อสส.เบรกขสมก.รับรถเมล์NGV!ชี้ขัดสัญญาควรรอกรมศุลฯสรุปประกอบจากไหน
'อสส.' ตอบข้อหารือ 'ขสมก.' ปมรับรถเมล์NGV แล้ว ชี้ชัดขัดสัญญาควรรอกรมศุลฯ พิจารณาผลแหล่งกำเนิดสินค้าผลิต /ประกอบในประเทศใด ให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการต่อไป
จากกรณีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ทำหนังสือแจ้งตอบกลับ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อกรณีที่ สตง.ตรวจสอบพบว่า เอกชนรายหนึ่งที่เข้าร่วมประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศโดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV)พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารจำนวน 489 คัน มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามประกาศ ขสมก. เลขที่ 04/2559 ลงวันที่ 23 พ.ค.2559 ข้อ 1.10 และเอกสารประกวดราคาซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.10 ที่กำหนดว่า "นิติบุคคลที่จะเข้าเป็นคู่สัญญาตต้องไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ" ขณะที่รถโดยสารปรับอากาศฯ ที่จะส่งมอบมีการสำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จอาจกระทบต่อการตรวจรับมอบรถโดยสารตามสัญญา
ว่าได้มีหนังสือหารืออัยการสูงสุด เกี่ยวกับปัญหาการตีความตามเงื่อนไขสัญญาแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการหารือจากอัยการสูงสุดอยู่นั้น
(อ่านประกอบ : เปิดหนังสือขสมก.ถึงอัยการสูงสุด กรณีปัญหารถเมล์NGV กับท่าที 'รบ.ประยุทธ์')
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2560 นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน อัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือแจ้งตอบกลับผอ.ขสมก. เกี่ยวกับข้อหารือการตรวจรับรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) โดยเห็นควรให้ ขสมก.รอผลการพิจารณาจากกรมศุลกากรถึงแหล่งกำเหนิดของสินค้ารถยนต์โดยสารฯ ว่าผลิต และ/หรือประกอบในประเทศใดให้เป็นที่ยุติเสียก่อนแล้วจึงดำเนินการต่อไป
ภายหลังจาก สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายระหว่าง ขสมก.กับเอกชน ข้อ 3 กำหนดให้เอกสารแนบท้ายสัญญาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา และความใดในเอกสารแนบท้ายสัญญาที่ขัดแย้งกับข้อความในสัญญานี้ ให้ใช้ข้อความในสัญญานี้บังคับ เมื่อพิจารณาจากเอกสารแนบท้ายสัญญา ผนวก 10 ซึ่งประกอบด้วยประกาศ ขสมก. เลขที่ 04 /2559 ลงวันที่ 23 พ.ค.59 เรื่องโครงการจัดซื้อรถยนต์โดยสารฯ NGV พร้อมซ่อมแซมบำรุงรักษา จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (ครั้งที่ 3) ประกอบเงื่อนไขขอบเขตของงานที่กำหนดว่า "ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องแจ้งว่าใช้โรงงานใดประกอบรถโดยสารฯ หากเป็นโรงงานต่างประเทศต้องแนบสำเนาหนังสือใบรับรองมาตรฐาน ISO 9001 หากเป็นโรงงานในประเทศต้องแนบสำเนาหนังสือใบรับรองมาตรฐาน ISO 9001 และสำเนาใบอนุญาตของโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเอกสารประกอบ พร้อมทั้งแจ้งแผนการประกอบรถโดยสารฯ โดยละเอียด และผลงานการประกอบรถโดยสารฯ ของโรงงานที่ใช้ในการประกอบรถโดยสารฯ ในครั้งนี้ โดยให้โรงงานผู้ประกอบรถโดยสารฯ เป็นผู้รับรองแผนและผลงานดังกล่าว"
และเอกสารหมายเลข 1 คุณสมบัติของรถโดยสารฯ กำหนดวัตถุประสงค์ว่า "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีความประสงค์ซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื่อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน โดยเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากต่างประเทศ หรือ รถที่ประกอบในประเทศไทย อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบรถเป็นไปตามมาตรฐานของผู้ผลิตและกรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ.."
ต่อมา เมื่อมีการจัดทำสัญญาได้มีการระบุในสัญญาซื้อขายข้อ 2 ข้อตกลงซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารฯ กำหนดว่า "...ผลิตที่ประเทศจีน ประกอบ ณ โรงงาน R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD ประเทศมาเลเซีย ตามรายละเอียดในเอกสารแนบท้ายสัญญา จำนวน 489 คัน" ซึ่งรวมถึงประกาศประกวดราคาและเอกสารแนบท้ายสัญญา ผนวก 10 ด้วย ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดให้เป็นรถที่ประกอบในประเทศมาเลเซีย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่ายังมีความขัดแย้งกันอยู่ เนื่องจากผู้ขายได้นำเข้ารถยนต์โดยสารฯ จำนวน 100 คัน โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 2 ใบ ใบขนแรกจำนวน 1 คัน ใบขนที่ 2 จำนวน 99 คัน โดยผู้นำเข้าสำแดงแหล่งกำเนิดว่าเป็นรถที่ผลิตจากมาเลเซีย แต่กรมศุลกากรตรวจสอบแล้วพบว่า รถดังกล่าวน่าจะผลิตและประกอบในประเทศจีน ก่อนที่จะขนผ่านประเทศมาเลเซียเข้ามายังประเทศไทย
เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้า หากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับสินค้าและใช้งานไปแล้วจะมีผลให้ทรัพย์สินที่ซื้อขายโอนเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การ ซึ่งหากภายหลังพบว่าแหล่งกำเนิดของสินค้าไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็จะเป็นเหตุให้มีการบอกเลิกสัญญา เว้นแต่จะมีการแก้ไขสัญญาตามความในข้อ 90 ของข้อบังคับขสมก.ฉบับที่ 173 ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2557 ที่ระบุว่า "สัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแล้ว จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ เว้นแต่การแก้ไขนั้น จะเป็นความจำเป็นโดยไม่ทำให้องค์การต้องเสียประโยชน์ หรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่ทางองค์กร ให้อยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการที่จะพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้ามีการเพิ่มวงเงินต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการงบประมาณหรือขอทำความตกลงในส่วนที่ใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือแล้วแต่กรณีด้วย"
นอกจากนั้น หากปรากฎว่าในชั้นที่สุด ผู้ขาย และ/หรือผู้นำเข้าไม่ยอมชำระภาษีนำเข้าพร้อมกับค่าปรับ รถดังกล่าวก็จะถูกริบตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบ มาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ.2482 อันจะเกิดความเสียหายแก่องค์การ ดังนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดจึงเห็นว่า องค์การควรรอผลการพิจารณาจากกรมศุลกากรถึงแหล่งกำเหนิดของสินค้ารถยนต์โดยสารฯ ว่าผลิต และ/หรือประกอบในประเทศใด ให้เป็นที่ยุติเสียก่อนแล้วจึงดำเนินการต่อไป
อ่านประกอบ :
เปิดสัญญาซื้อรถเมล์NGV 3พันล.! วัดใจ ขสมก. ลงดาบ'เบสท์รินฯ'ผิดข้อตกลง
ที่แท้!'เบสท์ริน-ซุปเปอร์ซาร่า'กลุ่มเดียวกัน-ไขปริศนายอมจ่ายภาษีรถเมล์NGV 370 ล.
เปิดงบการเงิน'เบสท์ริน-ซุปเปอร์ซาร่า' พอไหมจ่ายค่าปรับ-ภาษีรถเมล์NGV 370 ล.
ผอ.แหลมฉบังเผยเบสท์รินคาดนำรถเมล์291คันออกจากท่าเรือวันที่ 5-6 ม.ค.60
เบสท์ริน ประมูลรถเมล์ชนะคู่แข่ง 700 ล้าน วันนี้จ่ายภาษี-ค่าปรับเฉียด2พันล้าน
ผอ.ศุลกากรฯ แหลมฉบัง เร่งเบสท์รินจ่ายภาษีนำเข้าเมล์ NGV
อ่วม!กรมศุลฯ ชี้ซุปเปอร์ซาร่า นำเข้าเมล์เอ็นจีวี ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม370 ลบ.
ห้ามนำเข้าผิดปท.ยึดสัญญาเป็นหลัก! สตง.ตั้งทีมเกาะติดปัญหารถเมล์ NGV
เบสท์รินแถลงมั่นใจเอกสารนำเข้าเมล์ NGV ไม่ผิด จี้หาทางออกร่วมกัน
เลขาฯ ACT เผยสำแดงเท็จ พักสินค้ากลุ่มปท.อาเซียนเลี่ยงภาษีมีมานานแล้ว
โฆษกกรมศุลฯ สงสัยเส้นทางเมล์เอ็นจีวีนำเข้าจากจีน ปัดตอบใช้เวลาตรวจสอบกี่วัน
เบสท์ริน โวยถูกกักรถเอ็นจีวี ไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โอดจ่ายวันละ 3 แสน
บอร์ดขสมก. เลื่อนพิจารณา เบสท์ริน กรุ๊ป ชนะประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน
เบสท์ริน กรุ๊ป พร้อมส่งมอบรถเมล์ NGV เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนกรุงเทพฯ
รู้จัก 'เบสท์ริน' ผู้ชนะประมูลเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ที่บอร์ดขสมก.เบรกไว้ก่อน
ผอ.ขสมก.ยันตรวจสอบละเอียดยิบ เบสท์รินฯ คุณสมบัติครบ เชื่อฐานะมั่นคง
อ้างป.ป.ช.ไฟเขียว! ขสมก. แจง สตง. ปมคุณสมบัติ บ.ขายรถเมล์ NGV ไม่ถูกต้อง