"...หากไม่มีการจัดการอย่างถูกต้อง ปัญหาเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์นั้นอาจจะแพร่กระจายไปได้ทั่วภูมิภาค โดยข้อมูลจากศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน พบว่ามีปัญหาเรื่องการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (83,525,000,000 บาท) ต่อปี และมีคดีเพิ่มขึ้นทั่วโลกถึง 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ..."
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้ ได้ส่งผลทำให้ตลาดการค้าออนไลน์กลายเป็นพื้นที่การค้าหลักของโลกในช่วงตลอดสองปีที่ผ่านมา
สำนักข่าว The Diplomat ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำเสนอรายงานข่าวเจาะลึกผลพ่วงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นผลสืบเนื่องทำให้ธุรกิจการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์เติบโตมากขึ้นตามไปด้วยในช่วงเวลาที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงแปลเรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอต่อ ณ ที่นี้
ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ส,โซเชียลมีเดีย และการบริการดิจิทัลในอัตราที่ค่อนข้างสูง ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นเอง ในอาเซียนมีผู้ที่ใช้บริการในดิจิทัลไปแล้วประมาณ 400 ล้านคน และมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 40 ล้านคนในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา
โดยแรงเหวี่ยงทางเทคโนโลยีนี้ไม่มีทางที่จะชะลอตัวลงเนื่องจากการรุกของตลาดดิจิทัลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดกันว่าในปี 2568 จะมีเม็ดเงินในการค้าออนไลน์อยู่ประมาณทั้งสิ้น 1.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5,743,080,000,000 บาท) ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่ามากกว่ามูลค่าการค้าออนไลน์ในปี 2563 อยู่ถึงสองเท่า แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของอีคอมเมิร์สนั้นเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของสินค้าทั้งสินค้าที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
ถ้าหากไม่มีการจัดการอย่างถูกต้อง ปัญหาเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์นั้นอาจจะแพร่กระจายไปได้ทั่วภูมิภาค โดยข้อมูลจากศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน พบว่ามีปัญหาเรื่องการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (83,525,000,000 บาท) ต่อปี และมีคดีเพิ่มขึ้นทั่วโลกถึง 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
และเนื่องจากว่าข้อจำกัดด้านไวรัสในภูมิภาคอาเซียนที่เริ่มจะมีการผ่อนปรนนั้น กลุ่มผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าก็เริ่มที่จะใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ โดยเพิ่มการซื้อขายผ่านทางบริการในระบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน และการเปิดพรมแดนนั้นก็ถือเป็นการขยายขอบเขตการค้าสัตว์ป่า อันนำไปสู่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบนิเวศในภูมิภาคด้วยเช่นกัน
อนึ่ง รายงานกรณีการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในอาเซียนนั้นพบว่ามีการลดลงในช่วงต้นของการระบาดของไวรัส อันเนื่องมาจากการปิดพรมแดน,การจำกัดการเดินทาง และการห้ามดำเนินการค้า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้นั้นก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงตัวเลขของจำนวนผลิตภัณฑ์ที่พบว่าถูกซื้อมาจากแหล่งออนไลน์ จำนวนผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ได้มีการขนส่งไปยังผู้ซื้อ การจัดเก็บผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่เพิ่มมากขึ้น และการบังคับใช้กฎหมายที่ลดน้อยลงในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา
รายงานข่าวความกังวลว่าปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการด้านโควิด-19 ในประเทศอาเซียน (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
โดยไวรัสโควิด-19 นั้นได้ผลักดันให้ประชากรอาเซียนจำนวนกว่า 104 ล้านรายเข้าสู่ภาวะยากจนแบบสุดขั้ว ดังนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือว่าคดีของการล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย และการค้าภายในภูมิภาคนั้นก็มีการขยายตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมานั้นแม้ว่าจะมีการค้าออนไลน์มาเป็นระยะเวลานานหลายปีแล้ว แต่ปรากฎว่าจำนวนผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่มีการขายออนไลน์ในอาเซียนนั้นกลับปรากฎว่ามีการเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณนับตั้งแต่ปี 2558 และการเพิ่มขึ้นของบริการออนไลน์ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนั้นก็พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในภูมิภาคด้วยเช่นกัน
อาทิ เฟซบุ๊กก็มีความแพร่หลายอยู่ทั่วอาเซียน ก็ถูกจับตามองว่าเป็นศูนย์รวมของการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โดยในประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า130 ล้านรายซึ่งใช้โซเชียลมีเดียนี้ ก็ปรากฎว่าเฟซบุ๊กได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของการค้างาช้าง ซึ่งจากการจับตาดูข้อมูลการใช้งานพบว่าบริษัทเฟซบุ๊กนั้นต้องมีการลบกลุ่มไปกว่า 1,953 กลุ่ม ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. 2564 อันเนื่องมาจากกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวนี้มีความเชื่อมโยงกับการขายผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าต้องห้ามในประเทศอินโดนีเซียและที่ประเทศฟิลิปปินส์
และที่เมียนมา ในช่วงเดือน ธ.ค. 2562- พ.ค. 2563 พบว่ามีการขายผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าจำนวนกว่า 2,100 รายการจากสัตว์จำนวนกว่า 94 สายพันธุ์บนเฟซบุ๊กเช่นกัน ซึ่งจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นแค่จำนวนของเฟซบุ๊กที่มีการตั้งสถานะเอาไว้เท่านั้น
ประเด็นเรื่องการค้าสัตว์ป่าในรูปแบบดิจิทัลนั้นได้ทำให้ประเด็นเรื่องการรับมือกับอาชญากรรมนั้นเป็นเรื่องที่ยากเป็นอย่างยิ่ง โดยผู้ค้าสัตว์ป่านั้นมักจะมีการใช้โฆษณาออนไลน์เพื่อที่จะขายและเร่งดำเนินการในสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ปรากฎว่าทั้งปัญหาทรัพยากรที่จำกัดและจำนวนคดีการขายของผิดกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้นนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่จำกัดความพยายามในการต้องต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์นี้
ที่ผ่านมานั้นผู้ที่ค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายมักจะปกปิดตัวตนของตัวเองโดยใช้กลไกทางดิจิทัลหลายชั้นมาก มีการใช้ชื่อบัญชีปลอมหรือบัญชีที่ทำให้เข้าใจผิด,ใช้แอปพลิเคชันที่เข้ารหัสและการใช้เครือข่ายนิรภัยเสมือนส่วนตัวหรือวีพีเอ็น
การใช้สกุลเงินทางดิจิทัลและการส่งข้อความที่เข้ารหัสนั้นยังยังทำให้เกิดความซับซ้อนในการติดตามทางธุรกรรมตามมาด้วยเช่นกัน เว้นเสียแต่ว่าตัวตนของผู้ที่ค้าสิ่งผิดกฎหมายนั้นจะมีการเปิดโปง ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง คนกลุ่มนี้ก็ยังมีเทคนิคในการย้ายไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆเพื่อจะดำเนินการค้าขายต่อไปได้ อีกทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆที่เกิดขึ้นมานั้นก็ทำให้ฝ่ายลุกค้าสามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้โดยง่ายเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการดำเนินงานค้นหาผ่านแถบเครื่องมือค้นหาบนโซเชียลมีเดีย แทนที่จะพบปะกันแบบตัวต่อตัว และเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นแล้ว สินค้าก็จะถูกส่งไปหาลูกค้าในรูปแบบที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลายชิ้น ทำให้ยากในการตรวจสอบมากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าในอาเซียนนั้นมักจะใช้อุปกรณ์ที่ราคาถูกและมีประสิทธิภาพในการจับสัตว์ ยกตัวอย่างเช่นกับดักลวดที่จับสัตว์ทุกชนิดอย่างโดยไม่เลือกและถือว่าเป็นอันตรายต่อสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง โดยสัตว์ป่าที่เป็นเป้าหมายนั้นมักจะถูกนำตัวมาจากสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลจากนั้นจึงนำไปขายให้กับลูกค้าที่อยู่ในชุมชนเมือง ทำให้พื้นที่นั้นๆมีความเสี่ยงที่จะขาดความอุดมสมบูรณ์ไป และการกระทำดังกล่าวนั้นยังยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนในชนบทและในตัวเมือง
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญว่าทำไมความใกล้ชิดต่อสัตว์ป่าที่ว่ามานั้นส่งผลกระทบข้างเคียงต่อประเด็นสุขภาพของมนุษย์ ทั้งนี้มีรายงานว่าโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจำนวนกว่าร้อยละ 75 นั้นก็มีที่มาจากสายพันธุ์สัตว์ต่างๆ และยิ่งถ้าหากมีการพบปะระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าผ่านการค้าและการทำลายป่ามากขึ้น ก็มีโอกาสมากขึ้นด้วยเช่นกันที่โรคจากสายพันธุ์สัตว์ป่านั้นจะเผยแพร่มายังมนุษย์
ความเชื่อมโยงด้านการค้าสัตว์ป่ากับการเกิดของไวรัสโคโรน่า (อ้างอิงวิดีโอจาก VOX)
แม้ว่าภูมิภาคอาเซียนนั้นจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก แต่ก็มีภัยต่อทุกกลุ่มสายพันธุ์มากที่สุดสัตว์มากที่สุดด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาหลายประเทศในภูมิภาคนั้นได้ระบุว่าจะยอมรับในเรื่องแผนการเศรษฐกิจสีเขียวและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อที่จะรับมือกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการเติบโตของเศรษฐกิจได้
แต่คำสัญญานี้ดูเหมือนกับจะเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งเพราะความจริงก็คือว่าจะมีอีกหลายร้อยสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะต้องสูญพันธุ์ไป ถ้าหากว่าในอาเซียนยังมีแนวโน้มการบุกรุกป่า การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายสูงที่สุดในโลก
ในประเด็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้าสัตว์ป่าออนไลน์นั้นยังคงเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพากับภาคองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในส่วนของท้องถิ่นและบริษัททางเทคโนโลยีเป็นหลักในการเฝ้าจับตาดูแพลตฟอร์มที่มีการค้าออนไลน์เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มแนวร่วมร่วมยุติการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ Coalition to End Wildlife Trafficking Online ได้มีการจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีกว่า 47 แห่งรวมถึงบริษัทโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานทำงานร่วมกันในแง่ของการค้นหาและลบกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสนับสนุนการค้าสัตว์ออนไลน์ อาทิ อินสตราแกรม และอาลีบาบา
ผู้บังคับใช้กฎหมายควรที่จะมีแผนการดำเนินงานระยะยาวและยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนเพื่อการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวไปได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการสนับสนุนและวิจัยในระดับระหว่างภูมิภาคร่วมกัน อาทิเช่นกลุ่มเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสัตว์ป่าอาเซียน หรือ ASEAN Wildlife Enforcement Network และการสนับสนุนด้านการเงินจากหน่วยงานภายนอกอย่าง USAID’s Wildlife Asia ซึ่งได้มีการสนับสนุนด้านเงินทุนกว่า 24.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (818,790,000 บาท) ในการรับมือกับการค้าที่ผิดกฎหมาย
ที่ผ่านมาทีมบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกานั้นได้แสดงเจตนาที่ชัดเจนแล้วว่าต้องการจะแก้ปัญหาด้านวิกฤติภาพอากาศด้วยวิธีการอย่างยั่งยืน ความพยายามที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมและกลยุทธ์สีเขียวที่ว่ามานี้นั้นจะไม่มีทางสำเร็จถ้าหากไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการค้าสัตว์ป่าอย่างจริงจัง ในเฉพาะที่เกิดขึ้นในแวดลงอุตสาหกรรมดิจิทัล
ยิ่งไปกว่านั้นการสนับสนุนเงินทุนจากสหรัฐฯนั้นจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยรับมือกับการกระทำที่ผิดกฎหมายในด้านการค้าสัตว์ป่าและจะช่วยสนับสนุนความมั่นคงของประเทศในอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย เพราะการรับมือกับปัญหาการค้าสัตว์ป่าดังกล่าวก็จะถือเป็นการกำจัดแหล่งเงินทุนขององค์กรอาชญากรรม เนื่องจากที่ผ่านมานั้นมีการตรวจสอบพบว่าเงินทุนจากการลักลอบค้าสัตว์เหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วจะตกไปอยู่กับกิจกรรมอันผิดกฎหมายอื่นๆในอาเซียนอีก อาทิ การลักลอบขนของเถื่อน การฉ้อโกงทางการค้า การทุจริตและการฟอกเงิน
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ออกมาในปี 2564 ในชื่อกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านและขัดขวางกฎหมายการค้าสัตว์ป่า หรือ END (Eliminate, Neutralize, and Disrupt Wildlife Trafficking) โดยกฎหมายดังกล่าวนี้นั้นได้กำหนดรายชื่อแปดประเทศในอาเซียนเอาไว้ชัดเจนว่าสหรัฐฯจะต้องดำเนินการขั้นพื้นฐานเพื่อพยายามที่จะรับมือกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งประเทศทั้งแปดประเทศมีรายชื่อได้แก่ประเทศเมียนมา,อินโดนีเซีย,ลาว,มาเลเซีย,ไทย,ฟิลิปปินส์,กัมพูชา และเวียดนาม
มีรายงานจากทางสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม องค์การสหประชาชาติด้วยเช่นกันที่ได้เตือนถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีกิจกรรมการลักลอบค้าสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องไปกับการลงทุนทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนเพื่อที่จะดังดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นการค้า และการเดินทางต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทั้งอาเซียนและสหรัฐฯจะต้องใช้ช่วงเวลานี้ก่อนที่จะมีการเปิดภาคเศรษฐกิจและการเปิดประเทศอย่างเต็มตัว ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการค้าสัตว์ป่าออนไลน์นี่ให้เกิดขึ้น ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวนั้นจะทำให้วิกฤติทั้งทางด้านอาหารและระบบนิเวศในภูมิภาครุนแรงขึ้นไปอีก
เรียบเรียงจาก: https://thediplomat.com/2021/12/time-to-confront-southeast-asias-online-wildlife-trafficking/