ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน แขกรับเชิญคนแรก ให้ฉายาว่า ราชินีแห่งนวนิยายดราม่า นั่นคือ ทัศนีย์ คล้ายกัน (อี๊ด) หรือเจ้าของนามปากกา อาริตา, กันยามาส, นาวิกา, มณีบุษย์, ดาริกา และอีกหลายนามปากกา ประพันธ์ผลงานที่มีชื่อเสียงกว่า 300 เรื่อง
ขอให้ฉายาเธอว่า ‘ราชินีนวนิยายดราม่า’
อาริตา
‘เราไม่ได้สร้างตัวละคร เราสร้างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมา’
ในวันท้องฟ้าครึ้ม ฝนพรำ ๆ ต้นฤดูฝนของวันหยุดสุดสัปดาห์...
‘มารน้ำผึ้ง’ นวนิยายจากบทประพันธ์ ‘อาริตา’ ถูกหยิบขึ้นมาอ่าน ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงจึงจบ...จำได้ว่า เมื่อหลายปีก่อน ‘พราวกระซิบ’ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักเขียนผู้นี้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
อาริตา หรือ (อี๊ด) ทัศนีย์ คล้ายกัน คือสตรีผู้คร่ำหวอดในแวดวงงานประพันธ์มากว่า 30 ปี กับผลงานกว่า 300 เรื่อง ซึ่งล้วนครองใจแฟนนักอ่านไม่เสื่อมคลาย
ไม่เฉพาะนามปากกาที่กล่าวถึงเท่านั้น แต่เธอยังเป็นเจ้าของนามปากกา กันยามาส, นาวิกา, ดาริกา, สุนันทา, ทิพเกสร, มณีบุษย์ และเหมือนจันทร์
ปีนี้ได้พบกับเธออีกครั้ง ในฐานะ The Writer คนแรก จากทั้งหมด 12 คน ที่จะถูกถ่ายทอดเรื่องราว ความสำเร็จ เพื่อเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่
เพียงไม่ถึงสองชั่วโมง ก็มาถึงบ้านหลังน้อย ใจกลางทุ่งรังสิต ‘อาริตา’ ในวัย 60 ปี ยังคงแข็งแรง กระฉับกระเฉง อยู่ในชุดลำลองสบาย ๆ บนโต๊ะรับแขก มี ‘พระแม่นาคกัลยาณี’ ตั้งอยู่ให้ชวนสงสัย
“ห้องทำงานครั้งแรกอยู่ในห้องเรียน” อาริตา ย้อนวันวานให้ฟังว่า เขียนนวนิยายไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วย ซึ่งสมัยแรกจะเขียนลงกระดาษฟุลสแก๊ป ส่วนคอมพิวเตอร์เริ่มใช้ประมาณปี 2536 และยังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต
โสภาค สุวรรณ และ วลัย นวาระ ยังส่งต้นฉบับด้วยลายมือ แต่สำหรับ ‘อาริตา’ แล้ว เปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นคน ‘สมอง’ คิดไว และค้นพบว่า คอมพิวเตอร์ไวเท่าสมองเราสั่ง
“ห้องทำงานที่ไหนก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ เปิดทีวีก็ได้ ฟังเพลงไปด้วยก็ได้ มีสมาธิ ถ้าหากเราบอกว่าจะทำงาน และวางแผนไว้แล้วว่า จะเขียนอะไร ถ้าเขียนไม่ออก ทำอะไรไม่ได้ ลุกไปทำอย่างอื่นซะ”
สมัยก่อนนั้น อาริตา เขียนนวนิยายส่งนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับต่าง ๆ ประมาณ 10 เรื่อง/สัปดาห์ เรียกว่าต้องจับปากกาเขียนชั่วโมงละเรื่องด้วยซ้ำไป แม้อารมณ์จะแตกต่างกันคนละขั้วก็ต้องทำ
ทำได้สิ! เพราะวางพล๊อตทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว นั่นคือสูตร (ไม่) ลับ ฉบับอาริตา
ไม่ว่าจะเป็น ดาราภาพยนตร์ ภาพยนตร์บันเทิง ชีวิตรัก ล้วนแต่ตีพิมพ์ผลงานนวนิยายของเธอมาทั้งหมดแล้ว ‘อาริตา’ บอกว่า บางคนชอบพูดเป็นนิตยสารบันเทิงระดับล่าง สาวโรงงานชอบอ่าน
เธอค้านสุดใจ “ไม่จริงเลย! ดร.อ่านก็มี และตามอ่านงานเรามาตลอด”
กว่าจะมีวันนี้ไม่ง่าย เพราะถนนนักเขียนของเธอมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จากเคยรุ่งโรจน์ แทบล้มทั้งยืน เมื่อพิษเศรษฐกิจ ปี 2540 นิตยสารหลายฉบับปิดตัว และยิ่งทรุดหนักเมื่อปี 2554 เมื่อเกิดวิกฤตมหาอุทกภัย แต่ก็สามารถอดทนฝ่าฟันมาได้อย่างมั่นคง
ถึงแม้อย่างไร ‘อาริตา’ บอกให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า “เมื่อเราได้พื้นที่เขียนแล้ว จะได้ตลอดกาล ได้ตั้งแต่วันที่เริ่ม ไปจนกระทั่งหนังสือปิดตัว”
...เพราะสิ่งหนึ่งของคนเขียนหนังสือ เมื่อ บก.ให้ความไว้วางใจ ให้พื้นที่เราตลอด สิ่งหนึ่งที่ต้องย้อนกลับมา คือ ต้องควบคุมตัวเอง ไม่ใช่แค่ระเบียบวินัย แต่รวมถึงเลือกเรื่องที่จะเขียนด้วย ไม่ใช่นึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียน แต่ต้องดูด้วยว่า มีเสียงสะท้อนอะไรกลับมาหรือไม่...
“เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม
บอกไม่ได้ว่า นวนิยาย ต้องการรสอะไรมากที่สุด
รสเดียวที่ต้องการ คือ สนุก”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้มีนักเขียนนวนิยายมากกว่า 3 พันคน ‘อาริตา’ ตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้มีโอกาสแจ้งเกิดบนถนนสายนี้
บางคนบอกละครมีแต่นิยายผัวเมีย เธอยืนยันว่า “เรื่องผัวเมีย ยังเขียนได้ เพียงแต่จะนำเสนออะไรของผัวเมีย ประเด็นอะไรที่จะทำให้เส้นเรื่องของเราชัดเจนและน่าจดจำ”
ความชัดเจนและน่าจดจำ จึงเป็นสิ่งที่นักเขียนต้องคำนึงถึง เพื่อให้เรื่องแรก ปัง!!!
สังเกตหรือไม่ว่า ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปอย่างไร ความเป็น ‘อังศุมาลิน’ กับ ‘โกโบริ’ นวนิยายเรื่องคู่กรรม ยังชัดเจน เราไม่สามารถเปลี่ยนตัวตนในความสัมพันธ์ที่มีได้ หรือในนวนิยายเรื่องสามีตีตรา เราไม่สามารถเปลี่ยนกะรัต หรือสายน้ำผึ้ง ได้
อาริตา เน้นย้ำว่า สูตรสำเร็จในการสร้างตัวละครให้เป็นที่จดจำ ก็คือ ‘มนุษย์’ ที่สามารถเดินสวนทางกันได้บนถนน
“เราไม่ได้สร้างตัวละครเวลาเขียนนวนิยาย แต่เรากำลังสร้างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมา แม้ว่าเขาจะถูกเรียกว่าพระเอกนางเอก”
ย้ำว่า พระเอกนางเอก ร้ายได้! แต่ต้อง ไม่เลว!”
นวนิยายจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความสมจริง คิดอะไรที่มนุษย์ปกติคิด และต้องทำให้คนเชื่อว่า มีที่มาที่ไปรองรับ เริ่มต้นด้วยเหตุ ต้องจบด้วยผล
อีกทั้งยืนยันทุกครั้งว่า นวนิยาย คือ การบันทึกสังคม!
...นพีสี นาคาสิทธิ์ นางมาจากแดนไกล มาเพื่อดูแลสายเลือด สายพันธุ์ที่เดินทางมาอยู่ในประเทศไทยก่อนหน้า...ไม่ได้เกี่ยวกับพญานาคแต่อย่างใด...แต่จริง ๆ แล้วคือสายพันธ์ุของงู...งูมีปีก...บินได้ ว่ายน้ำได้ และมีชีวิตอมตะ...นางผ่านกาลเวลามารุ่นต่อรุ่น
‘อาริตา’ มิได้เขียนงานแนวดราม่าเท่านั้น แต่ยังมีแนวโรแมนติก คอมเมดี้ การเมือง และล่าสุด แฟนตาซี เรื่อง ‘มายานาคินี’ ในนามปากกา นาวิกา
นวนิยายเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘พระแม่นาคกัลยาณี’ ที่ตั้งโชว์อยู่บนโต๊ะรับแขก ซึ่งเธอได้นำมาบูชาไว้ เทพบูชาองค์นี้ถือกำเนิดจากนาคนากัส หรือบัลลังก์นาคแห่งองค์พระวิษณุเทพนั่นเอง ส่วนบนเป็นคน ส่วนล่างเป็นนาค (งู) และมีปีก
“คราวแรกตั้งใจจะเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับกินรี แต่มีนักเขียนหลายท่านประพันธ์ไว้แล้ว จึงคิดว่าถ้าขืนประพันธ์อีก จะติดกรอบกำหนด”
อาริตา บอกว่า วันหนึ่งไปเดินห้างสรรพสินค้า จึงเจอพระแม่นาคกัลยาณี ไม่ใช่องค์ที่เช่าบูชามา แต่เป็นทองเหลือง ซึ่งเราไม่เคยเห็น ท่อนล่างเป็นงู มีปีก กลับมาหาข้อมูลศึกษาจนทราบข้อมูล
ในการเขียนเล่มนี้ เราได้ชื่อมาก่อนว่า ‘มายานาคินี’ และพล๊อตเรื่องมาอย่างรวดเร็วมาก เรียกได้ว่าอัตโนมัติ เหมาะสำหรับกลุ่มแฟน ๆ ที่มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช้เวลาเขียนเร็วมาก ประมาณ 15 วัน
“งานสัปดาห์หนังสือเริ่มเมื่อ ปลาย มี.ค. 2560 ส่งต้นฉบับก่อนวันที่ 20 มี.ค. หนังสือมาวันแรกของงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งหากไม่นับระยะเวลาวางพล๊อต ใช้เวลาเขียนประมาณครึ่งเดือน เพราะเราพร้อมมาก พล๊อตเสร็จแล้ว ลงมือรวดเดียว และช่วงนั้นไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย”
อาริตา วางไว้ว่า จะเขียนสองภาค คือ มายานาคินี และ ฤดีอรชร...ร่อนแร่
ทุกคนยุให้เขียนทั้งสองภาควางจำหน่ายพร้อมกันเลย แต่เธอยังอยากให้คนอ่านได้รู้จักและเข้าใจตัวละครในภาคแรกก่อน ทำให้ภาคสอง ‘ฤดีอรชร...ร่อนแร่’ จะพบกับนักอ่านใน ต.ค. ศกนี้
“ปกติเป็นคนทำงานไว ถ้าพล๊อตเรื่องพร้อม บอกเลยเหมือนกับมีอะไรบางอย่างเข้ามาทำให้เกิดภาพชัดเจน เราหาคำตอบได้ว่า ทำให้เป็นมายา เหมือนจริงตอบโจทย์เพราะอะไร เราเชื่อว่า บินได้ ลงน้ำได้ พอเราเชื่อ จึงทำให้คนอื่นเชื่อตามเรา”
อาริตา หวังให้มายานาคินีครองใจผู้อ่านทุกกลุ่ม มันคือนวนิยายแฟนตาซี ที่มีขนบความเป็นนวนิยาย มีพระนาง มีความขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็มีความเหนือจริง...จะว่าใช่ก็ใช่...จะว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่
ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ตลอดหลายทศวรรษ ‘อาริตา’ จึงควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลแห่งวงการวรรณกรรมไทย ให้สมกับความตั้งใจที่รังสรรค์ผลงานดี ๆ เสมอมา .