- Home
- Isranews
- ข่าว
- เลี่ยงจุดบอดลงทุนรถไฟเร็วสูง สภาคณบดีวิศวะ จี้รัฐให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยี - ดึงมหาวิทยาลัยร่วม
เลี่ยงจุดบอดลงทุนรถไฟเร็วสูง สภาคณบดีวิศวะ จี้รัฐให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยี - ดึงมหาวิทยาลัยร่วม
อุดจุดบอด สภาคณบดีวิศวฯไทย แนะรัฐต้องระบุให้จีนถ่ายโอนความรู้ เทคโนโลยีผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูง ใช้มหาวิทยาลัยเป็นหลัก เนื่องจากมีความพร้อมในทุกด้าน ดึงวัสดุ ใช้ฐานผลิตอุปกรณ์ในประเทศให้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.60 ที่อาคารคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 39 จัดแถลงข่าว ข้อเสนอรัฐบาลในการถ่ายโอนเทคโนโลยี เพื่อเลี่ยงความล้มเหลวและสร้างความคุ้มค่าของการลงทุนรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน มูลค่า179,000 ล้านบาท
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลใช้ม.44 ในการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา โดยอนุญาตให้วิศวกรและสถาปนิกจากจีนเข้ามาทำงานได้โดยไม่ขอใบอนุญาตนั้น ว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการให้วิศวกรไทยได้มีส่วนเรียนรู้การทำงานโครงการใหญ่กับชาวต่างชาติที่เข้ามาก่อสร้าง แต่ยังไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ประเทศไทยขาดประสิทธิภาพในการถ่ายโอน รวมถึงการพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบุคลากร เนื่องจากการถ่ายโอนทำในวงจำกัดเพียงภาคเอกชนซึ่งยังขาดความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการสอน การศึกษาวิจัย และเผยแพร่อย่างเป็นระบบ
รศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงอยากเสนอให้รัฐบาลใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานหลักเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างเป็นมาตรฐานและครบวงจรด้วยการเผยแพร่การศึกษา วิจัยพัฒนา โดยมีหลักสูตรรองรับตามกระบวนการวิชาการที่ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก พร้อมทั้งดำเนินการเผยแพร่ถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ไม่ใช่จบโครงการแล้วความรุ้ที่จำกัดอยู่ไม่กี่องค์กรและบุคคลก็อาจเลือนหายไป
“ไทยมีพื้นฐานและเป็นศูนย์กลางผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนชั้นนำของภูมิภาคโลกอยู่เเล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากหากจะมีการถ่ายทอดเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยอาศัยมหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อต่อยอดนวัตกรรมต่อไป ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญจากการดำเนินโครงการนี้” รศ.ดร.คมสัน กล่าวและว่า กรณีศึกษาความสำเร็จที่ประเทศจีนและเกาหลีสามารถถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติที่ได้ว่าจ้างก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงก็ได้นำมหาวิทยาลัยในประเทศของตัวเองมาเป็นฐานในการถ่ายโอนองค์ความรู้เหล่านั้น เพื่อถ่ายทอดให้บุคลากรในประเทศ จนปัจจุบันจีนและเกาหลีใต้พัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นของตนเองและผงาดขึ้นเป็นผุ้นำในอุตสาหกรรมด้านนี้ในระยะเวลาอันสั้น
รศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า สำหรับขอเสนอแนะต่อรัฐบาลในการถ่ายโอนความรู้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีนเพื่อเลี่ยงจุดบอดจากการลงทุนมูลค่า 1.79 แสนล้านบาท มีดังต่อไปนี้
1. รัฐต้องระบุในสัญญาทีจะลงนามกับรัฐบาลจีนในการถ่ายโอนความรุ้โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานหลัก ซึ่งมีความพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ หลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน ข้อมูลวิชาการและอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ
2. กำหนดการถ่ายโอนความรู้และวิธีการซ่อมบำรุงของระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ
3. สร้างศูนย์ทดสอบอุปกรณ์และเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่คงทนยาวนานและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งอาจารย์ นักวิจัยพัฒนา นักศึกษาและคนทำงาน
4. ส่งเสริมทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้ความเร็วสูงและจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง
5. ในการก่อสร้างโครงการฯ ควรกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุอุปกรณืที่ผลิตในประเทศให้มากที่สุดทั้งระบบรางรถไฟ ตัวรถไฟ ระบบส่งกำลังไฟและระบบอาณัติสัญญาณ
6. กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ตั้งแต่งบประมาณการออกแบบเพื่อส่งเสริมสร้างความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง
รศ.ดร.คมสัน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมทางรางแล้ว เช่นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง ซึ่งได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นรายแรกของประเทศไทยและอาเซียน นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นต้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเสริมการถ่ายโอนความรู้รถไฟฟ้าความเร็วสูงของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน