รัฐส่งบุคลากร 250 คน อบรมรถไฟเร็วสูงที่จีน -ไม่เปิดเผยรายชื่อ ‘ปลัด คค.’ อ้างไม่เหมาะสม
รมว.คมนาคม ยันรถไฟเร็วสูง สิทธิสองข้างทาง-สิทธิพัฒนาสถานียังเป็นของไทย กำหนดชัดคนขับรถต้องเป็นคนไทย ไม่ยกเลิกแผนพัฒนารถไฟรางคู่ เผยส่งบุคลากรอบรมที่จีน 250 คน ไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อ อ้างไม่เหมาะสม
วันที่ 23 มิ.ย. 2560 ที่ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คค.) แถลงข่าวกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ว่า โครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม จนกระทั่งปี 2557 รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมสานต่อ เพราะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งของไทย-คุนหมิง ประเทศจีน
นายอาคม กล่าวอีกว่า เราไม่ได้ก่อสร้างระยะทาง 3.5 กม. ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวออกไป แต่จะก่อสร้างระยะทางทั้งหมด 603 กม. ในเส้นทางแรก กรุงเทพฯ-หนองคาย แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
และระยะสอง นครราชสีมา-หนองคาย
รมว.คมนาคม กล่าวเพิ่มเติมถึงการก่อสร้างในระยะแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ว่า แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่หนึ่ง สถานีนครราชสีมา-สถานีกลางดง ระยะทาง 3.5 กม. ช่วงที่สอง สถานีสีคิ้ว 11 กม. ช่วงที่สาม สถานีแก่งคอย 119.5 กม.และช่วงที่สี่ สถานีแก่งคอย-สถานีชุมทางบางซื่อ 119 กม. รวมระยะทางทั้งหมด 253 กม. และมีจะมีการลงนามในสัญญาจ้างออกแบบระยะที่สองทันทีที่สัญญาแรกเสร็จสิ้น เพื่อจะสามารถเปิดให้บริการได้ทัน
“การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงจะช่วยเชื่อมต่อกับจีน ซึ่งนอกจากเส้นทางการคมนาคมแล้ว ยังให้ผลในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยเช่นกัน อีกทั้ง ยังจะทำให้เกิดประโยชน์ในแง่การเติบโตของเมืองระหว่างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง”
นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลได้คำนึงถึงหลักสำคัญในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งในการลงนามในบันทึกข้อตกลงนั้น มั่นใจได้ว่า สิทธิสองข้างทางเป็นของไทย จะไม่มีการยกสิทธิสองข้างทางให้แก่จีน ไม่ว่าจะในรูปแบบใด และสิทธิในการพัฒนาสถานีรถไฟยังเป็นของไทย รวมถึงการก่อสร้างต้องเป็นผู้รับเหมาไทย
ส่วนการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง จะต้องใช้ในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งยืนยันใช้เกือบ 100% เพราะไทยมีวัสดุอุปกรณ์พร้อมทุกอย่าง ขณะที่การเดินรถในวันแรกที่เปิดให้บริการ พนักงานขับรถต้องเป็นคนไทย แต่อาจต้องให้พนักงานขับรถจีนประกบด้วย ซึ่งจีนยอมรับข้อเสนอทั้งหมด
รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า 2 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการจัดส่งคณะทำงานร่วมกันสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดเส้นทาง โดยการก่อสร้างจะพยายามใช้เส้นทางตรงมากที่สุด บางช่วงอาจต้องก่อสร้างสะพานข้ามหรือเจาะอุโมงค์ลอด และคาดว่า 80% ก่อสร้างในเส้นทางของการรถไฟฯ ส่วนเวนคืนที่ดินจะทำให้น้อยที่สุด แต่ยังตอบไม่ได้ตอนนี้ว่า จะมีผู้ถูกเวนคืนที่ดินจำนวนเท่าไหร่
สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นายอาคม กล่าวด้วยว่า จีนยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ไทย ไม่ว่าจะเป็นการสอนวิธีขับรถ หรือการเรียนรู้การบำรุงรักษารถ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลได้จัดส่งบุคลากรไปเรียนรู้ฝึกอบรมแล้ว 250 คน เช่นเดียวกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกกำลังเร่งรัดจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ แต่ยืนยันว่า วิศวกรจีนหรือสถาปนิกจีนได้รับการยกเว้นเรื่องใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพเฉพาะโครงการฯ เท่านั้น จะไม่สามารถไปใช้หากินกับบริษัทอื่นได้
ส่วนมีรถไฟความเร็วสูง จะยกเลิกรถไฟทางคู่หรือไม่ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะไม่มีการยกเลิกใด ๆ โดยจะดำเนินการต่อไปตามแผนการพัฒนา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดส่งบุคลากรไปร่วมอบรมกับจีนแล้ว 5 รุ่น และเดือน มิ.ย. 2560 ได้ส่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน 25 คน รวมถึงดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการฝึกอบรม แต่ปลัดกระทรวงคมนาคมระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ โดยให้เหตุผล ไม่เหมาะสม .
อ่านประกอบ:เรียบร้อยโรงเรียนจีน รถไฟความเร็วสูงกับคำสั่ง ม.44
วสท. แนะรถไฟเร็วสูงไทย-จีน ต้องคำนึง ศก.ยั่งยืน ไม่เฉพาะรายได้จากค่าโดยสาร
สภาวิศวกร-สถาปนิก เเถลงร่วม ยัน "จีน" ต้องผ่านอบรม ก่อนลุยรถไฟเร็วสูง
เลี่ยงจุดบอดลงทุนรถไฟเร็วสูง สภาคณบดีวิศวะ จี้รัฐให้จีนถ่ายโอนเทคโนโลยี - ดึงมหาวิทยาลัยร่วม
ขอให้ทบทวน มาตรา 44 ในการโครงการรถไฟไทยจีน-ผลเสียหายต่อประเทศไทย
ข้อสังเกตการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - นครราชสีมา
งัด ม.44 เร่งรัดรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช-วสท.หวั่นใช้วิศวกรจีน เสี่ยงความปลอดภัย