เปิดเอกสารครบ! บ.ชินวัตรไทย‘เสี่ยพายัพ’ NPL ธพว. 95 ล. ประมูลขายแค่ 10 ล.
เปิดเอกสารครบชุด เรียงความเป็นมา ปมประมูลขายหนี้ NPL ธพว. โรงงานทอผ้าไหม บ.ชินวัตรไทย ‘พายัพ ชินวัตร’เกือบ 100 ล. เหลือแค่ 10 ล. พบเงื่อนธนาคารฯไม่ได้ประเมินหลักประกัน สิ่งปลูกสร้าง - เครื่องจักร เอื้อเอกชนหรือไม่ รัฐเสียหายหรือยัง?
กรณีการขายหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กองหนี้ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ยอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 694 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ (บบส.ศรีสวัสดิ์) ในราคา 201.75 ล้านบาท กรณี ลูกหนี้ 1 ราย คือ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด มีประเด็นว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ ?
ประการแรก ก่อนประมูลขายหนี้ให้เอกชน ธนาคารได้ประเมินหลักประกันใหม่จาก 93.92 ล้านบาท เหลือเพียง 15.57 ล้านบาท (ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับราคาประเมินเฉพาะที่ดินเมื่อครั้งปล่อยสินเชื่อเมื่อปี 2545)
ประการที่สอง ไม่มีการประเมินสิ่งปลูกสร้าง 9 รายการ และเครื่องจักร 293 รายการ ซึ่งมีราคาประเมินเมื่อครั้งปล่อยสินเชื่อ ประมาณ 80 ล้านบาท
เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปความเป็นมาของลูกหนี้ การประมูลขายหนี้ของลูกหนี้ และข้อสังเกตมาเสนอพร้อมเอกสารดังนี้
1.ข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทชินวัตรไทย จำกัด
จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า นายพายัพ ชินวัตร ได้จดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท ชินวัตรไทยเฮ้าส์ จำกัด เมื่อ 13 มิ.ย.2531 ทุน 5 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 67 ถ.สาธรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ นายพายัพ ชินวัตร ถือหุ้นใหญ่ 20,000 หุ้น นางพอฤทัย ชินวัตร 1,500 หุ้น นายสุรพันธ์ ชัยมนตรี 5,000 หุ้น น.ส.สุภาพร สรณสถาพร 5,000 หุ้น นางสาวทัศนีย์ ชินวัตร 1,000 หุ้น จากผู้ถือหุ้น 13 คน รวมทั้งหมด 50,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท นายพายัพ ชินวัตร และ นางพอฤทัย ชินวัตร ภรรยาเป็นกรรมการ
2 ก.ค.2535 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด
ต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการอีก 3 ครั้ง
22 ก.ย.2536 นายพายัพ ชินวัตร นางพอฤทัย ชินวัตร และ น.ส.สุพัจจา ตันน์ไพรัตน์ เป็นกรรมการ ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ที่ตั้งสำนักงานใหญ่สำนักงานสาขาที่ 1 เลขที่ 67 ถ.สาธรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ และสำนักงานสาขาเขที่ และ สำนักงานสาขาที่ 2 เลขที่ 344/2-6 ถ.สุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ
2 พ.ย.2542 นายพายัพ ชินวัตร ออกจากกรรมการ มี นางพอฤทัย ชินวัตร และ น.ส.สุพัจจา ตันน์ไพรัตน์ เป็นกรรมการ
14 ก.พ.2545 จดทะเบียนลดทุน เหลือ 3 ล้านบาท
28 มี.ค.2545 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 33 ล้านบาท
15 พ.ค.2550 น.ส.สุพัจจา ตันน์ไพรัตน์ เป็นกรรมการเพียงคนเดียว
2.ข้อมูลทางด้านสถานะของบริษัทฯ
23 ก.ค.2544 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด (ลูกหนี้) และตั้งบริษัท แทสแพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน โดยมีบริษัท ริชชี่ เวนเจอร์อัลลายแอนซ์ จำกัด และศาลล้มละลายฯคำสั่งเห็นชอบแผนฯ เมื่อ 29 ม.ค.45
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00042969.PDF
10 ม.ค.2548 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ชินวัตรไทย จำกัด
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00153989.PDF
27 ก.ย.2548 ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล้มลายกลาง โดยมีคําสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และให้ ยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ บริษัท ชินวัตรไทย จํากัด ลูกหนี้ ตามมาตรา90/58 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติล้ มละลาย พุทธศักราช 2483 แล้ ว ดังนั้น อํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของ ผู้ บริหารของลูกหนี้ และผู้ ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00176869.PDF
30 ก.ค.2552 ศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัท ชินวัตรไทย จํากัด หรือ บริษัท บางกอกผ้าไทย จํากัด ลูกหนี้ เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยมี ธนาคารทิสโก้ จํากัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้อง คดีหมายเลขแดงที่ 13356/2552
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/D/016/199.PDF
21ก.ค.2553 ศาลล้มละลายกลาง ได้พิพากษา ให้ บริษัท ชินวัตรไทย จํากัด หรือ บริษัท บางกอกผ้าไทย จํากัด ลูกหนี้ ล้มละลาย (ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ เมื่อ 12 ต.ค.53)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/D/026/294.PDF
3.ข้อมูลการขอสินเชื่อของ ธพว.
9 ส.ค. 2545 คณะกรรมการสินเชื่อของ ธพว. อนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัท ชินวัตรไทย จำกัด วงเงินรวม 95 ล้านบาท แยกเป็น เงินกู้ 82 ล้านบาท เพื่อใช้ Refinance หนี้มาจากธนาคารอื่น และ เพิ่มวงเงินตั๋วสัญญาใช้เงินให้อีก 13 ล้านบาท เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ โดยมีหลักประกัน เป็นการจำนองที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงงาน เนื้อที่ 79-0-68 ไร่ ต.ห้างสูง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ราคาประเมิน 15,576,000 บาท และอาคารโรงงานรวม 9 รายการ ราคาประเมิน 64,516,520 บาท รวมทั้งจำนองเครื่องจักรอีกจำนวน 293 รายการ ราคาประเมิน 13,828,974 บาท รวมราคาประเมินหลักประกันรวมทั้งสิ้น 93,921,494 บาท และมี บสย.ค้ำประกันอีก 13 ล้านบาท และมีผู้ค้ำประกันอีก 4 ราย ได้แก่ บริษัท Richee Venture Alliance จำกัด ,นายพายัพ ชินวัตร (น้องชายทักษิณ ชินวัตร) , นางพอฤทัย ชินวัตร และ น.ส.สุพัจจา ตันน์ไพรัตน์ (ดูเอกสาร)
หลังจากขอสินเชื่อ บริษัทฯ มีปัญหาในการชำระหนี้กับ ธพว.หลังจากได้รับอนุมัติสินเชื่อไปได้ไม่นาน มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้งระหว่างปี 2546-2549 โดยบริษัทฯได้ชำระหนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว จนกระทั่งภาระหนี้เงินต้นลดลงเหลือ 34.68 ล้านบาท แต่ยังมีดอกเบี้ยค้างชำระอยู่อีกประมาณ 20 ล้านบาท ณ ช่วงปลายปี 2549 ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา บริษัทฯก็หยุดชำระหนี้ ภาระหนี้ทั้งสิ้น ในขณะที่ ธพว.ขายหนี้รายนี้ออกไป ประมาณเกือบ 100 ล้านบาท
น่าสังเกตว่า
การอนุมัติสินเชื่อของ ธพว.เมื่อปี 2545 เป็นการอนุมัติสินเชื่อหลังจากที่ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และแต่งตั้งให้ บริษัท แทส แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผน โดยให้ลดทุนจดทะเบียนจาก 300 ล้านบาท คงเหลือ 3 ล้านบาท และให้จดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 33 ล้านบาท โดยร่วมทุนกับบริษัท Richee Venture Alliance จำกัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยได้รับอนุมัติสินเชื่อจาก ธพว.เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 วงเงินรวม 95 ล้านบาท
4. การขายหนี้ NPL ของ ธพว. ราย บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด
ธพว.ประมูลขายกองหนี้ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ยอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 694 ล้านบาท โดย บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ (บบส.ศรีสวัสดิ์) ซื้อไปในราคา 201.75 ล้านบาท
ลูกหนี้ราย บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด อยู่ในลำดับที่ 20 ระบุยอดหนี้เงินต้น 34,687,538.72 บาท มูลค่าทางบัญชี 6,188,366.13 บาท ราคาประเมินหลักประกัน 15,576,000 ล้านบาท โดยยอดหนี้ทั้งสิ้นของลูกหนี้รายนี้หากรวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระมามากกว่า 10 ปี เป็นจำนวนเกือบ 100 ล้านบาท
ในปี 2557 ก่อนการประมูลขายหนี้ ธพว.ประเมินหลักประกันใหม่ก่อนการขายหนี้ ลดลงเหลือเพียง 15.57 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับราคาประเมินเฉพาะที่ดินเมื่อครั้งที่อนุมัติสินเชื่อเมื่อปี 2545 และ ธพว.ได้ขายหนี้รายนี้ให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ไปในราคาเพียง 10 ล้านบาท
น่าสังเกตว่า
1.ราคาประเมินหลักประกันใหม่ในปี 2557 ก่อนการขายหนี้ ลดลงจาก 93.92 ล้านบาท เหลือเพียง 15.57 ล้านบาท (ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับราคาประเมินเฉพาะที่ดินเมื่อครั้งปล่อยสินเชื่อเมื่อปี 2545)
โดยหากเป็นการประเมินเฉพาะที่ดิน ก็ควรจะมีราคาประเมินที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะเป็นที่ดินที่อยู่ในย่านอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ซึ่งราคาที่ดินมีการขยับตัวสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
2.ไม่มีราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง 9 รายการ และเครื่องจักร 293 รายการ ซึ่งมีราคาประเมินเมื่อครั้งปล่อยสินเชื่อ ประมาณ 80 ล้านบาท ถ้าหากสิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอน และเครื่องจักรถูกขนย้ายออกไป ก็คงจะต้องมีผู้รับผิดชอบ
3. มีการประเมินราคาหลักประกันใหม่ก่อนการขายหนี้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อเอื้อประโยชน์หรือไม่ ? เพื่อจะขายลูกหนี้รายนี้ออกไปในราคาที่ต่ำ เมื่อลูกหนี้หรือตัวแทนไปเจรจาชำระหนี้กับบริษัทฯที่ประมูลได้ ก็จะสามารถขอชำระหนี้ด้วยจำนวนเงินที่ต่ำตามต้นทุนที่บริษัทฯ ประมูลได้มา
กระนั้น ไม่ว่า หลังประมูลขายให้ บบส.ศรีสวัสดิ์ไปแล้ว ‘ลูกหนี้รายเดิม’ คือ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด จะตามไปซื้อทรัพย์สินกลับคืนมาหรือไม่ก็ตาม
ถ้าตั้ง ‘ราคาประเมินหลักประกัน’ ต่ำกว่าความเป็นจริง ถือว่าเอื้อประโยชน์หรือไม่ และรัฐเสียหายแล้วหรือไม่?
อ่านประกอบ:
รง.ทอผ้าไหม‘พายัพ ชินวัตร’โผล่ในกองหนี้ ธพว. ประมูลขายเอกชนแค่ 10 ล.
2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. ‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต 2
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิด 2 ปมแต่งตั้ง บิ๊ก ธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.