‘หนองเลิงเปือย’ หล่อเลี้ยงชุมชนเข้มแข็ง ‘บ้านธนบุรี’ ปลูกผัก สร้างรายได้
'เเก้มลิงหนองเลิงเปือย' หล่อเลี้ยงทุกชีวิต จ.กาฬสินธุ์ ก่อเกิดชุมชนเข้มเเข็ง 'บ้านธนบุรี' ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงชีพ เพิ่มรายได้
‘หนองเลิงเปือย’ เป็นแหล่งน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร 42,958 ไร่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนาข้าว และใช้เพื่ออุปโภคบริโภคของราษฎรใน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “แก้มลิงหนองเลิงเปือย” เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในอดีต เมื่อ 15 ส.ค. 2544
หลังจากราษฎรไม่อาจทนกับปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานได้ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)เหล่าอ้อย อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ จึงเป็นตัวแทนราษฎรยื่นกีฏาขอพระราชทานความช่วยเหลือ
ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และการสานต่อด้วยปรัชญาการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่มุ่งสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการร่วมกับแผนของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยยึดหลักปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง ทำให้ในวันนี้ชุมชนในพื้นที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น
ชุมชนบ้านธนบุรี ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการพื้นที่ต้นแบบของมูลนิธิปิดทองหลังพระ
“มงคล บัวหาร” กำนัน ต.โพนงาน ในฐานะประธานศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เล่าว่า คนในชุมชนบ้านธนบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยทำนาเป็นหลัก มีการปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง คือ นาปีและนาปรัง เมื่อหมดฤดูทำนา พื้นที่บริเวณดังกล่าวว่างเปล่า ซึ่งมีประมาณ 6 ไร่ เลยคิดที่จะประยุกต์ใช้ให้เกิดผลประโยชน์ โดยการปลูกพืชผักหลากหลายชนิด เพื่อที่จะไว้รับประทานเองและขายในนาม “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านธนบุรี”
“การปลูกผักของชาวบ้านที่นี่จะปลูกตามภูมิปัญญาของท้องถิ่นตั้งแต่บรรพบุรุษ ใช้วิธีตามธรรมชาติในการปลูก เพื่อให้ผลผลิตนั้นปลอดภัยจากอันตรายของสารเคมี โดยคำนึงถึงผู้บริโภคว่า หากรับประทานผักแบบปลอดภัยจะได้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง” ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ เน้นย้ำถึงเจตนารมย์
โดยปลูกผัก 26 ชนิด ได้แก่ 1.หอม 2. ผักบุ้ง 3.ผักสลัด 4. สะระแหน่ 5.ผักชีฝรั่ง 6.ผักชีลาว 7.กะหล่ำปลี 8.ผักตั้งโอ๋ 9.แมงรัก 10.โหระพา 11.กะเพรา 12.แตงกวา 13.คะน้า 14.ถั่วฝักขาว 15.ฟักทอง 16.สก๊อต 17.ผักกาดขาว 18.ข้าวโพด 19.พริก 20.มะเขือพวง 21.มะเขือเปราะ 22.ข่า 23.ตะไคร้ 24.มะละกอ 25.มะเขือเทศ 26.ชะอม
เขายังเล่าว่าปั จจุบันมีสมาชิกในโครงการ 108 ราย เป็นผู้ปลูกผักในโดม 40 ราย เป็นผู้ปลูกผักนอกโดม 68 ราย ส่วนแผนการดำเนินในอนาคต จะมุ่งส่งเสริมสมาชิกจัดทำแปลงปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และชนิดพืชที่จะปลูกตามความต้องการของตลาด พร้อมพัฒนาการบรรจุภัณฑ์ให้เป็นแอกลักษณ์ของกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ และทำแปลงทดสอบในโดมร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและทำระบบน้ำ
นอกจากนี้จะประสานหน่วยงานราชการส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มจำนววนโดมให้แก่สมาชิกทุกคน ขอรับรองการผลผลิตผักปลอดสารพิษจากกรมวิชาการเกษตร และขอรับการสนับสนุนการตรวจสารพิษในเลือดแก่สมาชิกที่ร่วมโครงการจากหน่วยงานสาธารณสุข สุดท้ายมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพและการใช้สารชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มา ตลอดจนสารไล่แมลงจากธรรมชาติ
“ทองจันทร์ นาชัยสิทธิ์” ประธานกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านธนบุรี กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจริงและยังช่วยให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือในการทำโครงการ
“รายได้ส่วนใหญ่ของสมาชิกมาจากการขายผักให้กับห้างสรรพสินค้าที่ตกลงสัญญากันไว้ แต่ในการขายก็ต้องทำผักของโครงการให้มีขนาดตามมาตราฐานที่ตกลงกัน หากผักชนิดนั้นไม่ได้ขนาดตามความต้องการ จะถูกส่งคืน แต่ไม่เป็นปัญหามากนัก เนื่องจากมีแม่ค้าตามตลาดมารับไปขายต่อ”
ด้าน “ไพจิตร ผลบุญ” หนึ่งในสมาชิกในกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านธนบุรี กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่มีโครงการนี้ช่วยให้เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในการซื้อ พร้อมยืนยันผักทุกชนิดปลอดสารพิษ สามารถรับประทานได้สบายใจ เพราะเป็นคนปลูกเอง
ด้วยความเข้มแข็งและสามัคคีของชุมชนธนบุรี ทำให้ในวันนี้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด ต่างล้วนซาบซึ้งในพระบารมีของพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 สืบไป .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/