เบสท์ริน โวยถูกกักรถเอ็นจีวี ไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โอดจ่ายวันละ 3 แสน
ปธ.กรรมการเบสท์ริน เผยเหตุรถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรกโดนกักท่าเรือแหลมฉบัง เหตุจนท.สงสัยเรื่องเอกสาร โวยเสียค่าจอดรถวันละ 3 แสน ตั้งคำถามทำไมไม่ปล่อยรถออกมาก่อนถ้าผิดจริงค่อยปรับย้อนหลัง ด้านที่ปรึกษากฎหมาย ยันเอกสารถูกต้อง เผยกรมศุลกากรขอพิมพ์เขียวรถเมล์แต่ให้ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์
นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานกรรมการบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงรถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน ที่มาเทียบท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม และกำลังจะเข้ามาอีก 145 คัน ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว ทางคณะกรรมการตรวจปล่อยรถยนต์ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจ่ายภาษีจึงกักสินค้าไว้ไม่ปล่อยสินค้าออกจากท่าเรือ โดยอ้างว่า รอการตรวจสอบในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเอกสารการจ่ายภาษีอาจจะไม่ตรงกับสินค้า
"เจ้าหน้าที่สงสัยแหล่งกำเนิดสินค้าอาจจะไม่ถึงสัดส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือรับรอง ซึ่งเอกสารชิ้นนี้ออกมาจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ของทางประเทศมาเลเซีย โดยทางกรมศุลกากรไทยจะทำหนังสือไปสอบถามกับกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย ซึ่งถ้าได้รับการยืนยันกลับมาจากทางมาเลเซียแล้ว ทางศุลกากรก็ต้องปล่อยรถเมล์ออกมาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง"
นายคณิสสร์ กล่าวว่า สิ่งที่ทางกรมศุลกากรกำลังสงสัย คือ มาตรฐานการค้าระหว่างประเทศในฐานะที่นำเข้ารถเข้ามา ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่า ทางผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกทำอย่างไร แต่มีหน้าที่เฉพาะเอาเอกสารที่ได้รับการยืนยันมาจากหน่วยงานภาครัฐมายื่นให้กับกรมศุลกากรเท่านั้น
นายคณิสสร์ กล่าวอีกว่า ทำไมกรมศุลกากรไม่ปล่อยรถเมล์ออกมาก่อน ทั้งที่รถเมล์เหล่านั้นก็ใช้วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และบริษัทก็มีความผูกพันสัญญากับภาครัฐอยู่ 10 ปี ถ้าภายหลังตรวจสอบพบรถเมล์มีปัญหา เอกสารไม่ถูกต้องค่อยมาปรับทีหลังก็ได้ เหมือนที่ปฎิบัติมาในกรณีก่อนๆ เพราะการกักสินค้ามีข้อเสียหายเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งต้องจ่ายค่าที่จอดรถให้การท่าเรือแหลมฉบังวันละ 300,000 บาท อย่างที่สองพอมีสินค้าเข้ามาอีกล็อตก็จะไม่มีที่จอดเรือให้กับเรือที่พึ่งมาถึง เนื่องจากท่าเรือไม่ได้มีสถานที่มากพอ
"ส่วนตัวคิดว่ามีทางออกที่ดีกว่านี้ ทำไมไม่เลือกทางอื่น หรือว่ามีอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า ทำไมถึงเลือกที่จะใช้วิธีนี้"
ด้านนายมาโนช กำเนิดงาม ที่ปรึกษากฎหมายบริษัทเบสท์รินฯ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผู้นำเข้ารถบัสล๊อตนี้ว่า นายกิติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ้างมีเหตุข้อสงสัยในเรื่องเอกสารหนังสือรับรองที่ยื่นขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากร (From D) ที่ออกโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของประเทศมาเลเซีย ตามข้อตกลงสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีกลุ่มประเทศสมาชิก AEC ซึ่งข้อตกลงนี้ 10 ประเทศสมาชิกร่วมกันจะยกเว้นภาษีหากประเทศผู้ผลิตผลิตสินค้าที่ใช้วัสถุดิบ อุปกรณ์ แรงงานภายในประเทศผู้ผลิตมากกว่า 40 เปอร์เซนต์ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า จึงขอกักรถไว้ก่อนเพื่อรอความชัดเจน ถ้าต้องการนำรถออกไปก็ให้บริษัทผู้นำเข้าออกเอกสารยืนยันรับรองรถยนต์โดยสารที่บริษัทซาร่านำเข้ามานั้นถูกต้องตามกฏหมายทุกประการ หากภายหลังรถยนต์โดยสารไม่ถูกต้องตรงกับที่บริษัทฯ แจ้งไว้ทางบริษัทฯ ยินดีรับผิดชอบทุกประการ และแนบใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาจำหน่าย และแนบเอกสารรับรองถิ่นกำเนิด (From D) ซึ่งออกโดยรัฐบาลมาเลเซีย และจะปล่อยรถออกจากด่านแหลมฉบัง
นายมาโนช กล่าวต่อว่า รถรุ่นนี้แบบเดียวกันนี้ เราก็เคยนำเข้ามาแล้ว มีที่มาที่ไปทุกอย่าง เอกสารตรงกันเหมือนกันทุกฉบับ ไม่เคยเห็นมีปัญหาอะไร แต่มาล๊อตนี้กลับมีปัญหาซึ่งก็ไม่เข้าใจ เอกสารสำคัญๆต่างๆเราแสดงได้ถูกต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์และทางกรมศุลฯ ยังให้ขอเอกสารพิมพ์เขียวการประกอบรถยนต์จากโรงงานที่มาเลเซีย เอกสารแบบนี้เป็นลิขสิทธิ์ไม่มีทางที่จะให้ และเอกสารสัญญาสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ เอกสารแบบนี้จึงเป็นความลับทางธุรกิจ ถ้าจะให้วางเงินหลักประกัน และให้ต้องเอาเอกสารที่ไม่มีทางเป็นไปได้แบบนี้ แถมยังไม่แจ้งข้อหาแค่ตั้งข้อสงสัยอย่างนี้
“ย้ำอีกที ถ้าไม่จับต้องปล่อยรถ เพราะผมเสียหายต้องจ่ายที่จอดรถให้การท่าเรือแหลมฉบังวันละ 300,000 บาท ใครรับผิดชอบ”
ส่วน ดาโต๊ะ เอมราน บิน กาดีร์ ประธานบริษัท อาร์ แอนด์ เอคอมเมอเชียล วีฮีเคลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี โรงงานประกอบรถบัสล๊อตดังกล่าวนี้ กล่าวว่า เราไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อนเลย ตั้งแต่ทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 และเราได้แจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบังให้ รัฐบาลมาเลเซียรับทราบถึงปัญหาของกรมศุลกากรไทยแล้ว
“ในฐานะนักธุรกิจมาเลเซีย ผมเสียใจที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไทยไม่เชื่อใจ ไม่เชื่อถือในเอกสารที่ออกโดยรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเข้มงวดมากๆสำหรับเรื่องนี้ เราคงไม่ทำอะไรมั่วๆ ให้เสื่อมเสีย เพราะเรื่องการที่ตั้งข้อสงสัยแบบนี้ ผมถือว่าผิดมารยาทระหว่างประเทศอย่างมาก ประเทศในกลุ่มสมาชิก AEC เขาไม่ทำกัน”
ประธานบริษัท อาร์ แอนด์ เอคอมเมอเชียล วีฮีเคลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี กล่าวอีกว่า บริษัทฯ เราไม่ใช่แค่โรงงานประกอบรถยนต์ทั่วไปแต่เป็นผู้นำเข้าและส่งออกอะไหล่และรถยนต์สำเร็จรูปมากมายหลายยี่ห้อ ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลมาเลเซียและรัฐบาลประเทศอื่นๆ มากกว่า 35 ประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ของประเทศไทย ได้มาตรวจสอบโรงงานพร้อมทั้งจดทะเบียนมาตรฐานอุตสาหกรรมมาตรฐานการส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิก AEC
"เราคงไม่ทำอะไรมักง่ายให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของเราและประเทศของเราแน่นอน ซึ่งพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับข้อสงสัยของเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศไทย ทันทีที่ท่านส่งเอกสารทักท้วงทวงถามข้อสงสัย เราพร้อมจะให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาเลเซีย ดำเนินการตอบข้อซักถามทุกข้อโดยทันที” ดาโต๊ะ เอมราน บิน กาดีร์ กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หารือกับ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เพื่อแก้ปัญหากรณีรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (รถเมล์เอ็นจีวี) จำนวน 100 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ติดอยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และไม่สามารถนำเข้าประเทศได้ เพราะติดปัญหาด้านภาษี
อ่านประกอบ : บอร์ดขสมก. เลื่อนพิจารณา เบสท์ริน กรุ๊ป ชนะประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน
เบสท์ริน กรุ๊ป พร้อมส่งมอบรถเมล์ NGV เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนกรุงเทพฯ
รู้จัก 'เบสท์ริน' ผู้ชนะประมูลเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ที่บอร์ดขสมก.เบรกไว้ก่อน