‘บุษยมาส’ เทพีแห่งวงการประพันธ์ จากปลายปากกาอาบน้ำผึ้ง
ผ่านมาถึงครึ่งทางแล้ว สำหรับการนำเสนอเรื่องราวของ 12 นักเขียนหญิง ผู้เป็นตำนานของไทย The Writer และก่อนจะพบกับคนที่ 7-12 ขอนำผู้อ่านทุกท่านได้สัมผัสกับเรื่องราวที่สุดของที่สุดของนักเขียนหญิงชั้นบรมครูกันเสียก่อน เพื่อเป็นการคืนกำไรส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กับสตรีผู้ได้รับการยกย่องด้วยเสียงเดียวกันว่า คือ เทพีในวงการประพันธ์ นาม ‘บุษยมาส’
แม้ ‘บุษยมาส’ หรือ สมนึก สูตะบุตร จะลาลับโลกนี้ไปแล้วเมื่อต้นปี 2560 แต่ชื่อเสียงและผลงานของนักเขียนชั้นบรมครูผู้นี้ยังคงตราตรึงในอารมณ์ของผู้อ่านเสมอ ทั้ง สลักจิต สุริยาที่รัก เงารัก หนึ่งในทรวง และอีกหลายสิบเรื่อง ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านล่วงเลยมากี่ปีก็ตาม
ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจ บันทึกไว้ว่า บุษยมาส เป็นบุตรสาวของหลวงพรหมปัญญา (จำรัส สูตะบุตร) อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชัยภูมิ และนางสังวาลย์ เกียรติทัตต์ มีน้องชาย 1 คน คือ ร้อยตรี ดร.สันทัด เกียรติทัตต์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงซานติอาโก้ สาธารณรัฐชิลี จบการศึกษาจาก รร.เบญจมราชาลัย ก่อนจะทำงานเป็นครูชั้นอนุบาลที่รร.แห่งนั้น และย้ายมารับราชการที่กระทรวงพาณิชย์ และได้ตัดสินใจลาออกมาจับปากกาเขียนหนังสือเลี้ยงชีพ
จุดเริ่มเข้าสู่วงการน้ำหมึกของเธอคล้าย ๆ กับนักเขียนหลาย ๆ ท่าน ด้วยอุปนิสัยชื่นชอบการอ่านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรียกได้ว่า อ่านหนังสือทุกเล่มที่มี โดยเฉพาะนวนิยาย เช่น บ้านทรายทอง และ พจมาน สว่างวงศ์ ของ ก.สุรางคนางค์ หรือ พู่กลิ่น ของ ดอกไม้สด ขณะเดียวกัน เธอยังอ่านบทพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ด้วย
กระทั่งนิตยสารนารีนาถ ที่มี ก.สุรางคนางค์ เป็นบรรณาธิการ และสุภัทร สวัสดิรักษ์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ จัดประกวดเรื่องสั้น บุษยมาส จึงตัดสินใจส่งเรื่องสั้นเข้าประกวด ชื่อว่า ‘รักฉากสุดท้าย’ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ และกลายเป็นใบเบิกทางเข้าสู่แวดวงนักเขียนอย่างเต็มตัว
เธอเขียนเรื่องสั้นต่อมาและส่งเข้าประกวดด้วยหลายสิบเรื่อง จนมีฝีมือไต่ขึ้นระดับชั้นสูง จึงได้เขียนนิยายเรื่องแรกในชีวิต ชื่อว่า ‘หมอกสวาท’ ความยาว 2 เล่ม 20 ตอน ส่งไปยัง จสช. ของ ‘ชิต กันภัย’ ตามมาด้วย ‘สลักจิต’ ให้แก่นิตยสาร เพลินจิตต์ ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยเนื้อหาอ่อนหวานลึกซึ้ง จนถูกนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง
ไม่เฉพาะสลักจิตเท่านั้น แต่นวนิยายหลากหลายเรื่องที่เธอเขียนด้วยลายมือบรรจงจากปลายปากกาของเธอเอง และด้วยสำนวนบริสุทธิ์ จึงได้รับการขนานนามว่า “เขียนจากปลายปากกาอาบน้ำผึ้ง” และทุกครั้งที่มีการขายลิขสิทธิ์นวนิยายให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์หรือละคร เธอจะได้รับเกียรติสูงสุดเสมอในฐานะเจ้าของบทประพันธ์
ภาพที่จะกล่าวต่อไปนี้ แทบไม่ค่อยเห็นหรือไม่เห็นเลยในหน้าสื่อมวลชนปัจจุบัน คือ ทุกครั้งที่มีการซื้อขายลิขสิทธิ์บทประพันธ์จะต้องลงข่าวตีพิมพ์ในหน้าสื่อทุกแขนงเสมอ แต่สำหรับ บุษยมาส จะได้รับเกียรตินั้นเสมอ
‘บุษยมาส’ เผยใจมอบ ‘หนึ่งในทรวง’ ให้ศิริ...
‘บุษยมาส’ กำลังเซ็นสัญญามอบลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง ‘หนึ่งนุช’ ให้แก่นายบันลือ อุตสาหจิต เจ้าของสำนักพิมพ์-นิตสาร ‘ศรีสยาม’ สร้างเป็นหนัง
‘บุษยมาส’ พอใจที่ได้พิศมัยแสดง ‘เงารัก’ ดีใจยิ่งที่มอบลิขสิทธิ์ให้ศิริ เชื่อแน่ว่าแฟนไม่ผิดหวัง
‘บุษยมาส’ เซ็นสัญญา ‘สุริยาที่รัก’ ผู้สร้าง ‘สามเสือ’ ให้รังษีจัดทำ
คือตัวอย่างภาพและข้อความที่ได้รับการตีพิมพ์ในสื่อแขนงต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า บุษยมาสเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงและมีบทประพันธ์น้ำดีในมือมากมายที่ผู้สร้างต้องการ อีกนัยยะหนึ่ง การประกาศออกไปให้สาธารณชนทราบนั้น เพื่อประชาสัมพันธ์ด้วยว่า จะไม่ผิดหวังแน่กับผลงานที่สร้างจากบทประพันธ์ของนักเขียนผู้นี้
ต้องยอมรับว่า บุษยมาส มีชื่อเสียงติดลมบนตั้งแต่อายุยังน้อย เทียบกับนักเขียนปัจจุบันต้องนึกถึง ‘กิ่งฉัตร’ –‘พงศกร’ อย่างใดอย่างนั้น
เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ ‘ป.วัชราภรณ์’ ว่า ความโด่งดังถึงขีดสุดถึงขนาดในหนึ่งสัปดาห์ต้องเขียนนวนิยายป้อนสำนักพิมพ์ถึง 7 ฉบับ โดยพิมพ์หนึ่งบทต่อหนึ่งเรื่อง จะว่าไปแล้ว เฉลี่ยวันละหนึ่งเรื่อง ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่เขียนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน ขอให้มีอารมณ์ก็เพียงพอแล้ว
ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ทำให้เธอได้รับรางวัลนราธิป ปี 2554 และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น บูรพศิลปิน สาขาวรรณศิลป์ อีกด้วย
บุษยมาส จึงเป็น The Writer กิตติมศักดิ์ ของ ‘พราวกระซิบ’ .