งัด ม.44 เร่งรัดรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช-วสท.หวั่นใช้วิศวกรจีน เสี่ยงความปลอดภัย
พล.อ.ประยุทธ์ งัด ม.44 เร่งรัดรถไฟเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช ยันมีความจำเป็นเพราะมีข้อจำกัดตามกฎหมาย กระทบต่อการขับเคลื่อนโครงการ ด้านวสท.หวั่นใช้กม.พิเศษให้วิศวกรจีน เสี่ยงเรื่องความปลอดภัย และไม่เห็นด้วยกับการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะใช้งบประมาณของประเทศโดยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดจากจีน
วันที่ 15 มิถุนายน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา
คำสั่ง คสช.ระบุถึงความจําเป็นต้องพัฒนาระบบคมนาคมให้ก้าวหน้า ทันสมัย และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางราง ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 แต่การดําเนินการดังกล่าวยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะข้อจํากัดตามกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนโครงการและกรอบระยะเวลาการดําเนินการ
และด้วยเหตุที่การดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้เป็นการดําเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งโดยสภาพของข้อเท็จจริงย่อมจําเป็นต้องยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบบางเรื่อง ในขณะที่จะต้องดําเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถเร่งรัดการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จได้โดยเร็ว จึงจําเป็นต้องกําหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์วิธีการไว้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบคมนาคมของประเทศนําไปสู่การพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
สำหรับสาระสำคัญ ในคำสั่ง ข้อ 2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทําสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและ ประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา ดังต่อไปนี้
(1) งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา
(2) งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา
(3) งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร
รัฐวิสาหกิจตามวรรคหนึ่งและบุคลากรของรัฐวิสาหกิจนั้น ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากต้องดําเนินการในลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม ให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม
ในการกําหนดมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง การจัดทําร่างสัญญาจ้างและเงื่อนไขอื่นในการทําสัญญาจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และผลประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน มาเป็นกรอบในการพิจารณา โดยจะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้วงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติสําหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา ถือเป็นราคากลางตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามวรรคสาม ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย รายงานผลการดําเนินการ รวมทั้งสาเหตุของความล่าช้าไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา ในการนี้ นายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควร หากนายกรัฐมนตรีไม่พิจารณาให้มีการขยายระยะเวลาออกไปตามวรรคสี่ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยุติการดําเนินการ และให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดําเนินการไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป (คำสั่ง คสช. ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา )
วันเดียวกัน ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์เลขาธิการ วสท. และรศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมการโยธา วสท. แถลงข่าวเรื่อง “ข้อเสนอต่อรัฐบาล กรณีการเร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา” โดย มีข้อเสนอที่ควรพิจารณา ดังนี้
1. วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เห็นด้วยกับสภาวิศวกรที่ได้เสนอให้นิติบุคลวิศวกรรม และวิศวกรจีนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในโครงการนี้ต้องผ่านการจดทะเบียนรับรองการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมของสภาวิศวกร ทั้งนี้ในการเข้าทํางานวิศวกรรมควบคุมในประเทศต่าง ๆ วิศวกรผู้นั้นจําเป็นต้องมีความรู้ทั้งในด้านกฎหมายก่อสร้าง สภาพการรับน้ําหนักบรรทุกของดินฐานราก สภาวะ และการตอบสนองของน้ําหนักบรรทุกสําคัญ เช่น น้ําหนักบรรทุกจร แรงลม และแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
รวมทั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การใช้กฎหมายมาตราพิเศษเพื่อยกเว้นให้วิศวกรจีนเช่นนี้ จะสร้างความเหลื่อมล้ำในการทํางานวิศวกรรมของวิศวกรต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรในภูมิภาคอาเซียน(AEC) ที่ต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติเป็นภาคีวิศวกรพิเศษจากสภาวิศวกรแล้วจํานวนกว่า 180 คน และหากวิศวกรต่างประเทศขาดความเข้าใจในภูมิสัณฐาน และระเบียบวิธีการปฎิบัติงานวิชาชีพ จะเสี่ยงต่อความปลอดภัยสาธารณะของประเทศไทย
2. การดําเนินการโครงการขนาดใหญ่
รัฐบาลได้ส่งข้อความสื่อสารสําคัญ (key message) เพื่อทําให้เกิดธรรมาภิบาลในการดําเนินโครงการขนาดใหญ่กับสาธารณะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประกอบไปด้วย
2.1 คณะกรรมการเพื่อกํากับดูแลโครงการที่มีมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป (super board) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการทุจริตและให้มีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
2.2 พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งกําหนดให้ผู้ปฏิบัติงานทําสัญญากับรัฐที่มีการควบคุมผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้งบุคคล และนิติบุคล เช่น งานวิศวกรรม
การใช้กฎหมายพิเศษเพื่อยกเว้นแนวทางที่สร้างธรรมาภิบาลดังกล่าวข้างต้น อาจทําให้เกิดความสับสน และสร้างความไม่เชื่อมั่นในการเร่งรับดําเนินการโครงการนี้
3. การก่อสร้างโครงการที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง
การทําสัญญาโครงการที่มีงานวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูงโดยทั่วไป อาจดําเนินการผ่าน “สัญญาการจัดซื้องานวิศวกรรม” (engineering procurement contract, EPC) ซึ่งสอดคล้องกับข่าวเบื้องต้นที่จะทํา EPC ที่สถานีกลางดง นครราชสีมาในระยะทาง 3.5 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งหากดําเนินการตามนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยดังนี้
3.1 การทํา EPC จะดําเนินการโครงการทั้งหมดในระยะทางสั้น และงบประมาณน้อย ซึ่งจีนเองก็ได้ดําเนินการในลักษณะเช่นนี้เมื่อเริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง
3.2 ในระหว่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยทํา EPC รัฐบาลควรกําหนดให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี (technology transferring) โดยสามารถดําเนินการได้ตั้งแต่ การคํานวณออกแบบ (design) การกําหนดรายการประกอบแบบ และวัสดุ (specifications) การก่อสร้าง และการติดตั้ง (construction and erection) รวมทั้งการซ่อม และบํารุงรักษา (repair and maintenance) ซึ่งเกาหลีใต้แม้มีความสามารถดําเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ามาแล้ว แต่ยังมีความจําเป็นต้องต้องนําเข้าชิ้นส่วน และเทคโนโลยี และเมื่อประมาณราว พ.ศ. 2525 ได้ใช้โอกาสของการทําโครงการรถไฟความเร็วสูงในการถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยได้จัดทําเงื่อนไขสําหรับผู้เสนองาน (request for proposal, RFP)1 โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เสนองานต้องช่วยให้เกาหลีใต้มีรถไฟความเร็ว 300 กม./ชม. และอนุญาตให้เกาหลีใต้ถ่ายทอด (ขาย) เทคโนโลยีให้ประเทศที่ 3 ได้ รวมทั้งการใช้ชิ้นส่วน และวัสดุภายในประเทศ
4. ข้อเท็จจริงรถไฟความเร็วสูง และโครงสร้างสาธารณูปโภค
4.1 รถไฟความเร็วสูงเป็นคู่แข่งขันกับสายการบินภายในประเทศ ด้วยเหตุที่การขนส่งโดยระบบรางนี้สามารถรับ และส่งในเมืองโดยไม่ต้องรอคอย และต้องใช้พาหนะอื่นเมื่อเปรียบกับการโดยสารเครื่องบิน ซึ่งการพิจารณาเพื่อกําหนดเส้นทางควรพิจารณาค่าโดยสารเครื่องบินต้นทุนต่ํา ซึ่งปัจจุบันมีราคาค่าตั๋วถูกมาก และเมืองหรือจังหวัดสําคัญจะมีระยะทางบินไกลสุดในประเทศไม่เกิน 1 ชั่วโมง 20 นาที หากพิจารณาระยะเวลาเดินทางรวมรอการเดินทางโดยเครื่องบินจะไม่เกิน 4 ชั่วโมง ดังนั้นหากระยะเวลาเดินทางของรถไฟความเร็วสูงในระยะทางไกล จึงอาจแข่งไม่ได้กับสายการบินต้นทุนต่ํา เนื่องจากค่าตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงนี้จะมีราคาแพงสําหรับผู้ใช้บริการทั่วไป
4.2 รัฐบาลควรพิจารณาการสร้างเมืองบริวาร โดยไม่จําเป็นต้องกําหนดเส้นทางที่ไกลมาก เพื่อให้เมืองบริวารที่สามารถเดินทางได้ภายใน 2 ชั่วโมงเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่เป็นแหล่งที่ตั้งของธุรกิจและแรงงาน ทั้งนี้การดําเนินการเช่นนี้จะหยุดยั้งการอพยพของธุรกิจและแรงงานเข้ากรุงเทพมหานครได้
4.3 รัฐบาลควรพิจารณาการพัฒนาเมือง และอสังหาริมทรัพย์ในเมืองบริวารที่ยังมีราคาไม่แพง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงในราคาไม่สูงมาก เช่น หากจะทํารถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเจตนาส่งเสริมการท่องเที่ยว และธุรกิจที่อําเภอหัวหิน อาจต่อสายทางไปถึงระนองเพื่อให้มีการพัฒนาเมืองในราคาไม่แพงและสามารถเดินทางไปหัวหินได้รวดเร็วมาก แต่ไม่มีความจําเป็นที่จะสร้างสายทางไปที่ไกลมาก ๆ
4.4 การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองบริวารจะเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชน (modes of transportation) จากรถโดยสารเป็นรถไฟ และกระจายผู้โดยสาร ณ เมืองบริวารด้วยรถประจําทางปกติ ซึ่งจะลด และบรรเทาปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และลดจํานวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้หากนําประเด็นนี้ไปเพื่อหาความตอบแทนทางเศรษฐกิจ (economicalinternal rate of return, EIRR) จะทําให้โครงการเป็นไปได้มากขึ้น และหากรัฐบาลจะพิจารณา ร่วมลงทุนจะทําให้โครงการมีศักยภาพที่จะเป็นไปได้ทางการเงิน (finance internal rate of return, FIRR) โดยมีราคาค่าผ่านทางที่ต่ําลง
4.5 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภค ทั้งงานระบบวิศวกรรมโยธา/โครงสร้าง งานระบบวิศวกรรมอาคาร รวมทั้งงานวิศวกรรมที่ปรึกษา/ควบคุมงาน ไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิเช่นอินเดีย บังคลาเทศ ไต้หวัน เป็นต้น
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคนี้ตามแนวนโยบาย ( road map) ของรัฐบาล แต่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ มีความกังวล และไม่เห็นด้วยกับการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะใช้งบประมาณของประเทศโดยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดจากจีน ทั้งนี้ไม่รวมถึงความวิตกกังวลของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ต่อท่าทีของรัฐบาลที่อาจกระทบการความเชื่อมั่น ขวัญ และกําลังใจของสมาชิกวิศวกรผู้ปฎิบัติวิชาชีพตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์สําคัญในการสร้างความปลอดภัยสาธารณะ