จัดการด่านนี้ไม่ได้ เรื้อรัง! "เพ็ญโฉม" จี้ คสช.สอบขั้นตอนออกใบอนุญาตนำเข้า-ตั้งรง. ขยะ
"เรื่องนี้ซับซ้อนมากๆ หากรัฐไปเพิ่มความเข้มงวดพิจารณาอนุญาต และนำเข้าขยะ ก็จะไปติดกฎหมายอำนวยความสะดวกฯ อีก สังคมไทย ถูกล็อกด้วยกฎหมายที่คุณออกเอง คุณได้ทยอยออกกฎหมายอะไรหลายๆ อย่างช่วยเหลือไปแล้ว ถึงวันนี้คุณจะมาลงโทษเขา"
วันที่ 21 มิถุนายน นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงข่าวเปิดปูมกรณีการนำเข้า "ขยะพิษ" ร่วมกับประชาชนผู้เดือดร้อน 7 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาครเพชรบุรี ราชบุรี และสระบุรี) ณ อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตอนหนึ่ง นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวถึงการตรวจจับตู้สินค้าและโรงงานลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยแสดงความเห็นห่วง หากพ้นช่วงสถานการณ์นี้ไปแล้วหวั่นว่าจะกลับสู่สภาพปกติ คือแทบจะไม่มีการตรวจสอบเลย และสังคมไทยแทบไม่รู้เลยว่า ขยะอันตรายหลั่งไหลเข้าประเทศมาอีกเท่าไหร่
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ธนาคารโลกที่กดดันรัฐบาลไทยว่า ต้องรีบออกกฎหมาย หรือมีมาตรการเอื้ออำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาต ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นตัวกดดันให้เกิดโรงงานแบบนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งได้ง่ายขึ้น แถมภาครัฐมีการตรวจสอบน้อยลง
"จะเห็นว่า สถานการณ์ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็คทรอนิกส์ และของเสียอันตรายมีแรง มีปัจจัยหนุนให้มีการค้า มีการลงทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยกขยะ ฝังกลบขยะ แปรรูปขยะ หรือนำขยะกลับมาใช้ใหม่"
คำสั่งหนึ่งที่เป็นปัญหา นางสาวเพ็ญโฉม มองว่า กลายเป็นปัญหาก่อให้เกิดโรงงาน 105 และโรงงาน 106 ก็คือคือคำสั่งคสช.ที่ 4/2559 ยกเว้นกฎกระทรวงเรื่องผังเมืองรวม สำหรับการประกอบโรงงานคัดแยกขยะ ฝังกลบขยะ พื้นที่ที่เคยได้รับการคุ้มครอง ก็กลายเป็นให้โรงงานเหล่านี้ไปตั้งได้
( โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (ประเภท 105) และโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม (ประเภท 106) )
สำหรับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ถูกกดดันจากผู้ประกอบการ ให้รีบออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือใบอนุญาตนำเข้า โดยอ้างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวหาข้าราชการทำงานช้า หากมัวแต่มาตรวจสอบเอกสารไม่ถูกต้อง มีสิทธิถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกันธนาคารโลกก็กระตุ้นรัฐบาลไทย ทำให้คสช.ออกคำสั่งที่ 21/2560 อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับขยะด้วย
"ทั้งหมดอำนาจ การตัดสินใจ ดุลยพินิจทำหรือไม่ทำ ให้หรือไม่ให้ ควบคุมหรือไม่ควบคุมอยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม"
ถูกล็อกด้วยกฎหมายที่ออกเอง
นางสาวเพ็ญโฉม อธิบายอีกว่า เมื่อมีกฎหมายเอื้ออำนวยในการตั้งโรงงาน ประกอบกับมีคำสั่งคสช. ประกาศยกเว้นหลายอย่างที่กรมโรงงานฯ ซึ่งคำสั่ง คสช.ออกมาปี 2559 พบว่า โรงงานประเภท 105 เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากปี 2557 มีเพียง 5 โรง ปี 2560 มี 88 โรง ครึ่งปีแรกปี 2561 เพิ่มขึ้นมา 63 โรง ส่วนโรงงานประเภท 106 นับตั้งแต่คำสั่งคสช.มีผล เพิ่มขึ้นมา 101 โรง ครึ่งปีแรกปี 2561 เพิ่มขึ้นมา 52 โรง" จะเห็นว่า คำสั่งของรัฐบาลเหล่านี้มีผล ทั้งพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ทำให้กิจการเหล่านี้เกิดขึ้นและเร็วขึ้น
เมื่อเกิดกระแสการตรวจค้นตรวจจับเกิดขึ้น ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งคำถามว่า ในเมื่อประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้ยกเว้น การผลักดันให้ตู้สินค้า หรือขยะเหล่านี้กลับไปจะทำได้หรือไม่ หรือวันข้างหน้าเขาจะมาเรียกค่าเสียหายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ ในเมื่อคุณได้ยกเว้นให้เขาแล้ว
"ด้านกรมศุลกากร มีระบบเอ็กซเรย์ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงมาก ประเด็นอยู่ที่ว่า หากมีการตรวจนสอบจริง จะไม่รู้เชียวหรือว่า มีการนำเข้าขยะอันตรายเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งผลจากการลดการตรวจสอบ ก็มีผลทำให้ตู้สินค้าที่เป็นขยะอันตรายกระจายไปทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว"
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ซับซ้อนมากๆ เราไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นเพราะอันนี้ จึงเกิดอันนี้ แต่เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง หากรัฐไปเพิ่มความเข้มงวดพิจารณาอนุญาต และนำเข้า ก็จะไปติดกฎหมายอำนวยความสะดวกฯ อีก
"สังคมไทย ถูกล็อกด้วยกฎหมายที่คุณออกเอง คุณได้ทยอยออกกฎหมายอะไรหลายๆ อย่างช่วยเหลือเขาไปแล้ว ถึงวันนี้คุณจะมาลงโทษเขา จึงมองว่าทำยากมาก"
และการที่ประเทศไทยจะผันตัวเองเป็นบริษัทรับกำจัดขยะจากนานาชาติ ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ถามว่า สังคมไทยเรารับได้หรือไม่ พื้นที่ประเทศไทยเล็กกว่าจีน อินเดีย แต่กลับรับขยะเท่าๆ ประเทศเหล่านั้น
พร้อมกันนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มีข้อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ซึ่งมีผลให้การตั้งโรงงานเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมาก และออกกฎหมายหรือประกาศห้ามนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ ทำแบบที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีนทำ
"ไม่ต้องทำอื่นใด ทำเหมือนที่จีนทำ ก็คิดว่า คุ้มครองประเทศไทยได้มากแล้ว เพราะจะช่วยปิดเส้นทางการหลั่งไหลของขยะหลายๆประเภทเข้าสู่ประเทศไทย"
สำหรับมาตรการเฉพาะหน้า ขอให้สอบสวนความถูกต้องความเหมาะสมเรื่องการออกใบอนุญาตนำเข้า และประกอบกิจการโรงงาน 105 และ 106 ด้วยมีงานวิจัยพบว่า บริษัทเดียวมีใบอนุญาตประกอบกิจการถึง 16 โรงงาน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
"เราอยากรู้ว่า มันมีความไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการในการออกใบอนุญาตเหล่านี้หรือไม่ รัฐบาลคสช.หากให้ความสำคัญกับเรื่องทุจริตโปร่งใส ท่านต้องสอบสวนข้าราชการในการออกใบอนุญาต มีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่หรือไม่ " ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว และเชื่อว่า หากจัดการด่านนี้ไม่ได้จะเรื้อรังไปอีกนานมาก
ขณะที่มาตรการระยะยาว มูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอว่า ขอให้ทบทวนแก้ไขกฎหมายและยกเลิก เช่น ประกาศฉบับต่างๆ ที่เอื้ออำนวยยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และต้องมีการทบทวน โรงงาน 101 โรงงาน 105 โรงงาน 106 โดยการ "รื้อโครงสร้าง" ให้ชัดเจนเพื่อควบคุมปัญหาต่อไป
อีกทั้งก่อนการตั้งโรงานเหล่านี้ต้องทำ EIA รวมไปถึงการรื้อโครงสร้างอำนาจหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน แยกอำนาจการส่งเสริมอุตสาหกรรม ออกจากอำนาจการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ ไปให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น