ไทย-จีน เจรจาอีกรอบ ก.ย. หวังคู่สัญญาถ่ายโอนเทคโนโลยีทุกด้าน
เจรจาไทย-จีน ถ่ายโอนเทคโนโลยีรถไฟเร็วสูง ‘ออกแบบโยธา’ ประสบความสำเร็จ เร่งจัดทำรายงาน 6 ด้าน บินคุยอีกรอบที่แผ่นดินใหญ่ ปลาย ก.ย. คาดคู่สัญญาจะยอมให้ความรู้งานออกแบบอาณัติสัญญาณ การประกอบ
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้าในการเจรจากับจีนในเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท โดยสภาวิศวกรได้จัดประชุมหารือร่วมกับนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อกำหนดแนวทางเตรียมเสนอต่อจีนในการประชุมครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2560 ณ ประเทศจีน เพื่อพยายามทำให้ข้อเสนอมีความชัดเจนมากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นว่า ไทยมีศักยภาพปฏิบัติได้จริงในการรับการถ่ายโอนเทคโนโลยี
โดยได้มีการแบ่งหมวดหมู่ 6 ด้าน ได้แก่ การออกแบบ, การควบคุมงานก่อสร้าง, การเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา, การประกอบ, การผลิต และการวิจัย ห้องปฏิบัติการ ทั้งหมดนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาข้อเสนอ เช่น เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้ามาดูแลในเรื่องกระบวนการผลิต การประกอบตู้โดยสาร ขณะที่สภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยและที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลในเรื่องงานวิจัย
“การประชุมกลาง ส.ค.ที่ผ่านมา ไทยสามารถเจรจากับจีนได้สำเร็จในเรื่องการออกแบบ ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ส่วนการควบคุมงานก่อสร้าง ไม่ค่อยกังวล เพราะสัญญา 2.2 ระบุให้วิศวกรของไทยเข้าไปร่วมในกระบวนการทำงานด้วยอยู่แล้ว” เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าว และว่า การถ่ายโอนเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ องค์กรวิชาชีพและวิชาการ จึงต้องจัดทำรายงานให้เสร็จทั้ง 6 เดือน เพื่อจะยื่นเสนอเพื่อเจรจากับจีน เพื่ออีกฝ่ายจะยอมรับและเชื่อมั่นในความพร้อมของไทยที่จะเป็นผู้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยี
ศ.ดร.อมร กล่าวต่อว่า ไทยไม่ได้คาดหวังว่า จะต้องรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีครบทั้ง 6 ด้าน ในเฟสแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพราะยังมีเฟสสอง นครราชสีมา-หนองคาย แต่ในเฟสนี้จะเน้นในเรื่องการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติมากกว่า ทั้งนี้ ในเรื่องการออกแบบไทยมีความพร้อมมาก ยกเว้นส่วนของความเร็วสูง ซึ่งจะต้องออกแบบระบบดินให้ดี เพื่อไม่ให้รางสั่นสะเทือนเวลามีขบวนวิ่งผ่าน ไทยจึงต้องการความรู้จากจีนในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักที่จีนจะไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยโดยง่าย คือ งานระบบออกแบบสัญญาณ อาณัติสัญญาณ ไฟฟ้า รวมถึงการประกอบ ทั้งหมดนี้จะต้องเจรจาต่อไป แต่จากการศึกษาท่าทีฝ่ายจีนแล้ว อาจไม่ถึงกับไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่องดังกล่าวให้แก่ไทย แต่คล้ายกับว่า จะต้องศึกษาศักยภาพไทยก่อนว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงการฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำระหว่างเข้าร่วมประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่ ระหว่างวันที่ 4 – 5 ก.ย. ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนว่าจะมุ่งมุ่นดำเนินการในเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ให้ลุล่วง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยง ร่วมถึงจะสนับสนุนเส้นทางสายไหมด้วย .
อ่านประกอบ:สภาวิศวกรสรุปคอร์สฝึกจีน ‘รถไฟเร็วสูง’ จัดอบรม 3 วัน 18 ชม.-ทดสอบ 1 วัน 6 ชม.
ส่องเฟช-เกาะติด 25 คณาจารย์ไทย บินสัมมนา 'รถไฟเร็วสูง' 20 วันที่จีน (คลิป)
สนข.ยันจีนเปิดคอร์สอบรมรถไฟเร็วสูงให้บุคลากรไทยฟรี
รถไฟความเร็วสูง กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี "ชัวร์" หรือ "มั่วนิ่ม"
รัฐส่งบุคลากร 250 คน อบรมรถไฟเร็วสูงที่จีน -ไม่เปิดเผยรายชื่อ ‘ปลัด คค.’ อ้างไม่เหมาะสม
เรียบร้อยโรงเรียนจีน รถไฟความเร็วสูงกับคำสั่ง ม.44
วสท. แนะรถไฟเร็วสูงไทย-จีน ต้องคำนึง ศก.ยั่งยืน ไม่เฉพาะรายได้จากค่าโดยสาร
สภาวิศวกร-สถาปนิก เเถลงร่วม ยัน "จีน" ต้องผ่านอบรม ก่อนลุยรถไฟเร็วสูง
เลี่ยงจุดบอดลงทุนรถไฟเร็วสูง สภาคณบดีวิศวะ จี้รัฐให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยี - ดึงมหาวิทยาลัยร่วม
ขอให้ทบทวน มาตรา 44 ในการโครงการรถไฟไทยจีน-ผลเสียหายต่อประเทศไทย
ข้อสังเกตการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - นครราชสีมา
งัด ม.44 เร่งรัดรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช-วสท.หวั่นใช้วิศวกรจีน เสี่ยงความปลอดภัย