กางสูตรตั้งรัฐบาล พรรค 3 พลัง vs พรรค 3 เพื่อ 1 ท.-ประชาธิปัตย์รอเสียบ?
“…สรุปคือ หากพรรคประชาธิปัตย์จับมือกับ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ อาจมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างสูง และพรรค 3 เพื่อ 1 ท. กับเครือข่าย จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ก็ไม่แน่หาก ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ เดินเกมดี ๆ เพิ่มฐานมวลชนให้เยอะขึ้นกว่าปัจจุบัน ต่อรองกับพรรคขนาดกลางดี ๆ อาจทำให้จัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนกัน ?...”
ในที่สุดก็มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว!
ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะ ‘ปลดล็อค’ ทางการเมืองในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2561 ตาม ‘ปฏิทิน’ ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย แถลงต่อสาธารณชน
ท่ามกลางกระแส ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ที่กำลังส่งเสียงดังมาจากพรรคขนาดเล็ก โดยอ้างเหตุผลว่า ยังเหลืออีกหลายพรรคที่ยังไม่ได้รับการจดจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ หากยังกำหนดวันเลือกตั้งที่ 24 ก.พ. 2562 อาจทำให้หาสมาชิก และผู้รับสมัครลง ส.ส. ไม่ทัน
ขณะที่ ‘กูรูการเมือง’ วิเคราะห์กันว่า การส่งสัญญาณ ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมืองที่ต้องการสนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างไรก็ดีฝ่าย คสช. และรัฐบาล รวมถึง กกต. ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว
แต่ยัง ‘แทงกั๊ก’ ไม่คอนเฟิร์มว่าการเลือกตั้งยังคงเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือไม่ ?
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง 3 ขั้วใหญ่ ขณะนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมองเห็นตัวแสดงทางการเมืองเกือบครบหมดแล้ว
เริ่มต้นด้วยพรรค 3 พลัง อย่างพรรคพลังประชารัฐ แกนนำฝ่าย ‘เอาประยุทธ์’ นำโดย 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกพรรค เตรียม ‘ไขก๊อก’ จากตำแหน่ง เดินหน้าเคลื่อนไหวกับพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว
ส่วนแนวร่วมอย่าง ‘กลุ่มสามมิตร’ นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน 2 นักการเมืองลายคราม นำกลุ่มสามมิตรเข้าซบพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว โวกวาดเรียบ ส.ส. เกิน 100 ที่นั่ง ที่เต็มไปด้วยอดีต ส.ส. เกรดเอบวก และเกรดเอ ที่ได้มาด้วย ‘พลังดูด’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยนายสุริยะ ยอมรับว่า สาเหตุที่กลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งหลังทิ้งร่างไปนับ 10 ปี นับแต่รัฐประหารปี 2549 เพราะการชักชวนของ ‘อาจารย์’ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตคนกันเองในรัฐบาลไทยรักไทย ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ท่ามกลางความเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นของพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่เบื้องหลัง ส่วนพรรคพลังชลยังคงเก็บตัวเงียบ
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ที่ใช้ยุทธศาสตร์ ‘แยกกันเดิน-ร่วมกันตี’ แบ่งเป็น พรรค 3 เพื่อ 1 ท. ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบัน ‘ยักแย่ยักยัน’ ไม่รู้ว่าจะรอดจากกรณีถูกยุบพรรคหรือไม่ ยังคงชู ‘คุณหญิงหน่อย’ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตเจ้าแม่ กทม. เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค เดินสายดีลการเมืองกับกลุ่มขั้ว ส.ส. ‘ซีกสีแดง’ อยู่เนือง ๆ
ส่วนพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่เพิ่งถูกแปลงโฉมใหม่เช่นกัน เอาสายเลือดรุ่นใหม่ไปบริหารจัดการ โดยมี ‘เฮียเพ้ง’ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล พร้อมด้วยเครือข่ายย้ายมาอยู่ด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มอดีตแกนนำเพื่อไทย-นปช. หลายคนยังย้ายมาล่มหัวจมท้ายด้วยอีก
สาเหตุหลักที่อดีตแกนนำเพื่อไทย-นปช. ย้ายมาอยู่ ทษช. ว่ากันว่า เป็นเพราะตัวลง ส.ส. เขต ไม่ลงตัว เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญปี 2560 วางกลไกไว้ไม่ให้มีพรรคใดชนะด้วยเสียงข้างมากอีก ที่สำคัญทำให้การได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ทำได้ลำบากมาก และแกนนำเพื่อไทย-นปช. ที่ย้ายมา ทษช. ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นหากยัง ‘ดันทุรัง’ อยู่เพื่อไทยต่อไป ก็ไม่มีพื้นที่ลง ส.ส. เขต ต้องลงบัญชีรายชื่อที่มีโอกาสได้น้อยมาก จึงจำเป็นต้องพาเหรดย้ายออก นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า แกนนำเพื่อไทยบางราย ยัง ‘ระหองระแหง’ กับแนวทางการบริหารพรรคแบบใหม่ของ ‘คุณหญิงหน่อย’ เช่นกันอย่างไรก็ดีฝ่ายโฆษกพรรคเพื่อไทยได้ออกมาปฏิเสธกรณีนี้
ส่วนพรรคเพื่อธรรม ที่นำโดยคนใกล้ชิด ‘เจ๊รอง’ แห่ง ‘บ้านวงศ์สวัสดิ์’ ว่ากันว่าตอนแรก ‘คนแดนไกล’ วางหมากให้โกยพื้นที่ภาคเหนือ อย่างไรก็ดีได้เปลี่ยนแผนใหม่ถูก ‘ลดเกรด’ ลงเป็นแค่ ‘พรรคสำรอง’ หากพรรคหลักอย่างเพื่อไทยถูกยุบเท่านั้น ทำให้ตอนนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวออกมา ส่วนพรรคเพื่อชาติที่มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายยงยุทธ ติยะไพรัช อยู่เบื้องหลัง ว่ากันว่า ท่าทีของนายจตุพรเปลี่ยนไปอย่างมาก หลังออกจากเรือนจำ ทำให้ไม่อาจสั่ง ‘ซ้ายหันขวาหัน’ ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว จึงวางไว้เป็นพรรคตัวเลือกอันดับ 4 เท่านั้น
นี่ยังไม่นับพรรคประชาชาติ ที่บริหารงานโดย ‘คนกันเอง’ มีนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และอดีต ส.ส. เพื่อไทยเป็นหัวหน้า เดินเกมสู้ศึกเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ยังต้องไปลุ้นสู้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาธิปัตย์อยู่
ข้ามฟากมาที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่แต่หน้าเดิมอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดีกรีอดีตนายกรัฐมนตรี ความแตกแยกภายในระหว่างกลุ่ม ‘เอาอภิสิทธิ์’ และปีก กปปส. ภายในพรรคกำลังเขย่าอดีต ส.ส. หลายราย อาจทิ้งพรรคสีฟ้า ไปร่วมหัวขบวนกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็เป็นไปได้
การเดินเกมให้นายอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เพราะนายอภิสิทธิ์มีดีกรีเป็นถึงนายกรัฐมนตรี หากเลือกตั้งครั้งหน้าจะให้ลดตัวไปดำรงตำแหน่งอื่นคงยาก นอกจากนี้แกนนำหลายคนประเมินกันแล้วว่า ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปที่กำลังจะถึง พรรคประชาธิปัตย์ อาจได้ ส.ส. หลัก ‘ต่ำร้อย’ และนายอภิสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า หากเลือกตั้งครั้งถัดไปพรรคแพ้จะวางมือจากการเป็นหัวหน้าพรรค ดังนั้นจึงวางเกมให้นายอภิสิทธิ์ชนะศึกชิงหัวหน้า แต่แพ้ในศึกเลือกตั้ง พอนายอภิสิทธิ์ลาออก พรรคประชาธิปัตย์จะมีการเลือกหัวหน้าคนใหม่ โดยหัวหน้าคนใหม่ที่ว่าต้อง ‘ดีลงาน’ กับพรรคอื่นพร้อมร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย
@กางสูตรจัดตั้งรัฐบาล
‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ พรรคพลังประชารัฐ ต้องได้ที่นั่ง ส.ส. อย่างต่ำเกิน 100 ที่นั่งขึ้นไป เพื่อไปดีลกับพรรคเครือข่ายอย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคพลังชล อย่างไรก็ดีจำนวน ส.ส. อาจจะได้ไม่มากเท่าพรรค 3 เพื่อ 1 ท. ที่ว่ากันว่า เดินหมากมาดีและดูมีภาษีในการจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด
ดังนั้นสูตรของ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ ต้องดีลกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลังเลือกตั้งคงเปลี่ยนหัวหน้าพรรคแล้วว่า จะวางตัวอย่างไร ก่อนที่จะดีลกับพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ที่ช่วงหลังเริ่มเดินเอียงมาทางนี้มากขึ้น
แม้ ส.ว.สรรหาจาก คสช. จำนวน 250 คน จะมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่เชื่อว่า ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ คงไม่เดินหมากนี้ เพราะจะทำให้กลายเป็นรัฐบาล ‘เสียงข้างน้อย’ และบริหารประเทศลำบาก ดังนั้นจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลจากที่นั่ง ส.ส. นอกจากจะทำให้เป็น ‘เสียงข้างมาก’ แล้ว ยังดูดีมีภาษีในสายตานานาชาติด้วย
‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ พรรค 3 เพื่อ 1 ท. เดินสูตร 250+100 คือพรรคเพื่อไทยเน้น ส.ส.เขต 250 ที่นั่ง ส่วนพรรคไทยรักษาชาติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือรอดีลกับพรรคเพื่อชาติ และพรรคเครือข่ายอย่างประชาชาติ แม้ว่าอาจไม่ได้ ส.ส. ครบโควตา 350 ที่นั่งอย่างที่วาดฝันไว้ แต่เชื่อว่าจะได้จำนวน ส.ส. เป็นเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล
เว้นแต่ ?
พรรคประชาธิปัตย์ ที่หลังการเลือกตั้งหาก ‘อภิสิทธิ์’ วางมือหัวหน้าพรรคจริง มีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ แน่นอนแกนนำพรรค และอดีต ส.ส. หลายคนเมื่อเลือกตั้งมา ย่อมไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน จึงอยู่ที่ว่าจะดีลกับพรรคไหนในการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล แบ่งได้ 2 สูตร คือ
1.จับมือกับ ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ หากเกิดเหตุการณ์นี้ ชัยชนะเป็นของฝ่าย ‘นักการเมือง’ แน่นอน แต่โอกาสเกิดขึ้นได้ริบหรี่ หรือแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่โซนภาคใต้ และแน่นอนโซนนี้ส่วนใหญ่ไม่เอา ‘พรรคสีแดง’ หากประชาธิปัตย์ ‘กลืนเลือด’ กอดคอพรรคเพื่อไทย ประชาชนจะต้านอย่างหนัก และไปร่วมมือกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพที่รออยู่แล้ว ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อาจไม่มีฐานเสียงหลักอีกต่อไป
2.จับมือกับ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ โอกาสเป็นไปได้ค่อนข้างสูงทีเดียว เพราะตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายนี้คือพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนฝ่ายนี้ย่อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาธิปัตย์มาร่วมงานให้ได้ และคงมี ‘โควตา’ เก้าอี้ดี ๆ ไว้รองรับ
สรุปคือ หากพรรคประชาธิปัตย์จับมือกับ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ อาจมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างสูง และพรรค 3 เพื่อ 1 ท. กับเครือข่าย จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ก็ไม่แน่หาก ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ เดินเกมดี ๆ เพิ่มฐานมวลชนให้เยอะขึ้นกว่าปัจจุบัน ต่อรองกับพรรคขนาดกลางดี ๆ อาจทำให้จัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนกัน ?
ส่วนจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป !
อ่านประกอบ :
‘อภิสิทธิ์’ชนะเพื่อแพ้-‘วรงค์’แพ้เพื่อชนะ จับตาสูตร ปชป.ร่วมจัดตั้ง รบ. คสช.?
โค้งสุดท้ายก่อนปลดล็อค ฝ่ายหนุน ‘บิ๊กตู่’ชื่นมื่น-เพื่อไทยงัด‘แผนบี’ สกัดถูกยุบพรรค
ปฏิทินการเมืองฉบับ‘วิษณุ’ ปลดล็อค ธ.ค.-เลือกตั้ง 24 ก.พ.-ได้ครม.ใหม่ มิ.ย. 62
เช็คลิสต์ หน.-กก.บริหารพรรคใหม่ ฝ่ายเอา-ไม่เอาประยุทธ์คึกคัก-พวกแทงกั๊กยังนิ่ง?
ปฏิบัติการเด็ดปีก‘ชินวัตร’หน 3 ประเมินผลกระทบยุบ‘เพื่อไทย’คุ้มหรือเสียของ?
ย้อนตำนานพรรคเสียงข้างน้อยตั้ง รบ. แต่ไม่รอด-โมเดลปูทาง‘บิ๊กตู่’นั่งนายกฯอาจซ้ำรอย?
เช็คท่าที‘พรรคปลาไหล’ วิกฤติ‘ชาติไทย’ ในวันไร้‘บรรหาร’-‘ภูมิใจไทย’ มาแรง?
พลิกปูมความขัดแย้ง นปช.-เพื่อไทย ‘ตู่’หัก‘เต้น’ เซ่นยุทธศาสตร์ ‘พรรค 3 เพื่อ’?
เช็คยอดเงินบริจาคพรรคการเมือง 4 ปี ปชป. 28 ล.-พท. 3.6 ล. ห่างกันหลายเท่าตัว?
‘ประยุทธ์-สมชาย-ชวน’ 3 แคนดิเดตนายกฯไทยในการเลือกตั้งใต้ปีก คสช.
จับสัญญาณ‘กลุ่มสามมิตร’ไม่ลงรอย ‘พลังประชารัฐ’ แตกหักจริงหรือกลการเมือง?
โมเดล‘เพื่อไทย-เพื่อธรรม’วางหมากสู้ คสช. ยุทธศาสตร์‘ชินวัตร’แยกกันเดิน-ร่วมกันตี?
พรรคเพื่อธรรมมาแล้ว! ‘สมพงษ์’นั่งหัวหน้า-‘นลินี’รอง หน.
กางแผนสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ-ความเป็นไปได้ พท.กอดคอ ปชป. ตั้ง รบ.แห่งชาติ?
เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.