สศก.มองประกันภัยนาปี 60 งัดมาตรการเอาใจชาวนา ลดดอกเบี้ย เพิ่มคุ้มครอง
สศก.มองสะท้อนประกันภัยนาปี 60 งัดมาตรการเอาใจชาวนา ลดดอกเบี้ย เพิ่มความคุ้มครองเต็มที่
ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 พื้นที่เป้าหมายการเอาประกันภัยขั้นต่ำ จำนวน 25 ล้านไร่ ทั่วประเทศ วงเงิน 1,841.10 ล้านบาท (กรอบวงเงินสำหรับพื้นที่เอาประกันภัยจำนวน 30 ล้านไร่) โดยมาจากเงินงบประมาณคงเหลือ ในปี 2559 จำนวน 203.95 ล้านบาท และของบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 1,637.15 ล้านบาท ครอบคลุมภัยธรรมชาติทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ 1.น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก 2.ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง 3.ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น 4.ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง 5.ลูกเห็บ 6.ไฟไหม้ และ7.ภัยศัตรูพืช หรือโรคระบาด แบ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. จำนวนขั้นต่ำ 25 ล้านไร่ และสำหรับเกษตรกรทั่วไปอีกไม่เกิน 800,000 ไร่
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำหน้าที่ผู้บริหารโครงการ โดยแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 มีอัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีซึ่งทางรัฐบาลจ่ายให้) โดยรัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 54 บาทต่อไร่ เกษตรกร ชำระเบี้ยประกันภัย 36 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ธ.ก.ส. จะช่วยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 36 บาท ซึ่งเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย ทุกภาค ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2560ถึง 31 สิงหาคม 2560 และภาคใต้ วันที่ 27 มิถุนายน 2560 ถึง 15 ธันวาคม 2560
ขณะนี้มีบริษัทสมาชิกของสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมรับประกันภัยในโครงการดังกล่าวแล้วทั้งหมด 24 บริษัท ซึ่งสมาคมฯ ได้ส่งรายชื่อบริษัทประกันภัยดังกล่าวให้กับสำนักงาน คปภ. รับรองฐานะทางการเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ทั้งนี้ ภาคเอกชนเป็นผู้รับประกันภัยตลอดช่วงการเพาะปลูกสำหรับภัยธรรมชาติ 6 ประเภท วงเงินความคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ (ปีการผลิต 2559 วงเงินคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่) และสำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาดวงเงินความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ (ปีการผลิต 2559 วงเงินคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่)
ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้ติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 มีหลักการโดยที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้เอาประกันภัย สามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.รัฐบาล 2.ผู้บริหารโครงการฯ (ธ.ก.ส.) 3.บริษัทผู้รับประกันภัย และ 4.เกษตรกร แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้าน ค่าเบี้ยประกัน และด้านค่าสินไหมทดแทน
1. ด้านค่าเบี้ยประกันภัย
(1) รัฐบาล เป็นผู้อุดหนุนเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกร โดยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 54 บาทต่อไร่รวมเงินช่วยเหลือ 1,620 ล้านบาท สำหรับพื้นที่เป้าหมายจำนวน 30 ล้านไร่ หากพบว่า มีจำนวนพื้นที่เอาประกันภัยมากกว่าพื้นที่เป้าหมายที่เสนอของบประมาณอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 30 ล้านไร่ กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณเพิ่มเติม
(2) ผู้บริหารโครงการฯ (ธ.ก.ส.) ได้มีการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 36 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของธ.ก.ส. กำหนด ซึ่งมีวงเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 1,080 ล้านบาท สำหรับเป้าหมาย 30 ล้านไร่
(3) บริษัทผู้รับประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ จ่ายสินไหมทดแทนแก่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จากการประมาณการเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับประกันได้รับสูงสุด มูลค่า 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็นรับเงินจากรัฐบาลอุดหนุน 1,620 ล้านบาทและธ.ก.ส. อุดหนุนมูลค่า 1,080 ล้านบาท สำหรับเป้าหมาย 30 ล้านไร่ และเกษตรกรทั่วไป ค่าเบี้ยประกันภัย มูลค่า 72 ล้านบาท สำหรับเป้าหมาย 0.8 ล้านไร่
(4) เกษตรกร เกษตรกรทั่วไปจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย 28.80 ล้านบาท (เป้าหมาย 0.80 ล้านไร่) ส่วนค่าเบี้ยประกันภัยของเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. ทางธนาคารเป็นผู้ออกให้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ธ.ก.ส. กำหนด
2. ด้านค่าสินไหมทดแทน
การวิเคราะห์ค่าสินไหมทดแทน และส่วนต่างที่เกษตรกรจะได้รับจากการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 จะมากกว่าปีการผลิต 2559 ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ค่าสินไหมทดแทน และส่วนต่างที่เกษตรกรจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ปีการผลิต 2560 พบว่า
กรณี 1 ถ้าพื้นที่เกิดภัยพิบัติเป็นร้อยละ 3 ของพื้นที่เข้าร่วมโครงการ เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซื้อประกันภัยครบตามเป้าหมายขั้นต่ำ 25 ล้านไร่ และเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ มีส่วนต่างของเบี้ยจ่ายและค่าสินไหมทดแทน มูลค่า 935.55 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภท มูลค่า 926.10 ล้านบาท และภัยศัตรูพืช/โรคระบาด มูลค่า 9.45 ล้านบาท ในขณะที่เกษตรกรทั่วไป ซื้อประกันภัยครบตามเป้าหมายขั้นต่ำ 0.80 ล้านไร่ และเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ มีส่วนต่างของเบี้ยจ่ายและค่าสินไหมทดแทน มูลค่า 29.07 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภท มูลค่า 28.79 ล้านบาท และภัยศัตรูพืช/โรคระบาด มูลค่า 0.29 ล้านบาท
กรณี 2 ถ้าพื้นที่เกิดภัยพิบัติเป็นร้อยละ 4 ของพื้นที่เข้าร่วมโครงการ เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซื้อประกันภัยครบตามเป้าหมายขั้นต่ำ 25 ล้านไร่ และเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ มีส่วนต่างของเบี้ยจ่ายและค่าสินไหมทดแทน มูลค่า 1,247.40 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภท มูลค่า 1,234.80 ล้านบาท และภัยศัตรูพืช/โรคระบาด มูลค่า 12.60 ล้านบาท ในขณะที่เกษตรกรทั่วไป ซื้อประกันภัยครบตามเป้าหมายสูงสุด 0.80 ล้านไร่ และเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ มีส่วนต่างของเบี้ยจ่ายและค่าสินไหมทดแทน มูลค่า 38.76 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภท มูลค่า 38.38 ล้านบาท และภัยศัตรูพืช/โรคระบาด มูลค่า 0.38 ล้านบาท และ
กรณี 3 ถ้าพื้นที่เกิดภัยพิบัติเป็นร้อยละ 5 ของพื้นที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซื้อประกันภัยครบตามเป้าหมายขั้นต่ำ 25 ล้านไร่ และเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ มีส่วนต่างของเบี้ยจ่ายและค่าสินไหมทดแทน มูลค่า 1,559.25 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภท มูลค่า 1,543.50 ล้านบาท และภัยศัตรูพืช/โรคระบาด มูลค่า 15.75 ล้านบาท ในขณะที่เกษตรกรทั่วไป ซื้อประกันภัยครบตามเป้าหมายสูงสุด 0.80 ล้านไร่ และเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ มีส่วนต่างของเบี้ยจ่ายและค่าสินไหมทดแทน มูลค่า 48.46 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภท มูลค่า 47.98 ล้านบาท และภัยศัตรูพืช/โรคระบาด มูลค่า 0.48 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 หากมีการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดภัยพิบัติของผู้เอาประกันภัย และเป็นตามเงื่อนไขของกรมธรรม์แล้วตามโครงการฯ นี้เต็มตามเป้าหมาย จะช่วยบรรเทาการลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ในระดับหนึ่ง พร้อมทั้งเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ ซึ่งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการผลกระทบที่มีต่อโครงการและ/หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนี้
1. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ผลักดันให้การประกันภัยพืชผลเป็นมาตรการหลักอย่างยั่งยืน เกษตรกรได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การประกันภัยเป็นมาตรการกระจายความเสี่ยงระหว่างสมาชิกและเพื่อให้การกระจายความเสี่ยงเกิดผลสำเร็จเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกทุกคน รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการประกันภัยพืชผลทั่วประเทศและครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทุกชนิด
2. ควรสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรซื้อประกันภัยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ที่เกิดภัยซ้ำซาก อย่างไรก็ตาม ควรมีการพิจารณาขยายประเภทและพื้นที่ของสินค้าเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชอื่นๆ เป็นต้น เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับเกษตรให้สามารถประกันภัยความเสี่ยงจากธรรมชาติอย่างทั่วถึง
3. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้มีการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการประกันภัย ทั้งจากฐานข้อมูลเชื่อมโยงการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และการจ่ายเงินช่วยเหลือ การจัดทำต้นแบบแผนที่เสี่ยงภัย (Risk Map) สำหรับพืช ปศุสัตว์และประมง ทุกภูมิภาคในประเทศไทยโดยอาศัยหลักความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (public and private partnership) ให้บรรลุเป้าหมาย
4. การพัฒนาเทคนิคการประกันภัย โดยนำเทคนิคการประเมินความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อแปลงเพาะปลูกที่เหมาะสมที่สุด เช่น การทดลองนำเทคนิคดัชนีเขตพื้นที่ (Area-Yield Index Insurance) และ การพัฒนาฐานข้อมูลที่จำเป็นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ขยายความคุ้มครองครอบคลุม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
5. ส่งเสริมให้มีการจัดทำโซนนิ่งและส่งเสริมการเพาะปลูกพืชชนิดเดียวกันในเขตเดียวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตร และสะดวกแก่การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วยมาตรการต่างๆ รวมถึงการอุดหนุนเบี้ยประกันบางส่วนให้สามารถดำเนินการได้ในขณะเริ่มต้น พร้อมทั้งรัฐต้องลดการชดเชยค่าเสียหายจากภัยธรรมชาติลง เพื่อลดภาระทางด้านงบประมาณ
6. ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางและให้ลงรายละเอียดในเนื้อหามากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเกิดการรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญ และเกิดความสนใจในการทำประกันภัย