logo isranews

logo small 2

2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. ‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ’

เปิด 2 ปมเงื่อนล่าสุดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. สัมพันธ์ลึกผู้บริหารแบงก์กับเอกชน – รายงานลับแบงก์ชาติระบุชัดไม่นำข้อมูลสำคัญมาใช้ประกอบการพิจารณา ธนาคารไม่ได้รับ ปย.สูงสุด จับตาช่วงครึ่งปีหลัง 59 อีก 3 พันล. จี้ ก.คลัง หน่วยงานกำกับ สอบ 

pictts0121 6 16

กรณีการประมูลขายหนี้ NPL ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยประมูลครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2558 และตลอดปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2559 รวม 6 ครั้ง โดยมียอดหนี้เงินต้นของลูกหนี้ที่ ธพว.ได้ประมูลขายออกไปแล้ว รวมประมาณ 7,000 ล้านบาท (หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากนับรวมดอกเบี้ยค้างชำระที่ไม่ได้บันทึกบัญชี)

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า

ประการแรก ในการประมูลกองหนี้ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการประมูลครั้งแรก ผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ 1.บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด 2.บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และ 3.บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เสนอราคาต่ำกว่ามาตรฐานในการเข้าซื้อหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ

ประการที่สอง บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด การเสนอซื้อลูกหนี้รายตัว เท่ากับมูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้จำนวนถึง 10 ราย จากลูกหนี้ทั้งหมด 30 ราย (โดยตัวเลขราคาเสนอซื้อกับมูลค่าทางบัญชีเท่ากันทุกประการทั้งจำนวนเต็มและทศนิยม)ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าล่วงรู้‘ข้อมูลภายใน’หรือไม่ ?

ประการที่สาม คณะกรรมการขายหนี้ ไม่เรียกผู้เสนอราคาอันดับถัดไป เข้าต่อรองราคา

ประการที่สี่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ไม่แข่งขันราคา ในการประมูลครั้งต่อมา

ประการที่ห้า การกำหนดราคาขายขั้นต่ำของ ธพว. ใช้มูลค่าทางบัญชีเป็นเกณฑ์ โดยไม่พิจารณาราคาประเมินหลักประกัน

ประการที่หก เงื่อนไขการชำระเงิน เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อ แต่ขัดหลักการในการแก้ไขหนี้ของ ธพว.

ประการที่เจ็ด กลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ ได้แถลงถึงผลกำไรที่คาดการณ์ว่าจะได้รับจากการประมูลซื้อหนี้ ธพว. กองหนี้ภาคตะวันออกในครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 50% ของราคาที่ประมูลได้ หรือเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเงินลงทุนของบริษัทฯที่จ่ายเฉพาะงวดแรกเพียง 10 ล้านบาท บริษัทฯ จะมีอัตราตอบแทนต่อเงินลงทุนสูงถึง 1,000 %

pictts21 6 16

pictts0021 6 16

คราวนี้มาดูเงื่อนปมอีก 2 ประการ

ประการที่แปด กรณีความสัมพันธ์ของนางสาลินีฯ ประธานกรรมการ ธพว. และคณะกรรมการ ธพว. กับ กรรมการและผู้บริหารของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด

หลังจากขายหนี้กองภาคตะวันออก ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด แล้ว คณะกรรมการ ธพว.ได้แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งของบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 1979 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด คือ นายเวทย์ นุชเจริญ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ของ ธพว. เพื่อปฏิบัติงานในคณะกรรมการหลายคณะ รวมทั้งเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการ ธพว. คนล่าสุดด้วย

กรณีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการ ธพว. ตาม มาตรา 8 จัตวา ของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 หรือไม่?

เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธพว. คือ เป็นกรรมการในบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 1979 จำกัด ซึ่งถือหุ้น 100 % ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับ ธพว. แต่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ธพว.ให้เป็นกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการ ธพว.

ประการที่เก้า รายงานการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การขายลูกหนี้ของ ธพว.ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ เป็นการขายลูกหนี้ที่ ธพว.ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่ได้นำข้อมูลสำคัญมาใช้ประกอบการพิจารณา

ตามรายงานการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 23 เมษายน 2558 ตั้งข้อสังเกตเรื่องการประมูลขายลูกหนี้ NPL ของ ธพว.ไว้ดังนี้

1) ในเรื่องการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ ระบุว่า “กระบวนการประมูลขายลูกหนี้ NPL ธนาคารกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกลูกหนี้ โดยแบ่งเป็นกองตามภูมิภาค และยึดราคาขายที่สูงกว่า Book Value (มูลค่าทางบัญชี) เป็นหลัก อย่างไรก็ดีธนาคารมิได้นำข้อมูลสำคัญอื่นมาประกอบการพิจารณาเพื่อตัดสินใจในการขายลูกหนี้แต่ละราย เช่น ราคาประเมินของหลักประกันที่เป็นปัจจุบัน เทียบกับราคาขายของลูกหนี้แต่ละราย เป็นต้น จากการตรวจสอบพบว่า ในเดือนธันวาคม 2557 ธนาคารได้ประมูลขายลูกหนี้ NPL จำนวน 30 ราย ยอดหนี้คงค้าง 694 ล้านบาท ซึ่งมี Book Value 189 ล้านบาท ไปในราคา 202 ล้านบาท ในขณะที่มีราคาประเมินรวม 518 ล้านบาท การที่ธนาคารขายลูกหนี้บางรายในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินของหลักประกันมาก ทำให้ธนาคารไม่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการขายดังกล่าว”

2) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีคำสั่งว่า “ให้ธนาคารปรับปรุงกระบวนการแก้ไข โดยมีการกำหนดเป็นขั้นตอนปฏิบัติให้มีการนำข้อมูลที่สำคัญ อาทิ ราคาประเมินหลักประกัน มาใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขหนี้ดังกล่าว รวมทั้งควบคุมให้พนักงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด”

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้แสดงรายละเอียดไว้ในเรื่อง ความเสี่ยงรวมสุทธิของธุรกรรมที่สำคัญว่าอยู่ในระดับอ่อนมาก และแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า “การประมูลขายลูกหนี้ NPL กลุ่มลูกหนี้ที่มีหลักประกัน 10,564 ล้านบาท ธนาคารจะทำการประมูลขายลูกหนี้ โดยแบ่งออกเป็น 7 กอง ตามภูมิภาคที่เป็นที่ตั้งหลักประกัน และคัดเลือกหนี้กองภาคตะวันออก เป็นโครงการนำร่อง ส่วนที่เหลือจะดำเนินการขายภายในปี 2558 สำหรับการคัดเลือกลูกหนี้ที่จะขาย ธนาคารกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องเป็นหนี้ NPL และลูกหนี้ได้หยุดดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถ หรือมีความสามารถชำระหนี้ต่ำ โดยมีคณะกรรมการขายหนี้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับธนาคาร

ธนาคารได้ประมูลขายหนี้ NPL กองภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ยอดหนี้คงค้าง 694 ล้านบาท ให้กับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ในราคา 202 ล้านบาท ในขณะที่ราคาประเมินมูลค่าหลักประกัน 518 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

-จำนวนลูกหนี้ 30 ราย
-ยอดหนี้เงินต้น 316 ล้านบาท
-ยอดหนี้ดอกเบี้ย 378 ล้านบาท
-ยอดหนี้รวม 694 ล้านบาท
-Book Value 189 ล้านบาท
-ราคาประเมินหลักประกัน 518 ล้านบาท
-ราคา Force Sale หลักประกัน 353 ล้านบาท
-ราคาขาย 202 ล้านบาท

การพิจารณาราคาขาย ธนาคารจะเปรียบเทียบราคารวมของกอง NPL ที่ผู้ประมูลเสนอราคา ต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่ารวมของราคา Book Value ของกองหนี้ ซึ่งธนาคารถือว่าไม่มีผลขาดทุนจากการขาย โดยไม่ได้กำหนดราคาขายรายลูกหนี้ เพื่อเปรียบเทียบราคา หากผู้ประมูลเสนอราคาต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อประโยชน์สูงสุด ธนาคารอาจเลือกไม่ขายลูกหนี้รายดังกล่าวได้ เช่น ลูกหนี้ราย บจ.สิทธิพันธ์ อีเลคโทรนิคส์มีหนี้เงินต้น 3.7 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4.9 ล้านบาท รวมหนี้ทั้งสิ้น 8.6 ล้านบาท ราคาประเมินหลักประกัน 11.8 ล้านบาท แต่ลูกหนี้มีราคา Book Value เพียง 0.1 ล้านบาท ธนาคารขายลูกหนี้ในราคา 1.5 ล้านบาท”

ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ธนาคารควรปรับปรุงกระบวนการขายหนี้ โดยกำหนดขั้นตอนปฏิบัติให้มีการนำข้อมูลที่สำคัญ อาทิ ราคาประเมินหลักประกันที่เป็นปัจจุบัน มาใช้ประกอบการพิจารณาการขายหนี้ด้วย เพื่อธนาคารจะได้รับประโยชน์สูงสุด”

รายงานของ ธปท. เท่ากับตอกย้ำเงื่อนงำการประมูลขายหนี้ข้างต้น?

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ธพว.ได้ขายหนี้ไปแล้วในปี 2558 เป็นเงินต้นประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายจะขายหนี้ในปี 2559 อีกประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท โดยมีกระบวนการขายและการกำหนดราคาขายขั้นต่ำเช่นเดิม

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หากกระทรวงต้นสังกัด ยังคงให้ขายในลักษณะเช่นนี้อีก ก็จะทำให้ ธพว.เสียหายมากขึ้นอีก เนื่องจากหากขายได้ครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ เป็นยอดเงินต้น 1.1 หมื่นล้านบาท จะทำให้ ธพว.สูญเสียเงินต้นไปไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งเงินต้นที่ ธพว.ปล่อยกู้ออกไปแต่ไม่ได้รับคืนกลับมา ส่วนหนึ่งเป็นเงินทุนของ ธพว. ที่มาจากทุนเรือนหุ้นซึ่งมาจากภาษีของประชาชน (จากการถือหุ้นของกระทรวงการคลังใน ธพว.ร้อยละ 99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) แต่สิทธิในการเรียกคืนเงินจำนวนนี้จากลูกหนี้ที่ ธพว.ต้องสูญเสียไป กลับตกไปอยู่ในมือของบริษัทที่ประมูลได้ โดยเฉพาะหากเป็นบริษัทเอกชน เท่ากับว่าเป็นการนำเอาเงินภาษีของประชาชนไปมอบให้กับบริษัทเอกชน อันเป็นการไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชนทั้งประเทศที่เป็นผู้จ่ายภาษี โดยบริษัทที่ประมูลได้มีหน้าที่เพียงไปติดตามเอาเงินดังกล่าวคืนจากลูกหนี้เท่านั้น หรือบังคับเอาจากหลักประกันที่มีมูลค่าสูงกว่าราคาที่ซื้อไปมาก และลูกหนี้เกือบทั้งหมด ธพว.ได้ดำเนินการทางกฎหมายจนกระทั่งไปรออยู่ในขั้นตอนการขายทอดตลาดหลักประกันแล้ว บริษัทฯ เพียงแต่รอกระบวนการขายทอดตลาดเสร็จสิ้นและรับเงินเท่านั้น อีกทั้งยังมีสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เหลือที่สามารถเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้เพิ่มเติมได้อีก

ดังนั้น การขายหนี้ของ ธพว.อีก 2,000-3,000 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 จึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากกระทรวงต้นสังกัด และหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ธพว. อีกทั้งควรตอบสอบการขายหนี้ที่ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมดในปี 2558 จำนวน 7,000-8,000 ล้านบาท ที่มีข้อมูลว่าอาจเป็นการฮั้วประมูลหรือไม่ด้วย

อ่านประกอบ:

5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต 2

เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?

เปิด 2 ปมแต่งตั้ง บิ๊ก ธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?

14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?

เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.