ชาวบ้านอมก๋อยยื่นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ รื้ออีไอเอเหมืองถ่านหิน หลังพบลายนิ้วมือผีลงชื่อประชุม
เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ เชียงใหม่ จี้แก้ไข EIA เนื้อหาไม่ครอบคลุม ขาดความครบถ้วน หวั่นเวทีจัดรับฟัง 28 ก.ย. มิชอบด้วยกม. ด้านปลัดจังหวัดเผยเพิ่มเติมเนื้อหารายงานฯ ต้องรอการพิจารณาจาก กพร.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 19 ก.ย. 2562 เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เข้ายื่นหนังสือถึงนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ทบทวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านกะเบอะดิน บ้านขุน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาในข้อเรียกร้อง คือ
ตามหนังสือบริษัทเอกชน ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินจากอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตามคำขอเลขที่ 1 /2543 เนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จ.เชียงใหม่ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของราษฎรในพื้นที่การขอประทานบัตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ในวันที่ 28 ก.ย. 2562 ณ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและนำข้อมูลเสนอต่อกรมอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ ผู้แทนชาวบ้านมีความเห็นต่อการดำเนินการดังกล่าว 6 ประการ ได้แก่ 1 .รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม( Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 (EIA)ที่ ได้จัดทำประชามติ เมื่อปี 2552 ซึ่งมีข้อมูลรายงานฉบับนี้ไม่มีการจัดทำเวทีประชาคมของหมู่บ้านที่มีความคิดเห็นเฉพาะผู้นำหมู่บ้านที่ 20 บ้านขุน ต.อมก่อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งไม่มีความครอบคลุมถึงชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2562 ได้มีประกาศจากอุตสาหกรรมจ.เชียงใหม่ เชิญชวนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบระยะ 1 กม. ห่างจากจุดทำเหมือนแร่ ประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือ บ้านกะเบอะดิน หมู่ 12 และบ้านขุน หมู่ 20 ต. อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จึงเห็นว่ารายงานฉบับนี้ขัดกับความเป็นจริง และไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างครบถ้วน ทั้งที่เป็นหมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นการจัดทำรายงานที่ไม่มีความคลุมถึงหมู่บ้านและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และไม่สามารถนำไปใช้พิจารณาได้อย่างแท้จริง
2.EIA ของโครงการทำเหมือนแร่ถ่านหินตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 จัดทำแล้วเสร็จเมื่อ ต.ค. 2554 ไม่มีความโปร่งใส และกระบวนการจัดทำข้อเท็จจริง ซึ่งมีความบกพร่องหลายอย่าง เช่น วุฒิภาวะของผู้เข้าร่วมประชาคม มีบางส่วนไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ได้ให้ความคิดเห็นอย่างไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วน ลายนิ้วมือและชาวบ้านที่มี หลายคนไม่ได้ร่วมลงชื่อจริง แต่มีปรากฎในวาระการประชุมประชาคมด้วย จึงเห็นว่ารายงานฉบับนี้ไม่มีความโปร่งใส ไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาได้
3.จากข้อมูลข้างต้นเครือข่าย ชาวบ้านเห็นว่า EIAโครงการทำเหมืองแร่ถ่านหิน คำขอประทานบัตร 1/2543 จัดทำแล้วเสร็จ ต.ค. 2554 ไม่มีความถูกต้องชอบธรรมตั้งแต่ต้น การจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบระยะ 1 กม. ในวันที่ 28 ก.ย. 2562 จึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังคงดำเนินการอยู่
4.หากจ.เชียงใหม่ โดยอุตสาหกรรมจ.เชียงใหม่ ยังคงดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในระยะ 1 กม. ในวันที่ 28 ก.ย. 2562 เครือข่ายเหมืองแร่ยุติเหมืองแร่อมก๋อย ขอประชาชนชาวอมก๋อยเรียกร้องให้มีตัวแทนเข้ารับฟังความคิดเห็น โดยที่ตัวแทนสามารถแสดงความคิดเห็นและสามารถนำความคิดเห็นของบุคคลเหล่านั้นไปประกอบการพิจารณาด้วย โดยภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้ 1. ภาคประชาชน 2.มูลนิธิพัฒนาเอกชน 3.สาธารณสุขประจำอำเภอ 4.ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน 5.คณะกรรมการพัฒนาชีวิตชาวอำเภออมก๋อย 6.เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย
5.เพื่อให้เป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง กลุ่มเครือข่ายชาวบ้านมีความเห็นว่า ต้องการให้มีการจัดทำเวทีประชาคมหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบใหม่ทั้งหมด ด้วยเหตุผลความรู้ความเข้าใจของชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อยในขณะนั้นยังมีไม่เพียงพอและระยะเวลาจากวันที่ดำเนินการประชุมประชาคมจนถึงปัจจุบันเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้วส่งผลให้สังคมและวิถีชีวิตของบุคคลที่อยู่อาศัยในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการนำข้อมูลที่ผ่านมาใช้ประกอบกรพิจารณาเหตุการณ์ในปัจจุบันถือว่าไม่ยึดถือตามประโยชน์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง
6.เครือข่ายขอทราบผลการพิจารณาดำเนินการข้อเรียกร้องภายในวันที่ 23 ก.ย. 2562 เพื่อนำไปเป็นข้อมูลชี้แจงให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารให้ทราบต่อไป
นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า วันที่ 28 ก.ย. 2562 ยังต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ประชาชนชาวอมก๋อยที่มีความคิดเห็นอยากเสนอสามารถเข้าร่วมกับที่ประชุมได้
ส่วนการขอเพิ่มเติมรายละเอียดใน EIA นั้น ต้องรอการพิจารณาจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง
“เบื้องต้นจะรับหนังสือไว้เพื่อให้อุตสาหกรรมจ.เชียงใหม่ เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่หรือหน่วยงานระดับสูงพิจารณาต่อไป ว่าจะสามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้งหมดได้หรือไม่” ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/