‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน สำหรับแขกรับเชิญคนที่ 3 ประจำเดือน ส.ค. คือ โบตั๋น ที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสกับตัวตนอย่างที่ไม่เคยได้รู้จักมาก่อน
“แม่ตัวจริงคล้ายลำยอง มีลูกห้าคนห้าพ่อ ขี้เหล้าเมายา
แต่ลำยองตัวจริงเป็นคหบดี มีฐานะ ไม่ได้จนเหมือนในละคร...”
บุคลิกห้าว ดุดัน ทว่า เมื่อได้พูดคุยแล้ว สัมผัสได้ว่า สุภา สิริสิงห หรือรู้จักกันดีในนาม ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2542 วัย 72 ปี เป็นคนอารมณ์ดี และเต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้ดีเยี่ยม และด้วยชื่นชอบการอ่านตั้งแต่เด็ก จึงทำให้อยากเขียน โดยมีละครวิทยุเป็นเสมือนครูคนแรก
เธอเกิดและเติบโตที่บ้านสวนย่านภาษีเจริญ ซึ่งต้องยอมรับว่า สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีสิ่งบันเทิงเริงรมย์อะไรมากมาย “บ้านอยู่ในสวน ไฟฟ้าก็ไม่มี ฉะนั้นความบันเทิงสิ่งเดียวที่มีคือ ‘วิทยุ’ ซึ่งต้องใส่ถ่านครั้งละ 60-70 ก้อน ให้แม่เปิดฟังละคร เราจึงได้ฟังไปด้วย”
นางเอกละครวิทยุร้องไห้ อาดูรเหลือเกิน จนทนฟังไม่ไหว จึงเป็นเหตุผลให้โบตั๋นเกิดแรงขับที่จะเขียนนวนิยาย โดยใช้ผู้หญิงเป็นตัวเอก ยกตัวอย่าง ‘ผู้หญิงคนนี้ชื่อบุญรอด’
“เราฟังก็โมโห ทำไมนางเอกขี้แย ทำไมนางเอกขี้แพ้ ทำไมพระเอกโง๊โง่ ทำไมแม่ผัวร๊ายร้าย ทำไมพระเอกบอกรักผู้หญิง แต่เวลาผู้หญิงบอกอะไรไม่เคยเชื่อ เชื่อแต่นางร้ายกับแม่ มีความรู้สึกไม่ให้เกียรติ ถ้าหากเราบอกรักเขา ก็ควรเชื่อเขาสิ หรืออย่างน้อยฟังหูไว้หู นี่อะไร พอนางร้ายบอกอะไร หรือแม่มาตะแล็ดแต๊ดแต๊ ไม่ใช่ยอม บางทีถึงขนาดนิยายประเภทตบจูบ มีน้ำหูน้ำตาร่วง”
โบตั๋น จึงคิดว่า ถ้ามีโอกาสเขียนนวนิยายเอง นางเอกจะไม่มีบุคลิกลักษณะเหมือนดังที่ว่ามาทั้งหมด แต่จะต้องเก่งกล้าสามารถ ถ้าสู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ!
มีเด็กถามว่า คุณป้าคะ รู้หรือไม่ นางเอกละครคุณป้าตาย 3 เรื่องติดต่อกันแล้วนะคะ (หัวเราะ) ซึ่งต้องขอบอกว่า ยุคเฟื่องฟูมาก ๆ นวนิยายที่ผลิตเป็นละคร ไม่ว่าจะเป็น กว่าจะรู้เดียงสา ทองเนื้อเก้า หรือบัวแล้งน้ำ นางเอกตายทั้งหมด
ทว่า ความจริงแล้ว นางเอกไม่ตายก็มี...เธอค้านเสียงสูง...ผู้หญิงคนนี้ชื่อบุญรอด ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างอีกครั้ง เพราะอย่าลืมว่า “คนอ่อนแออยู่ไม่ได้ในโลกยุคนี้”
ผู้หญิงคนนี้ชื่อบุญรอด ถูกจัดเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา โบตั๋น บอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง “เห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งงานกับฝรั่ง เธอไม่ใช่คนมีการศึกษามากนัก แต่ก็ไม่ใช่ถึงกับเป็นเมียเช่า ส่งเงินมาให้ครอบครัว แต่ไม่ได้ส่งกลับมาตลอด เพราะสามีฝรั่งเป็นเพียงทหารช่างเท่านั้น ไม่ได้เป็นเศรษฐีอะไร”
ศิลปินแห่งชาติ เล่าต่อว่า ครั้งแรกที่รู้จักกับผู้หญิงคนนี้ ขณะที่กลับมาเยี่ยมบ้านในเมืองไทย ลูกสาวลูกครึ่งวัยกำลังน่ารักชวนกันมาเล่นที่บ้าน แม้จะอ่านภาษาไทยไม่ออก โชคดีที่บ้านมีนิทานภาษาอังกฤษ เพราะเปิดสำนักพิมพ์ทำหนังสือ จึงได้พบเจอ ลูกสาวสวยม๊ากมาก ทั้งที่แม่เป็นคนอีสาน พ่อเป็นฝรั่งหัวล้าน ไม่ได้หล่อเหลาเหมือนในละคร ซึ่งตอนนี้น่าจะอายุประมาณ 30-40 ปี เห็นจะได้
“เวอร์ชั่น มยุรา เศวตศิลา เล่นเป็นบุญรอด ดังมาก เล่นเอากระโปรงดำลายหมากรุกสีหมากสุกเป็นที่นิยม คนดำ ๆ พากันหาซื้อมาใส่กัน”
ทั้งยังได้ชวนคุยไปถึงเหตุผลที่วางลักษณะบุคลิกของบุญรอดเป็นผู้หญิงผิวดำ โดยยกตัวอย่างให้เห็นชัดว่า เพราะฝรั่งแท้ ๆ ชอบแบบนี้ “สมัยก่อน ‘แหม่ม’ คัทลียา แมคอินทอช ดังมาก เดินทางไปแถบแอฟริกา มีคนถามว่า ผู้หญิงคนนี้สวยดี ทำงานอะไร เมื่อบอกว่า เป็นดารานางแบบ ยิ่งมีคนพากันชื่นชม แต่ในสายตาของเจ้าหน้าที่พื้นเมือง กลับบอกว่า เธอซีดจะตาย (หัวเราะ)”
หรืออย่าง ‘ทองเนื้อเก้า’ นั่นก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง โดยมีโอกาสได้ใส่บาตรกับเณรรูปหนึ่ง ดูดี มีสง่าราศีกว่าตอนที่อาศัยอยู่กับแม่
“แม่ตัวจริงคล้ายลำยอง มีลูกห้าคนห้าพ่อ ขี้เหล้าเมายา แต่ลำยองตัวจริงเป็นคหบดี มีฐานะ ไม่ได้จนเหมือนในละคร สวยมาก ทว่า เลี้ยงลูกขี้เรี่ยขี้ราดเต็มบ้าน จนพี่ชายทนไม่ไหว ต้องตามล้างตามเช็ด สุดท้าย ยายจึงพาลูกชายของลำยองคนโตบวชเณร”
ส่วนชีวิตของครอบครัวผู้หญิงคนนั้นหลังจากนั้นเป็นอย่างไร...โบตั๋น ไม่ได้ติดตาม นอกเสียจาก หยิบยกเสี้ยวหนึ่งมุมชีวิตมาแต่งเป็นเรื่องราวผ่านจินตนาการ ขายดิบขายดี จนถูกนำมาสร้างเป็นละครหลายเวอร์ชั่น
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับการโลดแล่นในวงการวรรณกรรม โบตั๋นยอมรับว่า ปัจจุบันซบเซามาก แม้แต่นักเขียนรุ่นใหม่ ไม่ได้ว่าขายหนังสือดีอะไรมากมาย เพราะคนหันไปเสพงานผ่านโซเซียลมีเดีย แม้กระทั่งตัวเธอเอง เดี๋ยวนี้ยังอ่านวารสารลดลง เพราะเป็นคนชื่นชอบหนังบู๊ จึงนิยมดูหนังผ่านช่องดิจิทัลมากกว่า
ที่น่าจับตา คือ นวนิยายแนว Y กำลังได้รับความนิยม บางเล่มมีฉากอีโรติก แต่ส่วนตัวไม่เคยคิดเขียนงานลักษณะนี้ หรือเขียนแนวอีโรติกเหมือนคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2538
เมื่อเอ่ยถึงคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ โบตั๋นอดที่จะเล่าไม่ได้ ว่าขณะที่ศึกษาอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อหรือไม่ว่า หอสมุดกลาง ไม่นำนวนิยายของศิลปินท่านนี้มาไว้ให้อ่านเลย เพราะภาษาไม่ไพเราะ หัวหน้าบรรณารักษ์ (ศาสตราจารย์กิตติคุณสุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์) จึงเข้มมาก
โบตั๋น บอกว่า อย่าว่าแต่นวนิยายของคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เลย แม้แต่ของ ‘บุษยมาส’ ยังไม่นำเข้ามาให้อ่าน “จริ๊งจริง (เสียงสูง) หัวหน้าบรรณารักษ์เข้มมาก อะไรก็ไม่ยอม ลองมานึกดูเล่น ๆ ตอนนี้ หากท่านยังมีชีวิตอยู่ แล้วเห็นคุณ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ คงร้องจ๊าก!!!”
อย่าว่าแต่งานเขียนของศิลปินท่านอื่นเลยที่ถูกวิจารณ์ โบตั๋นก็เคยถูกวิจารณ์เช่นกัน
“ดิฉันเคยโดนวิจารณ์เรื่อง ‘กว่าจะรู้เดียงสา’ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557) อีกหนึ่งบทบาทเป็นคอลัมน์นิสต์วิจารณ์ บอกว่าพี่โบตั๋นเป็นอะไรไปแล้ว ถึงเขียนบทอัศจรรย์ร้อยแก้ว แต่ดิฉันไม่ว่าอะไร ดิฉันถือเป็นคำชม”
มาถึงตรงนี้ คุณชมัยภร ทำตาเหลือก (หัวเราะ) ถามว่าทำไมถึงถือว่าเป็นคำชม เพราะผู้อ่านเห็นโบตั๋นเป็นตัวแทนหนังสือเด็ก (หัวเราะ) โบตั๋น คิดว่าทำไม...ฉันจะเขียนของฉันอย่างนี้แหละ
แต่เดี๋ยวนี้เป็นผู้ใหญ่จึงไม่ค่อยมีใครกล้าว่าอะไรแล้ว
ไม่หมดเท่านั้น เขียนเรื่อง ‘เหยื่อ’ ลงนิตยสาร สตรีสาร ถูกตัดออกไปหนึ่งบท แต่เมื่อถึงเวลารวมเล่ม โบตั๋นนำบทที่ถูกตัดออกกลับเข้ามารวมใหม่ พูดเสียงดังฟังชัดว่า “รวมเล่มเป็นสิทธิของเราแล้ว”
หรือเขียนเรื่อง ‘แวววัน’ ถูกวิจารณ์ว่า ชี้โพรงให้กระรอก เพราะมีฉากหนึ่ง แวววันเป็นครู เห็นเด็กนักเรียนนั่งลูบขาอ่อนอยู่หลังห้อง ซึ่งเธอเห็นค้านว่าจะชี้โพรงให้กระรอกได้อย่างไร เพราะสมัยตัวเองเป็นครูก็เห็นเด็กนักเรียนทำพฤติกรรมแบบนั้นอยู่แล้ว
นี่เป็นการเตือนผู้ใหญ่ ให้รู้เท่าทันเด็ก อย่าไปคิดว่า ชี้โพรงให้กระรอก...ก่อนจะเบาเสียงลงว่า สมัยก่อนกว่าจะวิจารณ์งานเขียนของใครได้ต้องเขียนจดหมายถึง บก. ไม่เหมือนปัจจุบัน บอกกล่าวผ่านโซเซียลมีเดียได้เลย
กว่า 2 ชั่วโมง กับการได้พูดคุยกับนักเขียน ผู้มีปากกาเป็นอาวุธที่เก่งกาจ เฉียบคม บรรจงเขียนอักษรอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา ทว่า ล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยรสชาติอันเข้มข้น พิสูจน์ให้เห็นว่า กว่าจะถึงจุดนี้ ต้องอาศัยทั้งความรู้และประสบการณ์ ต่อยอดพัฒนาฝีมือ แม้ปัจจุบันจะมีปัญหาสุขภาพ เดินเหินไม่สะดวก ด้วยวัยที่ล่วงเลย แต่ยังคงยืนหยัดที่จะเขียนนวนิยายต่อไปจนกว่าชีวิตจะหมดลมหายใจ .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย