พลิกปูมความขัดแย้ง นปช.-เพื่อไทย ‘ตู่’หัก‘เต้น’ เซ่นยุทธศาสตร์ ‘พรรค 3 เพื่อ’?
“…แม้ฉากหน้าจะ ‘ตีกัน’ แต่หลังม่านยังคงยึดอุดมการณ์เดียวกัน สกัด คสช. สืบทอดอำนาจ ดังนั้นต้องรอดูว่า หลังศึกเลือกตั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ‘พรรค 3 เพื่อ’ ดังกล่าวจะดีลผลประโยชน์-จัดสรรปันส่วนเก้าอี้กันอย่างไร นายจตุพร จะสมหวังได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสักครั้งในชีวิต หลังจากอกหักมาจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ต้องรอลุ้นกัน !...”
ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร!
คำพูดนี้ยังคงศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งในแวดวงการเมืองไทย เพราะนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการพลิกขั้ว-ย้ายข้างทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงเวลาใกล้การเลือกตั้ง เหมือนในปัจจุบันหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ‘คลายล็อค’ ฟันฉับโร้ดแม็พมีการเลือกตั้งชัวร์ในปี 2562
เริ่มตั้งแต่การก่อตั้ง ‘กลุ่มสามมิตร’ ที่ทยอยใช้ ‘พลังดูด’ อดีต ส.ส. หลายพรรคเข้ากลุ่ม เพื่อเตรียมซบพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกตั้งขึ้นมาว่ากันว่าเพื่อหนุน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. คัมแบ็คเป็นนายกฯอีกครั้ง ?
หรือแม้แต่การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้ฉากหน้าจะแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ กลุ่มนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปีก กปปส. และกลุ่มนายอลงกรณ์ พลบุตร ก็ตาม แต่หลังม่านแล้ว ทุกคนคือ ‘เนื้อแท้’ ของพรรคประชาธิปัตย์กันทั้งนั้น เกมนี้อยู่ที่ใครจะเสนอชื่อ ‘คนที่ต้องการ’ ใส่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคมากกว่าเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดีช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของฝ่าย ‘สีแดง’ คือ ความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพรรคเพื่อไทย โดยมีฉากหน้าเป็นการสวนหมัดกันหน้าไมค์ระหว่าง ‘ตู่’ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และ ‘เต้น’ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.
ข้อเท็จจริงนี้ถูกเปิดฉากขึ้นภายหลังนายจตุพร ไปร่วมแถลงข่าวกับ ‘บิ๊กจิ๋ว’ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ คสช. ลาออก เปิดทางตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล นำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ดีฝ่ายนายณัฐวุฒิ วิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร ?
ส่งผลให้นายจตุพร ออกมาตอบโต้แบบไม่ระบุตัวบุคคลว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการยอมรับความเป็นจริง ไม่ใช่โลกสวยเอะอะอะไรก็อ้างเรื่องประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว พร้อมลั่นวาจาทิ้งท้ายว่า “ใคร่คบก็คบ ไม่คบก็อย่าคบ”
หลังจากนั้นไม่นานนายจตุพร ออกมายอมรับผ่านสื่อว่า กลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วน ได้ร่วมเคลื่อนไหวรื้อฟื้นพรรคเพื่อชาติขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการหารือกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยรวบรวมรายชื่อกลุ่มก้อนที่ไม่มีชื่อในพรรคเพื่อไทย มาลงสนามเลือกตั้ง พร้อมระบุว่า นายณัฐวุฒิ มีพื้นที่ในพรรคเพื่อไทยแล้ว ไม่จำเป็นต้องมา
นายณัฐวุฒิ ออกมาชี้แจงกรณีนี้ว่า ยืนยันกลุ่ม นปช. ไม่มีแนวคิดจัดตั้งพรรคการเมือง ส่วนใครจะไปจัดตั้งพรรคอื่น ถ้าเป็นพรรคที่ยึดแนวทางประชาธิปไตย ก็ไม่มีอะไรเป็นข้อขัดแย้ง แต่แกนนำ นปช. ส่วนใหญ่ยืนยันสิทธิเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม
ด้วยข้อเท็จจริงผ่านสื่อเหล่านี้ ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นการแตกหักกันจริงของคู่หู ‘ตู่-เต้น’ หรือว่าเป็นแผนตามยุทธศาสตร์ ‘แยกกันเดิน-ร่วมกันตี’ ของตระกูล ‘ชินวัตร’ ตามที่ปล่อยข่าวมาก่อนหน้านี้หรือไม่ก็ตาม
แต่ก่อนหน้านี้หากย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ เคยเกิดความบาดหมางระหว่างกลุ่ม นปช. และแกนนำพรรคเพื่อไทยมาแล้ว ?
โดยช่วงปี 2554 หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลายได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ตอนตั้งคณะรัฐมนตรี ‘ยิ่งลักษณ์ 1’ มีแกนนำ นปช. ได้ต่อสายดีลกับแกนนำเพื่อไทยเพื่อขอต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับแกนนำ หลังจากกรำศึกนำม็อบเข้า กทม. ช่วงปี 2552-2553 จนมีคดีติดตัวหลายราย และเกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดีช่วงเวลาดังกล่าวมีการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ภายในพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว ทำให้กลุ่ม นปช. อดเก้าอี้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี ‘ยิ่งลักษณ์ 1’ ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดีมีการเสนอ ‘กาวใจ’ ว่า อาจให้เก้าอี้รัฐมนตรีสักตำแหน่งแก่แกนนำ นปช. ในช่วงการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งถัดไป ต่อมาในปี 2555 มีการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีใหม่ คณะรัฐมนตรี ‘ยิ่งลักษณ์ 2’ โดยมี 2 แกนนำคนสำคัญอย่าง ‘ตู่-เต้น’ รอลุ้น
ต่อมาช่วงต้นปี 2555 มีการปรับคณะรัฐมนตรี ‘ยิ่งลักษณ์ 2’ คราวนี้นายณัฐวุฒิ ‘เข้าวิน’ ได้นั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่นายจตุพรยังคง ‘แห้ว’ ต่อไป หลังจากนั้นช่วงปลายปี 2555 มีการปรับคณะรัฐมนตรี ‘ยิ่งลักษณ์ 3’ โดยก่อนหน้านั้นนายจตุพรลาออกจากเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ว่ากันว่าเตรียมแต่งตัวนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสักตำแหน่ง แต่คราวนี้ก็วืดอีก มีการปรับนายณัฐวุฒิ นั่งเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ แทน
ทั้งนี้ในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ บรรดาแกนนำ นปช. มีเพียงนายณัฐวุฒิแค่เพียงรายเดียวที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง ส่วนนายจตุพร แม้เป็นหนึ่งใน ‘หัวหอก’ นำม็อบที่ผ่านมา และเสียสละยอมติดคุกติดตะราง แต่ก็ไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นเก้าอี้รัฐมนตรีแม้แต่ตำแหน่งเดียว ทำให้เกิดอาการคลางแคลงใจมากขึ้น
จนกระทั่งปี 2556 มีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มแกนนำ นปช. โดยปรับนางธิดา ถาวรเศรษฐ ไปเป็นที่ปรึกษา นปช. และให้นายจตุพร นั่งเก้าอี้ประธาน นปช. แทน นั่นจึงเป็นการส่งสัญญาณว่า นายจตุพร อาจไม่ได้รับบทบาทเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกต่อไป
กระทั่งเกิดการรัฐประหารปี 2557 นายจตุพร ค่อนข้างลดบทบาทลงไปด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งคำสั่ง คสช. และการมอนิเตอร์จากฝ่ายทหาร Peace TV ถูกปิดหลายครั้ง จนกระทั่งนายจตุพรต้องเข้าคุกอีกครั้ง ในข้อหาหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์
ช่วงที่นายจตุพรอยู่ในเรือนจำนั้น ว่ากันว่า มีการปรับทุกข์กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตผู้บริหารหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ หลายครั้ง และมีเสียงลือกันว่าได้พบ ‘ใครบางคน’ จนกระทั่งออกจากเรือนจำ ท่าทีของนายจตุพรเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด มีการ ‘รอมชอม’ มากขึ้นระหว่างกลุ่ม นปช. และฝ่ายทหาร ?
กระทั่งช่วงเดือนที่ผ่านมาจู่ ๆ นายจตุพรก็โผล่ในการแถลงข่าวร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ชูธงตั้งรัฐบาลเฉพาะการ จนไปถึงการรื้อฟื้นพรรคเพื่อชาติขึ้นมาสู้ศึกเลือกตั้งร่วมกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช กวาดกลุ่มก้อนที่เคย ‘อกหัก’ กับพรรคเพื่อไทยมาเข้าพรรค
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่าแกนนำ นปช. หลายรายให้นางธิดา เป็น ‘กาวใจ’ เคลียร์ปัญหาระหองระแหงระหว่างนายจตุพร และนายณัฐวุฒิ แล้วก็ตาม แต่เหมือนกับว่า ‘จูน’ กันไม่ติดเสียแล้ว ส่งผลให้เกิดการ ‘แยกทาง’ กันของคู่หูดังกล่าว
ส่งผลให้ยุทธศาสตร์ ‘แยกกันเดิน-ร่วมกันตี’ รอบนี้ แบ่งเป็น 3 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ 1.พรรคเพื่อไทย ที่แกนนำคนสำคัญของพรรค บิ๊กนักการเมือง และแกนนำ นปช. หลายรายยังปักหลักเป็นฐานที่มั่น 2.พรรคเพื่อธรรม นำโดยแกนนำกลุ่มบ้าน ‘ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์’ ยึดฐานที่มั่นในภาคเหนือหลังจาก ‘เจ๊’ ถูกสั่นคลอนความมั่นคงในพรรคเพื่อไทย และ 3.พรรคเพื่อชาติ คือการรวมกลุ่มก้อนของแกนนำ นปช.-คนเสื้อแดงที่ ‘อกหัก’ จากพรรคเพื่อไทย
แม้ฉากหน้าอาจดูเหมือน ‘ตีกัน’ แต่หลังม่านยังคงยึดอุดมการณ์เดียวกัน สกัด คสช. สืบทอดอำนาจ ต้องรอดูว่า หลังศึกเลือกตั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ‘พรรค 3 เพื่อ’ ดังกล่าวจะดีลผลประโยชน์-จัดสรรปันส่วนเก้าอี้กันอย่างไร
นายจตุพร จะสมหวังได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสักครั้งในชีวิต หลังจากอกหักมาจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ต้องรอลุ้นกัน !
อ่านประกอบ :
เช็คยอดเงินบริจาคพรรคการเมือง 4 ปี ปชป. 28 ล.-พท. 3.6 ล. ห่างกันหลายเท่าตัว?
‘ประยุทธ์-สมชาย-ชวน’ 3 แคนดิเดตนายกฯไทยในการเลือกตั้งใต้ปีก คสช.
จับสัญญาณ‘กลุ่มสามมิตร’ไม่ลงรอย ‘พลังประชารัฐ’ แตกหักจริงหรือกลการเมือง?
โมเดล‘เพื่อไทย-เพื่อธรรม’วางหมากสู้ คสช. ยุทธศาสตร์‘ชินวัตร’แยกกันเดิน-ร่วมกันตี?
พรรคเพื่อธรรมมาแล้ว! ‘สมพงษ์’นั่งหัวหน้า-‘นลินี’รอง หน.
กางแผนสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ-ความเป็นไปได้ พท.กอดคอ ปชป. ตั้ง รบ.แห่งชาติ?
เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยโพสต์ออนไลน์