- Home
- Isranews
- เกาะประเด็น
- “วิระชัย” ลั่น บังคับใช้ กม.บทหนักสุด เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
“วิระชัย” ลั่น บังคับใช้ กม.บทหนักสุด เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
ตร.- กรมควบคุมมลพิษ - กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผนึกกำลังฟันเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขู่ใช้ กม. บทหนัก คุก 10 ปี ด้านกรมโรงงานสั่งพักใบอนุญาตแล้ว 4 บริษัท พบพิรุธเลี่ยงภาษี ย้ำชัด หาก จนท. เอี่ยว เอาผิด 157 ด้วย
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ เลขานุการ กรมศุลกากร น.ส.สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงผลการตรวจสอบบริษัทที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังพบหลายบริษัททำผิดเงื่อนไข สำแดงสินค้าผิดประเภท
พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการควบคุม นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน 4 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากร กรมโรงงาน และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานทั้งที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา พบการกระทำความผิดหลายอย่าง ทั้งสำแดงสินค้าผิดประเภท และพบว่า อาจมีการเลี่ยงภาษี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานกับกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังว่ามีการจ่ายภาษีให้กับรัฐตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ หากพบก็จะดำเนินการโดยไม่มีข้อยกเว้น และพบพฤติการณ์อาจเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งได้มีการประสาน ปปง. ให้ตรวจสอบแล้ว
นอกจากนี้ จะต้องมีการตรวจสอบว่าการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดเงื่อนไข มีเจ้าหน้าที่คนใดรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ถ้าหากพบก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขณะเดียวกัน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ใช้บทหนัก ดำเนินคดีอาญากับเจ้าของบริษัท มีอัตราโทษสูงสุด จำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึงจะไม่ใช้การเปรียบเทียบปรับ ตามกฎหมายของศุลกากรเหมือนที่ผ่านมา
นายบรรจง กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัท 7 แห่ง ที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังตรวจพบมีการกระทำผิดลักลอบนำเข้า รวมทั้งมีการทำผิดเงื่อนไข คือ มีการส่งต่อขยะเหล่านี้ให้โรงงานอื่น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้มีคำสั่งให้พักใบอนุญาตบริษัท ที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผิดกฎหมายไปแล้ว 4 แห่ง ส่วนอีก 2 แห่ง ทำถูกกฎหมาย และเหลืออีก 1 แห่ง ที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ ก็มีกาสั่งให้มีกาปรับปรุงแก้ไข ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา จะมีการหารือกับกรมศุลกากร ในเรื่องของเอกสารการแจ้งรายการนำเข้า ว่า ชิ้นส่วนประเภทใด เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายตามกฎหมาย ซึ่งกรมโรงงาน จะได้ส่งข้อมูลบริษัทที่มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้ศุลกากร ไปเฝ้าระวัง เพื่อให้ช่วยคัดกรองการลักลอบนำเข้า และป้องกันการสำแดงนำเข้าอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ มีการวางมาตรการควบคุมการขนส่งขยะอัตรายจากท่าเรือไปยังโรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการควบคุมดูแลในขั้นตอนนี้
ขณะที่ นายกรีชา ระบุว่า ที่ผ่านมา กรมศุลกากรใช้วิธีการสุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากมีจำนวนตู้แต่ละวันจำนวนมาก เกินกำลังเจ้าหน้าที่ จึงทำให้การตรวจสอบทุกตู้ทำได้ยาก และอาจส่งผลให้เกิดการล่าช้าในการขนส่ง ที่ผ่านมา หากสุ่มตรวจพบก็จะใช้วิธีการเปรียบเทียบปรับ และส่งกลับต้นทาง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายศุลกากร แต่หลังจากนี้ หากศุลกากร ตรวจสอบพบการลักลอบนำเข้า จะส่งดำเนินคดีทุกบริษัท และจะมีการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทเหล่านี้ทุกตู้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้อีกต่อไป