รง.ทอผ้าไหม‘พายัพ ชินวัตร’โผล่ในกองหนี้ ธพว. ประมูลขายเอกชนแค่ 10 ล.
พบ โรงงานทอผ้าไหม บ.ชินวัตรไทย ‘พายัพ ชินวัตร’น้องชาย ‘ทักษิณ’ โผล่ในกองหนี้ ธพว.ประมูลขาย บบส.ศรีสวัสดิ์ เพียง 10 ล. ขณะมูลหนี้เกือบร้อย ล. ธนาคารฯเคยประเมินราคา รง.หลักประกัน จ.ชลบุรี สูงกว่า 93 ล.
กรณีการประมูลขายหนี้ NPL ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยประมูลครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2558 และตลอดปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2559 รวม 6 ครั้ง โดยมียอดหนี้เงินต้นของลูกหนี้ที่ ธพว.ได้ประมูลขายออกไปแล้ว รวมประมาณ 7,000 ล้านบาท (หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากนับรวมดอกเบี้ยค้างชำระที่ไม่ได้บันทึกบัญชี)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า ในการประมูลกองหนี้ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการประมูลครั้งแรก ผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ 1.บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด 2.บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และ 3.บริษัทบริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด เสนอราคาต่ำกว่ามาตรฐานในการเข้าซื้อหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ และผู้ซื้อ 1 รายคือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ที่เสนอซื้อลูกหนี้รายตัว เท่ากับมูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ จำนวนถึง 10 ราย จากลูกหนี้ทั้งหมด 30 ราย (โดยตัวเลขราคาเสนอซื้อกับมูลค่าทางบัญชีเท่ากันทุกประการ ทั้งจำนวนเต็มและทศนิยม)ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสมยอมและล่วงรู้ ‘ข้อมูลภายใน’ หรือไม่?
ล่าสุดพบว่า การขายหนี้ของ ธพว.กองหนี้ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย ยอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 694 ล้านบาท ที่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ศรีสวัสดิ์ (บบส.ศรีสวัสดิ์) ซื้อไปในราคา 201.75 ล้านบาท พบลูกหนี้รายสำคัญคือ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด อยู่ในลำดับที่ 20 ระบุยอดหนี้เงินต้น 34,687,538.72 บาท มูลค่าทางบัญชี 6,188,366.13 บาท ราคาประเมินหลักประกัน 15,576,000 ล้านบาท โดยยอดหนี้ทั้งสิ้นของลูกหนี้รายนี้หากรวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระมามากกว่า 10 ปี เป็นจำนวนเกือบ 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธพว.ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายนี้ เมื่อปี 2545 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร คณะกรรมการสินเชื่อของ ธพว.ในการประชุมครั้งที่ 7/2545 วันที่ 9 สิงหาคม 2545 อนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัท ชินวัตรไทย จำกัด วงเงินรวม 95 ล้านบาท แยกเป็น เงินกู้ 82 ล้านบาท เพื่อใช้ Refinance หนี้มาจากธนาคารอื่น และ เพิ่มวงเงินตั๋วสัญญาใช้เงินให้อีก 13 ล้านบาท เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ โดยมีหลักประกัน เป็นการจำนองที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงงาน เนื้อที่ 79-0-68 ไร่ และอาคารโรงงานรวม 9 รายการ รวมทั้งจำนองเครื่องจักรอีกจำนวน 293 รายการ ราคาประเมินหลักประกันรวมทั้งสิ้น 93.92 ล้านบาท และมี บสย.ค้ำประกันอีก 13 ล้านบาท นอกจากนี้มีผู้ค้ำประกันอีก 4 ราย ได้แก่ บริษัท Richee Venture Alliance จำกัด ,นายพายัพ ชินวัตร (น้องชายทักษิณ ชินวัตร) , นางพอฤทัย ชินวัตร และ น.ส.สุพัจจา ตันน์ไพรัตน์
สำหรับราคาประเมินหลักประกันจำนวน 93.92 ล้านบาท แยกเป็น ราคาประเมินที่ดิน 15.57 ล้านบาท, สิ่งปลูกสร้าง 64.51 ล้านบาท และเครื่องจักร 13.82 ล้านบาท
การอนุมัติสินเชื่อของ ธพว.เมื่อปี 2545 เป็นการอนุมัติสินเชื่อหลังจากที่ศาลล้มละลายกลาง
มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และแต่งตั้งให้ บริษัท แทส แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผน โดยให้ลดทุนจดทะเบียนจาก 300 ล้านบาท คงเหลือ 3 ล้านบาท และให้จดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 33 ล้านบาท โดยร่วมทุนกับบริษัท Richee Venture Alliance จำกัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยได้รับอนุมัติสินเชื่อจาก ธพว.เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 วงเงินรวม 95 ล้านบาท
ต่อมา 27 ก.ย.48 ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลล้มลายกลาง โดยมีคําสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และให้ ยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ บริษัท ชินวัตรไทย จํากัด ลูกหนี้ ตามมาตรา90/58 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แล้ว ดังนั้น อํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของ ผู้ บริหารของลูกหนี้ และผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2548/00176869.PDF
บริษัทฯ มีปัญหาในการชำระหนี้กับ ธพว.หลังจากได้รับอนุมัติสินเชื่อไปได้ไม่นาน มีการปรับ
โครงสร้างหนี้จำนวนหลายครั้งระหว่างปี 2546-2549 โดยบริษัทได้ชำระหนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว จนกระทั่งภาระหนี้เงินต้นลดลงเหลือ 34.68 ล้านบาท แต่ยังมีดอกเบี้ยค้างชำระอยู่อีกประมาณ 20 ล้านบาท ณ ช่วงปลายปี 2549 และตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา บริษัทก็หยุดชำระหนี้ ภาระหนี้ทั้งสิ้นในขณะที่ ธพว.ขายหนี้รายนี้ออกไป ประมาณเกือบ 100 ล้านบาท
ราคาประเมินหลักประกันก่อนการขายหนี้ ซึ่งประเมินราคาใหม่ในปี 2557 ลดลงเหลือเพียง 15.57 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับราคาประเมินเฉพาะที่ดินเมื่อครั้งที่อนุมัติสินเชื่อเมื่อปี 2545 และ ธพว.ได้ขายหนี้รายนี้ให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ไปในราคาเพียง 10 ล้านบาท
น่าสังเกตว่า
1.ราคาประเมินหลักประกันใหม่ก่อนการขายหนี้ ลดลงจาก 93.92 ล้านบาท เหลือเพียง 15.57 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับราคาประเมินเฉพาะที่ดินเมื่อครั้งปล่อยสินเชื่อเมื่อปี 2545 โดยหากเป็นการประเมินเฉพาะที่ดิน ก็ควรจะมีราคาประเมินที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะเป็นที่ดินที่อยู่ในย่านอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ซึ่งราคาที่ดินมีการขยับตัวสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
2.เหตุใดจึงไม่มีราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง 9 รายการ และเครื่องจักร 293 รายการ ซึ่งมีราคาประเมินเมื่อครั้งปล่อยสินเชื่อ ประมาณ 80 ล้านบาท ถ้าหากสิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอน และเครื่องจักรถูกขนย้ายออกไป ก็คงจะต้องมีผู้รับผิดชอบ
3. มีการประเมินราคาหลักประกันใหม่ก่อนการขายหนี้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อเอื้อประโยชน์หรือไม่ ? เพื่อที่จะขายลูกหนี้รายนี้ออกไปในราคาที่ต่ำ เมื่อลูกหนี้หรือตัวแทนไปเจรจาชำระหนี้กับบริษัทฯที่ประมูลได้ ก็จะสามารถขอชำระหนี้ด้วยจำนวนเงินที่ต่ำตามต้นทุนที่บริษัทฯ ประมูลได้มา
บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด จดทะเบียนวันที่ 13 มิถุนายน 2531 ในนาม บริษัท ชินวัตรไทยเฮ้าส์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผ้าไหม,ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อผ้าบุรุษ-สตรี, เนคไท,ผ้าพันคอ ฯลฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 626 ถนนพระราม 4 แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ โดยโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ เลขที่ 1 หมู่ 2 ต.ห้างสูง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ต่อมา 2 กรกฎาคม 2535 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ชินวัตรไทย จำกัด และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บริษัท บางกอกผ้าไทย จำกัด เมื่อ 8 ธันวาคม 2548
อ่านประกอบ:
2 ปมล่าสุด เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. ‘สัมพันธ์ลึกผู้บริหาร–เมินข้อมูลสำคัญ
5 ปมใหม่ เบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว.- กลุ่มศรีสวัสดิ์ไม่แข่งราคาลอต 2
เปิดเบื้องหลังประมูลซื้อหนี้หมื่นล. ธพว. 3 บ.รัฐ-เอกชนร่วมแบ่งเค้ก ส่ออินไซเดอร์-ฮั้ว?
เปิด 2 ปมแต่งตั้ง บิ๊ก ธพว.คนใหม่ ส่อมีปัญหาหลายข้อ?
14 กรณีเงื่อนงำใน ธพว.‘ปล่อยกู้-ขายลูกหนี้ NPL’ ซุกใต้พรม รอสะสาง?
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.