ปริศนา! ‘พายัพ’ ขนเงิน 120 ล. จ่ายหนี้ ธพว. ทั้งที่ บ.ขาดทุนยับ ก่อนปล่อยเป็น NPL
สาวลึก ปม ธพว.ปล่อยกู้ บ.ชินวัตรไทย 95 ล. ปริศนา!‘พายัพ ชินวัตร’ขนเงิน ชำระหนี้ 5 งวด 120 ล. ช่วงเป็น ส.ส.เชียงใหม่ ทั้งที่ งบฯระบุขาดทุน-มีเงินสดแค่ 2.9 ล. ก่อนปล่อยเป็น NPL พบช่วงปี 55 ‘โรงงาน-เครื่องจักร’ ล่องหน บิ๊กธนาคารรู้ แต่ปิดเงียบ ?
กรณีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยกู้ให้แก่ บริษัท ชินวัตรไทย ของนายพายัพ ชินวัตร เมื่อปี 2545 จำนวน 95 ล้านบาท ต่อมาลูกหนี้รายนี้เป็น NPL และธพว.ได้ประมูลขายให้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด (บบส.ศรีสวัสดิ์) เพียง 10 ล้านบาท (อยู่ในกลุ่มลูกหนี้ NPL กองหนี้ภาคตะวันออกจำนวน 30 ราย)
ทว่าเมื่อสืบค้นข้อมูล การปล่อยกู้ รีไฟแนนซ์ ให้แก่ บริษัท ชินวัตรไทย เมื่อปี 2545 (ช่วงที่ 1 ช่วงการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ ) ส่อผิดปกติ 5 ประการ อาทิ จดทะเบียนหลักประกันจำนอง ที่ดิน เครื่องจักร ไม่ครบถ้วน ประเมินราคาที่ดินส่อสูงเกินจริง เป็นต้น (อ่านประกอบ:ปล่อยกู้ 'บ.เสี่ยพายัพ' ผิดปกติ 5 ข้อ-ส่อสูงเกินจริง 40 ล. ยุคผู้ก่อตั้งไทยรักไทย ‘กก.ผจก’)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูล ช่วงที่ 2 ช่วงการชำระหนี้ตามข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และช่วงที่ 3 ช่วงหลักประกันถูกรื้อถอน มาเสนอ
ช่วงที่ 2 ช่วงการชำระหนี้ตามข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้
หลังจากลูกหนี้ได้รับอนุมัติสินเชื่อจาก ธพว.เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ต่อมาในเดือนเมษายน 2546 หรือผ่านไปเพียง 7 เดือน ลูกหนี้ต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งแรก โดยขอผ่อนผันการชำระหนี้เงินกู้ แต่ต่อมาในปลายปี 2547 และปี 2548 ปรากฏว่าลูกหนี้ได้นำเงินมาชำระหนี้กับ ธพว. เป็นเงินก้อนใหญ่ โดยมีการชำระ ดังนี้
-ธันวาคม 2547 ชำระ 2 ครั้ง 26.2 ล้านบาท
-มกราคม 2548 ชำระ 1 ครั้ง 20.15 ล้านบาท
-กุมภาพันธ์ 2548 ชำระ1 ครั้ง 15.7 ล้านบาท
-มิถุนายน 2548 ชำระ1 ครั้ง 58.15 ล้านบาท
รวม 5 ครั้งเป็นจำนวนเงินรวมถึง 120 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด ถึงแม้จะมีเงินต้นเพียง 95 ล้านบาท เพราะได้เกิดดอกเบี้ยขึ้นเป็นจำนวนสูงในช่วงที่หยุดชำระ จึงทำให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548 มีเงินต้นคงค้างอยู่ 34.85 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีกประมาณ 20 ล้านบาท ต่อมาในปี 2549 ลูกหนี้ได้ชำระอีกประมาณ 2-3 แสนบาท ต่อเดือน อีก 8 เดือน แล้วก็หยุดชำระหนี้ตั้งแต่นั้นมา
จากการตรวจสอบงบการเงินบริษัท ชินวัตรไทย จำกัด พบว่า รอบปี 2546 บริษัทฯแจ้งว่ามีรายได้รวม 62,206,666.72 บาท ขาดทุนสุทธิ 19,821,601 บาท สินทรัพย์ 826,832,087.13 บาท (เงินสดและเงินฝากรวม 2,291,503.81 บาท ) หนี้สิน 1,594,062,605 บาท ขาดทุนสะสม 800,230,518.06 บาท
รอบปี 2547 บริษัทฯแจ้งว่ามีรายได้รวม 60,844,640.24 บาท ขาดทุนจากกิจกรรมตามปกติ49,266,320.12 บาท สินทรัพย์ 551,173,844.88 บาท (เงินสดและเงินฝากรวม 2,106,355.23 บาท ) หนี้สิน 440,543,818.28 บาท (แจ้งว่ามีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 877,860,544.66 บาท )
น่าสังเกตว่า การชำระหนี้ด้วยเงินก้อนใหญ่ถึง 120 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2547 และปี 2548 ลูกหนี้ได้เงินมาจากแหล่งใด? ในขณะที่ธุรกิจกำลังมีปัญหา (ขณะนั้น นายพายัพ เป็นส.ส.เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2548 )
ช่วงที่ 3 ช่วงหลักประกันถูกรื้อถอน
หลังลูกหนี้รายนี้มีปัญหา NPL ธนาคารฯ ได้เข้าไปประเมินราคาอีกครั้งในปี 2552 อย่างไรก็ตามการสำรวจหลักประกันเพื่อทบทวนราคาในปีนั้น ผู้สำรวจไม่สามารถเข้าไปในโรงงานได้ เนื่องจากหยุดการผลิตและปิดโรงงานโดยสิ้นเชิงแล้ว จึงตั้งสมมติฐานว่าเครื่องจักรอยู่ครบทั้งจำนวน 293 รายการ และประเมินราคาใหม่ในปี 2552 โดยใช้ฐานข้อมูลราคาจากการประเมินราคาครั้งก่อนแล้วหักด้วยค่าเสื่อมราคา ในขณะที่ผู้ประเมินเองราคาไม่ได้เห็นเครื่องจักรกับตาตัวเอง ซึ่งยังเป็นข้อสงสัยว่าเครื่องจักรทั้งหมดยังอยู่ครบถ้วนในโรงงาน หรือไม่ ทำให้คณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาราคาประเมินของ ธพว.ได้กำหนดเงื่อนไขให้หน่วยงานที่ดูแลลูกหนี้ติดต่อลูกหนี้เพื่อเข้าไปดูกิจการและเครื่องจักร แต่ก็ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานที่ดูแลลูกหนี้คือสายงานบริหารสินทรัพย์ ได้ดำเนินการติดต่อลูกหนี้เพื่อเข้าตรวจเยี่ยมกิจการและดูว่าหลักประกันยังอยู่ครบถ้วนหรือไม่
ในปี 2555 ซึ่งครบระยะเวลา 3 ปี ที่ ธพว.จะต้องทบทวนราคาประเมินหลักประกันของลูกหนี้รายนี้อีกครั้ง ปรากฏว่าในครั้งนี้ ตัวอาคารโรงงานถูกรื้อ และเครื่องจักรถูกขนย้ายออกไปทั้งหมด
คณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาราคาประเมินของ ธพว. จึงอนุมัติราคาประเมินเฉพาะที่ดิน เป็นเงิน 15.5 ล้านบาท และกำหนดให้ฝ่ายประเมินราคาหลักประกันจัดทำบันทึกแจ้งหน่วยงานที่ดูแลลูกหนี้เพื่อทราบ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายประเมินราคาหลักประกัน และผู้บริหารระดับสูงที่กำกับดูแลฝ่ายงานนี้ได้จัดทำบันทึกดังกล่าวแต่ประการใด
กรณีนี้น่าสงสัยว่า การที่หลักประกันถูกรื้อถอน หรือไม่สามารถเข้าตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสถาบันการเงินโดยทั่วไปที่ปล่อยสินเชื่อ แต่ทำไมผู้บริหารของ ธพว.จึงไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบชอบสายงานบริหารสินทรัพย์ที่ดูแลลูกหนี้รายนี้ ในปี 2552 ซึ่งไม่ได้ไปตรวจเยี่ยมกิจการของลูกหนี้รายนี้ เมื่อมีข้อสงสัยว่าเครื่องจักรอาจจะถูกขนย้ายออกไป และไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบฝ่ายประเมินราคาหลักประกัน ในปี 2555 (ซึ่งคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาราคาประเมินของ ธพว.ได้มีมติให้จัดทำบันทึกแจ้งหน่วยงานที่ดูแลลูกหนี้ให้ทราบว่าหลักประกันถูกรื้อถอนและขนย้ายออกไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้จัดทำบันทึกดังกล่าว) ปรากฎว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งเป็น‘ผู้บริหารหญิง’ ระดับรองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งมาจากธนาคารนครหลวงไทย แห่งเดียวกับนายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานสินเชื่อ
กรณีนี้เป็นการปกปิดข้อมูล เพื่อไม่ต้องการให้เรื่องการรื้อหลักประกันของลูกหนี้ ถูกเผยแพร่อื้อฉาวออกไป แล้วจึงค่อยหาทางแก้ไขภายหลังหรือไม่?
เป็นเรื่องที่หน่วยงานตรวจสอบ ต้องทำให้กระจ่าง
ต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ:
หลังโฉนด บ.เสี่ยพายัพ จำนอง 3 หนก่อนกู้ ธพว.-ปริศนา 12 ปีราคาประเมิน‘ไม่เปลี่ยน’
ดูชัดๆ กรณี ธพว. ขายหนี้ NPL ให้ บบส.ศรีสวัสดิ์ 201.7 ล. ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง?
เปิดภาพชุดใหม่‘รง.-เครื่องจักร’78 ล. บ.พายัพ ลูกหนี้ ธพว. ล่องหน! ส่อฉ้อโกงหรือไม่?
INFO : ข้อสังเกต-ปมเงื่อน กรณีขายหนี้ NPL หมื่นล. ธพว. ฮั้วหรือไม่?
โชว์ภาพ รง.-เครื่องจักร บ.พายัพ ชินวัตร 78 ล. NPL ธพว.หายปริศนา!ก่อนประมูลขาย
พบ บ.ทอผ้า‘พายัพ ชินวัตร’ลูกหนี้ ธพว. เหลือแค่ที่ดินเปล่า-รง. เครื่องจักร 78ล.‘ล่องหน’
เปิดเอกสารครบ! บ.ชินวัตรไทย‘เสี่ยพายัพ’ NPL ธพว. 95 ล. ประมูลขายแค่ 10 ล.
รง.ทอผ้าไหม‘พายัพ ชินวัตร’โผล่ในกองหนี้ ธพว. ประมูลขายเอกชนแค่ 10 ล.
2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ’
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล.ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต2
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิด2 ปมแต่งตั้ง บิ๊กธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.