"...ปัจจุบันมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์(ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยชินวัตร) และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทย ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542..."
กรณี นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับกับกิจการมหาวิทยาลัยไทยที่ถูกซื้อโดยนักธุรกิจชาวจีน ว่า ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในไทยที่ถูกกลุ่มทุนจีนซื้อกิจการไปแล้ว 3 - 4 มหาวิทยาลัย ส่วนที่เป็นข่าวไป 10 กว่าแห่งนั้นอยู่ในช่วงการเจรจาการซื้อขาย พร้อมเรียกร้องให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต้องดำเนินการควบคุมและดูแล
เบื้องต้น มีคำชี้แจงจาก อว. โดย ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาเป็นทางการแล้วว่า ปัจจุบันมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์(ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยชินวัตร) และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทย ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี สามารถเป็นต่างชาติได้ แต่กรรมสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย
ศ.ศุภชัย ยังระบุด้วยว่า แม้มหาวิทยาลัยจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารและผู้ถือหุ้น ก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนน พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) และสำนักปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล และทุกหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นไปตามมาตรฐานมหาวิทยาลัยของไทย
- อว.คอนเฟิร์ม! จีนถือหุ้น 3 มหาวิทยาลัยเอกชนไทย ยันมีกฎหมายควบคุมทุกแห่ง
- โดนซื้อไปแล้ว3-4แห่ง! กนก ชี้ปัญหาทุนจีนซื้อมหาลัยไทย อยู่ระหว่างเจรจาอีกนับ 10
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์(ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยชินวัตร) และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ที่ ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน พบข้อมูลดังนี้
@ มหาวิทยาลัยเกริก
จากการสืบค้นข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับ บริษัทเกริก สุวรรณี และบุตร จำกัด เจ้าของกิจการมหาวิทยาลัยเกริก พบว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 30 พ.ย. 2558 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท เปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 เป็น 30,000,000 บาท
ปรากฏรายชื่อกรรมการ ดังนี้
- นายกระแส ชนะวงศ์
- นายหวัง ฉางหมิง
- นางกนกวรรณ หลี่
มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ บริษัท เกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง จำกัด ถืออยู่ 99.9993% นาย กระแส ชนะวงศ์ นาง กนกวรรณ หลี่ ถือหุ้นคนละ 0.0003%
บริษัท เกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง จำกัด นาย หวัง ฉางหมิง ชาวจีนถือหุ้นใหญ่
@ มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ (ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยชินวัตร)
ข้อมูลวิกิพีเดีย ปี พ.ศ. 2542 ทบวงมหาวิทยาลัยอนุญาตให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยชินวัตร โดยบริษัท โอเอไอ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2542
เมื่อตรวจสอบข้อมูล บริษัทโอเอไอ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด พบว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 5 มี.ค. 2541 ทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เฟธ สตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียน 5 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2550 มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,500,000,000 บาท
ปรากฏรายชื่อกรรมการ ดังนี้
- นายวู เจียนเวย
- นายหวง จงไค
- นางสาวหลิว เสี่ยวหยาง
- นางสาวหวัง จิงซื่อ
- นายเซอ คุยฮง
- นางสาวเจิง จิง
- นายโจว เหยา
- นางรภัสศา รวงอ่อนนาม
ข้อมูลผู้ถือหุ้น ปัจจุบัน บริษัท โกลบอล แอดวานซ์ เลิร์นนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 51.0% บริษัท โฮป เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป (ฮ่องกง) จำกัด 49% หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นางสาว หวัง จิงซื่อ
บริษัท โกลบอล แอดวานซ์ เลิร์นนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด มี บริษัท โฮป เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป (ฮ่องกง) จำกัด ถือหุ้นใหญ่
@ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
ข้อมูลบริษัทฟาร์อีสต์ แสตมฟอร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของกิจการมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เดิมชื่อบริษัทบีเคเคซีประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2538 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง 4 มี.ค. 2537 ทุนจดทะเบียน 100,000 บาท มีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียน 5 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2551 มูลค่าทุนจดทะเบียน 400,000,000 บาท
ปรากฏรายชื่อกรรมการ ดังนี้
- นายกวางยู ลี
- นางสาวหัว ลี
- นางสาวหงจิน ชิว
- นางสาวเยี่ยนตัน เหริน
ผู้ถือหุ้นปัจจุบัน บริษัท ไทย เอ็ดยูเคชั่น โฮลดิ้งส์ จำกัด 92.8750% บริษัท ไชน่า หยู่ฮว๋า เอ็ดยูเคชั่น อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด จีน 7.1250% หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นางสาว สุธีรัตต ยศยิ่งยวด
บริษัท ไทย เอ็ดยูเคชั่น โฮลดิ้งส์ จำกัด มีนาย กวางยู ลี เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ ในส่วนประเด็น ที่ ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุถึงสัดส่วนของคณะผู้บริหาร 3 มหาวิทยาลัยข้างต้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกริกมีนายกสภาและอธิการบดีเป็นคนไทย มีกรรมการสภาที่เป็นชาวจีนประมาณ 17% มหาวิทยาลัยเมธารัถย์มีนายกสภาและอธิการบดีเป็นชาวจีน กรรมการสภาเป็นชาวจีนประมาณ 40% และ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เดิมผู้ถือหุ้นเป็นชาวสิงคโปร์ แต่เปลี่ยนเป็นชาวจีน มีนายกสภาเป็นชาวจีน อธิการบดีเป็นคนไทย และมีกรรมการสภาเป็นชาวจีนประมาณ 40% นั้น
ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ของ 3 มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับคณะผู้บริหารข้างต้น พบข้อมูลดังนี้
มหาวิทยาลัยเกริก มีอธิการบดี และรองอธิการบดี ได้แก่
- ศ.ดร.นพ. กระแส ชนะวงศ์ ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี
- MR. WANG CHANGMING ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ
- รศ. สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
- MR. LI SHAOYUN ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน
- MR. QI BIN ผู้ช่วยอธิการบดี
- อาจารย์ ฐนน พูนทรัพย์ไพศาล ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
- นางสาว ธัญญ์พิชชา อติวัณณ์วงษ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ
- นาย ยิ่งศักดิ์ สิทธิยากรณ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ
- ดร.ชุณหพงศ์ ไทยอุปถัมภ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ (ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ)
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีอธิการบดีและคณะกรรมการมหาวิทยาลัย ดังนี้
- นายหวัง เหยาซ่ง ดำรงตำแหน่ง ประธาน (CHAIRPERSON)
- นายแอนดรูว์ เดวิด เลสลีส์ สกาวน์ ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี (PRESIDENT OF THE UNIVERSITY)
และคณะกรรมการมหาวิทยาลัย ได้แก่
- นายลี กวางหยู่
- นางสาวเหลิน แย่นตัน
- นางสาวชิว หงจูน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เจมส์ แลนแคสเตอร์
- นางสาว ปิยดา ดาศรี
- นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
- นายธนาทร เจียรกุล
- ศาสตราจารย์ ณัฐชยา เฉลยทรัพย์
- รองศาสตราจารย์ ดำรงค์ วัฒนา
- นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์
ส่วนมหาวิทยาลัยเมธารัถย์ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นข้อมูลปรากฏว่าในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยไม่ได้ระบุถึงตำแหน่งผู้บริหารหรือคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏชื่อของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเมธารัถย์ (เดิมชื่อมหาวิทยาลัยชินวัตร) เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 ในข่าวผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. เป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม MOU ระหว่าง ม.ชินวัตร และ Institute of Tsinghua University, Hebei สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งข่าวระบุว่า Assoc.Prof. Zhou Fei ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร
ทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลเชิงลึก 3 มหาวิทยาลัย ที่ อว.ประกาศอย่างเป็นทางการว่า มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏข้อมูลว่า การบริหารงานของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง ถูกร้องเรียนปัญหาการปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายแต่อย่างใด