ครบเดือนกวาดล้างขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ ผล ปย.พันล.-ยังเอาผิด จนท.รัฐไม่ได้?
“…เพราะเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ เมื่อประเทศจีนออกมาตรการเข้มงวดห้ามนำเข้าขยะเหล่านี้ช่วงปลายปี 2560 แล้วประเทศไทยจะกลายเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ที่ทิ้งขยะโลกเลยในทันที ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับล่างที่ถูกตรวจสอบอยู่ อาจเป็นไปได้ว่าต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง และนักการเมืองระดับชาติเข้าไปเกี่ยวข้องในกรณีนี้หรือไม่ ?...”
ผ่านไป 1 เดือนแล้ว สำหรับการเริ่มต้นกวาดล้างขบวนการข้ามชาติลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ที่กลุ่มเอกชน ‘คนจีน’ นำมาทิ้งในประเทศไทย
หมุนเข็มนาฬิกากลับไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร บุกตรวจค้นโรงงานของบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ใน จ.ฉะเชิงเทรา เบื้องต้นพบซากขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากในโรงงานดังกล่าว ทั้งที่ไม่ได้รับใบอนุญาต จึงดำเนินคดีเอาผิดกับกรรมการบริษัทไปแล้วบางส่วน (อ่านประกอบ : 10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน)
นับจากวันนั้น เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบข้อมูลเอกชนต่าง ๆ และข้อมูลจากคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร สรุปได้ดังนี้
ในช่วงปลายเดือน พ.ค. 2561 ภายหลังการบุกตรวจค้นโรงงานของบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ต่อมา สตช. ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร เรียกว่า ‘คณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย’ เพื่อดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มเอกชนที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก มากำจัดในประเทศไทย
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เกิดขึ้นภายหลังประเทศจีนลงนามให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติช่วงปลายปี 2560 ยกเลิกการนำเข้าขยะเหล่านี้มากำจัดอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้กลุ่มเอกชนชาวจีนที่ทำธุรกิจเหล่านี้ในประเทศ เบนเข็มมาดำเนินการที่ไทยแทนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 เป็นต้นมา ทั้งการตั้งบริษัทเอง หรือให้คนไทยเป็น ‘นอมินี’ หรือแม้แต่ซื้อโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตต่อจากคนไทย เป็นต้น
ขณะเดียวกันข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ยอดนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงปี 2560-2561 ก้าวกระโดดสูงกว่าเดิมหลายสิบเท่า จากเดิมนำเข้าแค่หลักหมื่นตัน มาแตะหลักแสนตัน โดยเฉพาะ 3 เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานฯ ได้แก่ บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ที่มีโควตานำเข้าเดิมแค่หลัก 400-700 ตัน แต่ปัจจุบันได้รับโควตาเพิ่มเติมสูงถึงหลักหมื่นตัน
ในช่วงนั้นสื่อประเทศจีนชื่อดังอย่างน้อย 2 แห่ง คือ Xinhua และ China Daily ตีข่าวว่า ประเทศไทยคือแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกของโลกแห่งใหม่
ต่อมาคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ดำเนินการบุกตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์ และโรงงานต่าง ๆ ที่ถูกร้องเรียน-กล่าวหาว่า ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนหลายสิบแห่ง มีการอายัดตู้คอนเทนเนอร์ไปแล้วหลายตู้ รวมถึงขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงินกลุ่มเอกชน ‘ชาวจีน’ เหล่านี้ด้วย
ช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2561 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากกรมโรงงานฯว่าเอกชน 7 แห่งที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานฯ ได้โควตานำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกจากต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท เอส.เอส.อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เบ็ดเสร็จโควตาเฉพาะปี 2561 รวม 121,590 ตัน
ที่น่าสนใจคือมีเอกชน 2 ราย ได้แก่ บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับโควตารวมกันถึง 90,000 ตัน (แห่งแรก 3 หมื่นตัน แห่งสอง 6 หมื่นตัน) คิดเป็น 74% ของโควตานำเข้าทั้งหมด
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด ก่อตั้งโดยนายเลี่ยว ยื้อจิน (สัญชาติจีน) ร่วมกับหญิงสาวอายุ 29 ปี จดทะเบียนก่อตั้ง ต่อมานายเลี่ยว ได้ถ่ายหุ้นให้กับหญิงสาวอายุ 29 ปีดังกล่าว ก่อนจะโอนหุ้นให้กับนายจำรัส พลายกระสินธ์ และหายไปจากการเป็นผู้ถือหุ้น รวมถึงลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทด้วย โดยให้นายจำรัส เป็นแทน
สำหรับนายจำรัส พลายกระสินธ์ ปรากฏข้อมูลว่า เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นกรรมการบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยในปี 2559 ได้แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพิ่มเติมวัตถุประสงค์มาประกอบธุรกิจนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด ก่อนที่จะก้าวไปเป็นกรรมการบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด ในเวลาต่อมา
หมายความว่า บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นเครือข่ายเดียวกัน และได้โควตารวม 90,000 ตัน จากกรมโรงงานฯ
ต่อมาช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน มิ.ย. 2561 สำนักข่าวอิศราได้รับการยืนยันข้อมูลทางลับจากคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายว่า มีการจ่ายเงิน ‘ใต้โต๊ะ’ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ตกตู้คอนเทนเนอร์ละหลักแสนบาท หากคิดคำนวณแบบไม่ป็นทางการ คาดว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนในส่วนนี้ประมาณพันล้านบาทขึ้นไป และอาจมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงสังกัดกรมโรงงานฯอย่างน้อย 2 ส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง คือ เจ้าหน้าที่ในสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตนำเข้า และเจ้าหน้าที่ในกลุ่มจัดการกากอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบโรงงานที่ขอใบอนุญาต ส่วนเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอยู่ระหว่างตรวจสอบ
ในช่วงเวลาเดียวกัน คณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายที่ทยอยบุกตรวจค้นโรงงานหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ พบว่า โรงงาน 3 แห่ง ใน จ.ปทุมธานี ได้แก่ บริษัท เจดับบลิว เมทัล รีคัฟเวอรี อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด บริษัท คิม ซัน ยี รีไซคลิ่ง จำกัด และบริษัท เวิลด์ เวสต์ แมเนจเม้นท์ จำกัด โอนเงินกลับไปประเทศจีนกว่า 4.7 ล้านหยวน (ราว 23.6 ล้านบาท)
ส่วนในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ พบว่า มีอย่างน้อย 3 โรงงานที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ บริษัท หวางเสี่ยวตง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด บริษัท ไทย เอ็นเตอร์ไพรส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท อีเลคโทร เคมีคอล เทคโนโลยี่ จำกัด ที่พบใบเสร็จการว่าจ้างเอกชนหลายทอดให้ขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ มาไว้ที่โรงงานไม่มีชื่อแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ก่อนจะให้โรงงานในเครือข่ายกระจายกันออกไปกำจัด
เบื้องต้นสามารถสรุปพฤติการณ์ของเอกชนเหล่านี้ แบ่งได้ 2 กรณี
กรณีแรก เอกชนบางแห่งที่ได้ใบอนุญาตนำเข้า ถ่ายโอนขยะให้กับโรงงานในเครือเป็นผู้กำจัดแทน ถือว่าผิดเงื่อนไข เบื้องต้นกรมโรงงานฯเจอแล้ว 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นเเนล จำกัด และพักใบอนุญาตไปแล้ว
ในส่วนพฤติการณ์เอกชน 5 แห่งที่ถูกพักใบอนุญาตนั้น พบว่า มีการถ่ายโอนขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโรงงานในเครือข่าย ได้แก่ บริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัด นายจำรัส พลายกระสินธ์ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี รีไซคลิ้ง จำกัด บริษัท ยงถัง จำกัด บริษัท อิซัน อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด รวมกว่า 1.4 หมื่นตัน
กรณีที่สอง เอกชนที่ไม่มีใบอนุญาต ลักลอบนำเข้ามาโดยสำแดงสินค้าเป็นเท็จแก่กรมศุลกากร อย่างไรก็ดีกรมศุลกากรยืนยันว่า ไม่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์รายใดเล็ดลอดผ่านด่านตรวจไปได้ เว้นแต่เอกชนที่นำเข้านั้นได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานฯ อย่างไรก็ดีเอกชนกลุ่มนี้ ยังรับโอนขยะจากเอกชนที่ได้ใบอนุญาตมากำจัดแทนด้วย
ในส่วนเอกชนที่ไม่มีใบอนุญาตนี้ สามารถจำแนกย่อยได้อีก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสมุทรปราการ มีอย่างน้อย 6 โรงงาน กลุ่มปทุมธานี มีอย่างน้อย 3 โรงงาน กลุ่มฉะเชิงเทรามีอย่างน้อย 2 โรงงาน นอกนั้นเป็นกลุ่มพื้นที่อื่น ๆ เช่น จ.ชลบุรี และ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วิระชัย ยืนยันข้อมูลผ่านสื่อว่า ดำเนินการบุกตรวจค้นบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่าลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว 19 แห่ง ที่มีโรงงานรวม 33 แห่ง พบว่ามีการนำเข้าขยะเหล่านี้โดยผิดกฏหมายมากกว่า 5 แสนตัน (อ้างอิงข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)
ส่วนท่าทีของภาครัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ได้สั่งการให้ดำเนินการขั้น ‘เด็ดขาด’ ทั้งเอกชนที่ทำผิด รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตให้ความร่วมมือกับขบวนการเหล่านี้ และอาจใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ดำเนินการแก้ไขปัญหา
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหนังสือด่วนถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ตรวจสอบโรงงานที่เกี่ยวกับการบดย่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 แห่งทั่วประเทศแล้ว ขณะเดียวกันกรมโรงงานฯที่มีหน้าที่รับผิดชอบส่วนนี้ เสนอนโยบายและข้อสั่งการ ห้ามนำเข้าซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก อีกต่อไป
นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ค่อนข้าง ‘จบไว’ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ‘รวดเร็ว’ และ ‘เห็นผล’ ภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีอีกหนึ่งข้อเท็จจริงสำคัญที่ ‘ซ่อน’ อยู่หลังฉากขบวนการข้ามชาติเหล่านี้คือ ตกลงแล้วมีเจ้าหน้าที่รัฐรายใดเปิดช่องให้ขบวนการเหล่านี้ลักลอบนำเข้า-กระจายขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกจำนวนหลายหมื่นตันได้
เพราะเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ เมื่อประเทศจีนออกมาตรการเข้มงวดห้ามนำเข้าขยะเหล่านี้ช่วงปลายปี 2560 แล้วประเทศไทยจะกลายเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ที่ทิ้งขยะโลกเลยในทันที ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับล่างที่ถูกตรวจสอบอยู่ อาจเป็นไปได้ว่าต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง และนักการเมืองระดับชาติเข้าไปเกี่ยวข้องในกรณีนี้หรือไม่ ?
ที่ผ่านมาคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย มักไม่เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มักมุ่งเน้นการบุกตรวจค้นโรงงานที่ทำผิดกฎหมายมากกว่า
ดังนั้นต่อให้มีกฎหมาย-มาตรการออกมาคุมเข้ม หรือห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก จริง ๆ เรื่องนี้ก็ยังคงไม่จบง่าย ตราบใดที่ยังไม่สามารถควานหาตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายมารับผิดชอบกับสิ่งที่ทำไว้ !
อ่านประกอบ :
บ.นิวส์สกายฯได้16ใบอนุญาตกำจัดขยะอิเล็กฯ อ้างกรมโรงงานฯทุน60ล.แต่รายได้หลักหมื่น
จัดการด่านนี้ไม่ได้ เรื้อรัง! "เพ็ญโฉม" จี้ คสช.สอบขั้นตอนออกใบอนุญาตนำเข้า-ตั้งรง. ขยะ
ก.อุตสาหกรรม สั่งยกเลิกนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์-เศษพลาสติก
โชว์คำสั่งปลัด ก.อุตฯสั่งสอบ รง.บดขยะอิเล็กฯ148แห่งทั่ว ปท.-ขีดเส้นเสร็จ15 ส.ค.
โชว์คำสั่งปลัด ก.อุตฯสั่งสอบ รง.บดขยะอิเล็กฯ148แห่งทั่ว ปท.-ขีดเส้นเสร็จ15 ส.ค.
รถยนต์เชื่อมโยง?พฤติการณ์ซับซ้อน4รง.กลุ่ม ‘สมุทรปราการ’ ลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ
บุกค้น รง.ย่านบางพลี-สมุทรปราการ ตร.พบรถยนต์โยงเครือข่ายลอบนำเข้าขยะ E-waste
พลิกข้อมูล 6 รง.‘นอมินี’ขนถ่าย-กำจัดขยะอิเล็กฯหมื่นตันแทนเอกชนได้ใบอนุญาตฯ
ตรวจ รง.ยังไง-สอบทุจริตไหม? 4ปมที่ยังไม่เคลียร์จากอธิบดีกรมโรงงานกรณีขยะอิเล็กฯ
“เราไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ” อธิบดีกรมโรงงานฯ แจงปมลักลอบนำเข้า E-waste ยันอนุญาตถูกต้อง
ตร.ค้นอีก2รง.-1โกดังไร้ชื่อ จ.ปทุมฯเอี่ยวขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-ยอดพุ่ง14แห่ง
ฉาวทั่วโลก!สื่อแดนมังกรตีข่าวไทยศูนย์กลางทิ้งขยะอิเล็กฯแห่งใหม่-ผลกระทบหลังจีนเข้ม
หญิง31ปี-คนไต้หวัน-สิงคโปร์ก่อตั้ง!เปิดตัว ‘ไวโรกรีนฯ’โควตาขยะอิเล็กฯ1.3หมื่นตัน
กรม รง.ปฏิเสธไม่ได้!รมว.ทรัพยฯชง ครม. แก้ปัญหาขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-อาจใช้ม.44
6ปมเงื่อน!ขบวนการข้ามชาติลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-ผลประโยชน์พันล.เข้ากระเป๋าใคร?
เอกชนมีใบอนุญาตกระจายกันเอง!กรมศุลฯปัดเอี่ยวปมลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-โยนกรม รง.สอบ
สาวลึกให้ถึงต้นตอ ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ กับต้นเหตุทำไทยเปลี่ยนเป็นเมืองขยะอิเล็กฯ
จ่ายใต้โต๊ะตู้ละแสน!เอกชนร่วม จนท.รัฐลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-ถก รมว.อุตฯแก้ปัญหา13มิ.ย.
INFO:ขมวด‘ช่องโหว่’ขบวนการข้ามชาติลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-โอกาส จนท.รัฐเอี่ยวตอนไหน?
โชว์ภาพรถ-เปิด 4 บริษัทเอี่ยวขนส่งขยะอิเล็กฯ ‘กลุ่มสมุทรปราการ’-ยอดรวมพุ่ง 12แห่ง
ใบเสร็จมัด-ทำกันเป็นทอด!พฤติการณ์กลุ่มเอกชนจีนสมุทรปราการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ
เจอแล้ว!ต้นตอลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯจาก ตปท.-ให้2รง.สมุทรปราการนอมินีจัดการแทน
พบเส้นทางเงินโอนกลับจีน23.6ล.!แกะรอย‘ไอ้โม่ง’ชักใยขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ
ตร.ค้น3รง.ย่านปทุมฯใช้ที่อยู่เดียวกัน พบขยะอิเล็กฯกองท่วมหลายตัน-คนจีนเอี่ยวเพียบ
ตร.ค้น3รง.ย่านปทุมฯใช้ที่อยู่เดียวกัน พบขยะอิเล็กฯกองท่วมหลายตัน-คนจีนเอี่ยวเพียบ
เปิดตัว‘เจ.พี.เอส.’นำเข้าขยะอิเล็กฯ6หมื่นตัน ก่อนโผล่ถือหุ้น‘หย่งถัง’-นั่ง กก.แทนคนจีน
แกะรอยคนจีนถือหุ้น บ.หย่งถังฯยักษ์ใหญ่นำเข้าขยะอิเล็กฯ-ใครเจ้าของ?
ที่แท้‘คนจีน’ร่วมหญิงอายุ29ปีหอบเงินตั้ง บ.หยั่งถงฯเอกชนนำเข้าขยะอิเล็กฯ3หมื่นตัน
เปิด7บ.ได้โควตานำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กฯ-พลาสติก คนจีน-ไต้หวัน-มาเลฯถือหุ้นเพียบ?
กระชากหน้ากากขบวนการ‘คนจีน’ ลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯทิ้งไทย-สตช. ล่า‘บิ๊ก’รู้เห็น?
เปิดตัว5เอกชนนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กฯ-พลาสติก‘คนจีน’ถือหุ้น30-49%-ตร.สอบขยายผล
เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
สตช.ล่าตัว ขรก.-นักการเมืองเอี่ยว!ชี้ บ.คนจีน4แห่งต้นตอนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
ตร.ขยายผลค้นรง.ลองลัค พลาสติก ที่สมุทรสาคร สำแดงเท็จนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
“วิระชัย” ลั่น บังคับใช้ กม.บทหนักสุด เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์
ขยะ 58 ตันสำแดงเท็จ รอง ผบ.ตร. บุกจับอีก-แจ้งข้อหา บ.ลองลัค พลาสติกฯ
เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี
ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ