“บวชป่า-สร้างฝาย-ทำแนวกันไฟ” พื้นที่ป่าจิตวิญญาณ “ปกาเกอะญอ”
ร่วมพลัง “บวชป่า-สร้างฝาย-ทำแนวกันไฟ” พื้นที่ป่าจิตวิญญาณ “ปกาเกอะญอ” สสส.ร่วมสืบสานภูมิปัญญา “คนอยู่กับป่า” ฟื้นฟูสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
“ป่าจิตวิญญาณ” เป็นชื่อเรียกขานของพื้นที่จำนวนกว่า 7 หมื่นไร่ในพื้นที่ดอยสูงของอำเภอสะเมิง ที่ชาว ปกาเกอะญอ (กระเหรี่ยง) จำนวน 8 ชุมชน ได้ร่วมกันดูแล รักษา และอยู่อาศัยร่วมกันมานานกว่า 150 ปี เป็นต้นกำเนิดของ “แม่น้ำขาน” ที่ไม่เคยเหือดหาย ที่สำคัญผืนป่ากลับสมบูรณ์ดีขึ้นกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่าวิถีของพวกเขานั้นดำรงอยู่บนความ “เคารพ” ในธรรมชาติ
แต่ปัจจุบัน “ป่าจิตวิญญาณ” ซึ่งเป็นทั้งที่เกิด ที่ตาย ที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของ ชาวบ้านสบลาน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็น “ภูมิปัญญา” ในการดำรงชีวิตที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ กำลังถูกคุมคามจากนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ที่มองแค่ผิวเผินว่า “มีป่าต้องไม่มีคน” จนพวกเขาอาจถูกบีบให้ย้ายออกจากพื้นที่
ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ขาน จึงร่วมกับ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) , มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) , ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “บวชป่าและทำแนวกันไฟในพื้นที่จิตวิญญาณกะเหรี่ยงลุ่มน้ำขาน เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553” ที่เกิดขึ้นภายใต้ “โครงการเสริมพลังสร้างสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เครือข่ายประชาชนภาคเหนือตอนบน 6 จังหวัด” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ในเวทีเสวนา “วิถีชีวิตคนอยู่กับป่าให้ยั่งยืนได้อย่างไร” ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านสบลาน “พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ” เล่าให้ฟังถึงประวัติของหมู่บ้าน การเข้ามาของสัมปทานป่าไม้ที่เข้ามาจัดการกับไม้มีค่าตั้งแต่รุ่นปู่ ทั้งไม้สัก ไม้กระยาเลย ถูกตัดและขนออกไป โดยชาวบ้านได้แต่มองตาปริบๆ แม้ตัวของพะตีเองเมื่อสมัยวัยรุ่นยังต้องรับจ้างจากป่าไม้ไปตีตราต้นไม้ที่จะตัด
“ป่าที่เหลืออยู่นี่เป็นป่าลูกป่าหลานที่พวกเราช่วยกันดูแลให้ฟื้นคืนกลับมา ป่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ถูกตัดเอาไปหมดแล้ว” พะตีตาแยะกล่าวย้ำ
ในอดีตผืนป่าแห่งนี้เคยถูกทำสัมปทานป่าไม้ถึง 2 ครั้ง หลังจากนั้นชาวบ้านก็เข้ามาดูแล จัดการไฟป่า จนป่าฟื้นตัวกลับมา ในขณะเดียวกันภาครัฐเริ่มเข้มงวดกับการจัดการป่าไม้มากขึ้น มีการออกกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 ที่ประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนทับที่ชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวชุมชนสะเมิงใต้ที่อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคนกลายเป็นผู้รุกป่า เป็นคนนอกกฎหมายในแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง “พะตีตาแยะ” เล่าถึงการต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของการเป็นชุมชนมาก่อนที่ป่าไม้จะประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
“พะตีตาแยะ” เล่าต่อว่าภายหลังการประกาศแนวเขตอุทยานฯ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรวมตัวกันคัดค้าน จนในที่สุดมีข้อตกลงว่าจะมีการสำรวจเขตร่วมกัน พะตีตาแยะได้นำเดินสำรวจร่วมกับตัวแทนอุทยานฯ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 24 วัน ทำข้อมูลร่วมกันว่าจุดใดเป็นป่าช้า จุดใดเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เขตเลี้ยงสัตว์วัวควาย หรือไร่หมุนเวียน จับพิกัดมากกว่า 300 จุด ได้พื้นที่ 24,500 ไร่ แต่ในที่สุดหัวหน้าอุทยานฯ ก็กล่าวว่าตนไม่มีอำนาจจะต้องรอเสนอขึ้นไปให้ผู้ใหญ่ในระดับกรมพิจารณาอีกทีหนึ่ง
“เราไม่ได้คัดค้านการตั้งอุทยานฯ แต่อยากให้กันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของพวกเราออกมาก่อน” ปัจจุบันแม้ “พะตีตาแยะ” อธิบายเหตุผล ที่ถึงแม้วันนี้จะมีอายุ 73 ปีแล้ว ยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจกับการทำความเข้าใจให้ หน่วยงานราชการและสังคมภายนอกรับรู้ว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ เพราะเมื่อต้นปีพ.ศ.2562 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความพยายามประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขานครอบคลุมเข้าไปในพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา ได้ชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐไม่เข้าใจความจริงอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ หนึ่งภาคเหนือตอนบนไม่เหมือนกรุงเทพฯ หรือภาคอื่นๆ เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลลงสู่เจ้าพระยาและอ่าวไทย แม่น้ำกกและอิงไหลลงสู่แม่น้ำโขง โดยภาคเหนือมีที่ราบสูงร้อยละ 60 ที่ราบลุ่มร้อยละ 10 ดังนั้นส่วนใหญ่จึงเป็นป่าซึ่งจะใช้วิธีจัดการแบบเดียวกับภาคอื่นๆ ไม่ได้
“ดังนั้นพื้นที่ภาคเหนือต้องมีการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งโดยต้องเข้าใจระบบนิเวศและสภาพพื้นที่อย่างถ่องแท้ การทำในรูปแบบเดียวกันหมดจะเกิดความเสียหาย เรื่องที่สองคือ คนปกาเกอะญอมีความเคารพธรรมชาติซึ่งเป็นหลักหมุดในการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ภาครัฐมักมองธรรมชาติแบบมีมูลค่าและแปลงธรรมชาติให้เป็นทุน จึงส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยว แต่ไม่เข้าใจวิถีที่อ่อนน้อมถ่อมตนกับธรรมชาติ” ชัชวาลย์ระบุ
“พวกเราอยู่มาก่อนกฎหมาย สามารถพิสูจน์ได้ ปัญหาที่เราเจอคือกฎหมายที่ไม่เข้าใจและกำลังทำให้กะเหรี่ยงแทบไม่มีที่อยู่ที่กิน เรายืนยันว่าอยู่ที่นี่มานาน บรรพบุรุษสร้างให้พวกเราอยู่กับธรรมชาติ” “พฤ โอโดเชา” ลูกชายของ “พะตีจอนนิ โอโดเชา” ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ กล่าวถึงเหตุผลสำคัญของการออกมาเรียกร้อง ในระหว่างการปาฐกถาเรื่อง “วิถีปกาเกอะญอกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ”
โดยในงานครั้งนี้ยังมี พิธีบวชป่า, พิธีสุมาคารวะแม่น้ำขาน , ทำฝายธรรมชาติกั้นน้ำเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา, ทำแนวกันไฟ ทุกกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง เกื้อกูลและไปด้วยกันได้กับธรรมชาติของป่าเขาและสายน้ำ จะเรียกว่าชาวปกาเกอะญอเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของป่า เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก็เห็นจะไม่ผิดนัก และในเวทีเสวนาเรื่อง “บ้านสบลานกับการดำเนินการมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553” นักวิชาการหลายท่านได้ยืนยันตอกย้ำว่า “วิถีและการใช้ชีวิตของชาวบ้านปกาเกอะญอที่นี่ มีส่วนช่วยรักษาป่าต้นน้ำไว้ได้อย่างยั่งยืน”
ก่อนจบงาน เครือข่ายปกาเกอะญอลุ่มน้ำแม่ขาน ยังได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อปกป้องวิถีชีวิตปกาเกอะญอ ที่สรุปใจความได้ว่า “...ดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรของชุมชนที่บรรพชนดูแลรักษาด้วยวิถีวัฒนธรรม ชุมชนกับการจัดการป่า มาช้านาน เราจักปกป้องรักษาและสืบทอดพื้นที่จิตวิญญาณ “คนกับป่า” ให้ดำรงอยู่...เพื่อปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตปกาเกอะญอ ภายใต้ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคมต่อไป...”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ อันบอกให้รู้ว่าชาวบ้านสบลานจะต่อสู้เพื่อผืนป่าที่ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินของพวกเขา แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปอด และต้นกำเนิดสายน้ำของคนไทยทุกคน ที่จะช่วยพยุงสภาวะโลกร้อนไม่ให้เลวร้ายเร็วจนเกินไปให้แก่พวกเราชาวโลกที่ก่อให้เกิดมลภาวะมากมายกว่าชาวบ้านสบลานหลายเท่านัก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/