เช็คยอดเงินบริจาคพรรคการเมือง 4 ปี ปชป. 28 ล.-พท. 3.6 ล. ห่างกันหลายเท่าตัว?
“…หากรวมทั้ง 2 ยอดคือ ยอดบริจาคผ่านการเสียภาษี กับยอดบริจาคโดยตรง พรรคประชาธิปัตย์ ‘ครองแชมป์’ มีรายได้มากสุดถึง 28,162,400 บาท ส่วนพรรคเพื่อไทยได้จากแค่ยอดบริจาคผ่านการเสียภาษี เพียงแค่ 3,692,900 บาท เท่านั้น…”
อุณหภูมิทางการเมืองกำลังร้อนแรงไม่แพ้แดดเมืองไทยตอนนี้!
หลายพรรคการเมืองเริ่มคึกคัก จัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เลือกหัวหน้า-เลขาธิการ-ฟอร์มทีมใหม่ ขยายฐานอำนาจทางการเมืองเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองใหม่ ๆ ได้รับการจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ อยู่ระหว่างระดมเงินทุนจากบรรดาสมาชิก เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
เมื่อพูดถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองหลีกหนีไม่พ้นปัจจัยนี้ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำเนินงานทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย
แม้แต่พรรคอนาคตใหม่ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้บริหารเครือ ‘ไทยซัมมิท’ ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ของประเทศ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังหล่นคำพูดว่า พรรคต้องการเงินทุนประมาณ 300 ล้านบาทเพื่อมาขับเคลื่อน ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่ากันว่า พรรคพลังประชารัฐ ทุ่มเงินราว 40-50 ล้านบาทในการ ‘ดูด’ อดีต ส.ส.-กลุ่มการเมือง ให้มาเข้าสังกัด อย่างไรก็ดีนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว
หรือแม้แต่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า สาเหตุที่อดีต ส.ส. คนสำคัญของพรรคเพื่อไทยตีจากไปซบกลุ่มสามมิตร (ที่ว่ากันว่าเตรียมไปล่มหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชารัฐ) เป็นเพราะหวังเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นหลักด้วย
นอกเหนือจาก ‘กลุ่มทุน-ท่อน้ำเลี้ยง’ แล้ว พรรคการเมืองนำเงินมาจากไหนได้อีกบ้าง ?
ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับเก่า เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถรับเงินบริจาคได้ 2 ทางคือ บริจาคโดยตรง โดยหากวงเงินเกิน 5,000 บาท คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ อีกส่วนคือการบริจาคผ่านการเสียภาษี ครั้งละ 100 บาท (จะเลือกไม่บริจาคก็ได้) โดยในรอบปี กกต. จะรวบรวมว่า พรรคการเมืองใดได้รับเงินบริจาคผ่านภาษีเท่าใดบ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองทั้งในส่วนของการบริจาคโดยตรงเกิน 5,000 บาท และบริจาคผ่านการเสียภาษี นับเฉพาะพรรคการเมืองที่มีบทบาทที่ผ่านมา ระหว่างปี 2557-2560 ที่เผยแพร่จาก กกต. สรุปได้ ดังนี้
@บริจาคผ่านการเสียภาษี (ข้อมูลระหว่างปี 2558-2560)
ปี 2560 พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับบริจาค 57,818 ราย วงเงิน 5,781,800 บาท พรรคเพื่อไทย 10,484 ราย วงเงิน 1,048,400 บาท พรรคภูมิใจไทย 55 ราย 5,500 บาท พรรคชาติไทยพัฒนา 271 ราย 27,100 บาท พรรคชาติพัฒนา 201 ราย 20,100 บาท พรรครักประเทศไทย (นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค) 101 ราย 10,100 บาท พรรคพลังชล 195 ราย 19,500 บาท
ปี 2559 พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับบริจาค 71,211 ราย วงเงิน 7,121,100 บาท พรรคเพื่อไทย 12,609 ราย 1,260,900 บาท พรรคภูมิใจไทย 209 ราย 20,900 บาท พรรคชาติไทยพัฒนา 255 ราย 25,500 บาท พรรคชาติพัฒนา 192 ราย 19,200 บาท พรรครักประเทศไทย 248 ราย 24,800 บาท พรรคพลังชล 199 ราย 19,900 บาท
ปี 2558 พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับบริจาค 91,095 ราย วงเงิน 9,109,500 บาท พรรคเพื่อไทย 13,836 ราย 1,383,600 บาท พรรคภูมิใจไทย 224 ราย 22,400 บาท พรรคชาติไทยพัฒนา 330 ราย 33,000 บาท พรรคชาติพัฒนา 182 ราย 18,200 บาท พรรครักประเทศไทย 651 ราย 65,100 บาท พรรคพลังชล 226 ราย 22,600 บาท
หากนับเฉพาะพรรคที่ได้รับบริจาคผ่านการเสียภาษีที่มียอดเงินเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไปในช่วง 3 ปีดังกล่าว มีแค่ 2 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ รวม 22,012,400 บาท ส่วนพรรคเพื่อไทย รวม 3,692,900 บาท ห่างกันหลายเท่าตัว ?
@การบริจาคโดยตรง ยอดเงินเกิน 5,000 บาท (ข้อมูลระหว่าง พ.ค. 2557-ต.ค. 2560)
ปี 2560 พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับบริจาค 3 ครั้ง รวมวงเงิน 5.9 ล้านบาท ได้แก่ นายอัศวิน วิภูศิริ (รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) 2 ล้านบาท นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ (อดีต ส.ส.กาญจนบุรี เขต 5 พรรคประชาธิปัตย์) 2 ล้านบาท และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (อดีตรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) 1.9 ล้านบาท
พรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับบริจาค 3 ครั้ง รวมวงเงิน 3 ล้านบาท โดยมีนายวิศาล ตันติไพจิตร (เจ้าของ หจก.สุพรรณอู่ทองพาณิชย์ ผู้รับเหมารายใหญ่ใน จ.สุพรรณบุรี) เป็นผู้บริจาครายเดียว ครั้งละ 1 ล้านบาท
ปี 2559 พรรคพลังชล ได้รับบริจาค 4 ครั้ง รวมวงเงิน 1 ล้านบาท ได้แก่ นายธนเทพ หงษ์สายพิน 3 แสนบาท นายชัยพจน์ จำเริญนิติพงศ์ 5 หมื่นบาท น.ส.วันเพ็ญ เตียวลักษณ์ 5 หมื่นบาท นายสัมฤทธิ์ พงษ์วิรัตน์ 1 แสนบาท นายสนธยา คุณปลื้ม (หัวหน้าพรรค) 5 แสนบาท
พรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับบริจาค 4 ครั้ง รวมวงเงิน 4 ล้านบาท ได้แก่ นายไพศาล ตันติไพจิตร 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ล้านบาท และนายไชยวุฒิ เล็กสมบูรณ์ 1 ล้านบาท
พรรคเสรีรวมไทย (มี พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าพรรค) ได้รับบริจาค 2 ครั้ง รวมวงเงิน 3.5 แสนบาท ได้แก่ น.ส.ธนพร โสมทองแดง 1.7 แสนบาท นายชัชวาลย์ วาณิชย์ศรีรัตนา 1.8 แสนบาท
ปี 2558 พรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับบริจาค 4 ครั้ง รวมวงเงิน 4 ล้านบาท ได้แก่ นายถาวร จำปาเงิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ล้านบาท และนายวิศาล ตันติไพจิตร 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ล้านบาท
พรรครักประเทศไทย ได้รับบริจาค 1 ครั้ง วงเงิน 35,000 บาท มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ (หัวหน้าพรรค) เป็นผู้บริจาค
พรรคเสรีรวมไทย ได้รับบริจาค 4 ครั้ง รวมวงเงิน 7.5 แสนบาท ได้แก่ นายชัชวาลย์ วาณิชย์ศรีรัตนา 3 ครั้ง ครั้งละ 2 แสนบาท และ น.ส.ธนพร โสมทองแดง 1.5 แสนบาท
พรรคพลังชล ได้รับบริจาค 1 ครั้ง รวมวงเงิน 5 แสนบาท มีนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นผู้บริจาค
ปี 2557 (ระหว่าง พ.ค.-ธ.ค. 2557) พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับบริจาค 7 ครั้ง รวมวงเงิน 2.5 แสนบาท ได้แก่ นางวันเพ็ญ มณีภาค 1 หมื่นบาท น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ 1.5 หมื่นบาท นางอานิก อัมระนันท์ 4 หมื่นบาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2 หมื่นบาท นางผุสดี ตามไท 1 หมื่นบาท ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร 5 พันบาท นายสรรเสริญ สมะลาภา 1.5 แสนบาท
พรรคพลังชล ได้รับบริจาค 1 ครั้ง รวมวงเงิน 5 แสนบาท มีนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นผู้บริจาค
พรรคเสรีรวมไทย ได้รับบริจาค 1 ครั้ง รวมวงเงิน 3 แสนบาท มีนายชัชวาลย์ วาณิชย์ศรีรัตนา เป็นผู้บริจาค
เบ็ดเสร็จช่วง 3 ปีเศษ ระหว่างเดือน พ.ค. 2557-ต.ค. 2560 พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเงินบริจาครวม 6,150,000 บาท พรรคชาติไทยพัฒนา 11 ล้านบาท พรรคพลังชล 2 ล้านบาท ส่วนพรรคเสรีรวมไทยได้รับเงินบริจาค 1.4 ล้านบาท
น่าสังเกตว่า ไม่มีรายชื่อคนบริจาคให้พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พรรคชื่อดังอย่าง พรรคชาติพัฒนา หรือพรรคภูมิใจไทย แม้แต่รายเดียว ?
หากรวมทั้ง 2 ยอดคือ ยอดบริจาคผ่านการเสียภาษี กับยอดบริจาคโดยตรง พรรคประชาธิปัตย์ ‘ครองแชมป์’ ได้มากสุดถึง 28,162,400 บาท ส่วนพรรคเพื่อไทยยอดบริจาคผ่านการเสียภาษีเพียงแค่ 3,692,900 บาท เท่านั้น
อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงข้อมูลในช่วงปี 2557-2560 เท่านั้น ส่วนข้อมูลในปี 2561 ยังไม่มีการเปิดเผยจาก กกต. ออกมา และยังไม่มีข้อมูลจากพรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งได้รับการจัดตั้ง หรืออยู่ระหว่างการจัดตั้งกับ กกต. เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น
อ่านประกอบ :
‘ประยุทธ์-สมชาย-ชวน’ 3 แคนดิเดตนายกฯไทยในการเลือกตั้งใต้ปีก คสช.
จับสัญญาณ‘กลุ่มสามมิตร’ไม่ลงรอย ‘พลังประชารัฐ’ แตกหักจริงหรือกลการเมือง?
โมเดล‘เพื่อไทย-เพื่อธรรม’วางหมากสู้ คสช. ยุทธศาสตร์‘ชินวัตร’แยกกันเดิน-ร่วมกันตี?
พรรคเพื่อธรรมมาแล้ว! ‘สมพงษ์’นั่งหัวหน้า-‘นลินี’รอง หน.
กางแผนสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ-ความเป็นไปได้ พท.กอดคอ ปชป. ตั้ง รบ.แห่งชาติ?
เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.
หมายเหตุ : ภาพบริจาคเงินจาก DDproperty