- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ‘อภิสิทธิ์’ชนะเพื่อแพ้-‘วรงค์’แพ้เพื่อชนะ จับตาสูตร ปชป.ร่วมจัดตั้ง รบ. คสช.?
‘อภิสิทธิ์’ชนะเพื่อแพ้-‘วรงค์’แพ้เพื่อชนะ จับตาสูตร ปชป.ร่วมจัดตั้ง รบ. คสช.?
“…การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป จึงเป็นเพียง ‘ฉากหน้า’ เท่านั้น แต่ ‘เบื้องหลัง’ คือต้องการให้นายอภิสิทธิ์ชนะ แต่ลงจากเก้าอี้หลังจากแพ้การเลือกตั้ง ส่วน นพ.วรงค์ แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อไปเป็นหัวหน้าพรรคหลังการเลือกตั้งนั่นเอง และสูตรนี้ค่อนข้างเป็นไปได้สูง เพราะแน่นอนพรรคประชาธิปัตย์โอกาสได้ ส.ส. จำนวนมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์แพ้ และเป็นไปตามสูตรนี้ ทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นพ.วรงค์ ย่อมไม่มีอะไรเสียหาย…”
รู้ผลกันไปแล้ว สำหรับการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่
‘เดอะมาร์ค’ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 3 สมัย นั่งเก้าอี้ ‘ผู้นำ’ อีกเป็นสมัยที่ 4 หลังครองตำแหน่งยาวนานกว่า 13 ปีเศษ ได้คะแนน 6.7 หมื่น เฉือน ‘หมอวรงค์’ นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ผู้ท้าชิงหลักที่ได้คะแนน 5.7 หมื่น ถือว่า ‘มวยถูกคู่-สูสี’ อย่างยิ่ง ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้คะแนนเพียง 2 พันเศษเท่านั้น
หากมองให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่า การแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ‘วินวิน’ ทุกฝ่าย นายอภิสิทธิ์เอง เรียกคะแนนเสียงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจอีกครั้ง นพ.วรงค์ ได้ ‘อัพเกรด’ ยกระดับก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำพรรคเต็มตัว มีสิทธิ์ลุ้นเก้าอี้รัฐมนตรีแน่ หากพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล ส่วนนายอลงกรณ์ ได้กลับเข้าพรรคอย่าง ‘หล่อ ๆ’
ฉากหน้าแค่โชว์ความขัดแย้ง แต่หลังม่านคือการ ‘วางหมาก’ มาอย่างดี สมยี่ห้อประชาธิปัตย์ ?
ประเด็นสำคัญคือ หลังจากนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบแล้ว จะเดินเกมอย่างไรต่อ ในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะถึงช่วงปลายเดือน ก.พ. 2562 (หากไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นจนต้องเลื่อนเลือกตั้งเสียก่อน)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยวิเคราะห์แล้วว่า สูตรการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ มีอย่างน้อย 3 ทาง ได้แก่
หนึ่ง เมื่อดันให้นายอภิสิทธิ์กลับเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ใส่ชื่อนายอภิสิทธิ์ และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นดีลกับพรรคขนาดกลาง เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่สูตรนี้ต้องได้ ส.ส. ในมือไม่น้อยกว่า 200 ที่นั่ง เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โอกาสเป็นไปได้ค่อนข้าง ‘ริบหรี่’
สอง จับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล สูตรนี้เคยมีการปล่อยข่าวออกมาก่อนหน้านี้ แต่ทำท่าว่าจะ ‘เหลว’ เพราะถ้าใช้สูตรนี้จริง แน่นอนว่าเป็น ‘ชัยชนะ’ ของฝ่าย ‘การเมือง’ แต่มวลชนย่อมไม่เอาด้วยแน่นอน โดยเฉพาะฐานมวลชนภาคใต้ที่แน่นอนว่าเกลียด ‘พรรคสีแดง’ เข้ากระดูกดำ หากทำตามนี้ จะทำให้มวลชน ‘พลิกขั้ว’ ไปอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นักการเมืองมากบารมีถิ่นสะตอรอเสียบอยู่แล้ว
สาม ร่วมมือกับ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ เป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค รปช. พรรคพลังประชารัฐ และเครือข่ายอื่น ๆ ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ก็มีค่อนข้างสูง เนื่องจากในช่วงหาเสียงผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรค ทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นพ.วรงค์ ยัง ‘แทงกั๊ก’ ไม่เลือกว่าจะอยู่ฝ่ายไหนหลังการเลือกตั้ง แต่ตอบในเชิงหลักการกว้าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้าทาง ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดีเบื้องต้นก่อนการเลือกตั้งคือ จะทำอย่างไรให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาชนะการเลือกตั้ง แน่นอนแกนนำพรรคหลายคนเคยประเมินแล้วว่า โอกาสชนะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ‘แทบไม่มี’ และอาจเป็นไปได้ว่าคราวนี้อาจได้ ส.ส. ‘ต่ำร้อย’ อีกครั้งด้วยซ้ำ
จึงกลับกลายเป็นว่า ‘อภิสิทธิ์’ ชนะเพื่อแพ้ – ‘หมอวรงค์’ แพ้เพื่อชนะ ?
เพราะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากพรรคประชาธิปัตย์แพ้ ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จะยุติบทบาทการเป็นหัวหน้าพรรคแต่เพียงเท่านี้ ทำให้เก้าอี้หัวหน้าพรรคว่างลงอีกครั้ง แล้วคราวนี้คงถึงคิวของ นพ.วรงค์ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคได้อย่างเต็มตัว เพราะช่วงชิงเสียงจากนายอภิสิทธิ์มาได้มากโขอย่างที่เห็นกัน
การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป จึงเป็นเพียง ‘ฉากหน้า’ เท่านั้น แต่ ‘เบื้องหลัง’ คือต้องการให้นายอภิสิทธิ์ชนะ แต่ลงจากเก้าอี้หลังจากแพ้การเลือกตั้ง ส่วน นพ.วรงค์ แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อไปเป็นหัวหน้าพรรคหลังการเลือกตั้งนั่นเอง
และสูตรนี้ค่อนข้างเป็นไปได้สูง เพราะแน่นอนพรรคประชาธิปัตย์โอกาสได้ ส.ส. จำนวนมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์แพ้ และเป็นไปตามสูตรนี้ ทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นพ.วรงค์ ย่อมไม่มีอะไรเสียหาย ต่าง ‘ขึ้น-ลง’ อย่างสง่างามทั้งคู่ด้วยซ้ำ เพิ่มภาษีทางการเมือง เรียกเสียงเชียร์ตามสไตล์ ‘พรรคสีฟ้า’
เมื่อ นพ.วรงค์ ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอย่างเต็มตัวหลังการเลือกตั้ง แน่นอนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นต้องรอดูว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ‘หมอวรงค์’ จะเดินเกมต่อยังไง เพราะไม่มีทางที่จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยชัวร์ป๊าบ
จะดีลกับ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ เพื่อเป็นรัฐบาล หรือจะยอม ‘ทิ้งฝัน’ เป็นฝ่ายค้าน
นี่คือเส้นทางหลังศึกเลือกตั้งที่พรรคนี้จำเป็นต้องเลือก ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
โค้งสุดท้ายก่อนปลดล็อค ฝ่ายหนุน ‘บิ๊กตู่’ชื่นมื่น-เพื่อไทยงัด‘แผนบี’ สกัดถูกยุบพรรค
ปฏิทินการเมืองฉบับ‘วิษณุ’ ปลดล็อค ธ.ค.-เลือกตั้ง 24 ก.พ.-ได้ครม.ใหม่ มิ.ย. 62
เช็คลิสต์ หน.-กก.บริหารพรรคใหม่ ฝ่ายเอา-ไม่เอาประยุทธ์คึกคัก-พวกแทงกั๊กยังนิ่ง?
ปฏิบัติการเด็ดปีก‘ชินวัตร’หน 3 ประเมินผลกระทบยุบ‘เพื่อไทย’คุ้มหรือเสียของ?
ย้อนตำนานพรรคเสียงข้างน้อยตั้ง รบ. แต่ไม่รอด-โมเดลปูทาง‘บิ๊กตู่’นั่งนายกฯอาจซ้ำรอย?
เช็คท่าที‘พรรคปลาไหล’ วิกฤติ‘ชาติไทย’ ในวันไร้‘บรรหาร’-‘ภูมิใจไทย’ มาแรง?
พลิกปูมความขัดแย้ง นปช.-เพื่อไทย ‘ตู่’หัก‘เต้น’ เซ่นยุทธศาสตร์ ‘พรรค 3 เพื่อ’?
เช็คยอดเงินบริจาคพรรคการเมือง 4 ปี ปชป. 28 ล.-พท. 3.6 ล. ห่างกันหลายเท่าตัว?
‘ประยุทธ์-สมชาย-ชวน’ 3 แคนดิเดตนายกฯไทยในการเลือกตั้งใต้ปีก คสช.
จับสัญญาณ‘กลุ่มสามมิตร’ไม่ลงรอย ‘พลังประชารัฐ’ แตกหักจริงหรือกลการเมือง?
โมเดล‘เพื่อไทย-เพื่อธรรม’วางหมากสู้ คสช. ยุทธศาสตร์‘ชินวัตร’แยกกันเดิน-ร่วมกันตี?
พรรคเพื่อธรรมมาแล้ว! ‘สมพงษ์’นั่งหัวหน้า-‘นลินี’รอง หน.
กางแผนสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ-ความเป็นไปได้ พท.กอดคอ ปชป. ตั้ง รบ.แห่งชาติ?
เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.