นับถอยหลัง รอวันถูกรัฐไล่ที่ ผู้เฒ่าชุมชนบ่อแก้วเปิดใจ ยืนหยัดสู้เพื่อผืนดิน
นับถอย 27 ส.ค. รัฐไล่ชาวบ้านชุมชนบ่อเเก้ว จ.ชัยภูมิ พ้นที่ดินทำกินทับป่าสงวนเเห่งชาติ หลังถูกฟ้องดำเนินคดี ยืนหยัดสู้เพื่อผืนดิน
คุณปู่ปุ่น พงษ์สุวรรณ
“ถ้าเขามารื้อจริงๆ เราก็สู้แค่ตายนี่แหละ เขาจะเอาบ้านเอาข้าวของเราไป แต่เขาเอาตัวเราไปไม่ได้หรอก เราก็จะอยู่ในพื้นที่ของเราที่ทำกินของเราบ้านของเรา จะไม่ยอมไปไหนเด็ดขาด” ปู่เสี่ยน เทียมเรียง ชายชราวัย 87 ปี กล่าวด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยว เมื่อถูกถามถึงกรณีที่ จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่ชุมชนบ่อแก้วต.คอนสาร อ.ทุ่งพระ จ.ชัยภูมิ โดยอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อปป.ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ โดยปู่เสี่ยนเองเป็น หนึ่งในชาวบ้าน 31 คนที่ถูกฟ้องร้อง ซึ่งเกินครึ่งที่ถูกฟ้องร้องเป็นผู้สูงอายุ
ปู่เสี่ยน กล่าวทั้งน้ำตาต่อว่า ที่ดินผืนนี้ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ผมก็ทำมาหากินบนที่ดินจากพ่อแม่ของผม อยู่ดีๆ ทางการก็มาประกาศเป็นป่าสงวนมาทับที่ดินของเรา แล้วยังจะมาไล่เราออกไปอีก ผมก็อยู่กับเมียกับหลาน แล้วเราก็แก่ขนาดนี้ จะให้เราไปอยู่ที่ไหน ทำไมรัฐถึงทำกับเราแบบนี้
ประเด็นเรื่องที่ดินทำกิน กลายเป็นปัญหาหลักที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในรัฐสภาทุกรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็น ”กระดุม 5 เม็ด” ที่ถูกหยิบยกมาพูดจนเป็นกระแสในโลกออนไลน์ หากแต่ในโลกของความจริง เรื่องนี้นับเป็นกระดุมเม็ดที่ 1 ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข จากรัฐบาลชุดใดเลย
ปู่เสี่ยน เทียมเรียง
ชุมชนบ่อแก้ว จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งชุมชน ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อทวงสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เดิมชุมชนนี้ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้าน ได้เคยอยู่อาศัยทำมาหาหิน แต่ต่อมากลับถูกรัฐประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนทับที่ทำกินของชาวบ้าน โดยขณะนี้มีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนกว่า 277 ราย ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ถือครองที่ดินทำกินมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2496 จนกระทั่ง ปีพ.ศ.2516 รัฐบาลได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภูซำผีชักหนาม และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป.ก็ได้ เข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร เนื้อที่ 4,401 ไร่ โดยได้นำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกเป็นแปลงป่า
“แต่ก่อนเราทำกินในที่ดินของเรา น้ำท่าอุดมสมบูรณ์มาก แต่พอมีการปลูกป่ายูคาลิปตัส ก็ทำให้น้ำแห้ง ดินก็ไม่ดี เราก็ทำมาหากินยากมาก พืชผลไม่โต เนื่องจากขาดน้ำ เมื่อก่อนยายปลูกผักกะหล่ำ ปลูกถั่ว ปลูกฝ้าย และปลูกผักหลายชนิด มี ดินดำ น้ำก็ชุ่ม พืชผลก็โต มันเป็นแผ่นดินมรดก ที่พ่อที่แม่ทิ้งไว้ให้เราทำมาหากิน ไม่คิดว่าสุดท้ายแล้ว ที่ดินของพ่อแม่ กลับถูกไล่ถูกยึด และต้องมาสู้คดี ในขณะที่เราอายุก็เยอะมากแล้ว” คุณยายบัวลา อินอิ่ม หญิงชราในวัย 68 ปี ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องไล่ที่ กล่าวตัดพ้อถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
คุณยายบัวลา อินอิ่ม
ที่ผ่านมา ชาวบ้านบ่อแก้ว ได้จัดการที่ดิน ในรูปแบบของเกษตรแบบอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการ ปลูกกล้วย ถั่วแดง ข้าวโพด และพืชผักอีกลายชนิด ที่ทำให้ชาวบ้านสามารถ พึ่งพิงตนเอง และเลี้ยงดูครอบครัวได้ ซึ่งการเข้ามาของป่ายูคาลิปตัส นอกจากเป็นการยึดพื้นที่ชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชาวบ้านและพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย จะเห็นได้ชัดว่า การรักษาผืนดินในพื้นที่แห่งนี้กับการจัดการของรัฐ สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
ในขณะที่คุณปู่ปุ่น พงษ์สุวรรณ ชายชราวัย 80 ปี ซึ่งปัจจุบันป่วยเป็นโรคหัวใจ และยังเป็นอีกหนึ่งคน ที่ถูกฟ้องร้องคดี เผยว่า ผืนดินแห่งนี้นอกจากจะเป็นความผูกพันของพ่อแม่ที่ได้สร้างที่ดินทำกินไว้ให้กับพวกเราแล้ว ยังเป็นความผูกพันของครอบครัว โดยปู่ปุ่น เล่ายิ้มถึงความหลังว่า มันเป็นที่ของพ่อแม่ก็เลยพาเมียนั่งเกวียนมา หอบข้าวหอบของหอบฟาง มาสร้างบ้าน สร้างครอบครัว จนส่งลูกให้ถึงฝั่ง ความผูกพันที่ดินผืนนี้มันเยอะ เพราะมันเป็นชีวิตของพวกเรา ซึ่งยายตายไป 5 ปีแล้ว แต่ปู่ก็ยังคิดถึงยายอยู่ เพราะเคยต่อสู้และใช้ชีวิตบนผืนดินแห่งนี้มาด้วยกัน ถ้าเค้ามาบุกจริงๆวันที่ 27 ส.ค. ปู่ก็จะสู้ ถึงร่างกายจะไม่ไหว แต่กายก็ยังพร้อม”ปู่ปุ่น กล่าวด้วยแววตาอันมุ่งมั่น
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ที่ชาวบ้านเข้าถือครองทำประโยชน์ ในพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ได้มีเอกสารเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.ทบ.11
ซึ่งต่อมาปี พ.ศ. 2516 รัฐได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม และในปี พ.ศ. 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ขอเข้าทำประโยชน์ปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ในระบบสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ 4,401 ไร่ และนำมาสู่การผลักดัน ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย จำนวน 12 ครัวเรือน ซึ่งนับตั้งแต่การเข้ามาของ ออป. ชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถยุติการดำเนินงานได้ กระทั่งพื้นที่ทำกินกลายสภาพเป็นสวนยูคาลิปตัสในที่สุด ปัจจุบันมีชาวบ้านอยู่ในพื้นที่พิพาทประมาณ 110 คน เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดเพียง 96 ไร่
และที่ผ่านมา มีการพิจารณากรณีปัญหาดังกล่าวจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดข้อยุติ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการจัดการเรื่องนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ชาวบ้านได้ต่อสู้ ก็ได้เข้ายื่นหนังสือกับหน่วยงานหลากหลายองค์กร และพูดคุยเจรจากับหลายรัฐบาล โดยทุกรัฐบาล ได้แต่รับปากจะแก้ปัญหาให้ จนรัฐบาลล่าสุด ชาวบ้านได้เข้าไปยื่นหนังสือ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พรรคฝ่ายค้าน ประธานรัฐสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ยกเลิกหมายบังคับคดีชาวบ้าน ที่จะเกิดขึ้นใน วันที่ 27 สิงหาคมนี้ และให้นำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกฝ่าย
จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่ารัฐบาลชุดนี้ จะจริงใจในการแก้ไขปัญหา หรือ เป็นเพียงสัญญาลมปากเหมือนรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/