองกำลัง KNA
กิจกรรมประชาสัมพันธ์ก็มีอาทิ
-บริษัท Yatai มักจะจัดแคมเปญกีฬาสนับสนุนฟุตบอลและบาสเก็ตบอลเยาวชนเป็นประจำ
-การก่อสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว รวมถึงสวนน้ำและสนามแข่งกีฬา เพื่อสร้างความประทับใจว่าศูนย์กลางการค้ามนุษย์ปลอดภัยสําหรับการท่องเที่ยว
-การส่งข้อความว่าเมืองมีความปลอดภัย โดยในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาบริษัท Yatai ได้มีการเปิดตัวกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารในเมืองที่กำลังจัดตั้งขึ้นใหม่ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบว่ามีการทำตามกฎแบบนี้หรือไม่
-การออกแถลงการณ์เป็นภาษาเมียนมาว่าบริษัท Yatai จะออกจากชเวโก๊กโก ภายในวันที่ 20 ก.ย. และมีการระบุลงบนโซเชียลมีเดียว่าความเกี่ยวข้องกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องที่ชเวโก๊กโกนั้นเป็นข่าวปลอม
นอกจากนี้ยังปรากฏวิดีโอการทำพิธีสวดมนต์ทางพุทธศาสนาครั้งใหญ่ มีการนิมนต์พระสงฆ์หลายสิบรูปเพื่ออวยพรให้นายเสอ จื้อเจียงกลับมาโดยเร็ว โดยมีคนหลายพันคนจากเมียวดี รวมถึงจากหลายร้อยคนจากกองกำลัง KNA เข้าร่วมในพิธีทางศาสนาดังกล่าว และสวมใส่เสื้อที่มีโลโก้บริษัท Yayai และรูปถ่ายของเสอ จื้อเจียงด้วย นี่แสดงให้เห็นว่า พ.อ.ชิต ทูยังมีอิทธิพลค่อนข้างมาก จนกระทั่งสามรถดึงบุคคลสำคัญทางศาสนาให้เข้ามาร่วมกิจกรรมของเขาได้
มีรายงานว่าความพยายามล้างภาพ ฟอกขาว กองกำลัง BGF/KNA ยังได้ลามไปถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พยายามให้ความร่วมมือช่วยเหลือผู้ที่หลบหนีจากศูนย์ฉ้อโกงหลอกลวงด้วยเช่นกัน
ภายใต้แรงกดดันจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนานาชาติ และทางการไทย ที่ต้องการให้มีการส่งตัวชาวต่างชาติที่ถูกค้ามนุษย์ที่เมืองเมียวดี กองกำลัง BGF/KNA ได้มีการลดการเรียกร้องเงินค่าไถ่ลงไป ตอนนี้กองกำลัง BGF/KNA ได้เรียกร้องให้มีการส่งเสียงชื่นชมจากสาธารณชนแทนเพื่อแลกกับการส่งตัวการค้ามนุษย์ นี่บ่งชี้ว่า BGF/KNA กำลังโฆษณาว่าตัวเองมีบทบาทอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือเหยื่อแต่แท้จริงแล้วนี่เป็นการพาเหยื่อออกมาจากสถานที่ที่พวกเขาเป็นผู้ควบคุมนั่นเอง ทว่าก็ยังมีเหยื่อที่ไม่เป็นข่าวดังมากนัก ก็ยังมีการเรียกค่าไถ่และมีการปล่อยตัวอย่างเงียบๆอยู่ดี
งานทำบุญอวยพรให้เสอ จื้อเจียง (อ้างอิงวิดีโอจาก asiamorningtube)
ยิ่งไปกว่านั้นบุคลากรจาก BGF/KNA ยังพยายามแทรกซึมเข้าไปในการประชุมต่อต้านการค้ามนุษย์เพื่อสร้างความชอบธรรมและทำให้กิจกรรมอาชญากรรมที่กำลังดำเนินต่อไปนั้นได้รับความคุ้มครองมากขึ้น
@การแพร่กระจายของกิจกรรมทางอาชญากรรม
กองกำลัง BGF/KNA มีอีกกลยุทธ์ในการแพร่กระจายกิจกรรมทางอาชญากรรม ด้วยการแพร่กระจายพื้นที่ปฏิบัติการในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะนอกเหนือจากการมีส่วนร่วมในศูนย์ฉ้อโกงมากกว่า 20 แห่งริมแม่น้ำเมยแล้ว กองกำลัง BGF/KNA ยังได้เข้าไปหาหุ้นส่วนใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกองทัพชาวพุทธกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA) ที่ตอนนี้เพิ่งกลายเป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจการฉ้อโกงหลอกลวงในรัฐกะเหรี่ยง
ในพื้นที่ด่านเจดีสามองค์ ที่อยู่ทางตอนใต้ 209 กิโลเมตรจากเมืองเมียวดี ปรากฏว่ามีศูนย์ฉ้อโกงที่ดำเนินการโดยกองกำลัง DKBA-BGF ซึ่งเริ่มจะมีการดำเนินกิจกรรมฉ้อโกง โดยองค์ประกอบของศูนย์แห่งนี้ บางส่วนก็ย้ายมาจากเมืองชเวโก๊กโก หรือก็คือว่า พ.อ.ชิต ทู กำลังสร้างภาพว่าจะทำบ้านของตัวเองใกล้กับเมียวดีให้สะอาดนั่นเอง
อย่างไรก็ตามบริษัท Yatai ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ลดหรือสร้างภาพว่าเลี่ยงความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมฉ้อโกงหลอกลวงแม้แต่น้อย ย้อนไปในเดือน ก.ค. หรือสองเดือนหลังจาก พ.อ.ชิต ทู ติดโปสเตอร์ไล่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออกไป บริษัท Yatai ได้โพสต์วิดีโอออนไลน์แสดงภาพให้เห็นว่าชเวโก๊กโกจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย โดยมีระบุรายละเอียดว่าจะมีการเพิ่มการเชื่อมต่อกับดาวเทียมอินเทอร์เน็ตสตาร์ลิงก์ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการตัดอินเทอร์เน็ตโดยทางการไทยและทางการเมียนมา
มีรายงานว่ากลุ่มบริษัทที่อยู่ในบริษัท Yatai อาทิบริษัท Yanchaoji, Zhongxin และ Renheng Group ได้เปิดตัวแคมเปญโฆษณาตัวใหม่ ชวนให้ผู้ที่คิดจะเป็นอาชญากรเข้ามาในพื้นที่ โดยโดยสัญญาว่าจะให้ค่าแรงขั้นต่ำ 10,000 หยวนต่อเดือน บวกโบนัส 20 เปอร์เซ็นต์สําหรับ "รายได้" หากอาชญากรสามารถฉ้อโกงเงินได้เพิ่มอีก 500,000 หยวนต่อเดือน
@กรณีการสนับสนุนจากจีนต่อทหารเมียนมา
สิ่งหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมอาชญากรรมของ พ.อ.ชิต ทู แพร่ขยายไปได้ก็คือท่าทีที่เปลี่ยนไปของประเทศจีนและระบอบทหารเมียนมา ย้อนไปในช่วงเดือน พ.ค.2566-เม.ย. 2567 ตำรวจจีนแสดงท่าทีว่ามีการใช้แนวทางอย่างแข็งกร้าวในการปราบปรามอาชญากรรม แต่หลังจากเดือน เม.ย. สิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากจีนตระหนักว่านี่อาจเป็นครั้งแรกที่กองทัพเมียนมาต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ในการสู้รบกับกองกำลังต่อต้าน รัฐวิสาหกิจของจีนและผู้ออกนโยบายจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนได้มุ่งเน้นไปที่การปกป้องผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของตนมากกว่าการปรามปรามอาชญากรรม
การเปลี่ยนแปลงท่าทีของจีนมีความชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากรัฐบาลทหารสูญเสียกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเมืองล่าเสี้ยวในเวลาไม่ถึง 40 วันให้กับกองกําลังต่อต้านเมื่อต้นเดือน ส.ค. หลังจากความพ่ายแพ้นี้ จีนเริ่มกดดันพันธมิตรสามภราดรภาพและให้การสนับสนุนกองทัพในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อป้องกันการล่มสลายต่อไป
@การพัฒนาที่สำคัญสามประการตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย.2564
ประการแรก จีนเริ่มทํางานร่วมกับกองกําลังตํารวจของรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยและทําให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้เครดิตที่ไม่สมควรได้รับสําหรับการปราบปรามที่เกิดขึ้นในรัฐโกก้าง และมอบเหรียญเกียรติยศจากตํารวจจีนให้กับ พล.ท. ยาร์ แพ (Yar Pyae) จากรัฐบาลทหารสําหรับ "ผลงานที่โดดเด่นต่อความมั่นคงของพลเมืองจีน" นี่เป็นความพ่ายแพ้อย่างร้ายแรงของพันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพันธมิตรสามภราดรภาพมีส่วนรับผิดชอบหลักในการส่งกลับของชาวจีน 45,000 คนและชาวต่างชาติอีกประมาณ 4,000 คนจากโกก้างไปยังจีนในช่วงปลายปี 2566 แต่จีนกลับยกความดีความชอบให้กับ พล.ท.ยาร์ แพ
ประการที่สองคือการที่จีนเชิญชวนรัฐบาลทหารเข้าสู่แพลตฟอร์มระดับสูงของโครงการริเริ่มความปลอดภัยระดับโลก (Global Security Initiative) รวมถึงฟอรั่มความร่วมมือด้านความมั่นคงสาธารณะโลก (Global Public Security Cooperation Forum) และฟอรั่มความมั่นคงเซียงซาน(Xiangshan Security Forum) จีนได้ส่งสัญญาณว่าตํารวจเมียนมาสมควรได้รับการยอมรับ และชื่นชมความพยายามในการปราบปรามอาชญากรรม
การตัดสินใจของจีนที่จะมุ่งเน้นการปราบปรามอาชญากรรมในเมียนมาอีกครั้ง ได้กล่าวเป็นสิ่งที่สนับสนุนระบอบการปกครองของกองทัพถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสําคัญสําหรับความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย
ประการที่สาม จีนจัดหาอุปกรณ์ใหม่ๆให้กับตํารวจเมียนมา และตกลงที่จะร่วมมือโดยตรงกับตํารวจเมียนมาเพื่อจัดตั้งศูนย์ตํารวจร่วม
การเคลื่อนไหวเหล่านี้ร่วมกันบ่อนทําลายความพยายามในการปราบปรามอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมาอย่างร้ายแรงผ่านการให้รางวัลและทําให้ผู้กระทําความผิดมีความถูกต้องตามกฎหมาย จีนจึงละทิ้งความคืบหน้าในการปราบปรามที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วกับอาชญากรในโกก้าง และตอนนี้กําลังมองไปทางอื่น แม้กระทั่งช่วยเหลือกองทัพเมียนมาอย่างเปิดเผยในการสนับสนุนอาณาจักรอาชญากรรมของ พ.อ.ชิต ทู
สิ่งนี้ได้เร่งกิจกรรมทางอาชญากรรมในส่วนอื่น ๆ ของประเทศอย่างลึกซึ้ง โดยผู้เล่นรายใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในศูนย์หลอกลวงในพื้นที่ห่างไกลของรัฐฉานตอนกลางและตอนใต้ และศูนย์หลอกลวงที่เพิ่มขึ้นในโรงแรมและอาคารสํานักงานที่ย่างกุ้ง
@จะยับยั้งกลุ่มอาชญากรรมเมียนมาได้อย่างไร
กรณีที่ความมุ่งมั่นของจีนในการปราบปรามอาชญากรรมในเมียนมาได้กลายมาเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ในการบังคับใช้กฎหมายครั้งสำคัญ นี่แสดงให้เห็นว่าประเทศอื่นๆ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการฉ้อโกงในเมียนมาเปลี่ยนจากการหลอกลวงชาวจีนไปสู่การดักจับเหยื่อในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ทั่วโลก
ขั้นตอนที่ควรดำเนินการอย่างทันที ก็คือ 1.ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไทยเพื่อรักษาความปลอดภัยชายแดนไทย ให้การสนับสนุนอย่างเข้มงวดในการตัดทรัพยากรจากประเทศไทยไปยังศูนย์หลอกลวง และความร่วมมือในการฟ้องร้องผู้กระทําความผิด และ 2.กําหนดมาตรการคว่ำบาตรผู้นํากะเหรี่ยง BGF และ DKBA ตลอดจนผู้มีส่วนติดอาวุธอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางอาญา ในขณะเดียวกัน จีนเองควรพิจารณาพัฒนาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
เรียบเรียงจาก:https://www.usip.org/publications/2024/09/myanmar-scam-hubs-revive-fast-after-china-eases-pressure-junta