กว่า 1 ปี กับความสำเร็จโพรเจกต์ The Writer12 สุดยอดนักเขียนสตรีเลื่องชื่อ
ส่องความสำเร็จกว่า 1 ปี กับโพรเจกต์ The Writer12 ทำเนียบ 12 นักเขียนนวนิยายสตรีเลื่องชื่อ ผู้เป็นตำนาน เเละมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เเก่วงการ ต่อยอดเป็นการศึกษาของคนรุ่นใหม่
นับเป็นความสำเร็จสำหรับโครงการ The Writer12 สัมภาษณ์นักเขียนนวนิยายสตรีผู้เลื่องชื่อและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 12 คน ซึ่งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอถ่ายทอดออกมาสู่สายตาแฟนนักอ่านเป็นที่เรียบร้อย
โครงการนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจอยากให้นักอ่านไทยได้เรียนรู้ถึงเส้นทางและเคล็ดลับของนักเขียนมืออาชีพว่า กว่าจะก้าวเข้ามาอยู่ในบรรณพิภพนี้ต้องอาศัยระยะเวลาการฝึกฝน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อยากจะลุกขึ้นมาเขียน และรวบรวมเป็นประวัติแก่การศึกษาต่อไป
โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือก คือ ลีลาการเขียนต้องมีเอกลักษณ์โดดเด่น สะท้อนตัวตน ผลงานถูกกล่าวถึงในวงกว้าง และได้รับการผลิตเป็นละครหรือภาพยนตร์ ซึ่งยอมรับว่า ค่อนข้างหนักใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีนักเขียนนวนิยายสตรีที่มีชื่อเสียงและฝีมือเก่งจำนวนมาก
ใช้เวลาพิจารณาอยู่นานพอสมควร จนกระทั่งได้รายชื่อนักเขียนนวนิยายสตรี 12 คน ที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ ทัศนีย์ คล้ายกัน (อาริตา), สุรภี โพธิสมภรณ์ (โสภี พรรณราย), สุภา สิริสิงห (โบตั๋น), อมรรัตน์ พิศุทธิ์สินธุ์ (นภาลัย ไผ่สีทอง), ศรีเฉลิม สุขประยูร (วลัย นวาระ), อุปถัมภ์ กองแก้ว (อุปถัมภ์ กองแก้ว), สุจิตรา จินตนาเรขา (ชลาลัย), นันทพร ศานติเกษม (ปิยะพร ศักดิ์เกษม), ชูวงศ์ ฉายะจินดา (ชูวงศ์ ฉายะจินดา), คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล), ถ่ายเถา สุจริตกุล (ถ่ายเถา สุจริตกุล) และสมนึก สูตะบุตร (บุษยมาส)
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า โครงการใช้ระยะเวลายาวนานถึง 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย. 2560-พ.ย. 2561 ซึ่งจะต้องติดต่อขอสัมภาษณ์ใหม่ทุกคน เพื่อหวังให้เป็นข้อมูลเอ็กซ์คลูซีฟที่ไม่เคยเปิดเผยขึ้นที่ใดมาก่อน ยกเว้น ‘อิศรา’ เป็นสื่อสำนักแรก และแน่นอนว่า ข้อมูลดังกล่าวเปรียบได้กับการทำวิจัยย่อม ๆ เล่มหนึ่งเลยก็ว่าได้
- ทัศนีย์ คล้ายกัน (อาริตา)
อาริตาได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีนักเขียนนวนิยายดราม่า มีผลงานตีพิมพ์มากกว่า 300 เรื่อง และยังได้รับการผลิตเป็นละครโด่งดัง ไม่ว่าจะเป็น สามีตีตรา บัวปริ่มน้ำ เลดี้เยาวราช เป็นต้น โดยในอดีตนั้นต้องเขียนนวนิยายส่งนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับต่าง ๆ ประมาณ 10 เรื่อง/สัปดาห์
พร้อมเผยเคล็ดลับให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า เมื่อเราได้พื้นที่เขียนแล้ว จะได้ตลอดกาล ได้ตั้งแต่วันที่เริ่ม ไปจนกระทั่งหนังสือปิดตัว เพราะสิ่งหนึ่งของคนเขียนหนังสือ เมื่อ บก.ให้ความไว้วางใจ ให้พื้นที่เราตลอด สิ่งหนึ่งที่ต้องย้อนกลับมา คือ ต้องควบคุมตัวเอง ไม่ใช่แค่ระเบียบวินัย แต่รวมถึงเลือกเรื่องที่จะเขียนด้วย ไม่ใช่นึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียน แต่ต้องดูด้วยว่า มีเสียงสะท้อนอะไรกลับมาหรือไม่
ขณะที่สูตรสำเร็จในการสร้างตัวละครให้เป็นที่จดจำ ก็คือ ‘มนุษย์’ ที่สามารถเดินสวนทางกันได้บนถนน โดยเราไม่ได้สร้างตัวละครเวลาเขียนนวนิยาย แต่เรากำลังสร้างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมา แม้ว่าเขาจะถูกเรียกว่าพระเอกนางเอก ซึ่งพระเอกนางเอก ร้ายได้! แต่ต้อง ไม่เลว! ดังนั้นนวนิยายจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความสมจริง คิดอะไรที่มนุษย์ปกติคิด และต้องทำให้คนเชื่อว่า มีที่มาที่ไปรองรับ เริ่มต้นด้วยเหตุ ต้องจบด้วยผล
-สุรภี โพธิสมภรณ์ (โสภี พรรณราย)
โสภี พรรณราย เริ่มเขียนนวนิยายตั้งแต่อายุย่าง 18 ปี เติบโตมาจากนวนิยายเรื่อง แฝดสาวเจ้าเสน่ห์ กับนิตยสารดรุณี ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของนักเขียนคนนี้ คือ ไม่ค่อยมีการบรรยายฉากในนวนิยาย อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการบรรยายฉาก แต่พล็อตเรื่องแน่น สนุก ไม่มีน้ำในบทสนทนา
ส่วนเคล็ดลับในการเขียนนั้น นักเขียนต้องเป็นนักอ่านมาก่อน ที่สำคัญต้องอดทน และในการเขียนนวนิยายนั้น บทที่ 1 มีความสำคัญที่สุด ต้องเขียนให้เอาคนอ่านอยู่ด้วย
สุภา สิริสิงห (โบตั๋น)
โบตั๋นได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นนักเขียนสตรีที่มีวาจาฉะฉาน น้ำเสียงหนักแน่น กังวาน สะท้อนตัวตนในงานเขียน โดยนวนิยายทุกเรื่องที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น นางเอกของเรื่องต้องสู้คน เก่งกล้า สามารถ ถ้าสู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ โบตั๋นชื่นชอบการอ่านตั้งแต่เด็ก จนเกิดความอยากเขียน โดยมีละครวิทยุเป็นเสมือนครูคนแรก
แม้จะเป็นศิลปินแห่งชาติ แต่งานเขียนผ่านการถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเช่นกัน เช่น กว่าจะรู้เดียงสา ชมัยภร แสงกระจ่าง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557) อีกหนึ่งบทบาทเป็นคอลัมน์นิสต์วิจารณ์ บอกว่าพี่โบตั๋นเป็นอะไรไปแล้ว ถึงเขียนบทอัศจรรย์ร้อยแก้ว แต่ดิฉันไม่ว่าอะไร ดิฉันถือเป็นคำชม
มาถึงตรงนี้ คุณชมัยภร ทำตาเหลือก (หัวเราะ) ถามว่าทำไมถึงถือว่าเป็นคำชม เพราะผู้อ่านเห็นโบตั๋นเป็นตัวแทนหนังสือเด็ก (หัวเราะ) โบตั๋น คิดว่าทำไม...ฉันจะเขียนของฉันอย่างนี้แหละ
-อมรรัตน์ พิศุทธิ์สินธุ์ (นภาลัย ไผ่สีทอง)
นภาลัย ไผ่สีทอง ถนัดในการเขียนนิยายโรแมนติก ได้รับการยกย่องเป็นตำนานนิยาย 12 บาท ครองใจพ่อค้าแม่ขายในประเทศไทย มีผลงานรวมกว่า 300 เล่ม เริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านเช่นเดียวกับนักเขียนคนอื่น ๆ
นภาลัย บอกว่า “ดีใจที่แม่ค้าได้พิจารณาหนังสือเล่มเล็ก ๆ ให้มีคุณค่าขึ้นมาได้ บางคนอาจใช้คำพูดสรุปชนิดน่าทิ้งลงถังขยะ แต่สำหรับคนที่รู้ว่าทุกข์คืออะไร ไม่ต้องการจะทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง นิยาย 12 บาท จะทำให้พวกเขาหายทุกข์ได้สักพักหนึ่ง ช่วยสร้างกำลังใจขึ้นมาได้”
พร้อมกันนี้ได้แนะนำว่า ต่างคนต่างมีสไตล์ของตนเอง หยิบมาเขียนเถอะ เพราะนิยายไทย ไม่ทำให้คนอ่านฆ่าตัวตาย มิหนำซ้ำ นิยายไทยสร้างมากกว่าทำลายอีก
-ศรีเฉลิม สุขประยูร (วลัย นวาระ)
วลัย นวาระ ได้รับการยกย่องจากคนในวงการให้เป็นควีน ออฟ ควีน นวนิยายโรแมนติก หรือ “บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ของไทย” มีผลงานมากกว่า 400 เรื่องแล้ว โด่งดังเป็นที่รู้จัก คือ ซีรีส์ชุดเทพกานต์ แม้จะไม่ได้สมรส แต่ฉากโรแมนติกในนวนิยายแต่ละเรื่องนั้น ได้นำมาจากการอ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสืออเมริกัน และมีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้ได้เพราะแฟนซื้อหนังสือ ถึงขนาดคุณชิต กันภัย และคุณอาจินต์ ปัณจพรรค์ ยังไม่คิดว่าจะมาถึงวันนี้
-อุปถัมภ์ กองแก้ว (อุปถัมภ์ กองแก้ว)
อุปถัมภ์ กองแก้ว เป็นครูมาก่อน จนกระทั่งได้มาเป็นนักเขียนจากการส่งเข้าประกวดเรื่องสั้น ‘ผู้หญิงคนนั้นอยู่ที่ไหน’ กับนิตยสารสกุลไทย ซึ่งเคล็ดลับในการเขียน นอกจากระเบียบวินัย ความอดทนแล้ว ‘พล๊อตเรื่อง’ เป็นอีกหนึ่งงานหินที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
พร้อมกับบอกด้วยว่า นวนิยายเป็นเรื่องความเพ้อฝัน เขียนสะท้อนสังคมที่เป็นอยู่ปัจจุบันดีและถูกต้องแล้ว เพราะมีรากฐานจากความเป็นจริง การจะไปเขียนนำสังคมนั้น ไม่มีนักเขียนคนไหนอยากเขียน ยกเว้นมีอย่างอื่นแอบแฝง อย่างเช่นนักเขียนผู้นี้ระบุไม่กล้าเขียนนำสังคม ทั้ง ๆ ที่เราสามารถคิดล่วงหน้าได้
-สุจิตรา จินตนาเรขา (ชลาลัย)
ชลาลัยมีจุดเริ่มในชีวิตการเป็นนักเขียนสมัยเรียนชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครอบครัวประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แม่จึงไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อ จึงตัดสินใจทำงานส่งตัวเองเรียน พอมีเงินเดือนเลี้ยงตัวเองได้ กระทั่งวันหนึ่งสำนักพิมพ์อำนวยสาส์น เปิดรับสมัครนักเขียนหน้าใหม่ เขียนพ๊อคเก็ตบุ๊กแนวรัก จึงคิดลองดู และได้รับการตีพิมพ์ จากนั้นเหมือนโรงงานผลิต เพราะสำนักพิมพ์รับต้นฉบับไม่จำกัด ทำให้ได้โลดแล่นในวงการและโด่งดังมากช่วงปี 2530
ส่วนคนที่อยากเป็นนักเขียน เคล็ดลับมีไม่มาก ขอเพียงถามตัวเองก่อนว่า แน่ใจหรือไม่ว่าอยากเป็นนักเขียน หรือแค่รู้สึก และเมื่ออยากเป็นจริง ๆ ต้องเริ่มต้นจากการอ่าน ลงมือเขียน โอกาสไปสู่ฝั่งฝันจึงจะประสบความสำเร็จ
-นันทพร ศานติเกษม (ปิยะพร ศักดิ์เกษม)
ปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นนักเขียนมือรางวัล และผลงานนวนิยายแต่ละเรื่องนั้นล้วนมีรายละเอียดในการสร้างสรรค์มาก เข้าสู่วงการจากการส่งนวนิยายเรื่อง ตะวันทอแสง ไปยังนิตยสารสกุลไทย ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์และมีความนิยมจากแฟนนักอ่านจนถึงปัจจุบัน เป็นคนชื่นชอบการอ่านตั้งแต่เด็ก และรู้จักตนเองตั้งแต่แรกเริ่มว่า ชอบการเขียนเรื่องขนาดยาว พร้อมกับเผยเคล็ดลับว่า แม้นวนิยายจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ต้องเป็นเรื่องแต่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริง อ่านแล้วเชื่อว่าจริง เชื่อถือได้ ที่สำคัญ ในการเขียนทุกเรื่อง จำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลไว้เสมอ
-ชูวงศ์ ฉายะจินดา (ชูวงศ์ ฉายะจินดา)
ชูวงศ์ ฉายะจินดา ชื่นชอบการอ่านนวนิยายตั้งแต่เด็ก จนเกิดความรู้สึกอยากเขียน ปัจจุบันมีผลงานแล้วกว่า 100 เรื่อง โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็น ‘จำเลยรัก’ และยังได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติด้วย โดยวิธีการเขียนหนังสือต้องไม่ใช่เขียนแค่เอาแต่สนุก อย่างน้อยต้องมีอะไรแถมให้คนอ่านเป็นข้อคิดดี ๆ แต่ไม่ได้มาสั่งสอนว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ให้พยายามแทรกเหล่านั้น เข้าไปในเรื่องของเรา
เรียกว่าไม่ได้เขียนเอาโรแมนติกเรื่องเดียว แต่ขอให้ทุกบทบาทของตัวละครฝ่ายดี ต้องมีการแสดงคุณธรรมไว้ในการกระทำของตน เพื่ออย่างน้อยเด็กมาอ่านหรือผู้ใหญ่ที่มีความคิดน้อยมาอ่าน จะอยากทำตาม ถือเป็นการนำคนให้มีจิตใจมุ่งไปทางดี
-คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล)
ว.วินิจฉัยกุล เป็นอีกหนึ่งนักเขียนสตรีที่ได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีโลกวรรณกรรม เพราะผลงานแต่ละเรื่องล้วนมีคุณค่าแก่ผู้อ่านอย่างยิ่ง เกิดและเติบโตในครอบครัวรักหนังสือทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ท่านมีหนังสือดี ๆ ในบ้านเต็มตู้ ทั้งวรรณคดีอย่างพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา รามเกียรติ์ และวรรณกรรมชั้นดีอย่างงานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ว. ณ ประมวญมารค (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดี รังสิต) ทั้งหมดนี้ ท่านให้ลูกหยิบมาอ่านได้ตามใจชอบ ไม่ต้องกลัวหนังสือขาดหรือยับเยิน ถ้าอ่านหนังสือจนชำรุดก็ซื้อให้ใหม่ เมื่ออ่านมาก จึงเริ่มอยากเขียนเช่นกัน
ในการเขียนหนังสือนั้นได้ฝึกตัวเองให้นั่งที่ไหนก็เขียนได้ และอุดมคติสำคัญคือ ‘ความรับผิดชอบ’ เพราะงานประพันธ์เป็นงานออกสู่สาธารณะ ย่อมมีผลต่อการรับรู้ต่อคนจำนวนมาก ดังนั้น “ความรับผิดชอบ” ต่อสาธารณะจึงมาเป็นอันดับแรก โดยตั้งใจว่าจะไม่สร้างงานที่ผิดศีลธรรม ละเมิดกฎหมาย หรือขนบประเพณีอันดีงามของสังคมไทย ไม่ทำให้ผู้อ่านโดยเฉพาะเยาวชนเกิดความสับสน ไขว้เขวต่อความถูกต้องเหมาะควร ที่อาจมีผลเสียหายไม่มากก็น้อยต่อชีวิตของเขา
-ถ่ายเถา สุจริตกุล (ถ่ายเถา สุจริตกุล)
ถ่ายเถา สุจริตกุล เริ่มเขียนนวนิยายเมื่อมีอายุมากแล้ว แต่นั่นมิใช่อุปสรรค เพราะก่อนหน้าจะมีผลงานของตนเอง ได้มีโอกาสแปลหนังสือของบุตรชายมาโดยตลอด บวกกับเดิมที่เป็นคนชื่นชอบการอ่านอยู่ก่อนแล้ว แม้ผลงานจะไม่มาก แต่ว่ากลับโด่งดังทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น มงกุฎดอกส้ม ดอกส้มสีทอง เรยา
นักเขียนผู้นี้ระบุนางเอกมีสามีหลายคนได้ แต่ต้องมีทีละคน ไม่ได้ลอบมีชู้ เพราะไม่สามารถบังคับตนเองให้เขียนแบบนั้นได้ อาจเป็นเพราะไม่ใช่นักมโน ทุกคนทุกวัยจึงสามารถอ่านหนังสือของตนเองที่เขียนได้ แต่ก็มีบ้างอย่างบทรักที่จะค่อนข้างโลดโผน และไม่คิดจะเขียนเรื่องที่เป็นพิษภัยกับใคร
ที่สำคัญ นวนิยายแต่ละเรื่องต้องผ่านการทบทวนไม่ต่ำกว่า 10 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีอะไรที่เราสามารถปรับปรุงได้แล้ว พร้อมถ่อมตัวว่า ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ แต่เป็นนักเล่าที่ดี
-สมนึก สูตะบุตร (บุษยมาส)
บุษยมาสเป็นนักเขียนในทำเนียบกิตติมศักดิ์ แม้ปัจจุบันจะลาลับวงการไปแล้ว แต่ชื่อเสียงและผลงานยังถูกกล่าวถึงอยู่ตลอด เป็นนักเขียนที่ผู้เขียนชื่นชอบมากที่สุดอีกคนหนึ่ง ได้รับการยกย่องให้มีปลายปากกาอาบน้ำผึ้ง มีสำนวนบริสุทธิ์ โดยมีเส้นทางเข้าสู่วงการน้ำหมึกคล้าย ๆ กับนักเขียนหลาย ๆ ท่าน ด้วยอุปนิสัยชื่นชอบการอ่านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรียกได้ว่า อ่านหนังสือทุกเล่มที่มี กระทั่งตัดสินใจส่งเรื่องสั้น ‘รักฉากสุดท้าย’ ไปยังนิตยสารนารีนาถ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในเวลาต่อมา
เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ ‘ป.วัชราภรณ์’ ว่า ความโด่งดังถึงขีดสุดถึงขนาดในหนึ่งสัปดาห์ต้องเขียนนวนิยายป้อนสำนักพิมพ์ถึง 7 ฉบับ โดยพิมพ์หนึ่งบทต่อหนึ่งเรื่อง จะว่าไปแล้ว เฉลี่ยวันละหนึ่งเรื่อง ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่เขียนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน ขอให้มีอารมณ์ก็เพียงพอแล้ว
ทั้งหมดนี้คือ The Writer12 จากการสัมภาษณ์กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะเส้นทางและเคล็ดลับการเป็นนักเขียน ซึ่งจะสำเร็จลุล่วงไม่ได้ หากไม่ได้รับเกียรติจากทุกคนในการอนุเคราะห์ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในครั้งนี้
ด้วยจิตคารวะ
พราวกระซิบ .
อ่านฉบับเต็ม:The Writer#11 ดิฉันเป็นนักเล่าที่ดี ‘ถ่ายเถา สุจริตกุล’ สตรีผู้มีชื่อเสียงด้านการประพันธ์
The Writer #10 เกิดมาเพื่อเขียน ‘ว.วินิจฉัยกุล’ นวนิยายคือชีวิต ราชินีโลกวรรณกรรม
The Writer #9 ปลายปากกาสร้างชีวิต ‘ชูวงศ์ ฉายะจินดา’ เพชรน้ำเอกวรรณกรรมอาชีพ
The Writer#8 สัมผัสเรื่องราวของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ เกือบ 3 ทศวรรษ สร้างสรรค์วรรณกรรมไทย
The Writer#7 “ชลาลัย” ศิลปินสุภาพสตรีผู้โด่งดังบนบรรณโลก
The Writer#5‘วลัย นวาระ’ บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เมืองไทย ‘ควีนออฟควีน’ นิยายโรมานซ์
The Writer#4 ‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ตำนานนิยาย 12 บาท กับภารกิจสุดท้ายในโลกงานเขียน
The Writer#3 ‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย
‘บุษยมาส’ เทพีแห่งวงการประพันธ์ จากปลายปากกาอาบน้ำผึ้ง