สัมผัสเรื่องราวของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ เกือบ 3 ทศวรรษ สร้างสรรค์วรรณกรรมไทย
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน สำหรับแขกรับเชิญคนที่ 8 ประจำเดือน ก.พ. 2561 คือเจ้าของนามปากกา “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” กับเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นนักเขียนผู้โด่งดัง
“แม้นวนิยายจะเป็นเรื่องแต่ง
แต่ต้องเป็นเรื่องแต่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริง
อ่านแล้วเชื่อว่าจริง เชื่อถือได้”
“ได้อ่านเรื่องของคุณแล้วรู้สึกว่า นำลงในสกุลไทยได้ เลยเขียนมาถามว่า ได้ส่งไปลงที่อื่นหรือรวมเล่มแล้วหรือไม่ หากยัง จะนำลงให้”
นี่คือใจความในจดหมายของสุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการ (บก.)นิตยสารสกุลไทย ที่มีถึงนักเขียนสตรีลูกน้ำเค็ม ชาว จ.ชลบุรี นันทพร ศานติเกษม หรือ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ หลังจากมีโอกาสอ่านนวนิยายเรื่อง ‘ตะวันทอแสง’ ที่ถูกเก็บไว้ในตู้เหล็กนานเกือบ 4 ปี
ปิยะพร เล่าว่า ครั้งแรกที่ได้รับจดหมาย ในใจพานึก “เราส่งอะไรไปชิงโชคกับสกุลไทย” ที่นึกเช่นนั้น เพราะลืม! เนื่องด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน แต่เมื่อได้เปิดอ่านและทราบว่านวนิยายจะได้รับการตีพิมพ์ จึงหมุนโทรศัพท์กลับไปหาทันที เพื่อบอกคุณสุภัทรว่า “ยังไม่ได้ส่งต้นฉบับลงที่ไหน และยังไม่ได้รวมเล่ม ถ้าได้ลงก็ยินดี”
ผ่านไปราว 2 สัปดาห์ ‘ตะวันทอแสง’ จึงได้รับการตีพิมพ์ และคุณสุภัทรยังให้คำแนะนำว่า “หนูเขียนเรื่องต่อไปด้วยนะ”
“ความรู้สึกจึงเหมือนหัวก๊อกเปิดแล้ว คราวนี้สิ่งที่อยู่ในตัวเรา สิ่งที่อยากจะบอกเล่า มีทางระบายออกมาแล้ว”
จึงกล่าวได้ว่า ‘ตะวันทอแสง’ เป็นนวนิยายแจ้งเกิดบนโลกงานเขียนอย่างเต็มตัว จากจุดเริ่มต้นที่ว่า นิตยสารสกุลไทย เปิดรับผลงานนวนิยายขนาดสั้น 30 ตอน เวลานั้น ปิยะพรจึงตัดสินใจลงมือเขียน ใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงจบเรื่อง แต่เมื่อส่งผลงานไปยังกอง บก. ปรากฎว่าโครงการปิดแล้ว
ต้นฉบับของเธอจึงไปอยู่ในตู้เหล็ก แม้จะไม่ได้เข้าประกวดในโครงการดังกล่าวตามความตั้งใจ แต่กลับมั่นใจว่า หาก บก.ได้อ่านผลงาน เชื่อมั่นเหลือเกินจะต้องได้รับการตีพิมพ์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่คิดถอนต้นฉบับไปส่งที่อื่น เพราะเป้าหมายชัดเจนคือต้องการให้ผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย
ปิยะพร กล่าวว่า เธอเป็นคนรู้จักตนเอง อยากจะเขียนอะไร และอยากจะเริ่มต้นให้ผลงานได้รับการตีพิมพ์ที่ไหน ถ้าไม่ได้ก็ไม่เอา เพราะนิตยสารสกุลไทยการันตีได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญ เป็นแนวทางที่อยากเขียน ฉะนั้นหากจะให้ถอนเรื่องไปส่งสำนักพิมพ์เกี่ยวกับการเมือง ต่อให้เขียนดี ย่อมไม่ได้ลง เพราะไม่ใช่แนวเดียวกัน
จาก ‘ตะวันทอแสง’ สู่ ‘ระบำดาว’ และอีกหลายเรื่องต่อมา สมัยก่อนไม่มีคอร์สวิชาให้เรียนรู้ นักเขียนผู้นี้ได้วิชาจากการอาศัยครูพักลักจำ จากนักเขียนคนอื่น ๆ เช่น สีฟ้า ทมยันตี พนมเทียน
ประกอบกับการชื่นชอบการอ่านตั้งแต่เด็ก ปิยะพร เล่าย้อนให้ฟังว่า กว่าจะเริ่มต้นเขียนอย่างจริงจัง ตอนนั้นเรียนจบและทำงานประจำแล้ว ไม่ใช่อายุ 17-18 ปี เหมือนนักเขียนหลาย ๆ คน
“ดิฉันเป็นคนรู้จักตนเองตั้งแต่แรก ว่าเราอยากเขียนนิยาย หลายคนบอกว่า ให้เริ่มต้นจากการเขียนเรื่องสั้น ซึ่งส่วนตัวไม่ชอบ เพราะมันสั้นเกินไป แต่เรารู้จักตนเองอยากเขียนอะไรยาว ๆ อยากเล่าอะไรยาว ๆ และหากอยากเขียนประเด็นไหนจะเขียนให้ละเอียด ขณะที่เรื่องสั้นเขียนแค่ 5-8 หน้า ซึ่งน้อยเกินไปสำหรับเรา”
เมื่อถามว่านวนิยายเรื่องไหนเขียนยากที่สุด เธอระบุชื่อ ‘รากนครา’ เป็นเรื่องแรก เพราะเป็นนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งการเขียนลักษณะนี้ตัวละคร สถานที่ ต้องถูกสมมติขึ้น ในขณะที่เหตุการณ์รอบข้างต้องเสมือนจริง ต้องหาข้อมูลเยอะ จำได้ว่า ใช้เวลาหาข้อมูลประมาณ 2 ปี ค่อย ๆ เก็บเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ หรือค้นวิทยานิพนธ์ ถ่ายเอกสารกลับมา เมื่อได้ข้อมูลครบ จึงลงมือเขียน
เรื่องที่สอง คือ ‘ลับแลลายเมฆ’ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหยื่อถูกข่มขืนตั้งแต่วัยเด็ก จนมีอาการทางจิต ความยากอยู่ที่การค้นคว้าหาข้อมูลเช่นกัน
“ได้ดูรายการเจาะใจ ตอนนั้นคุณดำรง พุฒตาล ยังเป็นพิธีกร มีแขกรับเชิญ คือ คุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ พูดคุยกันในประเด็นปัญหาการข่มขืน ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งบ้านพักฉุกเฉินสำหรับผู้หญิง เมื่อได้รับฟังจึงประทับใจและเศร้ามาก”
ปิยะพรจำได้ว่า ขณะนั่งรับชมอยู่หน้าโทรทัศน์ พอรายการจบ เอ๊ะ! ทำไมใบหน้าเราเปียก จึงได้รู้ว่า เรานั่งดูไปร้องไห้ไปตลอดเวลา จึงได้ส่งเงินไปช่วยเหลือในกิจกรรมของบ้านพักฉุกเฉินสำหรับผู้หญิง
จากวันนั้นคุณหญิงกนิษฐาได้เขียนจดหมายตอบกลับมาด้วยลายมือ และส่งเอกสารของบ้านพักฉุกเฉินสำหรับผู้หญิงมาให้อย่างต่อเนื่อง จึงได้เก็บข้อมูลมาเป็นสิบปี เธออธิบายให้เห็นภาพว่า เมื่อเริ่มต้นเขียนเรื่องนี้ นอกจากข้อมูลจะยากแล้ว บางฉากจำเป็นต้องหยุดเขียน แล้วลงไปนอน
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเกิดความรู้สึกน่ากลัว เนื่องจากเหยื่อที่ถูกกระทำเป็นเด็ก เรื่องราวประดังประเดเข้ามา ทำให้สูญเสียความทรงจำ มีการโทรไปปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อยืนยันข้อมูลว่า คนเราเป็นไปได้หรือไม่สูญเสียความทรงจำ ก่อนจะได้รับคำตอบว่า เป็นไปได้ เมื่อแน่ใจในข้อมูลจึงกล้าเขียน
“แม้นวนิยายจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ต้องเป็นเรื่องแต่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริง อ่านแล้วเชื่อว่าจริง เชื่อถือได้” ปิยะพร ระบุ
เรื่องสุดท้าย คือ ‘ในวารวัน’ นวนิยายที่บันทึกเรื่องราวความทรงจำของตนเอง คุณแม่ และคุณยาย ความยากอยู่ที่การเขียนย้อนกลับไปในอดีต ทั้งนี้ ต้องการนำเสนอให้คนเรามั่นใจในการทำความดี
“มีบางคนบอกว่า เล่าอยู่ได้ สอนอยู่ได้ ซึ่งความจริงแล้ว คิดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนเราต้องมานะพยายาม นี่เป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่เราควรสอนลูกหลานของเรา ดังนั้นจึงพยายามใส่สิ่งเหล่านี้ลงไปในนวนิยายเรื่องนี้”
อย่างไรก็ตาม แม้ ‘ในวารวัน’ จะยาก แต่มีความสุข เพราะทุกครั้งที่เขียนทำให้เราได้มองย้อนกลับไปว่า ในยุคอดีตนั้น ผู้คนมีอุปนิสัยอย่างไร
ปิยะพร ให้แง่คิดว่า การจะเขียนแต่ละเรื่องนั้น เปรียบเหมือนกับผลไม้ที่ค่อย ๆ ผลิออกจากกิ่ง แล้วค่อย ๆ สะสมจนโต จนถึงจุด ๆ หนึ่ง “ใจเราต้องพร้อมจะเขียน เหมือนผลไม้พอแก่เต็มที่ จึงจะนำมาบ่มได้ หากเราบ่มตอนที่ยังไม่พร้อม จะไม่อร่อย” เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลานานในการเก็บรวบรวมข้อมูล
ปิยะพร ยังสะท้อนมุมมองในยุคที่นักเขียนนวนิยายแจ้งเกิดจำนวนมากว่า ยุคนี้ช่องทางทุกอย่างเปิดกว้าง เมื่อเปิดกว้าง ทุกคนจะทะลักเข้ามาเป็นหมื่นคน จุดที่ยากคือ หมื่นคนนี้จะต้องทำอย่างไรให้ยืนอยู่ได้ นี่เป็นความยากของคนในยุคนี้
“หมื่นคนออกมา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีแฟนนักอ่านติดตามเหนียวแน่น ดังนั้นทุกอย่างจะพิสูจน์ได้ด้วยงานของเราเอง ทั้งยุคเก่าและใหม่จะอยู่ได้ด้วยงาน หากยุคใหม่ในหมื่นคนทำงานดี จะทะลุขึ้นมาเอง ไม่ใช่ดีชิ้นเดียว แต่ต้องดีหลายชิ้นติดต่อกันมา”
เหมือนที่คุณสุภัทรบอกกับเธอว่า “หนูเขียนเรื่องต่อไปด้วยนะ” เพื่อให้ชื่อเรามีอยู่ในนิตยสารต่อไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นการที่เรามีผลงานต่อเนื่องให้ผู้อ่านเห็น เท่ากับช่วยดึงดูดผู้อ่านมาที่ตัวเรา
เช่นเดียวกัน หากเราเป็นหนึ่งในจำนวนหมื่นที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ และผู้อ่านชอบใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนจะมาตามงานของเราเอง ทุกอย่างจึงอยู่ที่ตัวเราสร้างงาน
“ไม่ว่ายุคไหน ความยากอยู่ที่ทำอย่างไรที่จะพาตนเองทะลุขึ้นมา เพื่อให้ผู้อ่านเห็นเราให้ได้ แต่งานของเรากับผู้อ่านต้องมีรสนิยมสอดคล้องกันด้วย”
ปิยะพร ยกตัวอย่างงานของเธอเอง คนที่ชอบอ่านแค่ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพราะอะไร จะไม่ชอบอ่านงานของปิยะพร ศักดิ์เกษม เพราะเราเน้นการบรรยาย แจกแจงความคิดตัวละคร แต่เหมาะสมกับคนที่ชอบอ่านละเอียด ต้องการความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ละเมียดละไม ฉะนั้นงานของเราจะดึงดูดผู้อ่านมาหาเอง
ทั้งนี้ รอบปีที่ผ่านมา เธอไม่มีผลงานใหม่ออกมาฝากแฟนนักอ่าน “ดิฉันเขียนงานไม่ได้เลย หลังจากวันที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 สวรรคต”
จนกระทั่ง 4-5 เดือนที่ผ่านมา เธอบอกว่า เพิ่งได้นั่งโต๊ะเขียนเรื่องที่ค้างจนจบ แต่ยืนยันมีนาคม ปีนี้จะมีผลงานตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อรุณ เรื่อง ‘ปลิวลมลวง’ และแผนงานใหม่เตรียมเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2561
นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่แฟนเพจเฟซบุ๊กแบ่งปันประสบการณ์และวิธีการเขียนนวนิยายให้อ่านกันฟรี ๆ อีกด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่สนใจ
เส้นทางบนโลกวรรณกรรมเกือบ 30 ปี จึงเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ ควรค่าแก่การได้รับยกย่องจากคนทั้งในและนอกวงการ ให้เป็นสุดยอดนักเขียนผู้สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ จรรโลงสังคม สืบไป .
อ่านประกอบ:The Writer#7 “ชลาลัย” ศิลปินสุภาพสตรีผู้โด่งดังบนบรรณโลก
The Writer#5‘วลัย นวาระ’ บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เมืองไทย ‘ควีนออฟควีน’ นิยายโรมานซ์
The Writer#4 ‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ตำนานนิยาย 12 บาท กับภารกิจสุดท้ายในโลกงานเขียน
The Writer#3 ‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย