กางแผนสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ-ความเป็นไปได้ พท.กอดคอ ปชป. ตั้ง รบ.แห่งชาติ?
“…การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค อาจถูกประเมินว่าเป็นแค่ ‘ปาหี่’ แต่ ‘หลังม่าน’ จริง ๆ คือการดีลกันว่า จะใส่ใครในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี หากปรากฏชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ก็เตรียมใจกันไว้ได้ว่า ผู้นำประเทศคนถัดไปหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าไร้ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ เมื่อไหร่ ต้องรอดูทิศทางลมว่า การจับมือกับพรรคเพื่อไทยจะเป็นไปได้หรือไม่…”
บรรยากาศการเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง!
พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอนนี้กำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ หลังเปิดฉากสงครามแย่งชิงหัวหน้าพรรค ระหว่างฝ่าย ‘เอาอภิสิทธิ์’ นำโดย ‘นายหัวชวน’ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน กำลังถูกเลื่อยเก้าอี้ หลบซุกใต้ปีกอยู่ตอนนี้ และฝ่าย ‘ไม่เอาอภิสิทธิ์’ นำโดยทีมงาน กปปส. เปิดตัว ‘หมอวรงค์’ นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ที่ว่ากันว่า ‘กำนันสุเทพ’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปัจจุบันขับเคลื่อนพรรครวมพลังประชาชาติไทย อยู่เบื้องหลัง ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เข้ามาร่วมวงด้วยนั้น ว่ากันว่า นายอลงกรณ์อาจแค่อยากกลับเข้าพรรคเท่านั้น ไม่ได้อยากบินสูงถึงขั้นหัวหน้าพรรคซักเท่าไหร่
ท่ามกลางการปล่อยข่าวจากฝ่ายพรรคเพื่อไทยอย่างถูกจังหวะจะโคนว่า เดินเกมทาบทามพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อสกัดไม่ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบทอดอำนาจ โดยชูนายชวน หลีกภัย คัมแบ็คกลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ตามรอย ‘มหาธีร์โมเดล’ นัยว่าเป็นการ ‘เอาคืน’ ฝ่ายทหาร
สำหรับข่าวลือเรื่องการจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ถูกปล่อยออกมาหลายครั้งแล้วนับตั้งแต่ คสช. รัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 แต่คราวนี้มีการเปิดตัวว่า นายโภคิน พลกุล แกนนำระดับสูงของพรรคเพื่อไทย เป็นคนไปพบนายอภิสิทธิ์ เพื่อเจรจาด้วยตัวเอง อย่างไรก็ดีทั้ง 2 รายปฏิเสธข่าวดังกล่าว แต่ยอมรับว่า ได้พบกันจริง
คำถามคือสูตรการเมืองนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ?
คำตอบไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเอาด้วยหรือไม่ต่างหาก
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการ ‘ร่วมหัวจมท้าย’ กับพรรคคู่อริอันดับ 1 อาจไม่ใช่แค่ ‘ฉากหน้า’ ของการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคตอนนี้ แต่ ‘เบื้องหลัง’ คือ ใครจะได้รับการบรรจุรายชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องใส่ชื่อบุคคลที่จะโหวตเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างน้อย 3 ชื่อ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ค่อนข้างแน่นอนแล้ว 1 ชื่อ นั่นคือ ดันนายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่วนอีก 2 ชื่อ ต้องรอศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคจบลงกัน
แนวทางการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยรายงานแล้วว่า อาจเป็นไปได้ 3 กรณี
หนึ่ง นายอภิสิทธิ์ ยังได้เก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ เนื่องจากแกนนำพรรคประเมินแล้วว่า เลือกตั้งรอบนี้อาจได้ที่นั่ง ‘ต่ำร้อย’ อีกครั้งในประวัติศาสตร์ของพรรค หลังเคยได้มาแล้วช่วง ‘ทักษิณ’ เรืองอำนาจช่วงกลางปี 2540 ดังนั้นให้นายอภิสิทธิ์เป็นเพียงหัวหน้า ‘ในนาม’ ไปก่อน พอแพ้เลือกตั้งแล้วค่อยมาเลือกกันใหม่
สอง นายอภิสิทธิ์ ยังได้เก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ แต่คณะกรรมการบริหารพรรค อาจวางเกมให้ใส่ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. อยู่ในบัญชีรายชื่อเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
สาม นพ.วรงค์ อาจพลิกล็อคหักปากกาเซียนนั่งหัวโต๊ะพรรค ผ่านการผลักดันของปีก กปปส. ในพรรค โดยมี ‘กำนันสุเทพ’ คอยกำกับเกมอยู่เบื้องหลังอีกทีหนึ่ง และหากเป็นไปตามนี้ ชื่อนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของไทย หนีไม่พ้น ‘บิ๊กตู่’ แน่นอน ?
แล้วสูตรไหนที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถ ‘ดีลลับ’ กับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้ ?
แน่นอนหากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ชื่อนายอภิสิทธิ์ สูตรกอดคอตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นไปไม่ได้แน่ แม้นายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค แต่ถ้ามีการ ‘สอดไส้’ ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ร่วมชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย สูตรนี้เป็นไปได้ค่อนข้างยากเช่นกัน เพราะเสียงในพรรคจะแตกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายโหวต ‘เอาบิ๊กตู่’ กับ ‘ไม่เอาบิ๊กตู่’
หากพรรคเพื่อไทย ต้องการร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ จำเป็นต้องดีลกับแกนนำกลุ่ม ‘เอาอภิสิทธิ์’ ภายในพรรคให้เรียบร้อย หลังจากนั้นค่อยมา ‘แบ่งเก้าอี้’ กันว่า ใครจะนั่งตำแหน่งไหน แต่แน่นอนสำหรับชื่อนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเพื่อไทยยินยอมให้เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ว่ากันว่าจะผลักดันนายชวน ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะได้รับการยอมรับจากฝ่ายตระกูล ‘ชินวัตร’ และคนในสังคมระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังภาพลักษณ์ดีกว่านายอภิสิทธิ์ในปัจจุบันด้วย
อย่างไรก็ดีมีตัวแปรสำคัญอีกอย่างที่ต้องคอยจับตาดู นั่นคือ การเดินเกม ‘ล้ม’ พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกรณีแถลงข่าว 4 ปี คสช. ที่ทำให้แกนนำพรรคบางรายเริ่มประเมินความเสี่ยง ส่งผลให้มีการปล่อยข่าว ‘พรรคสำรอง’ อย่างพรรคเพื่อธรรม กลับมาอีกครั้ง ว่ากันว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ในวันที่ 30 ก.ย. 2561 และดันนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อสู้เกมเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากพรรคเพื่อไทย โดนเหตุการณ์ไม่คาดฝันถูกยุบไปเสียก่อน (อ่านประกอบ : กก.บริหารชุดเก่า‘เพื่อธรรม’พ้นเก้าอี้ สะพัดประชุมพรรคใหม่ 30 ก.ย.-ดัน‘สมชาย’หน.)
ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย แกนนำฝ่าย ‘ไม่เอาบิ๊กตู่’ หรือพรรคพลังประชารัฐ ที่พร้อมเปิดตัวในวันที่ 29 ก.ย. 2561 และพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ ‘กำนันสุเทพ’ แกนนำฝ่าย ‘เอาบิ๊กตู่’
แต่อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ล้วน ๆ ?
การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค อาจถูกประเมินว่าเป็นแค่ ‘ปาหี่’ แต่ ‘หลังม่าน’ จริง ๆ คือการดีลกันว่า จะใส่ใครในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี หากปรากฏชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ก็เตรียมใจกันไว้ได้ว่า ผู้นำประเทศคนถัดไปหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าไร้ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ เมื่อไหร่ ต้องรอดูทิศทางลมว่า จะยอม ‘กัดฟัน-กลืนเลือด’ จับมือกับพรรคเพื่อไทย ตั้งรัฐบาลหรือไม่
แต่นี่เป็นเพียง ‘โค้งแรก’ ของการเลือกตั้งเท่านั้น ยังมีอีกหลาย ‘อุปสรรค’ ที่ต้องประเมินกันต่อ นอกจากนี้หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น การเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือช้าสุดเดือน พ.ค. 2562 อาจไม่เกิดขึ้น ก็เป็นไปได้ ?
อ่านประกอบ :
เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.