ดิฉันเป็นนักเล่าที่ดี ‘ถ่ายเถา สุจริตกุล’ สตรีผู้มีชื่อเสียงด้านการประพันธ์
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน สำหรับแขกรับเชิญคนสุดท้าย คือเจ้าของนามปากกา “ถ่ายเถา สุจริตกุล” กับเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นนักเขียนผู้โด่งดัง
“แม่ไม่ต้องสนใจ
อยากเขียนก็เขียนไป
ใครว่าดีก็ขอบคุณ
ใครว่าไม่ดีก็ช่างปะไร”
หากจะเอ่ยถึงละครไทยที่โด่งดัง ยุคหนึ่งคงต้องนึกถึง ‘ผีบ่อน้ำ’ ในละครเรื่อง ‘มงกุฎดอกส้ม’ ซึ่งได้รับความนิยมมากเมื่อครั้งออกอากาศทางวิกหมอชิต นั่นคือผลงานละครจากนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของนักเขียน นักแปล ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง
เธอคือ ‘ถ่ายเถา สุจริตกุล’ ที่วันนี้เปิดบ้านหรูย่านชานเมือง บรรยากาศรายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ให้เกียรติสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นครั้งแรกในฐานะนักเขียนผู้เป็นตำนานของวงการวรรณกรรมไทย
“เรื่องชีวิตของดิฉัน อาจไม่เหมือนนักเขียนคนอื่น ๆ” นั่นคือประโยคแรกที่นักเขียนผู้นี้บอกกับเรา พาให้ยิ่งอยากรู้ว่า กว่าจะมาเป็นนักเขียนในวันนี้ ชีวิตของผู้หญิงอย่างเธอมีเส้นทางการก้าวเดินอย่างไร
ถ่ายเถา พาย้อนวันวานให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีดิฉันแปลหนังสือมาก่อน ซึ่งหนังสือที่เลือกแปลนั้นมาจากผลงานของบุตรชาย ‘สมเถา สุจริตกุล’ ที่ได้เขียนนวนิยายภาษาอังกฤษจำหน่ายในต่างประเทศมากมาย แต่คนไทยน้อยนักจะทราบว่าเป็นเขา เพราะใช้นามปากกา เอส. พี. สมเถา
“ดิฉันจึงใช้ความรู้ภาษาอังกฤษเท่าที่มีคัดสรรนวนิยายบางเรื่องของบุตรชายมาแปล เพื่อหวังให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านคนไทย ว่าอย่างน้อยยังมีนักเขียนไทยเขียนหนังสือฝรั่งและขายฝรั่งได้”
ถ่ายเถาใช้ฝีมือในการแปลหนังสือไปจนกระทั่งเกิดความคิดอยากจะลองเขียนนวนิยายเป็นของตัวเอง ‘มงกุฏดอกส้ม’ จึงเกิดขึ้นในบรรณโลก เธอบอกว่า “ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจเขียนเป็นอาชีพเพื่อหวังได้สตางค์ แต่เผอิญว่า นิตยสารชอบ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเค้าโครงเรื่องสั้นจีนของซูถง”
เมื่อเขียนลงในนิตยสารสองบท ปรากฎว่ามีผู้อ่านชื่นชอบเกินกว่าการคาดการณ์ไว้มาก มีคนโทรมาขอซื้อลิขสิทธิ์ไปทำละคร
“จำได้ว่า ตอนนวนิยายดังมาก ๆ เคยถูกโจมตีเช่นกัน โดยกล่าวหาดิฉันไปคัดลอกเรื่องของซูถงมา ซึ่งความจริงแล้ว เมื่อครั้งรวมเล่มจำหน่าย ดิฉันเขียนไว้ในคำนำชัดเจนว่า มงกุฎดอกส้มเขียนขึ้นจากเค้าโครงเรื่องของซูถง”
ถ่ายเถา กล่าวต่อว่า ในขณะที่เป็นละครโด่งดังแล้ว ดิฉันยังให้ผู้แทนสำนักพิมพ์ติดต่อไปหาซูถง เพื่อจะส่งสารถึงว่า ดิฉันได้นำเค้าโครงเรื่องมาจากเขาและโด่งดังมากในเมืองไทย จึงอยากตอบแทนบางสิ่งบางอย่าง แต่ปรากฎว่า ไม่ได้รับการตอบกลับมา จึงไม่ทราบว่าจะติดต่อกันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เธอย้ำว่า ในคำนำของนวนิยายเรื่องนั้นได้เขียนไว้ชัดเจนมาก แต่กระนั้นหลายคนได้กล่าวหาว่า “ดิฉันไปขโมยของเขามา”
“ความโลดโผนโจนทะยานในมงกุฎดอกส้ม ดิฉันเป็นคนทำให้ดังขึ้นมาในภาคไทย ทั้งนี้ ดิฉันไม่ก้าวก่ายในภาคภาษาจีนหรือภาคใด ๆ ทั้งสิ้น เขาจะว่าก็ช่าง ถือว่าดิฉันไม่ผิด และตอนที่เริ่มเขียนครั้งแรกเนื่องจากมีเวลาว่าง แล้วอยากจะลองเขียนแบบนี้ เมื่อมีคนชอบก็ดีใจ”
นักเขียนผู้นี้ยังยอมรับว่า เมื่อก่อนเป็นคนเปราะบางในเรื่องคำวิจารณ์มาก เพราะดิฉันไม่ใช่มืออาชีพ อย่างเรื่องมงกุฏดอกส้มเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์...ดิฉันเสียใจมาก เพราะไม่ใช่อย่างที่เราตั้งใจ เผอิญบุตรชายปลอบว่า “แม่ไม่ต้องสนใจ อยากเขียนก็เขียนไป ใครว่าดีก็ขอบคุณ ใครว่าไม่ดีก็ช่างปะไร”
อย่างไรก็ตาม หลังจากมงกุฎดอกส้มทำเป็นละครแล้วโด่งดังขึ้นมา ดิฉันก็มาคิดว่า เอ๊ะ! เรามีปัญญาแค่เอาเค้าโครงเรื่องคนอื่นมาเขียนหรือ อย่ากระนั้นเลย ดิฉันจึงเริ่มต้นเขียนเรื่อง ‘ดอกส้มสีทอง’ ขึ้นมา
เรื่องนี้เป็นของดิฉันโดยแท้จริง ไม่มีของใครเลย แต่กลับกลายว่าโด่งดังกว่ามงกุฎดอกส้มเสียอีก
“ดิฉันเป็นคนมีวินัยมาก
ส่งต้นฉบับตรงเวลา
ไม่เคยต้องมีคนมานั่งรอต้นฉบับ”
เมื่อคนบอกว่า นวนิยายของถ่ายเถาได้ขึ้นนิตยสารหัวดัง ๆ เป็นนักเขียนเกรดเพชร “ข้อนี้นั้นดิฉันปลาบปลื้มใจในระดับหนึ่ง ซึ่งในการเขียนหนังสือ ส่วนตัวใช้ความพยายามและเวลาในการเขียนมากเหลือเกิน สามารถเรียกได้ว่า ไม่ใช่มืออาชีพจริง ๆ”
ถ่ายเถาถ่อมตัว ก่อนจะกล่าวต่อว่า ดิฉันเป็นคนมีวินัยมาก ส่งต้นฉบับตรงเวลา ไม่เคยต้องมีคนมานั่งรอต้นฉบับ เพราะดิฉันเป็นคนแบบนั้นอยู่แล้ว และอย่างว่า เราไม่ได้เขียนนวนิยายมากมาย
“เหตุผลที่ดิฉันต้องใช้เวลาในการเขียนมาก เพราะเริ่มต้นเขียนเมื่ออายุมากแล้ว ประกอบกับเลือกใช้ชื่อจริงเป็นนามปากกา ด้วยคิดว่า อีกสองวันผู้อ่านย่อมรู้จัก เพราะอีกสองวันก็อาจตายเเล้ว นั่นจึงทำให้ดิฉันระมัดระวังมากในการเขียน โดยเฉพาะเรื่องศีลธรรม ภาษา ความคิดที่ถ่ายทอดลงไปในนวนิยายแต่ละเรื่อง”
ดิฉันเป็นคนโบราณ นางเอกมีสามีหลายคนได้ แต่ของดิฉันมีทีละคน ไม่ได้ลอบมีชู้ ดิฉันไม่สามารถบังคับตนเองให้เขียนแบบนั้นได้ อาจเป็นเพราะเราไม่ใช่นักมโน ทุกคนทุกวัยจึงสามารถอ่านหนังสือของดิฉันได้ แต่ก็มีบ้างอย่างบทรักที่จะค่อนข้างโลดโผน
แต่เรื่องอะไรที่ไม่คิดว่าจะเป็นพิษภัยกับใคร ดิฉันไม่ทำ เพราะชื่อดิฉันอยู่ตรงนั้น ดิฉันรักชื่อตนเอง
แล้วรู้หรือไม่ว่า แต่ละบทของนวนิยาย ดิฉันต้องทบทวนไม่ต่ำกว่า 10-20 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีอะไรที่เราสามารถปรับปรุงได้แล้ว “ทุกตัวอักษรสุดฝีมือของดิฉันแล้ว ดิฉันมีปัญญาแค่นี้ ปรับปรุงไม่ได้แล้ว ในสายตาของดิฉัน”
“ดิฉันไม่ใช่มืออาชีพ ไม่สามารถกำหนดได้ว่า นั่งเวลานี้ถึงเวลานี้จะผลิตผลงานได้เท่านี้ ดิฉันทำไม่ได้ และในช่วงเวลาที่ปล่อยว่าง ในช่วงส่งต้นฉบับบางบทไปแล้ว เมื่อไปเล่นอย่างอื่น ยอมรับว่ายากเหลือเกินที่จะกลับมาเป็นนักเขียนเพื่อสานต่อสิ่งที่เขียนไปแล้ว”
เธอยอมรับเลยว่า บางครั้งดิฉันนั่งครึ่งค่อนวันยังเขียนไม่ออกเลยสักตัวเดียว แต่พอเริ่มเขียนได้แล้ว คราวนี้จะลื่นไหล ถึงได้ย้ำว่า “ดิฉันไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ” ถึงได้บังคับตนเองให้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่มีวินัยของนักเขียน
“นวนิยายรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่”
มีความแตกต่าง
ในเรื่องความพิถีพิถัน”
เมื่อถามถึงพล็อตเรื่อง ดิฉันเขียนเรื่องที่ชื่นชอบและอยากเขียนเท่านั้น ไม่สามารถผลิตผลงานตามที่สำนักพิมพ์มอบหมายได้ เช่น สำนักพิมพ์ขอให้แปล ดิฉันทำให้ไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่แปล ดิฉันต้องล้วงลึกและมีความเข้าใจในเนื้อเรื่องที่จะแปลให้ถ่องแท้ ไม่ใช่แปลแบบดำน้ำนี่กระมัง จึงได้ย้ำเสมอว่า ดิฉันใช้เวลามาก
“ถ้าสัญญาแล้ว ดิฉันเป็นคนรักษาสัญญายิ่งชีวิต เมื่อรับปากแล้วต้องทำ เพราะถือว่า คำพูดคือเกียรติยศ ดิฉันไม่เคยผิดพลาดอะไร ถ้ารับปากแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่แน่ใจจะไม่รับปาก”
ผู้ประพันดอกส้มสีทอง ยังบอกเล่าว่า ดิฉันไม่ใช่นักเขียนนวนิยายที่เก่ง แต่ดิฉันเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่ง อย่างไรนั้นเธอขยายความ
“ดิฉันขอเป็นแบบนักเขียนฝรั่ง เวลาเขาชมไม่ได้บอกว่า คุณเขียนเก่ง แต่บอกว่าคุณเป็นนักเล่าที่เก่ง ดิฉันมโนไม่ค่อยเป็น โดยมากจะเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกันขึ้นมาเป็นเรื่องราว อย่างนวนิยายเรื่อง ‘เรยา’ นางเอกจะตายด้วยเรื่องนี้หรืออะไรก็ตาม อาการของคนเป็นโรคนี้จะเป็นอย่างไร ดิฉันต้องคุยกับคุณหมอเก่ง ๆ จะไม่มีการนั่งเทียน เพราะดิฉันนั่งเทียนไม่เป็น ทุกอย่างต้องมีข้อมูล”
...ดิฉันไม่ใช่นักเพ้อฝัน และเป็นคนที่ยึดอยู่กับความจริงมาก เพราะฉะนั้น นวนิยายของดิฉันจะไม่มีจบแบบความสุขสมหวัง ไม่มีรักกันแบบเทพนิยาย
ดิฉันจึงค่อนข้างปลื้มที่เป็น ‘นักเล่าที่ดี’ เพราะรู้สึกโก้ที่ได้มาตรฐานฝรั่ง
เมื่อถามถึงเคล็ดลับในการยืนอยู่ในวงการได้อย่างยาวนาน เธอกล่าวว่า ปัจจุบันพูดลำบาก เพราะคนอ่านหนังสือน้อยลง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าระดับหนึ่ง ความสนใจของคนส่วนใหญ่มุ่งไปที่เฟซบุ๊ก กลายเป็นโรคไปแล้ว แต่ถ้าให้ตอบ ดิฉันนั้นเป็นคนชอบอ่านหนังสือที่ไม่บอกทุกอย่างหมด แต่ต้องให้ผู้อ่านได้คิดเอง
“ดิฉันเป็นแฟนหนังสือที่เหนียวแน่นมากของ ‘สุวรรณี สุคนธา’ สมัยสาว ๆ มีหนังสือของเธอทุกเล่ม และมีอีกหลายคน บางเรื่องให้เราคิดเอง ดิฉันชอบ และมีไอดอลอีกเยอะ”
อย่างไรก็ตาม ดิฉันมีความรู้สึกว่า นักเขียนก็ตาม ศิลปินก็ตาม ทุกอย่างที่ปะทุมาเหมือนไฟ ต้องมีวันมอด มอดแล้วคุณต้องหยุด ขืนยื้อต่อไป ไม่เหมือนเดิม ข้อนี้ดิฉันอาจคิดแคบ ๆ แบบคนไม่ได้ยึดอาชีพนี้เป็นหลัก
อย่างนักเขียนฝรั่ง บางคนอ่าน ๆ แล้ว เรื่องหลัง ๆ รู้สึกไม่ใช่แล้ว ภาษาดี แต่สิ่งที่ถ่ายทอดออกมา ส่วนใหญ่พล็อตเรื่องจะซ้ำ อย่าง ‘สตีเวน คิง’ มีเรื่องดี ๆ ไม่กี่เรื่อง
“หนังสือขายดีของฝรั่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของหนังสือ แต่ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินโฆษณา ดิฉันทราบจากลูกชาย ซึ่งอยู่ในวงการ”
ทั้งนี้ นวนิยายรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มีความแตกต่างในเรื่องความพิถีพิถัน แต่ดิฉันคิดว่า ถ้าเราเขียนมาก หรือมีเวลาเป็นตัวเร่งรัด จะทำให้ความพิถีพิถันในการเขียนลดลง เธอบอกว่า นี่คือความจริง ดิฉันไม่ทราบว่าคนอื่นคิดเช่นไร แต่เข้าใจเอาเอง เพราะดิฉันไม่เคยประสบกับสภาวะอย่างนั้น เนื่องจากดิฉันเขียนตามสบาย
ก่อนจะทิ้งท้ายอย่างถ่อมตัวอีกรอบว่า “ดิฉันไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ ยังเจียมตัวอยู่เสมอว่าเป็นนักเขียนกึ่งสมัครเล่นที่บังเอิญมีคนชอบและหนังสือขายออก เท่าที่เห็นคือสุดฝีมือแล้ว ซึ่งหากมีโอกาสรับปากจะเขียนต่อไป”
‘ถ่ายเถา สุจริตกุล’ นับเป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่ปลุกชีพชีวิตตัวละครในโลดแล่นได้สมจริงในความเป็นมนุษย์ แม้เธอจะถ่อมตัวตลอดเวลาว่า “ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ” แต่ในความรู้สึกของผู้อ่านแล้ว สตรีผู้นี้คือ ‘นักเล่าเรื่อง’ ที่เก่งระดับท็อปของวงการวรรณกรรมไทย ดังที่เธอภาคภูมิใจ .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:The Writer #10 เกิดมาเพื่อเขียน ‘ว.วินิจฉัยกุล’ นวนิยายคือชีวิต ราชินีโลกวรรณกรรม
The Writer #9 ปลายปากกาสร้างชีวิต ‘ชูวงศ์ ฉายะจินดา’ เพชรน้ำเอกวรรณกรรมอาชีพ
The Writer#8 สัมผัสเรื่องราวของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ เกือบ 3 ทศวรรษ สร้างสรรค์วรรณกรรมไทย
The Writer#7 “ชลาลัย” ศิลปินสุภาพสตรีผู้โด่งดังบนบรรณโลก
The Writer#5‘วลัย นวาระ’ บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เมืองไทย ‘ควีนออฟควีน’ นิยายโรมานซ์
The Writer#4 ‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ตำนานนิยาย 12 บาท กับภารกิจสุดท้ายในโลกงานเขียน
The Writer#3 ‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย
‘บุษยมาส’ เทพีแห่งวงการประพันธ์ จากปลายปากกาอาบน้ำผึ้ง