งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
‘บิ๊กตู่’ งัด ม.44 ออกคำสั่งคลายล็อคพรรคการเมือง งดเว้นไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง กกต. ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 90 วันก่อนกฎหมายลูก ส.ส.บังคับใช้ อยากทำกิจกรรมการเมือง-เลือก หน.พรรค-รับสมาชิก ต้องขออนุญาต กกต. ล่วงหน้า 5 วัน แทน คสช.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม)
คำสั่งดังกล่าว ได้แก้ไขสาระสำคัญในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2560 เพื่อให้มาตรการเกี่ยวกับพรรคการเมืองได้ผลในการปฏิรูปตามมาตรา 45 และมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมทั้งเพื่อให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนแล้ว และพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่สามารถดำเนินตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำหรือยุ่งยากสับสน
แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปัจจุบัน พรรคการเมืองดังกล่าวยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรทางการเมืองบางประการ ดังที่พรรคการเมืองต่าง ๆ แจ้งให้ คสช. ทราบ และส่งหนังสือแสดงความเห็นมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้สถานการณ์ของบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย จึงยังคงจำเป็นต้องให้ประกาศ หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ต่อไป
แต่เพื่อให้การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนั้นเป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และเพื่อให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่และจัดตั้งมาก่อนแล้ว จึงควรผ่อนคลายการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางกรณี ซึ่งพรรคการเมืองต้องดำเนินการก่อการเลือกตั้ง โดยให้สามารถดำเนินการได้ในช่วง 90 วัน นับแต่มีประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในราชกิจจานุเบกษา
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จึงมีคำสั่งให้
1.ยกเลิกความในมาตรา 141 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 และให้ใช้คำว่า มาตรา 141 ในวาระเริ่มแรก ให้พรรคการเมืองตามมาตรา 140 ดำเนินการในเรื่องและภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วัน นับแต่คำสั่งฉบับนี้มีผลบังคับใช้
(2) จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 จำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 180 วัน นับแต่คำสั่งฉบับนี้มีผลบังคับใช้
(3) จัดให้สมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 5 พันคนภายใน 1 ปี และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนภายใน 4 ปี นับแต่คำสั่งฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และให้นายทะเบียนสมาชิกแจ้งให้นายทะเบียนทราบ
2.เพิ่มความต่อไปนี้ในมาตรา 141/1 โดยเมื่อมีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก่อนที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ พรรคการเมืองใดประสงค์จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองดังต่อไปนี้ แจ้งให้ กกต. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน และเมื่อได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจาก คสช. ได้แก่
(1) แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรคการเมือง ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีผลบังคับใช้
(2) เลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรค ตามข้อบังคับ (1)
(3) จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
(4) รับสมาชิกของพรรคการเมือง
(5) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค
(6) มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง
(7) กิจกรรมทางการเมืองตามที่ คสช. กำหนด
ให้พรรคการเมืองดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
3.ยกเลิกความในมาตรา 142 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้ มาตรา 142 ในระหว่างที่พรรคการเมืองใดยังดำเนินการตามมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และมาตรา 141/1 (1) (2) (3) ไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองแก่พรรคการเมืองนั้น
4.ให้ยกเลิกมาตรา 144 ที่ คสช. แก้ไขเพิ่มเติม และให้ใช้ความต่อไปนี้ มาตรา 144 มิให้นำมาตรา 47 48 49 วรรคหนึ่งและวรรคสอง 50 51 52 53 54 55 และ 56 (มาตราเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต สรรหาสมาชิกลงสมัคร ส.ส.) มาบังคับใช้กับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับ แต่ในการพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมือง 4 คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคการเมืองเลือก 7 คน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบ
(2) ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบ ให้พิจารณาจากสมาชิกผู้ซึ่งยื่นความจำนงด้วยตัวเอง และผู้ซึ่งสมาชิกเสนอ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งกำหนด โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง และให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา
(3) กรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรค เห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้หัวหน้าพรรค ออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง โดยส่งผู้สมัครรายนั้นลงเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำด้วย
(4) ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่เห็นชอบ ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร สรรหาบุคคลมาแทน แต่ถ้าคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครยืนยันเสนอชื่อบุคคลเดิม ให้ประชุมร่วมกัน และให้มีมติประการใดให้ดำเนินการตามมตินั้น โดยลงคะแนนลับ
(5) ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารพรรค ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (3) หรือนับแต่วันที่มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่ประชุมร่วม (4) ให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อบุคคลนั้นเป็นการทั่วไป
นอกจากนี้ 6.พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ภายในพรรคการเมือง และสมาชิกของพรรคการเมือง โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้ กกต. และ คสช. อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวได้
7.เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ กกต. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนด และให้จัดทำ และประกาศเขตเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ
อ่านฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/225/T24.PDF