เกิดมาเพื่อเขียน ‘ว.วินิจฉัยกุล’ นวนิยายคือชีวิต ราชินีโลกวรรณกรรม
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน สำหรับแขกรับเชิญคนที่ 10 คือเจ้าของนามปากกา “ว.วินิจฉัยกุล” และ “แก้วเก้า” กับเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นนักเขียนผู้โด่งดัง
“...ประมาณ 60 ปีก่อน
อาชีพ ‘นักเขียน’ ไม่ได้ถูกมองด้วยความชื่นชมอย่างปัจจุบัน
คำว่า “นักประพันธ์ไส้แห้ง”
ยังติดปากคนทั่วไปอยู่...”
ในบรรณพิภพนี้ หากจะกล่าวถึงนักเขียนนวนิยายเลื่องชื่อของไทย แน่นอนว่า หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2547 เจ้าของนามปากกา “ว.วินิจฉัยกุล” และ “แก้วเก้า” รวมอยู่ด้วย
คุณหญิงวินิตา มีผลงานมากมาย ที่รู้จักกันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น เรือนมยุรา มาลัยสามชาย น้ำใสใจจริง สื่อสองโลก เจ้าบ้านเจ้าเรือน หรือที่กำลังออนเเอร์อยู่ในขณะนี้ คือ เรื่อง "ไร้เสน่หา" เเละเพิ่งจบไป "ละครคน" ทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ยังไม่นับรวมที่กำลังมีคิวถ่ายทำเเละออนเเอร์อีกประมาณ 10 เรื่อง
ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาถามตอบกับคุณหญิงวินิตา ซึ่งทำให้เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวนิยายจรรโลงสังคม ทั้งยังได้เรียนรู้ว่ากว่าจะมาเป็นนักเขียนเลื่องชื่อมากฝีมือในวันนี้ ล้วนต้องผ่านด่านวัดใจหนักเบามากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงชีวิตแต่ละห้วงเวลา
คุณหญิงวินิตา บอกเล่าความทรงจำ แรงบันดาลใจ จนนำมาสู่การตัดสินใจในการเขียนนวนิยาย เธอบอกว่า เกิดและเติบโตมาในบ้านของคนรักหนังสือ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ท่านมีหนังสือดี ๆ ในบ้านเต็มตู้ ทั้งวรรณคดีอย่างพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา รามเกียรติ์ และวรรณกรรมชั้นดีอย่างงานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ว. ณ ประมวญมารค (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดี รังสิต) ทั้งหมดนี้ ท่านให้ลูกหยิบมาอ่านได้ตามใจชอบ ไม่ต้องกลัวหนังสือขาดหรือยับเยิน ถ้าอ่านหนังสือจนชำรุดก็ซื้อให้ใหม่
“ตอนเด็ก ๆ คุณพ่อรู้จักกับผู้บริหารนิตยสาร “แสนสุข” เขาก็เลยส่งนิตยสารมาให้อ่านฟรี คุณแม่อ่านจบก็ส่งให้ลูกสาวอ่าน ดิฉันก็อ่านไปเรื่อย ๆ เท่าที่เด็กอายุ 10 ขวบ จะอ่านได้ จนวันหนึ่งอ่านแล้วเกิดไม่ชอบใจตอนจบของนวนิยายที่ลงในนั้น ก็เลยหยิบสมุดนักเรียนที่เหลือหน้ากระดาษว่างอยู่ มาเขียนตอนจบเสียเอง ตามแบบที่ตัวเองต้องการ ข้อนี้คงจะเป็นจุดเริ่มแรกของการเขียนหนังสือ”
ถ้าถามว่าทำไมเด็กอายุ 10 ขวบ เขียนหนังสือขนาดแก้ไขนวนิยายได้ คุณหญิงวินิตา ยกความดีให้หลักสูตรการศึกษาและระบบวิชาการของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยที่ได้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
“โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ขึ้นประถม 2 อยู่ประถม 3 คุณครูก็ให้เขียนเรียงความยาวเป็นหน้า หลักสูตรมีวิชาย่อความ เรียงความ คัดไทย ทำให้ชินกับการใช้ภาษาไทย ตอบข้อสอบก็ต้องตอบแบบอัตนัย ไม่มีข้อสอบปรนัยอย่างสมัยนี้ นักเรียนจึงชินในการเขียนบรรยายยาว ๆ เป็นเรื่องเป็นราว เรียกว่าจบประถม 4 ก็เล่าเรียนเขียนอ่านได้คล่องแล้ว”
คุณหญิงวินิตา เล่าต่อไปว่า เมื่ออ่านหนังสือมากเข้า ก็อยากเขียนขึ้นมา เริ่มด้วยการไปแก้นิยายของนักเขียนให้จบถูกใจเรา จากนั้นก็เริ่มอยากเขียนเองทั้งเรื่อง ต้องแถมด้วยว่านิสัยชอบเขียนนี้ไม่ได้มีแต่ดิฉันคนเดียว เพื่อนๆในห้องหลายคนก็ชอบเขียนกันทั้งนั้น ขนาดตอนอยู่มัธยมต้น (สมัยนี้คือประถม 5-6) เราก็ออกวารสารเขียนด้วยลายมือ เวียนอ่านกัน สมัยนั้นยังไม่มีซีร็อกซ์ ไม่มีพิมพ์ดีด มีเล่มเดียวอ่านกันทั้งห้อง แต่เพื่อน ๆที่ชอบเขียน พอโตขึ้นก็ไปเป็นใหญ่เป็นโตในเส้นทางอื่นกันหมด เหลือดิฉันอยู่คนเดียวที่มาเอาดีทางนี้
เมื่ออยู่ประถม 4 หัดเขียนเรื่องประกอบภาพระบายสีในนิตยสาร “ดรุณสาร” ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับเด็กในเครือของ “สตรีสาร” ได้ลงเกือบทุกสัปดาห์ แต่ไม่มีค่าตอบแทน ขึ้นมัธยมต้น อายุราว 11-12 ปี เขียนเรื่องสั้นไปลงในนิตยสาร “ศรีสัปดาห์” และกลอนเนื่องในวาระสำคัญต่างๆ ต่อมาเมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ส่งเรื่องสั้นไปลงในนิตยสาร “สตรีสาร” ก็ได้ลงอีก
คุณแม่เห็นว่าลูกสาวทำท่าจะหมกมุ่นกับการแต่งนิยายมากเกินไป เกรงว่าจะมัวแต่งหนังสือจนไม่สนใจการเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็หาทางยับยั้งด้วยการห้ามดิฉันไปรับค่าเรื่อง ห้ามไปพบบรรณาธิการ ห้ามไปที่สำนักงานนิตยสาร ถ้าจะส่งต้นฉบับให้ส่งทางไปรษณีย์เท่านั้น และห้ามแนบจดหมายไปถึงบรรณาธิการ เพื่อแนะนำตัวเอง
“ท่านให้เหตุผลว่าถ้าบก.เห็นดิฉันเป็นเด็ก จะไม่ให้ลงอีก ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่ในเมื่อเป็นคำสั่งเราก็ต้องปฏิบัติตามอยู่ดี”
หนุ่มสาวสมัยนี้คงไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่ห้ามอะไรกันถึงขนาดนั้น สมัยนี้ไม่มีพ่อแม่ที่ไหนทำกันอีกแล้ว ความเป็นนักเขียนคือความใฝ่ฝันของเยาวชนจำนวนมากในยุคนี้ แต่นั่นคือประมาณ 60 ปีก่อน อาชีพนักเขียนไม่ได้ถูกมองด้วยความชื่นชมอย่างปัจจุบัน คำว่า “นักประพันธ์ไส้แห้ง” ยังติดปากคนทั่วไปอยู่ คุณแม่ก็คงกลัวว่าลูกสาวจะอดตายถ้าไปประกอบอาชีพนี้ ผิดกับเป็นข้าราชการซึ่งถือเป็นอาชีพมั่นคงกว่ามาก ดิฉันต้องรอมาจนคุณแม่อายุ 88 ปี ท่านถึงยอมรับว่า เป็นนักเขียนดีกว่า
คุณหญิงวินิตาเฝ้ารอจนเรียนหนังสือจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาเอกทาง Curriculum and Instruction(Literature) ตอนนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว เรียกได้ว่าทำตามความต้องการของพ่อแม่ได้ครบ มีอาชีพที่มั่นคง
นั่นละถึงย้อนกลับมาตามเส้นทางที่ตัวเองใฝ่ฝัน คือเริ่มเป็น “นักเขียนอาชีพ” เคราะห์ดีหน่อยที่เรียนเร็ว จบปริญญาเอกตั้งแต่อายุ 20 ปลายๆ จึงเริ่มสตาร์ทอาชีพนักเขียนได้ โดยยังไม่หมดไฟเสียก่อน
ก่อนหน้าเรียนจบ ดิฉันก็เขียนอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเอาเวลามาทุ่มกับการเรียน จนเรียนจบหมดภาระด้านนี้จึงเริ่มเขียนงานเป็นชิ้นเป็นอันเสียที คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย พิจารณาต้นฉบับนวนิยายเรื่องยาวที่ส่งไปให้ แล้วนำลง คือเรื่อง “ไร้เสน่หา” ที่ออกอากาศทางช่อง GMM อยู่ตอนนี้ เรื่องนี้ทำภาพยนตร์มา 1 ครั้ง ละครทีวี 2 ครั้ง จากนั้นอีกไม่นาน นามปากกา “แก้วเก้า” ก็เกิดขึ้น ในนวนิยายเรื่องแรกคือ “แก้วราหู”
จากนั้นก็เขียนนวนิยายมาเรื่อย จนกระทั่งปัจจุบัน มีผลงานทั้งนวนิยาย เรื่องแปล บทความวิชาการ บทวิจารณ์ เฉพาะนวนิยายไทยและนวนิยายแปลก็หนึ่งร้อยกว่าเรื่องแล้ว ในช่วง 40 กว่าปีที่เริ่มทำเป็นอาชีพ
คุณหญิงวินิตา ยกความดีความชอบให้แม่ของเธอ “ดิฉันต้องขอบคุณคุณแม่ ที่ท่านวางแผนชีวิตให้เป็นขั้นเป็นตอน คุณแม่ไม่ได้ห้ามเขียนหนังสือ แต่ห้ามที่จะให้ความสำคัญทางด้านนี้เมื่อวัยและวุฒิภาวะยังไม่พร้อม เพราะท่านเห็นว่ารายได้จากการเขียนหนังสือไม่สม่ำเสมอ ยังไม่พอจะเลี้ยงชีพ ดิฉันเป็นลูกคนเดียวไม่มีพี่น้องให้พึ่งพา ถ้าวันหนึ่งไม่มีพ่อแม่แล้วจะพึ่งตัวเองได้อย่างไรถ้าเรียนหนังสือไม่จบ”
อีกอย่างก็คือ คุณแม่คงไม่ทราบว่า สำหรับลูกนั้นยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ แรงห้ามของคุณแม่ก่อให้เกิดแรงฮึดที่จะมุมานะเป็นนักเขียนให้ได้ ถ้าคุณแม่สนับสนุนหรือผลักดันเสียแต่แรก ดิฉันอาจจะเนือยหรือเฉื่อยชาที่จะเขียน เห็นตัวอย่างจากลูกสาวดิฉันทั้งสองคน แม่อยากให้เขียนหนังสือ แต่ก็ไม่เห็นมีใครอยากเอาดีทางนี้ ที่ใกล้เคียงที่สุดคือลูกสาวคนโตเรียนจบทางเขียนบทละคร จากอังกฤษ แต่เขาก็ไม่ได้ยึดการเขียนบทเป็นอาชีพอยู่ดี
ทั้งนี้ หากจะพูดถึงผลงานชิ้นแรก ๆ เธอกล่าวว่า ผลงานชิ้นแรก ๆ ที่ลงจริง ๆ คือนิทานประกอบภาพในนิตยสาร “ดรุณสาร” เมื่ออยู่ประถม 4 เรื่องสั้นเรื่องแรกลงในนิตยสารศรีสัปดาห์เมื่ออยู่มัธยมต้น ชื่อเรื่องว่าอะไรลืมไปแล้ว แต่เป็นเรื่องของหมาจูตัวโปรดชื่อ “เจ้าปุย”
นวนิยายขนาดสั้นเรื่องแรกชื่อ “มิถิลา เวสาลี” เขียนตอนปิดเทอมเมื่ออยู่ปี 3 แต่กว่าจะเขียนจบส่งนิตยสารสตรีสารก็เรียนจบแล้ว ส่วนนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกคือ “ไร้เสน่หา” เขียนเมื่อศึกษาจบจากอเมริกาแล้ว
“ดิฉันถือว่า ‘งานประพันธ์’ เป็นงานออกสู่สาธารณะ
ย่อมมีผลต่อการรับรู้ต่อคนจำนวนมาก
ดังนั้น ‘ความรับผิดชอบ’ ต่อสาธารณะ
จึงมาเป็นอันดับแรก”
เมื่อถามถึงขั้นตอน วิธีการทำงาน ในการเขียนหนังสือ รวมถึงอุดมคติในการสร้างสรรค์ผลงาน คุณหญิงวินิตา ตอบว่า “ดิฉันเป็นคนมีภาระหลายด้านมาตั้งแต่เริ่มทำงาน ไหนจะรับราชการเป็นอาจารย์ ไหนจะเขียนนวนิยายส่งตอนต่อตอนในนิตยสารต่างๆ ตอนที่งานเยอะ ๆ นั้นบางทีเขียนและแปลถึง 5 เรื่องพร้อมกันต่อสัปดาห์ ทยอยส่งบรรณาธิการนิตยสารต่าง ๆ”
อีกทั้งจังหวะเวลานั้นเป็นช่วงที่เริ่มสร้างครอบครัวอีกด้วย มีลูกเล็ก ๆ 2 คนที่เลี้ยงเองไม่ได้ส่งไปอยู่บ้านปู่ย่าตายายให้ท่านเลี้ยง ทำให้ดิฉันต้องถือหลักทำขั้นตอนทุกอย่างให้ง่ายที่สุด ไม่งั้นไม่ทัน จะมัวสร้างเงื่อนไขโน่นนี่ไม่ได้ เช่นดิฉันไม่มีห้องทำงานของตัวเอง นั่งอยู่ในห้องโทรทัศน์ พร้อมหน้าคนอื่นๆ ทำงานไปสอนการบ้านลูกไป ลูกเล็ก ๆ จะเอาโน่นเอานี่ แม่ก็ต้องละจากงานมาหยิบให้ แล้วกลับไปทำงานต่อ ดิฉันไม่สร้างห้องทำงานส่วนตัว เพื่อเข้าห้องปิดประตูทำงาน ทิ้งลูกไว้กับพ่อ เนื่องจากอยากอยู่ใกล้ชิดลูกเล็ก ๆ มากที่สุด เขาเองก็จะอุ่นใจที่เห็นแม่อยู่ใกล้ ๆ
เคยมีคนมาถามในการสัมภาษณ์เหมือนกันว่า ดิฉันสร้างบรรยากาศในการทำงานแบบไหน ต้องสร้างอารมณ์ยังไงถึงจะเขียนได้ ก่อนเริ่มงานจะต้องเตรียมตัวยังไง คุณหญิงวินิตา ตอบว่าไม่มีทั้งนั้น ฝึกตัวเองให้นั่งที่ไหนก็เขียนได้ ตอนลูกไปกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย พ่อแม่ไปจอดรถรอในลานจอดรถ ดิฉันก็เอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปนั่งพิมพ์คีย์บอร์ดอยู่ในรถนั่นแหละ เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปเปล่า ๆ
อุดมคติในการทำงาน? ไม่รู้ว่า “ความรับผิดชอบ” ถือเป็นอุดมคติได้หรือไม่ ดิฉันถือว่า งานประพันธ์เป็นงานออกสู่สาธารณะ ย่อมมีผลต่อการรับรู้ต่อคนจำนวนมาก ดังนั้น “ความรับผิดชอบ” ต่อสาธารณะจึงมาเป็นอันดับแรก
“ดิฉันตั้งใจว่าจะไม่สร้างงานที่ผิดศีลธรรม ละเมิดกฎหมาย หรือขนบประเพณีอันดีงามของสังคมไทย ไม่ทำให้ผู้อ่านโดยเฉพาะเยาวชนเกิดความสับสน ไขว้เขวต่อความถูกต้องเหมาะควร ที่อาจมีผลเสียหายไม่มากก็น้อยต่อชีวิตของเขา”
ถามว่ามีวิธีวัดผลยังไงว่าผลงานจะไม่สร้างสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น “ง่ายนิดเดียว ดิฉันจะไม่สร้างงานอะไรที่เราลำบากใจ ไม่อยากให้ลูกอ่าน ลูกจะหยิบหนังสือของแม่จากชั้นหนังสือมาอ่านได้เปิดเผยทุกเล่ม เพราะแม่ถือว่า ถ้างานชิ้นไหนของแม่ไม่ดีพอจะให้ลูกอ่าน งานชิ้นนั้นก็ไม่ดีพอสำหรับลูกคนอื่นๆในสังคมเช่นกัน”
แน่นอนว่า ผลงานเขียนกว่า 100 เรื่อง ที่ผลิตออกสู่สาธารณะ นวนิยายเรื่องไหนที่รักและหวงแหนมากที่สุดในชีวิต คุณหญิงวินิตา กล่าวว่า ผลงานที่เกิดจากตัวเราก็เหมือนลูกที่เราให้กำเนิด แม่ไม่ควรจะเลือกที่รักมักที่ชัง ถ้ามีลูกคนไหนที่แม่รักมากที่สุดก็แปลว่าลูกคนอื่น ๆ ที่เราทำให้เกิดมา เป็นที่รักน้อยกว่า
แต่ถ้าถามว่าลูกคนไหนคลอดยากที่สุด พอตอบได้ว่า คือ เรื่อง “รัตนโกสินทร์” นวนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยปลายรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เรื่องนี้หาข้อมูลอยู่ถึง 10 ปี กว่าจะเริ่มเขียนได้จนจบ
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า คุณหญิงวินิตาได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเธอบอกว่า “เกิดมาเพื่อจะเขียน ก็เขียนต่อไปจนกว่าจะเขียนไม่ไหว ก็เท่านั้น การเป็นศิลปินแห่งชาติ ประเทศชาติให้เงินเดือนเลี้ยงดู ก็ยิ่งทำให้ตระหนักว่าเรามีหน้าที่ต่อสังคมอีกยาวนานจนตลอดชีวิต”
แล้วคิดเห็นอย่างไรที่มีการยกย่องให้นวนิยายหลายเรื่องเป็นวรรณกรรมไทยที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง “ดีค่ะ ถือว่าเป็นรางวัล เป็นกำลังใจแก่ผู้ประพันธ์ ท่านที่ล่วงลับไปแล้วลูกหลานก็คงภูมิใจในตัวบรรพชนของเขา ท่านที่มีชีวิตอยู่ ท่านก็จะได้มีกำลังใจสร้างสรรค์งานดี ๆ ต่อไปอีก”
“ดิฉันเชื่อว่านวนิยายที่ได้รับการยกย่องเช่นนี้ย่อมจะผ่านการคัดเลือกกลั่นกรองจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว ก็เป็นสิ่งน่ายินดี แต่สิ่งที่จะชี้ขาดได้ว่าวรรณกรรมไทยเรื่องไหนสมควรได้รับการยกย่องขนาดนั้น ผู้ตัดสินคือกาลเวลา”
คุณหญิงวินิตา ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อวงการหนังสือในปัจจุบันซบเซาลง สำนักพิมพ์หลายแห่งมีรายได้ลด นักเขียนเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนอ่านน้อยลง
“พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้อยู่นานพอสมควร บางทีเราอาจจะตั้งสมมุติฐานผิดก็ได้ ไม่ใช่วิกฤติของวงการหนังสือ แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของงานประพันธ์จากกระดาษมาเป็นอากาศในโลกของดิจิตัล คุณบอกเองว่า นักเขียนมีเพิ่มขึ้น แสดงว่างานประพันธ์ในฐานะผลิตภัณฑ์มีมากขึ้น เมื่อผลิตภัณฑ์มีมากขึ้น แสดงว่าผู้บริโภคก็ต้องมีมากขึ้น มันจะซบเซาทั้งวงการได้ยังไง ถ้าซบเซา ทุกอย่างต้องลดจำนวนลง”
ในมุมมองของเธอเห็นว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือวงจรเก่า ที่ประกอบด้วย
1 ) นักเขียน
2) ตัวกลาง (คือนิตยสาร / สำนักพิมพ์ /โรงพิมพ์/ ผู้ทำงานในการผลิต เช่นบรรณาธิการ พนักงานพิมพ์ ผู้พิสูจน์อักษร สายส่ง แผงหนังสือ ฯลฯ /
3) ผู้บริโภคหรือผู้อ่าน
คุณหญิงวินิตา กล่าวต่อว่า เมื่องานที่พิมพ์ด้วยกระดาษลดจำนวนลง เพราะมีงานที่ใช้สื่อดิจิตัลเข้ามาแทน วิกฤติเกิดกับหมายเลข 2 มากที่สุด
หมายเลข 1 มีบ้าง มักจะเกิดกับนักเขียนที่ไม่ได้ใช้สื่อดิจิตัลในการสร้างงาน ยังคงผลิตงานเพื่อพิมพ์เป็นเล่มกระดาษ ตามระบบเก่า กลุ่มนี้เจอผลกระทบมากกว่าเพื่อน เพราะหมายเลข 3 คือกลุ่มคนอ่านงานของเขามีจำนวนลดลง จากการหันไปหาสื่อดิจิตัลเสียส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งก็เลิกอ่านไปหรืออ่านน้อยลงเพราะไม่สะดวกจะหาซื้องานพิมพ์เล่ม เนื่องจากนิตยสารและร้านหนังสือล้มเลิกกันไปเสียมาก
แต่นักเขียนผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ แถมยังมีจำนวนมากขึ้นอีก คือนักเขียนที่ใช้สื่อดิจิตัลให้เป็นประโยชน์ กลุ่มหนึ่งเป็นนักเขียนเก่าที่หันมาเขียนลงหน้าจอ ทำอีบุ๊ก มีแฟนคลับติดตามผ่านหน้าจอ และยังสามารถขายงานที่พิมพ์เล่มให้แฟนคลับกลุ่มเดิมได้
อีกกลุ่มคือนักเขียนใหม่ที่ไม่ต้องรอคัดเลือกจากบรรณาธิการ เขาสามารถเขียนนิยายออนไลน์ลงใน fictionlog เปิดเว็บไซต์ของตัวเอง หรืออาศัยพื้นที่ในเว็บไซต์ใหญ่ๆ ที่เปิดรับงานเขียน พวกนี้สามารถขายงานผ่านหน้าจอให้คนอ่านซื้อได้โดยตรงไม่ต้องผ่านตัวกลาง
ยิ่งวันผู้บริโภคผ่านดิจิตัลก็จะยิ่งทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ นักเขียนที่ปรับตัวให้เข้ากับกระแสใหม่ได้ก็จะมีที่ยืนอยู่ต่อไป
คุณหญิงวินิตา ยังได้ฝากผลงานเรื่องใหม่ล่าสุด ภายใต้นามปากกา “แก้วเก้า” เรื่องนั้น คือ “เมืองมธุรส” หลังจาก 2 เล่ม ก่อนหน้านี้ ออกมาในแนวของ “ว.วินิจฉัยกุล”
“เมืองมธุรส” ได้แรงบันดาลใจจากการหันไปอ่านนวนิยายรุ่นเก่าเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีก่อน ของนักเขียนอมตะของไทย หนึ่งในนั้นคือ “ดอกไม้สด” (ม.ล. บุปผา นิมมานเหมินท์) เป็นงานที่คุณแม่ยื่นให้อ่านเมื่อยังเด็ก ตอนแรกก็ไม่ชอบเพราะยังไม่โตพอจะเข้าใจสาระและวรรณศิลป์ที่แทรกอยู่ในเรื่อง หลายสิบปีต่อมาจึงพอจะเข้าถึง มองเห็นความประณีตในการสร้างเรื่อง ตัวละคร และสาระที่นำเสนอ ดิฉันจึงเสียดายแทนหนุ่มสาวในศตวรรษที่ 21 ที่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคุณค่าในงานรุ่นเก่านี้แล้ว ก็เลยสร้าง “เมืองมธุรส” ขึ้นมา เพื่อให้คนที่สนใจไปตามหาอ่านงานของ “ดอกไม้สด” เอง
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวตลอดกว่า 40 ปี ของคุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ซึ่งเชื่อว่า ไม่ว่าใครต่างรู้จักและยกย่องให้เป็นนักเขียนนวนิยายระดับตำนานของเมืองไทยที่หาตัวจับยาก เปรียบเสมือดังราชินีโลกวรรณกรรมไทยอีกคนหนึ่งด้วยเชิงชั้นลวดลายในการเรียงร้อยถ้อยอักษร ผสมผสานกับความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราว นั่นจึงทำให้นวนิยายทุกเล่มตราตรึงอยู่ในหัวใจของนักอ่านเสมอมา เฉกเช่นเดียวกัน ชีวิตของเธอก็ผูกพันกับนวนิยายจนยากจะเเยกจากกันได้ .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:The Writer #9 ปลายปากกาสร้างชีวิต ‘ชูวงศ์ ฉายะจินดา’ เพชรน้ำเอกวรรณกรรมอาชีพ
The Writer#8 สัมผัสเรื่องราวของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ เกือบ 3 ทศวรรษ สร้างสรรค์วรรณกรรมไทย
The Writer#7 “ชลาลัย” ศิลปินสุภาพสตรีผู้โด่งดังบนบรรณโลก
The Writer#5‘วลัย นวาระ’ บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เมืองไทย ‘ควีนออฟควีน’ นิยายโรมานซ์
The Writer#4 ‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ตำนานนิยาย 12 บาท กับภารกิจสุดท้ายในโลกงานเขียน
The Writer#3 ‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย
‘บุษยมาส’ เทพีแห่งวงการประพันธ์ จากปลายปากกาอาบน้ำผึ้ง