- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ‘ประยุทธ์-สมชาย-ชวน’ 3 แคนดิเดตนายกฯไทยในการเลือกตั้งใต้ปีก คสช.
‘ประยุทธ์-สมชาย-ชวน’ 3 แคนดิเดตนายกฯไทยในการเลือกตั้งใต้ปีก คสช.
“…ด้วยข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาในทางสาธารณะตอนนี้ คาดกันว่ามี 3 บุคคลที่เข้าร่วมวงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ นายสมชาย และนายชวน ขณะที่พรรคอื่น ๆ ที่ยังเล่นสองหน้า ‘แทงกั๊ก’ อยู่ มีการชูหัวหน้าพรรคตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย ชู ‘อนุทิน ชาญวีรกุล’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หรือพรรคอนาคตใหม่ ชู ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นต้น…”
“ยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปร่วมกับพรรคใด และไม่มีหลักเกณฑ์ใดทั้งสิ้น ผมไม่จำเป็นต้องบอกใคร หากมีการเชิญก็จะเชิญมายังผมเอง หากเชิญมาหลายพรรคก็ต้องตัดสินใจเอง”
เป็นคำให้สัมภาษณ์จากปากของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของตัวเอง ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งอีกราว 5 เดือนเศษข้างหน้า
นัยทางคำพูดนี้น่าสนใจมาก จากเดิมช่วงปลายเดือน ก.ย. 2561 ‘บิ๊กตู่’ พูดว่า สนใจงานด้านการเมือง กระทั่งมีคนนำไปโยงว่า อาจเป็นหนึ่งในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งเปิดตัวด้วย 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
กระทั่งเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2561 ‘บิ๊กตู่’ ย้ำคำเดิมอีกว่า สนใจการเมือง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมกับพรรคใด ได้แต่รับฟังที่หลายฝ่ายพูดไปก่อน หลายพรรคได้แสดงนโยบายต่าง ๆ ออกมา แต่ต้องทบทวนว่าจริง และทำได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ตนอยู่การบริหารราชการแผ่นดิน จึงทราบว่า สิ่งที่หลายพรรคพูดบางอย่างทำได้ บางอย่าง และส่วนใหญ่ทำไม่ได้ (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
นัยทางคำพูดนี้ อาจหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการลงจากหลังเสือด้วย ‘ความสง่างาม’ จากเดิมที่มีการคาดหมายกันว่า จะให้ ‘บิ๊กตู่’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ‘คนนอก’ โดยการอาศัยช่องโหว่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ ส.ว. ที่ คสช. สรรหา โหวตเข้ามา
แต่เมื่อประเมินแล้ว ต่อให้ ส.ว. ร่วมมือกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. จริง จะทำให้เสียในสภาของรัฐบาล ‘บิ๊กตู่ 2’ สู้เสียงฝ่ายการเมืองไม่ได้ เวลาโหวตร่างกฎหมาย หรือนโยบายบางอย่าง อาจถูก ‘คว่ำ’ จนทำให้การบริหารแผ่นดินไปต่อไม่ได้ จึงจำเป็นต้องยอม ‘กัดฟัน-กลืนเลือด’ ใช้โมเดลให้พรรคการเมืองเสนอชื่อตัวเองอยู่ในบัญชีเพื่อไปโหวตกันในสภา ?
ส่วนจะเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งดีลลงตัวกับกลุ่มสามมิตร จะหนุน ‘บิ๊กตู่’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้หรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป
อีกฟากหนึ่ง 2 พรรคใหญ่ที่เป็นคู่อริกันมาช้านาน กำลังขับเคี่ยวเรื่องแย่งชิงหัวหน้าพรรคกันอยู่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์
พรรคเพื่อไทย ที่กำลังกังวลว่าอาจถูกยุบพรรค จากกรณีแถลงข่าว 4 ปี คสช. ว่ากันว่าตอนนี้แกนนำพรรค ‘เคาะโต๊ะ’ ใช้สูตรให้ ‘คุณหญิงหน่อย’ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยยุคไทยรักไทย แกนนำสาย กทม. นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค ค่อนข้างแน่นอนแล้ว หลังจากแคนดิเดตสำคัญอย่างนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีกระแสข่าวว่า อาจไปอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อธรรม พรรคใหม่ที่เดินเกมทางภาคเหนือ ในยุทธศาสตร์ ‘แยกกันเดิน-ร่วมกันตี’
ส่วนปัญหาเรื่องการเคลียร์ใจกับบรรดา ส.ส.ต่างจังหวัด และ ส.ส.แกนนำเสื้อแดงนั้น มีรายงานข่าวว่า ‘คุณหญิงหน่อย’ เดินสายพูดคุยเรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายต่างยอมรับ ดังนั้นคาดกันว่า ‘คุณหญิงหน่อย’ น่าจะได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่ยังไม่ชัวร์ว่าจะได้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่
ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สามีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคภาคเหนือ น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ปัจจุบันจะยังมีรายชื่อเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่ แต่ว่ากันว่า อนาคตอาจไปสังกัดพรรคเพื่อธรรม ที่เป็นฐานทัพหลักของกลุ่ม ‘ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์’ และใส่เป็นหนึ่งในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี
ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย อาจโหวตตามพรรคเพื่อธรรม ผลักดัน ‘สมชาย’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยก็เป็นไปได้ เพราะบรรดาแกนนำพรรคคุยกันว่า ตระกูล ‘ชินวัตร’ คงไม่อยากส่ง ‘สายตรง’ มานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค หรือเป็นนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ ?
กลับมาที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กำลังร้าวลึกเรื่องแย่งชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ระหว่างกลุ่ม ‘เอาอภิสิทธิ์’ และกลุ่ม ‘ไม่เอาอภิสิทธิ์’ แม้ว่าภาษีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งลงจากหัวหน้าพรรคให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการแทน จะค่อนข้างดีกว่า นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ผู้ท้าชิง ที่ถูกผลักดันโดยปีก กปปส. ในพรรคก็ตาม แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอาจเกิดการ ‘พลิกล็อค’ ก็ได้
แต่ไม่ว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นใคร ว่ากันว่า ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีตอนนี้ มีการวางตัว ‘นายหัวชวน’ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวหลักแล้ว เนื่องจากภาพลักษณ์นายชวนค่อนข้างดี และสามารถ ‘รอมชอม’ ได้กับทุกขั้วการเมือง ว่ากันว่าแม้แต่นายทักษิณ ชินวัตร ก็ยังเกรงใจนายชวนด้วย ?
ดังนั้นด้วยข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาในทางสาธารณะตอนนี้ คาดกันว่ามี 3 บุคคลที่เข้าร่วมวงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ นายสมชาย และนายชวน
ขณะที่พรรคอื่น ๆ ที่ยังเล่นสองหน้า ‘แทงกั๊ก’ อยู่ มีการชูหัวหน้าพรรคตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย ชู ‘อนุทิน ชาญวีรกุล’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หรือพรรคอนาคตใหม่ ชู ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีนี่ยังอยู่ช่วง ‘โค้งแรก’ ของถนนสู่การเลือกตั้ง ยังมีเวลาอีกอย่างเร็วที่สุดคือ 5 เดือนเศษ ดังนั้นนับจากนี้ไปอาจมี ‘กลเกม-ดีลลับ’ ในการปรับเปลี่ยนแคนดิเดตชิงนายกรัฐมนตรีอีกก็เป็นไปได้เช่นกัน ดังนั้นต้องรอลุ้นกันไป อย่ากระพริบตา!
อ่านประกอบ :
จับสัญญาณ‘กลุ่มสามมิตร’ไม่ลงรอย ‘พลังประชารัฐ’ แตกหักจริงหรือกลการเมือง?
โมเดล‘เพื่อไทย-เพื่อธรรม’วางหมากสู้ คสช. ยุทธศาสตร์‘ชินวัตร’แยกกันเดิน-ร่วมกันตี?
พรรคเพื่อธรรมมาแล้ว! ‘สมพงษ์’นั่งหัวหน้า-‘นลินี’รอง หน.
กางแผนสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ-ความเป็นไปได้ พท.กอดคอ ปชป. ตั้ง รบ.แห่งชาติ?
เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ และนายสมชาย จาก ไทยโพสต์, ภาพนายชวน จาก คมชัดลึก