เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์
เปิดตัว 4 บริษัทถูก ตร. สนธิกำลังร่วมกรมศุลฯ-กรมโรงงาน ค้นตู้คอนเทนเนอร์ พบนำเข้าขยะกากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ชลบุรี 2 สมุทรปราการ 2 หลังรอง ผบ.ตร. ไล่สอบโควตานำเข้าสินค้า เอาผิดเจ้าของ-ผู้ถือหุ้นด้วย
จากกรณีเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วิระชัย ทองเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วยนายบรรจง สุกีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร และนายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผอ.สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นำกำลังลงพื้นที่ตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าขยะกากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องต้นทำการตรวจยึดไปแล้ว 5 ตู้
ทั้ง 5 ตู้ดังกล่าว แบ่งเป็นของบริษัท ซัน เทคเมทัลส์ จำกัด 1 ตู้ บริษัท เหรียญทอง อีโค รีโนเวชั่น จำกัด 1 ตู้ บริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์เวิลด์ จำกัด 1 ตู้ และบริษัท ฮ่องเต้ พลาสติก จำกัด อีก 2 ตู้ โดยบางตู้ตกเป็นของแผ่นดิน บางตู้ส่งกลับประเทศต้นทาง มีความผิดในการนำของต้องห้ามต้องกำจัดเข้ามาในราชอาณาจักร (อ่านประกอบ : ยึด 5 ตู้คอนเทนเนอร์ผิดกม. ลอบนำเข้าขยะอุตสาหกรรม)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจค้นข้อมูลเบื้องต้นของ 5 บริษัทดังกล่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบข้อมูลดังนี้
1.บริษัท ซัน เทคเมทัลส์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2548 ทุนจดทะเบียน 716 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 339 ม.6 ถ.ปากร่วม-อ่าวอุดม ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งของเสียและเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการขายส่งเศษ และชิ้นส่วนโลหะ และอโลหะ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
ปรากฏชื่อ นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง นายธานี โลเกศกระวี นายภุชงค์ จงวิไลเกษม นายอิทธิพล เดี่ยววณิชย์ และนางนันทภัชร เทียนประทีป เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 1,917,615,336 บาท รายจ่ายรวม 1,836,810,208 บาท กำไรสุทธิ 65,843109 บาท เมื่อปี 2558 ขาดทุนสุทธิ 209,657,785 บาท ปี 2557 กำไรสุทธิ 52,461,629 บาท ปี 2556 ขาดทุนสุทธิ 50,890,139 บาท
2.บริษัท เหรียญทอง อีโค รีโนเวชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2555 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 88 ม.9 ซอยปุ่นมีกิจ-อนุสรณ์ ถ.ศรีวารีน้อย ต.ศรีษะจระเข้น้อย อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งของเสียและเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และพลาสติก
ปรากฏชื่อ นายธนาธิป เหรียญทอง และ น.ส.สุธาทิพย์ เหรียญทอง เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2560 มีรายได้รวม 32,841,251 บาท รายจ่ายรวม 30,168,839 บาท กำไรสุทธิ 821,472 บาท ปี 2559 มีกำไรสุทธิ 430,115 บาท ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 193,015 บาท ปี 2557 มีกำไรสุทธิ 846,678 บาท ปี 2556 มีกำไรสุทธิ 99,805 บาท
3.บริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์เวิลด์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2547 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 88 ม.21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แจ้งประกอบธุรกิจการผลิตเส้นใยประดิษฐ์ และผลิต แปรรูปพลาสติกให้เป็นเส้นใยสังเคราะห์เพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ
ปรากฏชื่อ นายพีระศักดิ์ ศรีรุ่งสุขจินดา เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 100,082,085 บาท รายจ่ายรวม 86,309,714 บาท กำไรสุทธิ 2,162,083 บาท ปี 2558 กำไรสุทธิ 2,889,355 บาท ปี 2557 กำไรสุทธิ 450,400 บาท ปี 2556 กำไรสุทธิ 115,500 บาท
4.บริษัท ฮ่องเต้ พลาสติก จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2556 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 7 ม.15 ต.นาเริก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งของเสียและเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และประกอบกิจการรับซื้อ-ขายพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมารีไซเคิลโดยการคัดแยกชนิด บด โม่ ล้าง
ปรากฏชื่อ นายธาราพงศ์ แซ่ตั๊ง เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 378,250 บาท ขาดทุนสุทธิ 379,308 บาท มีรายได้ล่าสุดเมื่อปี 2558 รวม 222,512 บาท ขาดทุนสุทธิ 360,711 บาท ปี 2557 ขาดทุนสุทธิ 318,963 บาท ปี 2556 ขาดทุนสุทธิ 69,766 บาท
ทั้งนี้นายธาราพงศ์ ปราฏชื่อเป็นกรรมการอีกแห่ง ในบริษัท นิว ฮ่องเต้ พลาสติก 88 จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 91/5 ม.12 ต.หนองเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งของเสียและเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ซื้อ ขาย พลาสติกทุกชนิดที่ใช้แล้ว นำมารีไซเคิล
ปรากฏชื่อ นายธาราพงศ์ แซ่ตั๊ง และ น.ส.อรชุมา ชุมนิกาย เป็นกรรมการ ปัจจุบันยังไม่แจ้งงบการเงินแต่อย่างใด
อนึ่ง เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2561 พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวด้วยว่า การดำเนินการต่อไปนั้น จะต้องไปตรวจสอบว่าบริษัทนั้นมีโควตานำเข้าสินค้าจะยกเลิกได้ทั้งหมดหรือไม่ มีใครเป็นผู้ถือหุ้น ใครเป็นเจ้าของต้องมีความผิดหมด
เบื้องต้นสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า มีเอกชนอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด บริษัท เจ.พี.เอส. เมทัล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ที่พบอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 400-700 ตัน พุ่งสูงถึงหลักหมื่นตันด้วย (อ่านประกอบ : เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน)
อ่านประกอบ :
เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี
ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐ