ปลายปากกาสร้างชีวิต ‘ชูวงศ์ ฉายะจินดา’ เพชรน้ำเอกวรรณกรรมอาชีพ
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน สำหรับแขกรับเชิญคนที่ 9 คือเจ้าของนามปากกา “ชูวงศ์ ฉายะจินดา” กับเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นนักเขียนผู้โด่งดัง
'จำเลยรัก' ไม่ใช่นวนิยายที่ชอบมากที่สุด
แต่เรื่องที่ชอบกลับเป็นเรื่องที่ไม่เคยถูกนำไปทำเป็นละคร
เพราะเหตุผลเดียว...ชื่อเรื่องไม่ขาย
นั่นคือ ‘ผู้ชายในอดีต’
แต่โด่งดังมากในขณะที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘เดลิเมล์วันจันทร์’
แม้ปัจจุบันนักเขียนสตรีนวนิยายเลื่องชื่อนามว่า ‘ชูวงศ์ ฉายะจินดา’ ศิลปินแห่งชาติ วัย 88 ปี จะย้ายไปพำนักอยู่ออสเตรเลียนานหลายสิบปี แต่สาวกนักอ่านไทยยังคงได้สัมผัสซึมซับรสงานเขียนมากกว่า 100 เรื่อง จากนามปากกานี้มาโดยเสมอ
ทั้งนี้ การจะได้พบปะพูดคุยกับเธอถือว่าไม่ง่ายนัก เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลข้ามประเทศ แต่ด้วยการช่วยเหลือจากพันธมิตรในวงการวรรณกรรม นั่นจึงทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้ยินเสียงอันสดใสเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความปรารถนาดีที่ผู้ใหญ่มีให้เด็กตัวน้อย ๆ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอ
ชูวงศ์ เกิดและเติบโตมาท่ามกลางพี่น้องที่ชื่นชอบการอ่านนวนิยายเป็นชีวิตจิตใจ แม้พระชาญบรรณกิจ (ถวิล ฉายะจินดา) ผู้เป็นพ่อ จะไม่ชอบก็ตาม
“สมัยยังเป็นเด็ก ๆ ชอบอ่านนวนิยายมาก คราวนี้มีพี่น้องที่อายุไล่เลี่ยกันอยู่สองคน ทั้งหมดสามคน อายุห่างกันหนึ่งปี เรียกว่า ชอบอ่านนวนิยายด้วยกันทั้งคู่ สมัยนั้นไม่มีสตางค์ ต้องรวมเงินเข้าหุ้น เพื่อไปเช่านวนิยายใกล้ ๆ บ้านมาอ่าน แต่พ่อไม่ให้อ่าน เพราะต้องการให้เราเล่าเรียนหนังสือ”
เธอเล่าต่อว่า การจะได้เป็นนักเขียนนั้น ไม่ได้มาจากการเป็นนักอ่านเฉย ๆ แต่สามคนพี่น้องได้ช่วยกันวิจารณ์นวนิยายที่ได้อ่านด้วย เช่น พล๊อตเป็นอย่างไร ปมปัญหาเป็นอย่างไร แก้ได้หรือไม่ พี่คนนี้แก้อย่างนั้น พี่คนนั้นแก้อย่างนี้ มีวิธีแก้ปมปัญหาคนละอย่าง ซึ่งสามคนคิดไม่เหมือนกัน
...คนเราไม่ใช่อ่านเฉย ๆ ยิ่งอ่านมาก ยิ่งทำให้นึกว่า ถ้าเราเขียนเอง จะเขียนอย่างไร แน่นอนว่า อาจจะสนุกกว่าหรือสู้เขาไม่ได้เลย...
ต่อมาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ได้มีนิตยสารวัยรุ่น ชื่อ ‘ศรีสัปดาห์’ ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมาก ขายดิบขายดี เรียกว่าไม่มีเด็กบ้านไหนที่จะไม่มีนิตยสารหัวนี้ เพราะเป็นฉบับเดียวที่เปิดโอกาสให้เด็กส่งผลงานเขียนไปตีพิมพ์ได้
“สมัยก่อนหากใครคิดจะเขียนหนังสืออะไรก็ตาม เพื่อส่งไปลงตามนิตยสารต่าง ๆ มักไม่มีที่ไหนรับ เพราะไม่ได้เป็นนักเขียน เมื่อเป็นเด็ก ๆ เขาจึงไม่รับ จำเป็นต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงแล้ว เป็นที่นิยมแล้ว ถึงจะรับ”
เราสามคนพี่น้องก็มาปรึกษากันอีก แต่พี่อีกสองคนไม่เอา ส่วนเธอเองเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงชอบเขียนอยู่แล้ว เลยตัดสินใจส่งผลงานเขียนเข้าไป
เธอบอกว่า ตอนแรกไม่คิดจะเป็นนักเขียนอะไรหรอก แค่คิดเขียนเล่น ๆ แต่เผอิญ ม.ล.จิตติ นพวงศ์ บรรณาธิการ ได้ตีพิมพ์ผลงานให้ภายในเดือนนั้น ทำให้เกิดกำลังใจ จึงเลยส่งเรื่องอื่น ๆ เข้าไปต่อเนื่อง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าตัวเราเป็นนักเขียน เพราะเพิ่งอายุยี่สิบกว่าปี ถือว่ายังเป็นเด็กมาก
จนกระทั่งวันหนึ่ง ม.ล.จิตติ เรียกพบ เพื่อบอกว่า เธอส่งเรื่องสั้นมาตีพิมพ์หลายเรื่องแล้ว สนใจจะลองเขียนเรื่องยาวดูหรือไม่ ซึ่งพอส่งเรื่องยาวเข้าไป ท่านตีพิมพ์ให้ทันที นั่นจึงทำให้ภูมิใจว่า “ได้เป็นนักเขียน” นับตั้งแต่อายุสามสิบปี
โดยมี ‘ตำรับรัก’ เป็นผลงานนวนิยายเรื่องยาวชิ้นแรก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์ที่รักและเคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง ชูวงศ์ บรรยายว่า ท่านเป็นสุภาพสตรีสาวสวยมาก แต่ผิวคล้ำ มีคุณพ่อเป็นพระยา กิริยามารยาทงดงาม น้ำเสียงไพเราะ นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้นำบุคลิกมาเป็นนางเอกของเรื่อง
เมื่อถามถึงนักเขียนในดวงใจของชูวงศ์ เธอตอบว่า ชอบงานเขียนของ ‘ดอกไม้สด’ (ม.ล.บุปผา นิมมานเหมินท์) มากที่สุด เพราะมีสำนวนภาษาที่เรียบง่ายและถือโอกาสเลียนแบบมาใช้ในนวนิยายตำรับรักด้วย
“ลองเขียนตำรับรัก แล้วส่งไปให้ท่านอ่าน ท่านอ่านแล้วอุตส่าห์เขียนวิจารณ์ตอบมา จึงได้นำคำวิจารณ์ของท่านมาใส่ไว้ในหน้าต้นนวนิยายเรื่องนี้ นี่คือความภาคภูมิใจอย่างมาก ไม่คิดว่าท่านจะอ่านจริง ๆ ถือเป็นความกตัญญูของผู้ที่เราถือเป็นไอดอล เราอยากเขียนแบบท่าน อยากทำสำนวนให้เรียบ ๆ เหมือนท่าน”
ชูวงศ์กล่าวว่า ‘ชัยชนะของหลวงนฤบาล’ เป็นนวนิยายของดอกไม้สดที่ชื่นชอบมาก เพราะโรแมนติก ซึ่งส่วนตัวเป็นคนชอบนวนิยายโรแมนติกอยู่แล้ว ถึงขนาดว่าท่องได้ เพราะอ่านหลายเที่ยว ดังเช่นประโยคขึ้นต้น “นายจวนข้าหลวงประจำจังหวัดนครสวรรค์...”
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ชูวงศ์โลดแล่นอยู่ในวงการวรรณกรรมมานาน เเต่พออยู่มาวันหนึ่ง กลับหยุดที่จะเขียน เพราะไปใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย เหตุผลเพราะตอนนั้นการติดต่อสื่อสารยากมาก สัญญาณโทรศัพท์มาไม่ถึง ระบบไปรษณีย์ยังไม่ดี ทำให้ต้นฉบับที่ส่งมาเมืองไทยหาย
“ไปอยู่ออสเตรเลีย ไม่ได้อยู่ในเมือง แต่เป็นป่าจริง ๆ ชนิดที่ว่า มีสุนัขจิ้งจอกมาวิ่งหน้าบ้าน ความยากนี้ทำให้ไม่มีความพยายามที่จะส่งต้นฉบับมา จึงหยุดไปตั้ง 20 ปี แต่ระหว่างหยุดเขียนก็ไม่ได้หยุดมาเมืองไทย ยังคงมาเยี่ยมพี่น้อง เพื่อนฝูงอยู่ตลอด”
จนวันหนึ่ง ‘สุภัทร สวัสดิรักษ์’ ชวนให้ส่งต้นฉบับมาตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย เพราะขณะนั้นนวนิยายที่ตีพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวชีวิต เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องหนัก จึงอยากได้เรื่องเบา ๆ สำหรับวัยรุ่นบ้าง
“ดิฉันเขียนเรื่องเบาสมอง เพื่อจะให้มีความสุข เป็นแนวโรแมนติก เบา ๆ ไม่ได้เคียดแค้น ไม่ใช่ประเภทอย่างนั้น ดังนั้นจึงคิดว่าเหมาะในการช่วยให้สกุลไทยในตอนนั้นมีนวนิยายเบาขึ้นมา เลยลองกลับมาเขียน ประกอบกับการติดต่อสื่อสารง่ายขึ้นแล้ว และมีผลงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”
ทั้งนี้ ‘จำเลยรัก’ เป็นผลงานชิ้นเอกในความรู้สึกของผู้อ่าน ได้รับการนำมาผลิตเป็นละครและภาพยนตร์หลายครั้ง และทุกครั้งล้วนแต่โด่งดัง
ชูวงศ์คุยว่า จำเลยรักไม่ใช่นวนิยายที่ชอบมากที่สุด แต่เรื่องที่ชอบกลับเป็นเรื่องที่ไม่เคยถูกนำไปทำเป็นละคร เพราะเหตุผลเดียว...ชื่อเรื่องไม่ขาย นั่นคือ ‘ผู้ชายในอดีต’ แต่โด่งดังมากในขณะที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘เดลิเมล์วันจันทร์’
“เป็นเรื่องดราม่า เศร้าสะเทือนใจ แต่ชอบเพราะเรารู้จักคนที่เป็นตัวละครในนั้น ใช่แล้ว...เป็นเรื่องจริง นำชีวิตของเขามาเขียน ตอนที่เขียนตัวเองยังร้องไห้มาหลายตลบเช่นกัน ไม่น่าเชื่อว่า จะนำเรื่องของเขามาเขียนได้ละเอียดขนาดนั้น เหมือนกับเป็นเรื่องของตัวเอง เหมือนตัวเองเป็นตัวละครในนั้น แต่มันไม่ใช่...”
ถามต่อถึงความประทับใจในฐานะเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2559 เธอเล่าด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้มว่า “พูดถึงเรื่องศิลปินแห่งชาติ ได้ยินมานับสิบปี ว่ามีนักเขียนท่านต่าง ๆ รุ่นต่าง ๆ ได้เป็น ซึ่งดิฉันเองรู้สึกดีใจกับท่านเหล่านั้น แต่ไม่เคยคาดหวังเลยว่าตนเองจะมีสิทธิได้ เพราะรู้สึกเสมอว่า มีฝีมือการเขียนแค่ระดับปานกลาง แต่เมื่อได้มีโอกาสได้รับก็เกิดปลื้มใจมาก หรืออาจเป็นไปได้ เพราะผลงานพยายามแทรกคุณธรรมไว้เกือบทุก ๆ เรื่อง เท่าที่จะทำให้ พยายามแทรกโดยไม่มีการสั่งสอนตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระโอวาทไว้
“การเขียนหนังสือนั้นไม่ใช่เขียนแค่เอาแต่สนุก อย่างน้อยต้องมีอะไรแถมให้คนอ่านเป็นข้อคิดดี ๆ แต่ไม่ได้มาสั่งสอนว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ให้พยายามแทรกเหล่านั้น เข้าไปในเรื่องของเรา”
ด้วยเหตุนี้กระมัง คณะกรรมการจึงคัดเลือกให้เธอได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะเล็งเห็นข้อนี้ว่า นักเขียนได้พยายามสร้างสรรค์ชิ้นงานให้มีคุณค่า แม้ว่าฝีมือไม่ได้ดีเด่นอะไรมากนัก
เช่นเดียวกันกับการถูกยกย่องจากคนในและนอกวงการให้นวนิยายเป็นผลงานวรรณกรรม “ดิฉันไม่ได้เขียนเอาสนุกอย่างเดียว ไม่ได้เขียนเอาโรแมนติกเรื่องเดียว แต่ขอให้ทุกบทบาทของตัวละครฝ่ายดี ต้องมีการแสดงคุณธรรมไว้ในการกระทำของตน เพื่ออย่างน้อยเด็กมาอ่านหรือผู้ใหญ่ที่มีความคิดน้อยมาอ่าน จะอยากทำตาม ถือเป็นการนำคนให้มีจิตใจมุ่งไปทางดี”
‘ชูวงศ์ ฉายะจินดา’ ศิลปินแห่งชาติ จึงเป็นบุคคลควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของวงการวรรณกรรม ผู้เป็นดังเพชรน้ำเอกที่ยากจะหาใครในโลกหล้ามาเทียบแทนเสมอเหมือนได้ ด้วยจุดประสงค์ใหญ่ของเธอที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ผู้อ่านได้คลายทุกข์ เพื่ออย่างน้อยโลกจะไม่มืดบอดเเละนั่นคือความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดของเธอ.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:The Writer#8 สัมผัสเรื่องราวของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ เกือบ 3 ทศวรรษ สร้างสรรค์วรรณกรรมไทย
The Writer#7 “ชลาลัย” ศิลปินสุภาพสตรีผู้โด่งดังบนบรรณโลก
The Writer#5‘วลัย นวาระ’ บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เมืองไทย ‘ควีนออฟควีน’ นิยายโรมานซ์
The Writer#4 ‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ตำนานนิยาย 12 บาท กับภารกิจสุดท้ายในโลกงานเขียน
The Writer#3 ‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย
‘บุษยมาส’ เทพีแห่งวงการประพันธ์ จากปลายปากกาอาบน้ำผึ้ง