สำนักข่าวชายขอบ : อุ้ม-ฆ่า-เผา-ถ่วงน้ำ 'บิลลี่' ใครควรรับผิดชอบ ???
"...การจัดการกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยของผู้บริหารอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยการรับรู้ของผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ ได้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้การยื่นขอให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นมรดกโลกไม่ประสบความสำเร็จ..."
ถ้าจะบอกว่าการ “อุ้มหาย..บิลลี่” เป็นผลผลิตหนึ่งของการบังคับย้ายชาวบ้านบางกลอยออกจากป่าใหญ่ที่ชื่อว่า “ใจแผ่นดิน” ในผืนป่าแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้อพยพมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย (ล่าง) ก็คงไม่ผิด
การที่กรมสอบสวนพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แถลงผลการสืบสวนสอบสวน และพบกระดูกที่เชื่อว่าเป็นของบิลลี่ ทำให้ภาพต่างๆ ชัดเจนขึ้นมาก แม้เหตุการณ์ร้ายจะผ่านไปแล้ว 5 ปี
อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนพยายามเป่าข่าวให้เข้าหูสื่อมวลชนและผู้บริหารกรมอุทยานฯว่า การหายตัวไปของ “บิลลี่” เพียงการ “จัดฉาก” พร้อมกับการให้ร้าย “ปู่คออี้” และชาวบ้านบางกลอย ต่างๆ นาๆ
สำนักข่าวชายขอบ ได้เกาะติดประเด็นนี้มายาวนาน และได้เห็นบทบาทของตัวละครต่างๆ หลากหลาย แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญคือ ทุกวันนี้ชาวบ้านบางกลอยหลายร้อยชีวิตยังต้องทนทุกข์แสนสาหัส พวกเขาถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ หลายครอบครัวต้องบ้านแตกสาแหรกขาด บางครอบครัวต้องประสบความสูญเสีย เหตุการณ์บังคับโยกย้ายครั้งนี้เป็นต้นเหตุของโศกนาฎกรรมอีกครั้งหนึ่งที่หน่วยงานราชการไทยกระทำกับชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อยู่ในป่าใหญ่ต้นแม่น้ำเพชร ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ เนิ่นนาน
สำนักข่าวชายขอบ ได้เคยสรุปไว้ในเอกสาร“ใจแผ่นดิน แผ่นดินใจ The Heart of The Earth”(อ่านรายละเอียดใน http://transbordernews.in.th/home/?p=14797 )
ในปี 2539 กรมป่าไม้ (เดิม) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 29 และจังหวัดเพชรบุรี ได้อพยพชาวบ้านบางกลอยที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย-พม่า มาอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่ตรงข้ามบ้านโป่งลึก (หรือเรียกว่า บ้านบางกลอยล่าง) รวมทั้งหมด 57 ครอบครัว จำนวน 391 คน
ปี 2553 อุทยานฯ ได้ลาดตระเวน และมีการผลักดันชาวบ้านอีก 2 ครั้ง และได้มีการทำรายงานเสนอไปยังผู้บริหารกรมอุทยานฯ ว่า มีชนกลุ่มน้อยเข้าทำบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เพื่อปลูกพืชไร่และอาศัยที่ทำกินอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเนื่องจากชนกลุ่มน้อยเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดในการดำเนินการ ไม่ได้ใช้มาตรการเด็ดขาด จึงอพยพเข้ามาอยู่กันเพิ่มขึ้น จนเมื่อมีการบินตรวจสอบสภาพป่าและการเดินลาดตระเวนเดือนเมษายน 2554 พบว่า บริเวณชายแดนไทย-พม่ามีชุมชนกลุ่มน้อยชาวกะหร่างอพยพเข้ามาหลบซ่อน ปลูกพืชไร่ในพื้นที่ป่ามากกว่าเดิม
ในรายงานที่อุทยานแก่งกระจาน เสนอไปยังผู้บริหารกรมอุทยานฯ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 ได้มีการอพยพ/ผลักดัน โดยผลปฏิบัติงาน 1.ตรวจยึด/จับกุมดำเนินคดีได้ 1 คดี จับกุมชาย 1 คนชื่อนายหน่อเอะ มีมิ 2.เผาทำลายเพิงพัก สิ่งปลูกสร้างทั้งสิ้น 98 หลัง 3.ถอนทำลายกัญชาที่ปลูกแซมในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ 4.พบว่าการบุกรุกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่เลื่อนลอยเพื่อเข้ามาปลูกข้าว พริก คาดว่าน่าจะเป็นบริเวณสะสมเสบียงสนับสนุนอาหารของกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ 5.ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นเพิงพัก ลักษณะบ้านกะหร่างปลูกบนเชิงเขาสูงเฉลี่ย 600-800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 6.พื้นที่บุกรุกที่ตรวจพบและเข้าดำเนินการทั้งสิ้น 24 กลุ่ม/จุด 7.รายการอาวุธของกลางที่พบและตรวจยึดได้ประกอบด้วย เคียว 8 อัน ขวาน 10 เล่ม มีด 25 เล่ม ตะไบ 5 ตัว เสียม 7 เล่ม ปืนแก๊ป 2 กระบอก แร้วดังสัตว์ 3 อัน คราด 1 อัน ซากหัวเก้ง 2 หัว ซากหมูป่า 1 หัว ซากเต่าหก 1 ซาก เงินไทย 9,400 บาท กระสุนปืนคาร์บิน 3 นัด สร้างลูกปัด และกำไลข้อมือ
ปฏิบัติการใหญ่ยุทธการตะนาวศรีเป็นไปอย่างคึกโครม โดยนอกจากกองกำลังของอุทยานฯแล้ว ยังมีทหาร ตำรวจและสื่อมวลชนร่วมเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย ขณะที่ปู่คออี้ถูกประคองตัวให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากหมู่บ้านบางกลอยถิ่นเกิดมาอยู่ที่บ้านบางกลอยใหม่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับชาวบ้านบางกลอยทั้งหมดที่ถูกอพยพลงมาอยู่ในพื้นที่ที่อุทยานฯ จัดสรรไว้ให้
อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการที่ชื่อว่า “ยุทธการตะนาวศรี” ทางการได้ประสบความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เมื่อเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานตกลงถึง 3 ลำในเวลาใกล้เคียงกัน คือ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม, 19 กรกฎาคม และ 24 กรกฎาคม 2554
ปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยที่ถูกย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่อุทยานฯ จัดเตรียมไว้ให้มีความเป็นอยู่ค่อนข้างยากลำบากเนื่องจากที่ดินทำกินไม่เพียงพอ แม้อุทยานฯ เคยรับปากว่าจะจัดสรรที่ดินไว้ให้ครอบครัวละ 7 ไร่ แต่ในความเป็นจริงหลายครอบครัวกลับได้ไม่ครบ ที่สำคัญคือที่ดินที่ได้รับการจัดสรรเหล่านี้ไม่สามารถปลูกข้าว หรือปลูกพืชให้ได้ผลผลิตเหมือนเมื่อครั้งที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดิม ในขณะที่การปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชศักดิ์สิทธิของชาวกะเหรี่ยง ก็ไม่สามารถทำได้เพียงพอ เนื่องจากการทำนาขั้นบันไดที่ได้รับการสนับสนุนจากบางหน่วยงานไม่ได้ผล ในที่สุดชาวบ้านต้องออกมารับจ้างหางานทำตามเมือง และครอบครัวต่างแตกกระสานซ่านเซ็น (อ่านสกูปเรื่อง บ้านแตกสาแหรกขาด ฟังเสียง อันขมขื่นในผืนป่าแก่งกระจาน http://transbordernews.in.th/home/?p=8098)
@ บิลลี่ พอละจี
วันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ หลานชายปู่คออี้ ซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านบางกลอยได้ถูกอุ้มหายตัวไป ก่อนหายตัวไปบิลลี่กำลังจัดทำข้อมูลต่าง ๆ ของชุมชนบางกลอย ทั้งแผนที่ทำมือจากความทรงจำของปู่คออี้ ประวัติแต่ละครอบครัว ตลอดจนการเขียนหนังสือถวายฎีกา ทำให้กำลังหลักและข้อมูลของชาวบ้านขาดตอน
หลังการถูกบังคับให้หายตัวไปของบิลลี่ ชาวบ้านบางกลอยพยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยเดินสายไปยื่นหนังสือยังหน่วยงานต่างๆ ขณะที่ “มึนอ” ภรรยาของบิลลี่ ได้หอบลูกไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี(ในขณะนั้น) แต่สุดท้ายคำตอบคือความไม่คืบหน้า (http://transbordernews.in.th/home/?p=3986 )
ขณะที่ปู่คออี้ซึ่งเป็นปู่ของนายบิลลี่ ได้อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อขอให้คืนหลานชาย แม้ไม่ได้ชีวิตคืนก็ขอกระดูก (http://transbordernews.in.th/home/?p=4138) แต่ท้ายสุดคำอ้อนวอนของปู่คออี้ก็ไม่บังเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้เฒ่ายังมีชีวิต และเมื่อ 5 ตุลาคม 2561 ผู้นำจิตวิญญาณในวัย 107 ปีก็ได้สิ้นลมท่ามกลางความห่วงใยในอนาคตของลูกหลาน
การจัดการกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยของผู้บริหารอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยการรับรู้ของผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ ได้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้การยื่นขอให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นมรดกโลกไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะที่ “กลุ่มฆาตกร”ซึ่งอุ้มฆ่าบิลลี่ยังไม่ได้รับการลงโทษ เช่นเดียวกับชาวบ้านบางกลอยยังต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายไม่จบสิ้น และไร้การเยียวยาใดๆจากหน่วยงานราชการ
(ย้อนดู รวมข่าวบิลลี่
http://transbordernews.in.th/home/?s=บิลลี่)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/