ธ.ก.ส. ออก 4 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยแล้ง ปี2558/59
บอร์ด ธ.ก.ส.เห็นชอบ 4 มาตรการแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่วิกฤติภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวนกว่า 330,000 ครัวเรือน และพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป เริ่มโครงการตั้งแต่บัดนี้
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินงานตามโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวน 4 โครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน
โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบวิกฤตภัยแล้งในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ และพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 55 จังหวัด
สำหรับ 4 โครงการดังกล่าว ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุประกอบไปด้วย
โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้สินเดิมลูกค้า ธ.ก.ส. โดยธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมให้แก่เกษตรกร ออกไปเป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง และสำหรับลูกค้า ธ.ก.ส.ที่อยู่ในพื้นที่วิกฤตภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ที่มีหนี้เงินกู้เดิมรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท จะได้รับการลดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรร้อยละ 1.5 ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกรร้อยละ 1.5 ต่อปี
โครงการสินเชื่อเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาระบบน้ำ หรือเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตหรือประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตรวงเงินให้สินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 10 ปี กรณีพิเศษไม่เกิน 12 ปี โดยปลอดชำระต้นเงินไม่เกิน3 ปีแรก คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR - 2 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) หรือเท่ากับร้อยละ5 ต่อปี
โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างงานในชุมชนวงเงินให้สินเชื่อรวม 2,500 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR - 2 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) หรือเท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 5 ปี โดยใช้ทางเลือกอาชีพเสริมของกระทรวงแรงงาน
โครงการสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนวงเงินให้สินเชื่อรวม 2,500 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายวิสาหกิจชุมชน 3,000 แห่ง สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้วิสาหกิจชุมชนระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และหากเป็นการลงทุนมีระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 5 ปี
“ธ.ก.ส.ได้เตรียมมาตรการดังกล่าว เพื่อดูแลผลกระทบจากภัยแล้งให้กับพี่น้องเกษตรกร จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรคลายความวิตกกังวล และหากมีปัญหาขอให้พูดคุยปรึกษากับพนักงานของธนาคารที่สาขาได้ทันที” นายลักษณ์กล่าว
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ surin108.com