สภาวิศวกร-สถาปนิก เเถลงร่วม ยัน "จีน" ต้องผ่านอบรม ก่อนลุยรถไฟเร็วสูง
สภาวิศวกรร่วมกับสภาสถาปนิกออกเเถลงการณ์ร่วมกรณีคำสั่ง คสช.ที่ 30/2560 เกี่ยวกับมาตรการเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา ยืนยันจะติดตามดูเเลโครงการฯ เพื่อประโยชน์ของสังคมเเละประชาชน
เมื่อ 15 มิ.ย. 2560 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมในหลายประเด็น
โดยเฉพาะสาระสำคัญที่ระบุให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา และให้ได้รับการยกเว้นครอบคลุมเกี่ยวกับงานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา, งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร และยังได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 45, 47 และ 49 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกร พ.ศ.2542 และพ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543
พร้อมกับมีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรต่าง ๆ ตามความเหมาะสมด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญพบว่า การยกเว้นไม่ต้องให้ผู้ดำเนินโครงการฯ ต้องอยู่ในการควบคุมประกอบวิชาชีพ โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตฯ นั้น ได้สร้างความกังวลถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของโครงการฯ ตามมา
ล่าสุด สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก เปิดแถลงข่าว “กรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูง” ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ เคลียร์ทุกปมข้อสงสัยและกังวลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา ภายหลังเมื่อ 20 มิ.ย. 2560 ได้เข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการก่อสร้าง ซึ่งวิศวกรและสถาปนิกจีน ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีใบอนุญาต
วิศวกร-สถาปนิกจีน ต้องขอใบอนุญาตฯ ก่อนทำโครงการรถไฟเร็วสูงไทย-จีน
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวถึงกรณีวิศวกรและสถาปนิกไม่ต้องมีใบอนุญาตว่า ปกติแล้ววิศวกรและสถาปนิกต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อยู่แล้ว โดยจะมีการออกใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษและภาคีสถาปนิกพิเศษให้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกใบอนุญาตฯ ไปแล้ว 180 ใบ ดังนั้น การที่วิศวกรและสถาปนิกจีนจะเข้ามาประกอบวิชาชีพในโครงการฯ จะต้องยื่นคำขอใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษและภาคีสถาปนิกพิเศษ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาพิจารณารวดเร็วขึ้น จากปกติ 180 วัน เหลือเพียง 120 วัน เนื่องจากเป็นโครงการของรัฐที่มีความจำเป็นเรื่องเงื่อนไขเวลา
ทั้งนี้ ในด้านวิศวกรรม คสช.ยกเว้นให้ไม่ต้องมีใบอนุญาตฯ เฉพาะงานออกแบบและคำนวณ (Design) และงานที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง (Supervision) เท่านั้น ส่วนงานก่อสร้าง (Construction) ยังต้องมีใบอนุญาตฯ ไม่ว่าผู้รับจ้างเป็นไทยหรือต่างประเทศ
เร่งจัดทำหลักสูตรอบรมวิศวกร-สถาปนิกจีน
เลขาธิการสภาวิศวกร เน้นย้ำว่า แม้คำสั่ง คสช. จะให้สิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตฯ แต่ยังต้องจัดให้มีการฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการฯ
“พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 เป็นเครื่องประกันความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้เกี่ยวกับสวัสดิภาพสาธารณะ ดังนั้นผู้จะประกอบวิชาชีพนี้จะต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่สังคมและประชาชน จึงจำเป็นต้องวัดความรู้ความชำนาญในวิชาชีพว่ามีเพียงพอหรือไม่” ศ.ดร.อมร ระบุ และขอให้ทุกคนสบายใจว่า วิศวกรจีนหรือสถาปนิกจีน จะไม่ใช่แค่ถือกระเป๋าแล้วเข้ามาทำงานได้เลย แต่ต้องได้รับการทดสอบความรู้และฝึกอบรมด้วย
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร
ศ.ดร.อมร ชี้ให้เห็นถึงข้อกังวลอื่น ๆ เกี่ยวกับการออกแบบนั้น โดยปกติกว่าแบบโครงการฯ จะออกมา จีนจะมีระบบผ่านการรับรองจากผู้ออกแบบ ผู้ตรวจสอบ และผู้อนุมัติ ซึ่งทางวิชาชีพแล้ว เราควรเคารพในวิชาชีพและระบบที่จีนมี ยกเว้น หากพบความสุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับความปลอดภัย สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก จะเร่งประสานไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอเข้าไปให้ข้อเสนอแนะทันที
ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรการฝึกอบรมและทดสอบนั้น ศ.ดร.อมร มองภาพไว้ 2 ส่วน คือ ความรู้ด้านเทคนิควิชาการ ซึ่งมุ่งเน้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ของประเทศไทย และความรู้ด้านกฎหมาย ความปลอดภัย และหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ทุกประเทศต้องมี
“จีนอาจมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่เมื่อเข้ามาทำงานในประเทศอื่น อาจประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ ซึ่งแตกต่างจากจีน” เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าว และว่า ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไทยจำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ ที่สำคัญ คาดหวังว่า ไทยจะได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากจีนมาด้วย
ทั้งนี้ การฝึกการอบรมและทดสอบนั้นต้องจัดตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก กระทรวงคมนาคม (รฟท.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร:สนข.) และผู้แทนจีน เพื่อมาพูดคุยถึงรายละเอียดต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง
สภาวิศวกรเเละสภาสถาปนิก ร่วมเเถลงข่าว
เตรียมหารือ 'จีน' กำหนดบทลงโทษ กรณีพบผิดจรรยาบรรณ
มีหลายคนตั้งคำถามว่า กรณีที่จีนออกแบบโครงการไม่ได้มาตรฐาน จนก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย ศ.ดร.อมร ยืนยันว่า คำสั่ง คสช.ที่ 30/2560 ไม่ได้ยกเว้นการดำเนินคดีแพ่งและอาญา ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ก่อให้เกิดความเสียหายในโครงการฯ ย่อมต้องรับผิดชอบ ซึ่งเชิงจรรยาบรรณวิชาชีพโทษสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาตฯ ที่สำคัญ อาจต้องมีการหารือกับจีนว่า หากตรวจสอบพบความผิดในเชิงจรรยาบรรณวิชาชีพ จีนจะลงโทษอย่างไร ซึ่งลักษณะของโทษควรเท่าเทียมกับไทยและยอมรับได้
ชงตั้งองค์กรวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี
เลขาธิการสภาวิศวกร ยังระบุถึงข้อเสนอจากสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกอื่น ๆ เกี่ยวกับหลักสำคัญในการถ่ายโอนเทคโนโลยี จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยี กำหนดสัดส่วนวิศวกรไทยที่จะเข้าร่วมในโครงการ แต่ยังไม่ขอระบุว่าจำนวนเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า มีจำนวนมากแน่นอน
นอกจากนี้จะต้องกำหนดให้มีวิศวกรหรือสถาปนิกประกบในตำแหน่งงานที่สำคัญ เพื่อให้มีส่วนที่สามารถเรียนรู้งานได้เกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และต้องจัดตั้งองค์กรวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ วิศวกรและสถาปนิกไทย, สมาคมวิชาชีพ และสถาบันการศึกษา
“เราอย่าไปคาดหวังว่า ใครจะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา 100% ดังนั้นเราต้องอยู่ด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้ จึงเสนอให้รัฐบาลมีองค์กรวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีขึ้นมา”
ท้ายที่สุด ในการแถลงข่าวครั้งนี้ สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อติดตามดูแลโครงการฯ ให้ได้รับประโยชน์ต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน .
อ่านประกอบ:เลี่ยงจุดบอดลงทุนรถไฟเร็วสูง สภาคณบดีวิศวะ จี้รัฐให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยี - ดึงมหาวิทยาลัยร่วม
ขอให้ทบทวน มาตรา 44 ในการโครงการรถไฟไทยจีน-ผลเสียหายต่อประเทศไทย
ข้อสังเกตการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - นครราชสีมา
งัด ม.44 เร่งรัดรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช-วสท.หวั่นใช้วิศวกรจีน เสี่ยงความปลอดภัย