“...แต่ในปี 2565-2566 จะไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้ทุกอย่างตกผลึก มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าหากขุดแล้วจะไม่มีผลกระทบ การจะเข้ามาดำเนินการได้นั้นต้องดูว่าจะมีผลกระทบต่อหญ้าทะเลหรือไม่ การกำหนดจุดทิ้งตะกอน ว่าจะทิ้งในทะเล หรือ ทิ้งบนบก ต้องกำหนดจุดที่ชัดเจน ปริมาณต้องชัดเจนเพื่อไม่ให้ตะกอนกระทบต่อหญ้าทะเลและสิ่งแวดล้อม...”
ปัญหาผลกระทบจากโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือและการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิมที่กำลังดำเนินการในปี 2565 นี้
ล่าสุด กรมเจ้าท่ายอมถอยและชะลอการขุดลอกในปี 2565-2566 แล้ว รอคณะอนุกรรมการพะยูนจังหวัดตรังตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาศึกษาผลกระทบก่อน ระดม นักวิชาการสิงแวดล้อม-ประมงพื้นบ้าน-นักอนุรักษ์ นั่งตรวจสอบ ผอ.บำรุงรักษาทางน้ำฯ เหตุต้องการให้กระจ่างสาเหตุหญ้าทะเลตาย เพราะที่ สตูล-กระบี่ ก็เป็น “มูลนิธิอันดามัน” ขณะที่ตัวเลขเดินเรือ วันละแค่ 1 เที่ยว บางวันไม่มี ควรขุดเท่าที่จำเป็น รอน้ำขึ้นน้ำลงได้ตามปกติ เพราะหากขุดตามสเปกกรมเจ้าท่า เกิดตะกอนดินทราย 2.6 ล้านคิว หิน 6.3 แสนคิว ลึกจนทำลายหินสมอช่วยชะลอคลื่น-หลบมรสุมชาวบ้าน ส่วนตะกอนทรายของเก่ายังหาที่ทิ้งไม่ได้ กองค้างไว้ท่าเรือกันตัง เกิดปัญหาผลภาวะฝุ่นทราย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานจากจังหวัดตรังว่า ภายหลังจากที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสข้อความในเพจส่วนตัว “TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา” ระบุ กรมเจ้าท่าได้ระงับการดำเนินงานโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือและการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิมที่กำลังดำเนินการในปี 2565 นี้ พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายราชการ-ประชาชน เพื่อศึกษาผลกระทบต่อหญ้าทะเล แหล่งอาหารพะยูนก่อนดำเนินการ อันเป็นผลมาจากการออกมาเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่และนักอนุรักษ์ ทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์พื้นที่หญ้าทะเลแหล่งอาหารพะยูนอีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
(อ่านข้อมูลประกอบใน https://www.facebook.com/TOPVarawut/posts/537938704362465)
จากการสำรวจพบว่า บริเวณเกาะลิบง ถือเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนที่สำคัญของเมืองไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูน และเป็นจุดเดียวกันกับกรณีของพะยูนน้องมาเรียม ที่โด่งดังไปทั่วโลกจนเกิดกระแสอนุรักษ์พะยูนในระดับประเทศ โดยปัจจุบันมีการสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบงได้ถูกตะกอนดินจากโครงการขุดลอกร่องน้ำกันตังที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 ทับถมจนเกิดความเสียหายหลายพันไร่ หญ้าคาทะเล ที่เคยมีความสูง 1 เมตร ตอนนี้มีความสูงเหลือแค่ 10 เซนติเมตร เสี่ยงต่อการคุกคามการดำรงชีวิตของพะยูน เสี่ยงเจ็บป่วย-ล้มตาย อาจส่งผลให้มีการอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากพะยูนขาดแหล่งอาหารที่เหมาะสม และยังส่งผลกระทบต่อการทำประมงของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากสัตว์ทะเลหลายชนิดที่อาศัยแหล่งหญ้าทะเลเป็นพื้นที่อนุบาลได้ลดจำนวนลงอย่างมาก ชาวบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำมาขายได้ ชาวบ้านในพื้นที่จึงควรมีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดก่อนดำเนินการ
ขณะที่ในรายงานผลสำรวจของนักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง ระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้รับข้อร้องเรียนจากชุมชนเกาะลิบงเกี่ยวกับการตายของหญ้าทะเล โดยปัญหาตะกอนทรายทับถมในแหล่งหญ้าทะเลซึ่งคาดว่าเกิดจากขุดลอกร่องน้ำแล้วปล่อยทิ้งทรายลงทะเลใกล้กับแหล่งหญ้าทะเลส่งผลกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเล นักวิชาการจึงได้ทำการสำรวจประเมินและจัดทำแผนที่ระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2564 ถึง 25 กรกฏาคม 2564 ผลการการประเมินแหล่งหญ้าทะเลเกาะลิบง พบว่า มีพื้นที่ทั้งหมด 26 ตารางกิโลเมตร (16,250 ไร่) ครอบคลุมแหล่งหญ้าทะเลทั้งหมด
พบสถานะของแหล่งหญ้าทะเลดังนี้
1.หญ้าทะเลที่สมบูรณ์ปกติมีพื้นที่ 12 ตารางกิโลเมตร (7,500 ไร่)
2.หญ้าทะเลตายมีพื้นที่ 3 ตารางกิโลเมตร (1,875 ไร่)
3.หญ้าทะเลเสื่อมโทรม 9 ตารางกิโลเมตร (5,625 ไร่
4.หญ้าทะเลขาดความหลากหลาย 2 ตารางกิโลเมตร (1,250 ไร่)
ส่วนผลการของระดับความเสียหายของแหล่งหญ้าทะเล โดยเฉพาะหญ้าคาทะเลซึ่งเป็นหญ้าทะเลชนิดหลักของเกาะลิยงและมีบทบาทในการให้ผลผลิตสัตว์น้ำ เนื่องจากหญ้าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ผลของระดับความเสียหายแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ระดับการตายของหญ้าคาทะเล 2.ระดับหญ้าทะเลคาเสื่อมโทรม และ 3.ระดับที่มีความหลากหลายของหญ้าทะเลต่ำ ซึ่งทั้งหมดต้องเร่งฟื้นฟูโดยด่วน ทำให้ในปี 2563 ได้เกิดการคัดค้านของชาวบ้านไม่ให้ทิ้งตะกอนทรายที่ขุดได้ลงทะเล
ทางกรมเจ้าท่าจึงหาทางออกด้วยการนำบางส่วนมาปรับเสริมแนวหน้าท่าเรือกันตังและบางส่วนที่หาทีทิ้งไม่ได้ก็นำมากองเอาไว้ด้านหลังท่าเรือ จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาที่ทิ้งตะกอนทรายจำนวนมหาศาลนั้นได้ และเริ่มได้รับการตำหนิจากประชาชนในละแวกใกล้เคียง ในเรื่องมลภาวะฝุ่นทรายที่ถูกลมพัดออกมารบกวน
หากย้อนกลับไป ความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ได้เริ่มเกิดเป็นรูปธรรมนับแต่ปี 2562 ในกรณีของมาเรียม ซึ่งเป็นลูกพะยูนเพศเมียที่ได้มาเกยตื้นที่อ่าวทึง ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ขณะมีอายุได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น เปรียบกับมนุษย์ยังอยู่ในวัยทารก เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันกลับสู่ทะเลหลายครั้ง แต่ลูกพะยูนมาเรียมยังคงว่ายวนเวียนในจุดเดิม เจ้าหน้าจึงตัดสินใจหาที่อยู่ที่เหมาะสม คือบริเวณอ่าวบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งมีความพร้อมทุกด้าน ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทีมพิทักษ์ดุหยง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จิตอาสา ทีมสัตวแพทย์
เจ้าหน้าที่ต้องต้องคอยป้อนนมจนกว่ามาเรียมจะแข็งแรงพอที่จะกินหญ้าทะเลได้อย่างเดียว มาเรียมจึงถือเป็นพะยูนตัวแรกของไทยที่มนุษย์ให้นมในสภาวะธรรมชาติ การดูแลมาเรียมเป็นงานที่เหนื่อยเอาการ แต่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ก็ผูกพันกับมาเรียม รู้สึกว่าเหมือนลูกหลาน แต่สุดท้ายโชคร้ายที่มาเรียมต้องมาจากไปด้วยขยะพลาสติกตามผลชันสูตร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวในขณะนั้นว่า ได้พบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา ได้สร้างความโศกเศร้าและเสียใจให้กับวงการนักอนุรักษ์และประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เร่งจัดทำแผนการอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ โดยการกำหนดเป้าหมายให้เพิ่มจำนวนพะยูนในประเทศไทยให้ได้ 50% ภายใน 10 ปี ให้ใช้บทเรียนจากกรณีมาเรียมที่คนทั้งประเทศได้ให้ความรัก ความหวังกับการเลี้ยงดูมาเรียมและไม่ต้องการให้มาเรียมต้องตายฟรี พร้อมทั้งกำชับให้มีการถอดบทเรียน “ลิบงโมเดล” รวมทั้งการกระชับ Road map ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยนำความสูญเสียในครั้งนี้มาเป็นแนวทางในการดูพะยูนตัวอื่นๆ
อย่างไรก็ตามล่าสุด นายจรัญ ดำเนินผล ผอ.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า เปิดเผยกับอิศรา ว่า เรื่องการตั้งคณะกรรมการร่วมดังกล่าวเพื่อศึกษาผลกระทบก่อนขุดลอกร่องน้ำกันตังนั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้กับคณะอนุกรรมการพะยูนจังหวัดตรัง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เพื่อร่วมรวบรายชื่อคณะกรรมการร่วม แล้วส่งให้กรมเจ้าท่าตามลำดับแล้ว คณะกรรมการร่วมนอกจากจะมีคณะอนุกรรมการพะยูนแล้ว ยังต้องมีนักวิชาการสิ่งแวดล้อมภาคส่วนอื่นมาร่วมด้วย เช่น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนักวิชาการจากมูลนิธิอันดามันด้วย
“แต่ในปี 2565-2566 จะไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้ทุกอย่างตกผลึก มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าหากขุดแล้วจะไม่มีผลกระทบ การจะเข้ามาดำเนินการได้นั้นต้องดูว่าจะมีผลกระทบต่อหญ้าทะเลหรือไม่ การกำหนดจุดทิ้งตะกอน ว่าจะทิ้งในทะเล หรือ ทิ้งบนบก ต้องกำหนดจุดที่ชัดเจน ปริมาณต้องชัดเจนเพื่อไม่ให้ตะกอนกระทบต่อหญ้าทะเลและสิ่งแวดล้อม”นายจรัญกล่าว
@ นายจรัญ ดำเนินผล
ในฐานะฝ่ายกรมเจ้าท่า นายจรัญ บอกว่า จริงๆมีผลการศึกษาการขุดลอกอยู่แล้ว แต่เมื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพะยูนจังหวัดตรัง ได้มีข้อสงสัยอีกหลายประเด็น และทางกลุ่มอนุรักษ์เรียกร้องให้ไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น เรื่องการเคลื่อนย้ายของตะกอนในหน้ามรสุมว่าไปในทิศทางใด การฟุ้งกระจายของตะกอน หากมีการขยายร่องน้ำจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง และการนำหินสายสมอในร่องน้ำออก จริงๆแล้วการขุดลอกร่องน้ำกันตังมีการขุดมาตลอดตั้งแต่ปี 2509 และมามีปัญหาเมื่อราวปลายปี2562 ซึ่งยังฟันธงไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุของมรสุม คลื่นลมแรง หรืออะไรกันแน่ และไม่มีการขุดมาตั้งแต่ปี2563 แต่ปัจจุบันยังพบว่าหญ้าทะเลยังมีตายเพิ่มเติม ไม่ได้เฉพาะที่เกาะลิบง จากข้อมูลที่มีการสำรวจ พบว่าหญ้าทะเลบริเวณหาดเจ้าไหม อ่าวหยงหลำ อำเภอสิเกา รวมถึงจังหวัดสตูล จังหวัดกระบี่ ก็ตายจำนวนมากเช่นกัน หรือแม้แต่ปะการังในจังหวัดภูเก็ตก็ตายเช่นเดียวกัน จึงต้องศึกษาให้ชัดว่าหญ้าทะเลตายเพราะอะไร เพราะภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล ซึ่งต้องหาคำตอบและตกผลึกให้ได้
ขณะที่นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง กล่าวกับอิศราว่า คาดว่าทางฝ่ายวิชาการของมูลนิธิอันดามัน รวมถึงกลุ่มประมงพื้นบ้าน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จะเข้าเป็นคณะกรรมการร่วมด้วย เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการขุดลอก เพราะมองว่าการเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำตรังก็เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อแม่น้ำตื้นเขินก็ต้องมีการขุดลอก ตามหลักที่ตกลงกันไว้ว่าจะขุดลอกเฉพาะที่จำเป็น และกรมเจ้าท่าก็ไม่ควรขยายร่องน้ำให้ลึก หรือกว้างเกินที่ได้รับประกันความลึกร่องน้ำไว้ที่ 55 เมตร หากจะขุดลึกกว่านี้ ปากร่องน้ำที่จะขยายให้กว้างก็ต้องทุบหินสายสมอออกบางส่วน ก็จะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปริมาณหิน ทราย จากการขุดลอกมีจำนวนมหาศาล โดยแนวหินสายสมอเป็นแนวหินที่ต่อเนื่องตั้งแต่เกาะลิบง อำเภอกันตัง ไปจนถึงอำเภอหาดสำราญ และ อำเภอปะเหลียน ที่สำคัญแนวหินสายสมอจะเป็นตัวชะลอน้ำ ในช่วงฤดูมรสุม ชะลอตะกอนดินไม่ให้ไหลอย่างรวดเร็วไปทับหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และชาวประมงพื้นบ้านใช้หินสายสมอเป็นที่หลบพายุ ดังนั้นการทุบหินสายสมอจะกระทบต่อระบบนิเวศน์
@ นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์
นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า หากจะดำเนินการตามกรมเจ้าท่าที่จะขุดให้ลึกถึง 65 เมตร ขยายความกว้าง 90 เมตร เป็นแนวคิดความลึกที่อยากได้ช่วงน้ำลงต่ำสุด แต่จะทำให้เกิดตะกอนจากการขุดลอกที่เป็นดินกับทรายกว่า 2.6 ล้านคิว และเป็นหินกว่า 6.3 แสนคิว หากเอาไปทิ้งในทะเลจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแน่นอน และการขุดลอกตามความจำเป็นต้องมาดูกันว่าจำเป็นแค่ไหน และการเดินเรือแนวแม่น้ำตรังสามารถเดินเรือได้อยู่แล้วในช่วงน้ำขึ้น โดยกายภาพแม่น้ำตรังจะมีการขึ้นลงของน้ำทะเล ในช่วงน้ำขึ้นความลึกใช้ได้อยู่แล้ว สามารถเดินเรือได้ตามช่วงเวลา
“แล้วปริมาณการจราจรการขนส่งทางน้ำ มันมีความถี่ มีการสัญจรตลอด 24 ชั่วโมงหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลที่ทราบในปัจจุบันไม่ได้มีความหนาแน่น วันหนึ่งมีแค่ขบวนเดียว บางวันก็ไม่มีเลย ฉะนั้นสามารถบริหารจัดการการเดินเรือได้อยู่ หากการขนส่งทางน้ำต้องรอน้ำขึ้นบ้าง 2-3 ชั่วโมง ก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียที่รุนแรง การขุดลอกและการเดินเรือ ไม่มีใครขัดข้อง แต่จำเป็นต้องศึกษาหารือกันอย่างรอบคอบ ทำตามจำเป็น ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากร เพราะปากแม่น้ำตรังและเกาะลิบง ที่ได้รับผลกระทบจากตะกอนทราย เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง เป็นแหล่งอาศัยของพะยูนที่มีความหนาแน่นนับร้อยๆตัว และที่สำคัญไม่สามารถหาพื้นที่ไหนทดแทนแหล่งหญ้าทะเลบริเวณนั้นได้อีกแล้ว”นายภาคภูมิระบุ
นับแต่ปี 2562 เป็นต้นมา กระแสการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้เข้มข้นจริงจังมากขึ้น ทุกการดำเนินการที่อาจสร้างผลกระทบ ถูกศึกษาทบทวน ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มตระหนักและช่วยกันดูแล พื้นที่อยู่อาศัยของ “พะยูน” ถูกปกป้องมากขึ้น จนผลสำรวจล่าสุดของกรมทช. พบประชากรพะยูนเพิ่มขึ้นจากเดิม 150 ตัวในช่วงก่อนปี 2562 เพิ่มเป็นมากกว่า 250 ตัว ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยประชากรส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทะเลตรัง โดยเฉพาะเกาะลิบง
แต่เมื่อพะยูนเป็นสิ่งมีชีวิต ย่อมมีปัจจัยที่กระทบต่อการดำรงชีวิตได้หลายสาเหตุ มติครม.เมื่อปี 2562 จึงต้องกำหนดให้มี แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1(พ.ศ. 2563-2565) หรือ “มาเรียมโปรเจคขึ้น”
ส่วนจะศักดิ์สิทธิหรือไม่ อยู่ที่การดำเนินการที่ต้องหาทางออกร่วมกัน