พลิกข้อมูล 6 รง.‘นอมินี’ขนถ่าย-กำจัดขยะอิเล็กฯหมื่นตันแทนเอกชนได้ใบอนุญาตฯ
“…ขั้นตอนการออกใบอนุญาตของกรมโรงงานฯ แก่เอกชนที่ขอโควตานำเข้า ค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเช็คสภาพความพร้อมของโรงงานที่อาจไม่มีศักยภาพดำเนินการได้จริง เช่น บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ได้รับโควตาในปี 2561 ประมาณ 3 หมื่นตัน แต่กลับขนถ่ายโอนขยะเหล่านี้ให้กับโรงงานในเครือข่ายไปกำจัดมากถึงเกือบ 1 หมื่นตัน (ให้ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดีฯ 120 ตัน ให้นายจำรัส (เจ้าของบริษัทตัวเอง) 500 ตัน และให้บริษัท นิวส์สกาย 8,139 ตัน) หรือแม้แต่การตรวจสอบภายหลังการนำเข้าว่า โรงงานเหล่านี้ได้กำจัดเองจริงหรือไม่…”
ขบวนการข้ามชาติลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกสู่ไทย กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนของคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกาการ เบื้องต้นพบข้อเท็จจริงแล้วว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ที่กำลังถูกขนถ่ายหมุนเวียนมาทิ้งในประเทศจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาจากเอกชน-โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าจากกรมโรงงานฯ โดยมีกลุ่มนักธุรกิจ ‘คนจีน’ เป็นผู้ดำเนินการ
ขณะเดียวกันปรากฏข้อมูลทางลับว่า มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายขยะเหล่านี้ด้วย ตกตู้คอนเทนเนอร์ละหลักแสนบาท
สปอร์ตไลต์จึงพุ่งเป้าฉายไปยัง กรมโรงงานฯ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องเหล่านี้ในทันทีว่า ที่ผ่านมากำกับดูแลกันอย่างไร ทำไมถึงปล่อยให้ประเทศไทยกลายเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ที่ทิ้งขยะของโลกแห่งต่อไป ต่อจากประเทศจีน ที่ยกเลิกห้ามเอกชนนำเข้าขยะเหล่านี้แล้วเมื่อปลายปี 2560
แม้นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานฯ เปิดอกให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ชี้แจงเรื่องทั้งหมด โดยระบุว่า กรมโรงงานฯพยายามกำกับดูแลอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีพวกลักลอบนำเข้ามาอยู่ และกรมโรงงานฯได้พักใบอนุญาตนำเข้าเอกชน 5 แห่ง จากทั้งหมด 7 แห่งที่มีใบอนุญาตไปแล้ว (อ่านประกอบ : “เราไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ” อธิบดีกรมโรงงานฯ แจงปมลักลอบนำเข้า E-waste ยันอนุญาตถูกต้อง)
อย่างไรก็ดีคำชี้แจงของนายมงคล ก็ยังมีข้อ ‘กังขา’ อยู่อย่างน้อย 4 ประการ ที่ยังไม่เคลียร์ โดยเฉพาะขั้นตอนการนำเข้า กรมโรงงานฯได้เข้าไปตรวจสอบอย่างเต็มที่หรือไม่ และเมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาว่าอาจทุจริตพัวพันในขบวนการนี้ ทำไมถึงยังไม่ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อควานหาผู้รับผิดชอบ ? (อ่านประกอบ : ตรวจ รง.ยังไง-สอบทุจริตไหม? 4ปมที่ยังไม่เคลียร์จากอธิบดีกรมโรงงานกรณีขยะอิเล็กฯ)
สำหรับเอกชนทั้ง 5 แห่งที่ถูกพักใบอนุญาต สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากกรมโรงงานฯแล้ว ได้แก่ บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นเเนล จำกัด ที่มีการขนถ่ายขยะให้กับโรงงานอื่น ๆ และบุคคล รวม 6 แห่ง ถือว่ามีความผิด และดำเนินการไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขการขอใบอนุญาต ที่ต้องเป็นผู้กำจัดขยะเองทั้งหมด ห้ามส่งต่อโรงงานอื่น (อ่านประกอบ : ข้อมูล E-waste 1.4 หมื่นตัน ขนย้ายไม่ตรงจดเเจ้ง 'บ.เจ.พี.เอส.' ทำผิดเงื่อนไขนำเข้ามากสุดกว่า 8 พันตัน)
สำหรับโรงงาน และบุคคล 6 แห่ง ได้แก่
1.บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ได้รับขยะจาก บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด 1,120 ตัน, บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด 350 ตัน และบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นเเนล จำกัด 120 ตัน
บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด คือโรงงานแรกที่ถูกคณะทำงานร่วมฯ บุกตรวจค้น และดำเนินคดีฐานลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยปรากฏข้อเท็จจริงที่น่าสนใจด้วยว่า นายวีระ ปกรณ์กาญจน์ กรรมการบริษัท ได้แจ้งลาออกวันเดียวกันกับที่ตำรวจเข้าตรวจค้น คือเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 (อ่านประกอบ : 10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน, พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’)
2.นายจำรัส พลายกระสินธ์ ได้รับขยะจากบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นเเนล จำกัด 500 ตัน
ข้อมูลของนายจำรัส พลายกระสินธ์ พบว่า เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นกรรมการของบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยปรากฏข้อมูลที่น่าสนใจว่า ช่วงปี 2559 ได้เพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจ นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก และปีเดียวกันได้เข้าไปถือหุ้นบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด (ก่อตั้งโดยคนจีน) ก่อนที่จะเข้าไปเป็นกรรมการบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด ในเวลาต่อมา โดยข้อมูลจากกรมโรงงานฯ ระบุว่า บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คือ 2 โรงงานที่มีโควตานำเข้าสูงสุดรวม 9 หมื่นตัน จากทั้งหมดกว่า 1.2 แสนตัน คิดเป็น 74% ของโควตาทั้งหมด (อ่านประกอบ : เปิดตัว‘เจ.พี.เอส.’นำเข้าขยะอิเล็กฯ6หมื่นตัน ก่อนโผล่ถือหุ้น‘หย่งถัง’-นั่ง กก.แทนคนจีน, แกะรอยคนจีนถือหุ้น บ.หย่งถังฯยักษ์ใหญ่นำเข้าขยะอิเล็กฯ-ใครเจ้าของ?)
3.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับขยะจาก บริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นเเนล จำกัด 186 ตัน
บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นหนึ่งใน 3 โรงงานที่ถูก สตช. ระบุว่า มียอดนำเข้าก้าวกระโดด (อีก 2 แห่งคือ บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด และบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) จากเดิมนำเข้าแค่หลัก 400-700 ตัน แต่ปีต่อมากลับมียอดนำเข้าพุ่งสูงถึงหลักหมื่นตัน และจากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา พบว่า ผู้ก่อตั้งเป็นหญิงสาวอายุ 31 ปี แจ้งอาชีพรับจ้าง ก่อตั้งพร้อมคนสิงคโปร์ 2 ราย เป็นกรรมการอยู่เพียงปีเศษได้ลาออก และให้คนไทย และคนไต้หวันเข้ามาเป็นกรรมการแทน (อ่านประกอบ : หญิง31ปี-คนไต้หวัน-สิงคโปร์ก่อตั้ง!เปิดตัว ‘ไวโรกรีนฯ’โควตาขยะอิเล็กฯ1.3หมื่นตัน)
ส่วนที่เหลืออีก 3 แห่งถือเป็น ‘ตัวละครใหม่’ ที่เพิ่งถูกเปิดเผยออกมาครั้งแรก ได้แก่
4.บริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัด นำเข้าขยะจากบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นเเนล จำกัด 8,139 ตัน
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2556 ทุนปัจจุบัน 7,350,000 บาท ตั้งอยู่ที่ 111 ม.9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แจ้งประกอบธุรกิจหลอม รีด ตัด พับอลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง โลหะทุกชนิด
ปรากฏชื่อ นายหลัว จีซุ่ย เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 5 ราย เป็นคนไทย 3 ราย (53%) คนจีน 1 ราย (23.5%) และคนฮ่องกง 1 ราย (23.5%)
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 20,000 บาท รายจ่ายรวม 5,000 บาท กำไรสุทธิ 15,000 บาท
ที่น่าสนใจคือนับตั้งแต่ปี 2556 บริษัทมีรายได้แค่หลักหมื่นบาทมาโดยตลอด แต่กลับได้รับการโอนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์มาถึง 8,139 ตัน
5.บริษัท อิซัน อินเตอร์เนชั่นเเนล (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับขยะจาก บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด 2,952 ตัน
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2556 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 271 การนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซ.ฉลองกรุง 31 ถ.ฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กทม. (ใกล้กับที่ตั้งบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด) แจ้งประกอบธุรกิจการขายเครื่องใช้สำนักงาน ขายส่งเครื่องจักรอุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในสำนักงาน
ปรากฏชื่อ นางอิสรีย์ สวี และนายซิ้น อัน สวี เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 4 ราย ได้แก่ คนไทย 1 ราย (51%) คนสิงคโปร์ 2 ราย (38%) และคนต่างชาติ 1 ราย (11%)
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2558 ไม่มีรายได้ เมื่อสืบค้นไปถึงปี 2556 พบว่า ไม่เคยมีรายได้ และขาดทุนหลักพันบาทมาโดยตลอด
สำหรับนางอิสรีย์ สวี และนายซิ้น อัน สวี (สัญชาติไต้หวัน) เป็น 2 บุคคลที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด อีกด้วย ดังนั้นบริษัท อิซันฯ และบริษัท ไวโรกรีนฯ จึงเป็นเครือข่ายเดียวกัน
6.บริษัท ยงถัง จำกัด ได้รับขยะจากบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด 664 ตัน
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2554 ทุนปัจจุบัน 12 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 55 ม.11 ต.ดอนตูม อ.บางเลน จ.นครปฐม (ที่เดียวกับบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด) แจ้งประกอบธุรกิจโรงงานหล่อโลหะ และการหล่อเหล็ก
ปรากฏชื่อ นายเลี่ยว ยื้อ จิน และนายเลียว เจี้ยนเซีย เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 3 ราย เป็นคนไทย 2 ราย (51%) และคนจีน 1 ราย (49%)
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 34,203,956 บาท รายจ่ายรวม 32,198,848 บาท กำไรสุทธิ 24,996 บาท
ทั้งนี้นายเลี่ยว ยื้อ จิน ปรากฏชื่อเป็นเป็นผู้ก่อตั้งและยื่นจดทะเบียนบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และเป็นกรรมการคนแรก ก่อนจะลาออกให้นายจำรัส พลายกระสินธ์ (ผู้ก่อตั้ง-กรรมการบริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) เป็นเป็นกรรมการแทน รวมถึงออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด ด้วย
เบ็ดเสร็จ 5 เอกชนที่ได้รับใบอนุญาต ได้ลอบขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ให้กับ 5 โรงงาน+1 บุคคล ในเครือข่าย รวมทั้งสิ้น 14,031 ตัน
เมื่อพลิกข้อมูลของ 6 โรงงาน-บุคคลที่ถูกตรวจสอบพบว่า เป็นผู้โอนถ่ายขยะมาจากเอกชน 5 แห่งที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า
หนึ่ง ขั้นตอนการออกใบอนุญาตของกรมโรงงานฯ แก่เอกชนที่ขอโควตานำเข้า ค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเช็คสภาพความพร้อมของโรงงานที่อาจไม่มีศักยภาพดำเนินการได้จริง เช่น บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ได้รับโควตาในปี 2561 ประมาณ 3 หมื่นตัน แต่กลับขนถ่ายโอนขยะเหล่านี้ให้กับโรงงานในเครือข่ายไปกำจัดมากถึงเกือบ 1 หมื่นตัน (ให้ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดีฯ 120 ตัน ให้นายจำรัส (เจ้าของบริษัทตัวเอง) 500 ตัน และให้บริษัท นิวส์สกาย 8,139 ตัน) หรือแม้แต่การตรวจสอบภายหลังการนำเข้าว่า โรงงานเหล่านี้ได้กำจัดเองจริงหรือไม่
สอง ข้อเท็จจริงค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้ มีเครือข่ายใกล้ชิดกับเอกชนบางแห่งที่ได้รับโควตานำเข้า สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากคณะทำงานร่วมฯว่า กลุ่มคนจีนได้เข้ามาแอบเปิดบริษัท-โรงงานเพื่อเตรียมพร้อมในไทยตั้งแต่ช่วงปี 2556 เป็นต้นมา ก่อนหน้าที่ประเทศจีนจะดำเนินมาตรการจริงจังห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกในปี 2560 นอกจากนี้ยังมีข้อมูลระบุด้วยว่า กลุ่มคนจีนบางกลุ่มได้เข้ามาซื้อบริษัท-โรงงานต่อจากคนไทยด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งเงื่อนปมที่ค่อย ๆ คลายออกมาจากความลึกลับซับซ้อนของ ‘ขบวนการข้ามชาติ’ เหล่านี้
ท้ายสุดคณะทำงานร่วมฯจะควานหาตัวผู้อยู่เบื้องหลัง ‘ตัวจริง’ ได้หรือไม่ คงต้องรอวัดฝีมือกันต่อไป !
อ่านประกอบ :
ตรวจ รง.ยังไง-สอบทุจริตไหม? 4ปมที่ยังไม่เคลียร์จากอธิบดีกรมโรงงานกรณีขยะอิเล็กฯ
“เราไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ” อธิบดีกรมโรงงานฯ แจงปมลักลอบนำเข้า E-waste ยันอนุญาตถูกต้อง
ตร.ค้นอีก2รง.-1โกดังไร้ชื่อ จ.ปทุมฯเอี่ยวขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-ยอดพุ่ง14แห่ง
ฉาวทั่วโลก!สื่อแดนมังกรตีข่าวไทยศูนย์กลางทิ้งขยะอิเล็กฯแห่งใหม่-ผลกระทบหลังจีนเข้ม
หญิง31ปี-คนไต้หวัน-สิงคโปร์ก่อตั้ง!เปิดตัว ‘ไวโรกรีนฯ’โควตาขยะอิเล็กฯ1.3หมื่นตัน
กรม รง.ปฏิเสธไม่ได้!รมว.ทรัพยฯชง ครม. แก้ปัญหาขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-อาจใช้ม.44
6ปมเงื่อน!ขบวนการข้ามชาติลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-ผลประโยชน์พันล.เข้ากระเป๋าใคร?
เอกชนมีใบอนุญาตกระจายกันเอง!กรมศุลฯปัดเอี่ยวปมลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-โยนกรม รง.สอบ
สาวลึกให้ถึงต้นตอ ‘เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง’ กับต้นเหตุทำไทยเปลี่ยนเป็นเมืองขยะอิเล็กฯ
จ่ายใต้โต๊ะตู้ละแสน!เอกชนร่วม จนท.รัฐลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-ถก รมว.อุตฯแก้ปัญหา13มิ.ย.
INFO:ขมวด‘ช่องโหว่’ขบวนการข้ามชาติลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ-โอกาส จนท.รัฐเอี่ยวตอนไหน?
โชว์ภาพรถ-เปิด 4 บริษัทเอี่ยวขนส่งขยะอิเล็กฯ ‘กลุ่มสมุทรปราการ’-ยอดรวมพุ่ง 12แห่ง
ใบเสร็จมัด-ทำกันเป็นทอด!พฤติการณ์กลุ่มเอกชนจีนสมุทรปราการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ
เจอแล้ว!ต้นตอลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯจาก ตปท.-ให้2รง.สมุทรปราการนอมินีจัดการแทน
พบเส้นทางเงินโอนกลับจีน23.6ล.!แกะรอย‘ไอ้โม่ง’ชักใยขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ
ตร.ค้น3รง.ย่านปทุมฯใช้ที่อยู่เดียวกัน พบขยะอิเล็กฯกองท่วมหลายตัน-คนจีนเอี่ยวเพียบ
ตร.ค้น3รง.ย่านปทุมฯใช้ที่อยู่เดียวกัน พบขยะอิเล็กฯกองท่วมหลายตัน-คนจีนเอี่ยวเพียบ
เปิดตัว‘เจ.พี.เอส.’นำเข้าขยะอิเล็กฯ6หมื่นตัน ก่อนโผล่ถือหุ้น‘หย่งถัง’-นั่ง กก.แทนคนจีน
แกะรอยคนจีนถือหุ้น บ.หย่งถังฯยักษ์ใหญ่นำเข้าขยะอิเล็กฯ-ใครเจ้าของ?
ที่แท้‘คนจีน’ร่วมหญิงอายุ29ปีหอบเงินตั้ง บ.หยั่งถงฯเอกชนนำเข้าขยะอิเล็กฯ3หมื่นตัน
เปิด7บ.ได้โควตานำเข้าชิ้นส่วนขยะอิเล็กฯ-พลาสติก คนจีน-ไต้หวัน-มาเลฯถือหุ้นเพียบ?
กระชากหน้ากากขบวนการ‘คนจีน’ ลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯทิ้งไทย-สตช. ล่า‘บิ๊ก’รู้เห็น?
เปิดตัว5เอกชนนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กฯ-พลาสติก‘คนจีน’ถือหุ้น30-49%-ตร.สอบขยายผล
เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
สตช.ล่าตัว ขรก.-นักการเมืองเอี่ยว!ชี้ บ.คนจีน4แห่งต้นตอนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เบื้องหลังขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก ไทยศูนย์กลางที่ทิ้งขยะโลก?
INFO:เปิดหมดพฤติการณ์ บ.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าแสนตัน พักใบอนุญาต4-สำแดงเท็จ5
ปอกเปลือกขบวนการ-ขั้นตอนโรงงานลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-จนท.รัฐรู้เห็น?
ตร.ขยายผลค้นรง.ลองลัค พลาสติก ที่สมุทรสาคร สำแดงเท็จนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
“วิระชัย” ลั่น บังคับใช้ กม.บทหนักสุด เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
เจาะงบการเงิน-เปิดตัว4เอกชนถูก ตร.ค้นตู้คอนเทนเนอร์ขนขยะอิเล็กทรอนิกส์
ขยะ 58 ตันสำแดงเท็จ รอง ผบ.ตร. บุกจับอีก-แจ้งข้อหา บ.ลองลัค พลาสติกฯ
เตรียมส่งวิป! คืบหน้าร่าง กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ ‘อธิบดี คพ.’ ยันไม่กระทบซาเล้ง-ร้านเก็บของเก่า
กรอ.ชี้ไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6 หมื่นตันต่อปี
ผอ.กรีนพีซ เสนอรัฐผลักดัน กม.จัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ อุดช่องโหว่ลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ
10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน
พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’
รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน
ไม่ใช่รง.เถื่อน กรอ. แจงตรวจพบที่ฉะเชิงเทรา อาจลอบนำเข้า E-waste โดยสำแดงเท็จ