- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
“…ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า การอนุญาตให้เอกชนที่แจ้งประกอบกิจการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยว่า โรงงานเหล่านี้มีศักยภาพในการดำเนินการด้วยหรือเปล่า ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบข้อมูลโรงงานเหล่านี้อย่างเต็มความสามารถหรือไม่ ?...”
ขบวนการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กำลังถูกสืบสวนสอบสวนอย่างเข้มข้นจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม
เป็นการขยายผลจากการบุกตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งย่าน จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้กลิ่นความไม่ชอบมาพากลบางประการ กระทั่งพบว่า โรงงานนี้ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การหารือกันระหว่าง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับกรมศุลกากร เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน (อ่านประกอบ : รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน)
หลายคนอาจสงสัยว่า ขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ทำกันอย่างไร ช่องโหว่อยู่ตรงไหน ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ขั้นตอนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย จะต้องดำเนินการตามอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal: Basel Convention) เป็นมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศด้อยพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายคือลดปริมาณสารพิษที่เกิดจากของเสีย หรือขยะ
อนุสัญญาจะควบคุมการขนส่งเคลื่อนย้ายกากสารเคมีประเภทต่าง ๆ ซึ่งเดิมได้กำหนดบัญชีรายชื่อของเสียที่ควบคุมเพียง 47 ชนิด แต่ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไข และจัดกลุ่มใหม่เป็น List A ซึ่งมี 61 ชนิด ได้แก่ 1) ของเสียประเภทโลหะ 19 ชนิด เช่น สารหนู ตะกั่ว ปรอท แอสเบสตอส แคดเมียม ฯลฯ 2) ของเสียประเภทอนินทรียสาร 6 ชนิด เช่น สารเร่งปฏิกิริยาฟลูออลีน ฯลฯ 3) ของเสียประเภทอินทรียสาร 20 ชนิด เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันเตา ฯลฯ และ 4) ของเสียประเภทอนินทรียสารและหรืออินทรียสาร 16 ชนิด เช่น ของเสียจากโรงพยาบาลวัตถุระเบิด ฯลฯ เป็นต้น
ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาบาเซลแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2540
อย่างไรก็ดีช่องโหว่สำคัญ ที่เปิดให้มีเอกชนลักลอบนำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาไว้ในไทย คือ การอ้างว่านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว โดยอ้างว่าเป็น ‘ขยะพลาสติก’ เพื่อนำมา ‘รีไซเคิล’ ภายใต้อนุสัญญาบาเซล ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่พุ่งไปถึงหลายหมื่นตัน
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เล่าให้สำนักข่าวอิศราฟังว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งในไทย ผ่านคนต่างชาติที่เข้ามาเปิดบริษัทในไทย โดยแจ้งวัตถุประสงค์นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือโลหะต่าง ๆ โดยนำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้ว ไปพักไว้ยังประเทศที่ 3 ก่อนจะลักลอบนำเข้ามาทิ้งในไทย โดยอ้างว่านำเข้าชิ้นส่วนพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล
ขั้นตอนการนำเข้ามาประเทศไทย เอกชนเหล่านั้นจะต้องแจ้งข้อมูลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับทราบ และอนุมัติ ก่อน ‘สำแดง’ ข้อมูลสินค้าให้กรมศุลกากรรับรู้
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบายเส้นทางการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะพิจารณาคำขอยินยอมจากหน่วยงานรัฐประเทศต้นทาง จากนั้นดำเนินการตรวจสอบความพร้อมในด้านสถานที่จัดเก็บ ปริมาณการนำเข้า และกระบวนการผลิต หากได้รับการยินยอมจึงพิจารณาออกใบอนุญาตและขึ้นทะเบียน โดยจะออกให้เฉพาะโรงงานที่ประสงค์นำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นวัตถุดิบในโรงงานของตนเท่านั้น ไม่สามารถนำไปขายหรือจำหน่ายต่อให้ผู้อื่น หรือโรงงานอื่นได้ และปริมาณที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับกำลังผลิตของโรงงาน
ขั้นตอนในส่วนนี้นี่เองที่เป็นปัญหาอย่างมาก เนื่องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โบ้ยไปยังกรมศุลกากรว่า ไม่ยอมตรวจสอบสินค้าที่เอกชนเหล่านั้น ‘สำแดงเท็จ’ ขณะที่กรมศุลกากรตอบกลับไปว่า ตรวจสอบข้อมูลตามเอกสารที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ‘อนุญาต’
ต่างฝ่ายต่างปัด ‘เผือกร้อน’ กันพัลวัน ?
ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า การอนุญาตให้เอกชนที่แจ้งประกอบกิจการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยว่า โรงงานเหล่านี้มีศักยภาพในการดำเนินการด้วยหรือเปล่า ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบข้อมูลโรงงานเหล่านี้อย่างเต็มความสามารถหรือไม่ ?
เพราะปรากฏข้อมูลเชิงลึกว่า มีบางโรงงานที่ไม่มีศักยภาพในการดำเนินการจริง บางแห่งมีสภาพที่ไม่อาจเรียกว่าโรงงานได้ (ดูภาพประกอบ)
เบื้องต้นสำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีอย่างน้อย 7 โรงงานที่แจ้งประกอบกิจการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่มีเอกชนอีกอย่างน้อย 123 แห่ง ยื่นขออนุญาตดำเนินการ โดยอยู่ระหว่างก่อตั้งโรงงาน
อย่างไรก็ดี มีเอกชนบางแห่งที่ไม่มีโควตานำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างนำเข้า ‘ชิ้นส่วนพลาสติก’ แทนนั่นเอง
นำไปสู่การเคลือบแคลงสงสัยของภาครัฐ กระทั่งฝ่ายตำรวจต้องสนธิกำลังกับกรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลงพื้นที่ตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์ของเอกชนที่อ้างว่านำเข้า รวมถึงโรงงานต่าง ๆ จนปรากฏเป็นข่าวคึกโครมในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง
ประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจสอบเชิงลึกต่อไปคือ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการเหล่านี้หรือไม่ เอกชนเหล่านี้จะสามารถลักลอบนำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในไทยได้อย่างไร ?
นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของภาครัฐ ที่จำเป็นต้องทลายขบวนการเหล่านี้อย่างถอนรากถอนโคน เพราะปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเสียสมดุลทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะขยะเหล่านี้ย่อยสลายยาก ขั้นตอนการกำจัดก็ทำลายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศด้วย !
อ่านประกอบ :
เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี
ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ