เปิด7บ.ได้โควตานำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กฯ-พลาสติก คนจีน-ไต้หวัน-มาเลฯถือหุ้นเพียบ?
“…ประเด็นที่น่าสนใจคือ 6 ใน 7 บริษัทดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติทั้งหมด เช่น คนจีน คนสิงคโปร์ คนไต้หวัน คนมาเลเซีย และคนญี่ปุ่น ขณะเดียวกันมีอยู่ 2 บริษัท ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติหมดเลย ได้แก่ บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด (คนมาเลเซียถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย) และ บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (คนญี่ปุ่นถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย)…”
การสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมกับกรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีบริษัท-โรงงานนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์มากำจัดในไทย กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น
เบื้องต้นมีการบุกจับบริษัท-โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแล้วหลายราย แบ่งเป็น บริษัทที่มีใบอนุญาตนำเข้าถูกต้อง 4 แห่ง จากทั้งหมด 7 แห่ง ถูกพักใบอนุญาต เนื่องจากทำผิดเงื่อนไข แอบขนถ่ายขยะให้โรงงานอื่น และเอกชน 6 แห่งที่ไม่มีใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่สำแดงเท็จ อ้างว่าเป็นพลาสติก แต่สอดไส้ขยะเข้ามา รวมถึงนำเข้าเศษพลาสติกที่ผิดเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการนำเข้าพลาสติก (อ่านประกอบ : เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?, INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5, ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?)
ทั้งนี้ สตช. เปิดเผยว่า มีเอกชนอย่างน้อย 5 แห่ง ที่อยู่ระหว่างขยายผลสืบสวนสอบสวนเนื่องจากมีคนจีนเข้าไปถือหุ้น ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เอกชนทั้ง 5 แห่งดังกล่าว มี 2 แห่งที่มีใบอนุญาตนำเข้า และอีก 3 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต แต่สำแดงเท็จ โดยมีกลุ่ม ‘คนจีน’ เข้าไปถือหุ้นราว 30-49% (อ่านประกอบ : กระชากหน้ากากขบวนการ‘คนจีน’ ลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯทิ้งไทย-สตช. ล่า‘บิ๊ก’รู้เห็น?, เปิดตัว5เอกชนนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กฯ-พลาสติก‘คนจีน’ถือหุ้น30-49%-ตร.สอบขยายผล )
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 7 แห่ง มีโควตานำเข้ารวม 121,590 ตัน ดังนี้
1.บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด (โควตานำเข้า 3 หมื่นตัน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2557 ทุนปัจจุบัน 19,478,000 บาท แจ้งประกอบธุรกิจโรงงานหลอมโลหะเศษทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียม ตั้งอยู่ที่ 88/9 ม.11 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
ปรากฏชื่อนายจำรัส พลายกระสินธ์ เป็นกรรมการ มีคนไทยถือหุ้น 1 ราย (51%) และคนจีนถือหุ้น 2 ราย (49%)
ปัจจุบันยังไม่แจ้งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2.บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (โควตานำเข้า 6 หมื่นตัน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2556 ทุนปัจจุบัน 15 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 99/9 ม.9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แจ้งประกอบธุรกิจหอมรีดตัดพับอลูมิเนียมทองแดง ทองเหลือง โลหะทุกชนิด
ปรากฏชื่อนายจำรัส พลายกระสินธ์ เป็นกรรมการ มีคนไทยถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 48,044,450 บาท รายจ่ายรวม 47,356,971 บาท กำไรสุทธิ 269,431 บาท
3.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด (โควตานำเข้า 1.3 หมื่นตัน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2556 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 239 ซ.ฉลองกรุง 31 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กทม. แจ้งประกอบธุรกิจการเก็บรวบรวมของเสียที่ไม่เป็นอันตราย
ปรากฏชื่อนางอิสรีย์ สวี และนายซิ้น อัน สวี เป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้นมี 4 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทย 2 ราย (70%) สัญชาติสิงคโปร์ 1 ราย (19%) และสัญชาติไต้หวัน 1 ราย (11%) ได้แก่ 1.นางอิสรีย์ สวี (ไทย) ถือหุ้น 60% นายเว กวัง ลี (สิงคโปร์) ถือหุ้น 19% นายซิ้น อัน สวี (ไต้หวัน) ถือหุ้น 11% และนายประเสริฐ ลิ้มภักดี (ไทย) ถือหุ้น 10%
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 19,642,725 บาท รายจ่ายรวม 22,730,316 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,087,590 บาท
4.บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด (โควตานำเข้า 150 ตัน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551 ทุนปัจจุบัน 22 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 131 ม.1 ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา แจ้งประกอบธุรกิจการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
ปรากฏชื่อนายโหงว เจา ฮิน นายออง จู แซง และนายออง จู วุน เป็นกรรมการ มีคนมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2558 มีรายได้รวม 51,264,640 บาท รายจ่ายรวม 49,625,321 บาท กำไรสุทธิ 1,075,108 บาท
5.บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด (โควตานำเข้า 1.5 หมื่นตัน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2560 ทุนปัจจุบัน 4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 888/7 และ 888/8 ม.21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งเหล็กกล้า และโลหะที่นอกกลุ่มเหล็กขั้นมูลฐาน ค้าเหล็ก อลูมิเนียม เศษเหล็ก เศษอลูมิเนียม
ปรากฏชื่อนายวอน ซอง มิน และนายเจียง เล่ย เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 5 ราย เป็นคนไทย 3 ราย (55%) คนจีน 1 ราย (40%) และคนเกาหลีใต้ 1 ราย (5%)
ปัจจุบันยังไม่ได้แจ้งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
6.บริษัท เอส.เอส.อินปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (โควตานำเข้า 2 พันตัน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2555 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 88/108-9 ม.15 ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แจ้งประกอบธุรกิจรับซื้อขายของเหลือใช้จากโรงงานทุกประเภท
ปรากฏชื่อนายเต็ก ซูน อึ้ง และนางวิจิตรา เยตส์ เป็นกรรมการ มีคนสิงคโปร์ถือหุ้น 98.90% และคนไทยถือหุ้น 1.10%
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 48,558,689 บาท รายจ่ายรวม 58,845,224 บาท ดอกเบี้ย 7,169,670 บาท ขาดทุนสุทธิ 10,293,703 บาท
7.บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (โควตานำเข้า 1,440 ตัน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2546 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 41/1 ม.8 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แจ้งประกอบธุรกิจขายอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่นำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ของเครื่องถ่ายสำเนา และอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
ปรากฏชื่อนายมาซาอากิ อิโคมา นายฮิโรยูกิ นาคาโมโต และนายมาซาโตชิ คิชิโน เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้นเป็นคนญี่ปุ่นทั้งหมด 3 ราย
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2560 มีรายได้รวม 484,457,551 บาท รายจ่ายรวม 414,150,893 บาท กำไรสุทธิ 56,090,400 บาท
ประเด็นที่น่าสนใจคือ 6 ใน 7 บริษัทดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติทั้งหมด เช่น คนจีน คนสิงคโปร์ คนไต้หวัน คนมาเลเซีย และคนญี่ปุ่น ขณะเดียวกันมีอยู่ 2 บริษัท ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติหมดเลย ได้แก่ บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด (คนมาเลเซียถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย) และ บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (คนญี่ปุ่นถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย)
ขณะที่บริษัทที่ไม่มีคนต่างชาติถือหุ้น คือ บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปรากฏชื่อนายจำรัส พลายกระสินธ์ เป็นกรรมการ พบว่า นายจำรัส ก็เป็นกรรมการในบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด ซึ่งมีคนจีนร่วมถือหุ้นถึง 49% ด้วย (ดูรายละเอียดตามตารางท้ายรายงาน)
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีกรรมการรายเดียวกัน และมียอดโควตานำเข้ามากที่สุดใน 7 บริษัท รวมกันถึง 9 หมื่นตัน จาก 121,590 ตัน หรือคิดเป็น 74% ของโควตานำเข้าทั้งหมด
ขณะที่ข้อมูลจากตำรวจ ระบุว่า มีอย่างน้อย 3 บริษัทที่มียอดนำเข้าก้าวกระโดด จากเดิมได้โควตานำเข้าแค่ 400-700 ตัน แต่ปีถัดมาได้โควตานำเข้าพุ่งสูงถึงหลักหมื่นตัน ได้แก่ 1.บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด 2.บริษัท เจ.พี.เอส. เมทัล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ 3.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด (อ่านประกอบ : เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน)
ทั้งนี้มีข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า ใน 7 บริษัทดังกล่าว มี 4 แห่ง ที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้ว ได้แก่ บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด (มีใบอนุญาต 2 ใบ หมดไปแล้ว 1 ใบ เลขที่ อก 0309023038061 หมดเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561) บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด (เลขที่ อก 0309023052360 หมดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561) บริษัท เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (เลขที่ อก 0309023180760 หมดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2561) และบริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด (เลขที่ อก 0309023071460 หมดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561)
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นของ 7 บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง
ส่วนจะมีบริษัทไหนที่เข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกบ้าง ต้องรอการเปิดเผยจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และตำรวจสืบสวนขยายผลต่อไป
อ่านประกอบ :
เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
สตช.ล่าตัว ขรก.-นักการเมืองเอี่ยว!ชี้ บ.คนจีน4แห่งต้นตอนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
ตร.ขยายผลค้นรง.ลองลัค พลาสติก ที่สมุทรสาคร สำแดงเท็จนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
“วิระชัย” ลั่น บังคับใช้ กม.บทหนักสุด เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์
ขยะ 58 ตันสำแดงเท็จ รอง ผบ.ตร. บุกจับอีก-แจ้งข้อหา บ.ลองลัค พลาสติกฯ
เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี
ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ