ขอให้ทบทวน มาตรา 44 ในการโครงการรถไฟไทยจีน-ผลเสียหายต่อประเทศไทย
นายไกร ตั้งสง่า วิศวกรอาวุโส ทำจดหมายเปิดผนึกถึงล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คัดค้านการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีเนื้อหาดังนี้
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโครงการรถไฟไทยจีน เพื่อผลักดันโครงการนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วในสมัยที่ท่านเป็นรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันผลจากโครงการนี้อาจนำมาซึ่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงให้กับประเทศไทย อันได้แก่
1. ขาดระบบการบริหารงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ดี โครงการรถไฟไทยจีนเป็นโครงการขนาดใหญ่มากที่จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มากด้วยประสบการณ์ ช่วยกันทำงาน เพื่อให้เป็นมาตรฐาน มีคุณภาพและลุล่วงตามกำหนดเวลา เช่น การให้มีที่ปรึกษาเจ้าของงาน Project Management Consultant (PMC) , ที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้าง Construction Supervision Consultant (CSC) , ที่ปรึกษาอิสระเพื่อตรวจสอบงาน Independent Consultant Engineer (ICE) การที่อ้างว่าใช้เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมช่วยกันทำงานนี้จึงไม่น่าใช่ด้วยความใหญ่มากของขนาดของโครงการ
2. ขาดการตรวจสอบโครงการในเชิงคุณภาพของโครงการ เนื่องจากโครงการนี้ ออกแบบโดยวิศวกรสถาปนิกจีนใช้ผู้รับเหมาจีน คุมงานโดยวิศวกรจีน จึง ขาดความเป็นอิสระในการตรวจสอบ เชิงคุณภาพ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทยในการเหมาเบ็ดเสร็จให้ประเทศจีน ที่เป็นกลุ่มจากประเทศเดียวกันอันจะเป็นผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบในกรณีเกิดข้อพิพาทกันขึ้น
3. ขาดการตรวจสอบในด้านราคาค่าก่อสร้าง เพราะไม่มีการแข่งขันที่เป็น Intetnational Bidding เนื่องจากรัฐบาลมอบให้จีนเป็นผู้ทำงานนี้โดยตรง แม้ว่าจะมี เจ้าหน้าการรถไฟแฟ่งประเทศไทย( ร.ฟ.ท.) ช่วยจีนในการทำราคากลาง แต่ก็ยังไม่สะท้อนราคากลางที่เป็นจริง เนื่องจากไม่มี PMC CSC และ ICE อีกทั้งได้รับการยกเว้นพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง 2560 การอ้างราคาค่าก่อสร้างของจีน จึงไม่สามารถตรวจสอบราคากลางได้ เพราะจีนเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านราคา
4. ขาดระบบตรวจสอบ ความโปร่งใสของโครงการ เนื่องจากไม่มีการแข่งขันไม่มีการประมูล จึงไม่สามารถเปรียบเทียบทั้งราคาและคุณภาพ กับประเทศอื่นได้ การอ้างว่ารัฐบาลจัดให้มีข้อตกลงคุณธรรม Integrity Pact เพียงพอที่จะตรวจสอบโครงการได้แล้ว จึงไม่น่าจะใช่ เพราะการตรวจสอบต้องมีข้อมูลพื้นฐานทั้งราคาและคุณภาพที่เป็นมาตรฐาน ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากนิติบุคคลที่สาม ด้วยเหตุดังกล่าวองค์กรต่อต้านทุจริตคงไม่เป็นผู้รับรองให้แก่โครงการนี้
5. ขาดการตรวจสอบนิติบุคคลและบุคคลที่ทำงานโครงการนี้ เพราะได้รับการยกเว้นจากมาตรา 44 แม้ว่าจีนจะมีความสามารถในการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ในหลักสากล เป็นกฎหมายในการประกอบวิชาชีพทั่วโลกที่จะต้องตรวจคุณสมบัติของวิศวกร สถาปนิก ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการออกแบบคุมงาน ว่ามีความรู้ความสามารถและต้องได้ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพจากประเทศนั้นๆ เนื่องจากเป็นงานที่รับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การที่รัฐบาลอ้างว่าความรับผิดชอบทั้งหมด เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจีน นั่นคือ มุมมองของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนจีน แต่ตามกฏหมายไทยความรับผิดชอบในหน้าที่ออกแบบและก่อสร้างมีตั้งแต่นิติบุคคลและบุคคลทั่วไป หากมีปัญหาจากการออกแบบก่อสร้างในโครงการนี้จึงไม่สามารถเอาผิดกับสถาปนิกวิศวกรจีนได้เลย เพราะได้รับความคุ้มครองเอกสิทธิ์ในการไม่ต้องมีใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ ซึ่งต่างกับวิศวกรสถาปนิกต่างชาติอื่น ที่มาทำงานปฏิบัติวิชาชีพในประเทศไทย ซึ่งต่างเคารพในกฎหมายไทยอย่างเข้มงวด
6. ขาดการสนับสนุน ให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากเป็นโครงการที่จีนออกแบบ จีนก่อสร้าง จีนคุมงาน ใช้รางรถไฟของจีน รถไฟของจีน ไม่มีการมองอนาคตประเทศไทยในการต่อยอดสำหรับเป็นต้นแบบโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการอื่น ที่จะมีต่อไปในอนาคต เช่น การวางรากฐานกำหนดนโยบายในการคิดเพื่อวิศวกรไทยสถาปนิกไทยสามารถทำเองได้ ทั้งในการออกแบบและผู้รับเหมาไทยก่อสร้างเองได้ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ว่า 10 ปีจากนี้ ไทยต้องสามารถทำเองได้เป็นส่วนใหญ่
ข้อกำหนดเหล่านี้ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบเต็มรูปแบบ ขึ้นกับรัฐบาลว่าจะบรรจุอยู่ใน Terms of Reference ว่าให้จะเข้มข้นขนาดไหน เป็นประโยชน์กับประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาขีดความสามารถของคนไทย ทหรือจะปล่อยให้เป็นเช่นปัจจุบันในการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว
7. ขาดการเคารพกฎหมายในประเทศไทย เพราะมาตรา 44 ให้ยกเว้นกฏหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ร.บ.วิศวกร กฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายอื่นๆ ที่ทุก ประเทศ ต้องเคารพในกฎหมายท้องถิ่น ในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าท่านจะมีสัญชาติใดเชื้อชาติใด การกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติให้จีนเหนือกฎหมายไทยดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการทำลายอธิปไตยของประเทศไทยหรือไม่
จึงขอเรียกร้องวิงวอนให้ท่านโปรดพิจารณาไตร่ตรอง ในการใช้มาตรา 44 เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทย ในการบูรณาการและสร้างนโยบายรถไฟความเร็วสูงแห่งชาติในอนาคต ด้วยการให้จีน เคารพในกฎหมายไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย และต่อลูกหลานชาวไทย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://www.moneychannel.co.th