เปิดตัว‘เจ.พี.เอส.’นำเข้าขยะอิเล็กฯ6หมื่นตัน ก่อนโผล่ถือหุ้น‘หย่งถัง’-นั่ง กก.แทนคนจีน
พลิกข้อมูล บ.เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ปฯ เอกชนได้โควตานำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กฯสูงสุด 6 หมื่นตัน พบปี’59 เพิ่มวัตถุประสงค์ธุรกิจรับซื้อเศษวัสดุจากโรงงานอื่น 2 เดือน ก่อน ‘จำรัส’ ผู้ก่อตั้ง โผล่ถือหุ้น บ.หยั่งถงฯ ปี’60 ขึ้นเป็น กก. แทน ‘คนจีน’
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด เอกชนที่ได้ใบอนุญาตนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ โควตา 3 หมื่นตัน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีนายเลี่ยว ยื้อ จิน บุคคลสัญชาติจีนเป็นผู้ก่อตั้งและยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ น.ส.สุมาลี มาเจริญ อายุ 29 ปี โดยทั้งคู่ใช้ที่อยู่เดียวกัน ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ต่อมาในปี 2559 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 14.8 ล้านบาท และมีบุคคลสัญชาติจีนอีก 4 ราย เข้ามาถือหุ้น และนายจำรัส พลายกระสินธ์ เข้ามาถือหุ้นด้วย ส่วนหุ้นนายเลี่ยวได้หายไป และลาออกจากกรรมการ โดยมีนายจำรัส พลายกระสินธ์ เข้ามาเป็นกรรมการแทน (อ่านประกอบ : แกะรอยคนจีนถือหุ้น บ.หย่งถังฯยักษ์ใหญ่นำเข้าขยะอิเล็กฯ-ใครเจ้าของ?, ที่แท้‘คนจีน’ร่วมหญิงอายุ29ปีหอบเงินตั้ง บ.หยั่งถงฯเอกชนนำเข้าขยะอิเล็กฯ3หมื่นตัน)
ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า นายจำรัส พลายกระสินธ์ เป็นกรรมการในบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแล จำกัด เอกชนที่ได้ใบอนุญาตนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ โควตา 6 หมื่นตัน ด้วย
สำหรับบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2556 ทุนปัจจุบัน 15 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 99/9 ม.9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แจ้งประกอบธุรกิจหลอมรีดตัดพับอลูมิเนียมทองแดง ทองเหลือง โลหะทุกชนิด
ปรากฏชื่อนายจำรัส พลายกระสินธ์ เป็นกรรมการ มีคนไทยถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ นายจำรัส 149,100 หุ้น นางลัดดา ใหม่โสภา 450 หุ้น และ น.ส.สุดฤทัย โพพิบูล 450 หุ้น (ทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท หุ้นละ 100 บาท)
ทั้งนี้ในช่วงก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2556-2558 ระบุวัตถุประสงค์ว่า ประกอบกิจการหลอม พลาสติก ขึ้นรูป เป็นตาข่าย และผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทุกชนิด เป็นธุรกิจหลัก (ดูเอกสารประกอบ)
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 บริษัทได้เพิ่มวัตถุประสงค์เป็น ประกอบกิจการซื้อ-ขาย เศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงานที่ไม่เป็นอันตราย และเป็นอันตรายเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ให้บริการทำลายชิ้นส่วนต่าง ๆ จากกระบวนการผลิตทุกประเภท และบริการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน โดยใช้วิธีการฝังกลบ หรือเผาทำลาย พร้อมทั้งให้บริการขนย้ายวัสดุจากโรงงานโดยรถบรรทุกทุกประเภท รวมถึงประกอบกิจการรีไซเคิลของเสีย และวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
น่าสังเกตว่า ในห้วงที่บริษัทได้เพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจดังกล่าว เป็นช่วงก่อนหน้าที่นายจำรัส จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด เพียงแค่ 2 เดือนเศษ (นายจำรัส ปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด เมื่อเดือน เม.ย. 2559)
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2560 นายจำรัส จึงเป็นกรรมการบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด แทนนายเลี่ยว ยื้อ จิน
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นครั้งที่ 2 รวมเป็น 15 ล้านบาท (ครั้งแรกปี 2556 เพิ่ม 3.5 ล้านบาท ครั้งนี้เพิ่ม 10.5 ล้านบาท รวมเป็น 15 ล้านบาท) และมีการเพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจอีกครั้ง ระบุว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กากของเสียจากอุตสาหกรรม เช่น ทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียม เหล็ก และเศษวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมารีไซเคิล (ดูเอกสารประกอบ)
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระบุว่า บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นหนึ่งในเอกชนที่มียอดนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ‘ก้าวกระโดด’ จากปี 2559 ที่มียอดนำเข้าเพียง 700 ตัน ต่อมาเมื่อปี 2560 มียอดนำเข้าสูงถึง 1.3 หมื่นตัน และปี 2561 (ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค.) นำเข้ามาแล้วกว่า 9 พันตัน จากโควตา 6 หมื่นตัน (อ่านประกอบ : เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน)
บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แจ้งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ปี 2557 มีรายได้รวม 12,492,278 บาท (ต้นทุนการขาย 10,704,240 บาท) รายจ่ายรวม 11,961,738 บาท กำไรสุทธิ 470,308 บาท
ปี 2558 มีรายได้รวม 54,076,486 บาท (ต้นทุนการขาย 52,147,861 บาท) รายจ่ายรวม 53,925,700 บาท กำไรสุทธิ 244,174 บาท
แจ้งล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 48,044,450 บาท (ต้นทุนการขาย 45,218,008 บาท) รายจ่ายรวม 47,356,971 บาท กำไรสุทธิ 269,431 บาท
ช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวติดต่อนายจำรัส พลายกระสินธ์ ผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือ 08-6386-7xxx ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยปลายสายระบุว่า เลขหมายนี้ยังไม่เปิดให้บริการ
อ่านประกอบ :
เปิด7บ.ได้โควตานำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กฯ-พลาสติก คนจีน-ไต้หวัน-มาเลฯถือหุ้นเพียบ?
กระชากหน้ากากขบวนการ‘คนจีน’ ลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯทิ้งไทย-สตช. ล่า‘บิ๊ก’รู้เห็น?
เปิดตัว5เอกชนนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กฯ-พลาสติก‘คนจีน’ถือหุ้น30-49%-ตร.สอบขยายผล
เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
สตช.ล่าตัว ขรก.-นักการเมืองเอี่ยว!ชี้ บ.คนจีน4แห่งต้นตอนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
ตร.ขยายผลค้นรง.ลองลัค พลาสติก ที่สมุทรสาคร สำแดงเท็จนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
“วิระชัย” ลั่น บังคับใช้ กม.บทหนักสุด เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์
ขยะ 58 ตันสำแดงเท็จ รอง ผบ.ตร. บุกจับอีก-แจ้งข้อหา บ.ลองลัค พลาสติกฯ
เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี
ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ