อานันท์ เผย 17 ต.ค.ประชาพิจารณ์ใหญ่ คปร.ชูกระจายอำนาจใหม่สู่ชาวบ้าน
อานันท์เผย 7 วันได้วิธีการลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนประชาพิจารณ์เลื่อนเป็น 17 ต.ค. ย้ำเป็นเวทีประชาชน เดชรัตชี้กรอบใหญ่จัดสรรอำนาจใหม่ทั้งส่วนกลาง-ท้องถิ่นถึงมือประชาชน เพิ่มศักดิ์ชงประเด็นที่ดิน-ทรัพยากรเป็นเรื่องร้อน หลังลงพื้นที่อุทยานฯทับที่ชุมชนเกือบทั้ง อ.คุระบุรี
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่บ้านพิษณุโลก ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ก่อนการประชุม คปร. ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานว่า 2 เดือนที่ผ่านมาหารือกันถึงกรอบการทำงาน วันนี้น่าจะมีความชัดเจนถึงปรัชญาและวิธีขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นต่างๆเช่น ปัญหาหนี้สิน การศึกษา การกระจายอำนาจ ทั้งนี้เฉพาะกลุ่มของตนซึ่งจับประเด็นที่ดินและทรัพยากร จะผลักดันเรื่องนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขก่อน เพราะเกี่ยวโยงกับพื้นฐานชีวิตชาวบ้าน
“ล่าสุดผมลงพื้นที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา ฟังชาวบ้านพูดถึงปัญหาเขตอุทยานทับที่ดินชุมชนเกือบทั้งอำเภอ และเห็นว่าวิธีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินลักษณะเช่นนี้หมดสมัยไม่ควรใช้แล้ว ต้องล้างกระดานใหม่ให้ชาวบ้านมานั่งบนโต๊ะวางแผนร่วมกันว่าส่วนใดควรเป็นป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน หรือที่อยู่อาศัยที่ทำกิน ถ้าทุกคนเห็นพ้องกันก็ไปแก้กฎหมายให้สนองความต้องการ”
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า จะนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ต่อ คปร.โดยรวบรวมกรณีต่างๆให้เห็นรูปธรรมชัดเจนว่าราชการ ชาวบ้าน และเอกชนมีวิธีคิดและปฏิบัติที่ไม่ตรงกันทำให้เกิดปัญหา และเสนอด้วยว่าชาวบ้านต้องการอะไร เพื่อนำไปสู่การวางแผน คาดว่าหลังจากเปิดประชาพิจารณ์ครั้งใหญ่ช่วงเดือนก.ย. แล้วจะมีการจัดเวทีย่อยตามประเด็นต่างๆ ต่อไป
“ที่จะเสนอวันนี้คือให้นำปัญหาเป็นตัวตั้ง นำกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมมาเป็นกระบวนการตัดสินใจ จากนั้นค่อยปรับนโยบายและกระบวนการบริหารของรัฐให้สอดคล้อง ถ้ามันเกินกว่าอำนาจบริหารค่อยมาคุยเรื่องการปรับแก้กฎหมาย”
โดยภายหลังการประชุมกว่า 4 ชั่วโมง นายอานันท์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้วางกรอบการทำงานเสร็จแล้วทุกประเด็นจาก 5 มุมมอง คาดว่าภายใน 7 วันจะนำเสนอออกมาเป็นยุทธศาสตร์ที่จะเป็นวิธีการสู่การสร้างสังคมที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเด็นต่างๆมีอยู่ในใจ ต้องมาจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง
“แม้การทำงานอาจจับประเด็นหลายเรื่อง เช่น การศึกษา ที่ดิน อำนาจต่อรอง แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ร่มใหญ่ 1 คัน หาว่าต้นเหตุคืออะไร อธิบายหรือแผ่ขยายได้อย่างไร และทุกเรื่องต้องแก้ไขตามประเด็นเพื่อนำไปสู่จุดเดียว แต่ต้องเป็นจุดที่จะช่วยปลดล็อคให้ได้ ความเหลื่อมล้ำและการสร้างความยุติธรรมก็จะได้รับการแก้ไข”
ประธาน คปร. กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 26 ก.ย. จะเลื่อนออกไปเป็น 17 ต.ค. โดยจะเชิญประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆมาร่วมกำหนดข้อเสนออย่างเป็นกิจลักษณะ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสื่อสารปัญหาและข้อเสนอผ่านสื่อสู่สังคมโดยตรง โดย ค.ป.ร.มีหน้าที่เพียงผู้จัดเวทีเท่านั้น และจะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เลขานุการ คปร. กล่าวว่า ประเด็นหลักที่จะใช้เป็นกรอบการทำงานคือการกระจายอำนาจที่ไม่ใช่เพียงขยายลงสู่ท้องถิ่น แต่หมายถึงการแบ่งหรือจัดสรรอำนาจที่เป็นของรัฐส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นใหม่ไปเป็นของประชาชนหรือภาคประชาสังคมให้มากขึ้น เพื่อเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ รวมถึง 14 ประเด็นที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้
“ต่อไปเราจะไม่พูดลอยๆ เช่น ถ้าพูดถึงประเด็นที่ดินทรัพยากรและการศึกษา ก็จะพูดผ่านกรอบกระจายอำนาจและจัดสรรอำนาจ ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์การทำงานของทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน ระบบการคลัง การศึกษา ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก ไม่เคยติดตามว่าเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่ ต่อไปอาจต้องมีกระบวนการปลดล็อคในจุดที่ยังติดค้าง”
ทั้งนี้ 14 ประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูปวางไว้ ได้แก่ 1.เรื่องที่อยู่อาศัย ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน 2.ค่าจ้าง คุณภาพชีวิต แรงงาน 3. ระบบสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม 4.การศึกษา 5.หนี้สิน 6.ระบบงบประมาณ ที่ต้องกระจายลงไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน 7.ระบบการกระจายอำนาจ บทบาทของการปกครองส่วนท้องถิ่น 8.การสร้างชุมชน รวมทั้งการรักษาชุมชนเดิม และสร้างชุมชนใหม่ในเมือง 9.ระบบราชการ โดยเฉพาะการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ 10.ระบบยุติธรรม 11.การจัดทรัพยากรน้ำ 12.ระบบสาธารณสุข ที่เน้นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนเมือง 13.อิทธิพลเถื่อน และ 14.การจัดการเรื่องเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม
โดยทั้ง14 ประเด็นจะจัดรวมเป็น 5 มิติ คือ เศรษฐกิจ สิทธิ โอกาส อำนาจต่อรอง และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ .