‘วลัย นวาระ’ บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เมืองไทย ‘ควีนออฟควีน’ นิยายโรมานซ์
“พูดจริง ๆ นะ ดิฉันไม่ได้แกล้งเอาใจทำปากหวาน ได้ดีมาถึงทุกวันนี้ เพราะแฟนซื้อหนังสือและชื่นชอบดิฉัน แม้กระทั่งคุณชิต กันภัย ยังไม่คิดว่าจะได้ดีมาถึงขนาดนี้ คุณอาจิณ ก็ไม่คิดว่าจะขึ้นหม้อด้วย ถึงขนาดเคยพูดเล่นกันว่า ดิฉันจะไม่ดัง เพราะ ‘นวาระ’ นี่แหละ ออกเสียงลำบากเหลือเกิน...ดิฉันเห็นบุญคุณของทุก ๆ คนเสมอ”
“นางเอกของวลัย จะต้องเป็นสาวชาวบ้านธรรมดา ๆ
ไม่สวยมาก
...แต่ของจามรี พรรณชมพู นางเอกจะต้องสวย
‘เพลิงมธุรส’ คือผลงานนวนิยายเรื่องที่ 400 ของนักเขียนรางวัลนราธิป ปี 2555 ‘ศรีเฉลิม สุขประยูร’ วัย 85 ปี ภายใต้นามปากกา ‘ชมนาด ชวัลนุช’ ซึ่งใช้ชื่อนี้ในการเขียนงานอีโรติก และกำลังจะได้รับการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์หรรษา ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นเจ้าของนามปากกา จามรี พรรณชมพู และ นลิน บุษกร รวมถึง ‘วลัย นวาระ’ ซึ่งเป็นนามปากกาสร้างชื่อจนถึงปัจจุบัน (อ่านประกอบ: ‘วลัย นวาระ’ เพชรเม็ดงามเเห่งสวนอักษร)
วลัย นวาระ ถูกยกย่องจากคนในแวดวงวรรณกรรมว่า เป็นควีน ออฟ ควีน นวนิยายโรแมนติก หรือ “บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ของไทย” (นักเขียนนวนิยายรักที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลก) ด้วยผลงานหลากหลายเรื่อง ที่รู้จักกันดีและนักอ่านลุ้นให้ผู้จัดนำไปผลิตเป็นละครสักครั้ง คงหนีไม่พ้นซีรีย์ชุดเทพกานต์ ได้แก่ หม่อมเจ้าสุริยกานต์, คุณชายธมกานต์, พธูเทพกานต์ และเพชรเทพกานต์
“ดิฉันเขียนเรื่อง ‘หม่อมเจ้าสุริยกานต์’ เสนอไป คุณชิต กันภัย บอกว่า ดีเลย เพราะหม่อมเจ้ากำลังจะกลับมา เนื่องจากสมัยนั้น หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) และหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล (ท่านใหม่) กำลังหนุ่มแน่น ดิฉันก็เพิ่งรู้จักชื่อทั้งสองท่านจากคุณชิต (หัวเราะ)”
ที่น่าภูมิใจ คือ หม่อมเจ้าสุริยกานต์ เกือบได้สร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย โดยหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา พระชายาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระองค์ชายเล็ก) วังละโว้ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านนี้ “หม่อมอุบลวางตัวให้ ‘ภิญโญ ทองเจือ’ รับบทพระเอก แต่ติดปัญหาการเซ็นสัญญา ประกอบกับช่วงนั้น ‘แหวนทองเหลือง’ ขาดทุน จึงต้องพับโครงการไปก่อน”
ฉากโรแมนติกที่เขียนไว้ให้เคลิบเคลิ้มกันในนวนิยายนั้น วลัยบอกว่า นำมาจากการอ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสืออเมริกัน เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะทราบดี เพราะไม่ได้แต่งงาน หลายคนจึงสงสัยว่า เรานำฉากรักโรแมนติกเหล่านี้มาจากไหน
ส่วนนางเอกของวลัยนั้น จะต้องเป็นสาวชาวบ้านธรรมดา ๆ ไม่สวยมาก อาจแฝงไว้ด้วยความน่ารัก แต่ของจามรี พรรณชมพู นางเอกจะต้องสวย
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากอาจิณ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 จะเป็นผู้ปลุกปั้น ยังมี ‘ชิต กันภัย’ แห่งนิตยสารดรุณี ที่ชักนำให้วลัยติดลมบนในโลกงานเขียน แต่เฟื่องฟูที่สุดช่วงใดนั้น เธอยอมรับว่า จำไม่ได้ เพราะเป็นคนเกือบสอบตกประวัติศาสตร์
“คุณชิตคือผู้มีพระคุณ และพัดชา (นักเขียนนวนิยายรัก) น่าจะเป็นนักเขียนแทบท้าย ๆ ที่คุณชิตปั้นขึ้นมา ตอนนั้นจำได้ว่า นิตยสารดรุณีกำลังจะปิดตัว จึงนำไปฝากไว้กับคุณวิชิต โรจนประภา ผู้บริหารนิตยสารบางกอก (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว) เพราะเห็นว่าพัดชาฝีมือใช้ได้”
ผลงานอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างชื่อให้วลัย คือ ทายาทป๋องแป๋ง นามปากกา นลิน บุษกร ถึงขนาดมีการกล่าวกันว่า คุณกำธร ทัพคัลไลย ผู้สร้างและกำกับภาพยนตร์และนักแสดง เป็นผู้สร้างภาพยนตร์คู่บุญของวลัย เนื่องจากมีชื่อเสียงที่สุดจากการสร้าง ทายาทป๋องแป๋ง นั่นเอง
“จะว่าคุณกำธรเป็นคู่บุญเสียเลยก็ไม่ใช่ ความจริงแล้ว คุณวินิจ ภักดีวิจิตร เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ทายาทป๋องแป๋งก่อน เพราะคุณชูศรี โรจนประดิษฐ์ (เสียชีวิตแล้ว) ดาราตลกหญิงอาวุโส เห็นว่าสนุก โดยซื้อไปในราคา 2 หมื่นบาท ซึ่งสมัยนั้นนับว่าไม่เลว จากนั้นจึงขายต่อให้คุณกำธรในราคา 4 หมื่นบาท”
จากภาพยนตร์ ต่อมาคุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตไปละครออกอากาศทางช่อง 7 จนโด่งดังมาก
ปัจจุบันนอกจากผลงานเขียนของวลัยจะผลิตเป็นรูปเล่มหนังสือกับสำนักพิมพ์หรรษาแล้ว ยังวางจำหน่ายในรูปแบบของอีบุ๊กด้วย เพราะเชื่อว่า อีกไม่ช้าหนังสือกระดาษจะถูกแทนที่ด้วยความทันสมัยเหล่านี้ “ดิฉันเชื่อการกลับชาติมาเกิด ตายไปเกิดอีกที หนังสือกระดาษอาจไม่เห็นแล้ว หรือบางทีอาจไม่เห็นก่อนดิฉันตายก็ได้”
ในวัย 85 ปี ของผู้หญิงเจ้าของนามปากกา ‘วลัย นวาระ’ กับหลายทศวรรษที่โลดแล่นบนโลกวรรณกรรมตั้งแต่อายุวัยแรกสาว การชื่นชอบในการอ่าน กับหนังสือเล่มแรกที่ได้สัมผัสอย่าง The Tempest ประพันธ์โดย วิลเลียม เชคสเปียร์(William Shakespeare) คือจุดเปลี่ยนทำให้นักอ่านคนไทยรู้จักเธอและชื่นชอบไม่เปลี่ยนแปลง
“พูดจริง ๆ นะ ดิฉันไม่ได้แกล้งเอาใจทำปากหวาน ได้ดีมาถึงทุกวันนี้ เพราะแฟนซื้อหนังสือและชื่นชอบดิฉัน แม้กระทั่งคุณชิต กันภัย ยังไม่คิดว่าจะได้ดีมาถึงขนาดนี้ คุณอาจิณ ก็ไม่คิดว่าจะขึ้นหม้อด้วย ถึงขนาดเคยพูดเล่นกันว่า ดิฉันจะไม่ดัง เพราะ ‘นวาระ’ นี่แหละ ออกเสียงลำบากเหลือเกิน”
...ดิฉันเห็นบุญคุณของทุก ๆ คนเสมอ .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:The Writer#4 ‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ตำนานนิยาย 12 บาท กับภารกิจสุดท้ายในโลกงานเขียน
The Writer#3 ‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย