คำแก้ต่าง กก.ป.ป.ช. ในศาลปกครองคดีสินบน 3 ล.รพช. ซัดเละ 16 ขรก.โอนเงิน
เปิดคำแก้ต่าง ‘กก.ป.ป.ช.’ สู้ข้อกล่าวหาในชั้นศาลปกครอง คดีถูก ผอ.รพช.ผู้รับสินบน 3 ล. ฟ้องเพิกถอนคำสั่งไล่ออก ซัดข้ออ้าง 16 ขรก.โอนเงินเข้าบัญชี‘ประวิทย์’ ไม่ต้องการพกเงินสด-เงินกู้ยืม-ค่าเช่าพระเครื่อง ไม่น่าเชื่อถือ แค่กันตัวเองออกจากปมซื้อขายตำแหน่ง สวนทาง ผลสอบในชั้นไต่สวน
คดีนายทวี ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ (ระดับ 9) สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) รับเงิน 3 ล้านบาทจากนายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น (ระดับ 9) เพื่อช่วยเหลือมิให้นายประสิทธิ์ถูกโยกย้ายมารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ระดับ 8 ในส่วนกลาง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2540
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานไปแล้วว่า ในชั้นสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดผู้กระทำความผิดเพียงรายเดียวคือ นายทวี ทวีวงศ์ และในกรณีเดียวคือกรณีเรียกรับเงินสดจำนวน 3 ล้านบาทจากนายประสิทธิ์
ส่วนกรณีถูกกล่าวหาว่ารับเงินจากนายประสิทธิ์ในครั้งอื่นๆ อีก 6 ครั้ง และ กรณีเรียกรับเงินจากข้าราชการ รพช.คนอื่นประมาณ 19 คน ที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายประวิทย์ อริยกานนท์ รวมกว่า 46 ล้านบาท นั้น ป.ป.ช.เห็นว่า ‘ไม่มีมูล’ รวมถึง นายประวิทย์ อริยกานนท์ เจ้าของร้านขายเครื่องงจักรกล เจ้าของบัญชีผู้รับโอนเงินด้วย โดย ป.ป.ช.ระบุว่า ไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่าเงินที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท โอนเข้าบัญชีธนาคารของนายประวิทย์ นั้น นายประวิทย์ ได้ส่งเงินหรือโอนเงินต่อไปให้นายทวี แต่อย่างใด (อ่านประกอบ:พลิกสำนวน ป.ป.ช.!ไขปม ‘ไม่ฟัน’ ซี 9 กรณีโอนเงินผ่านแบงก์ 46 ล. ‘เอาผิดยาก’)
อย่างไรก็ตาม ครั้นเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ถูกนายทวีฟ้องในศาลปกครองสูงสุด กล่าวหาไต่สวนมิชอบ ได้แก้ต่างต่อศาลปกครองว่า คำให้การของพยานบุคคลต่างๆที่โอนเงินเข้าบัญชีนายประวิทย์ เป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2558 นายวิชัย วิวิตเสรี กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ยื่นให้การกรณีถูกนายทวี ทวีวงศ์ ฟ้องศาลปกครอง ให้เพิกถอนคำสั่งปลัดกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) ลงวันที่ 6 มี.ค.2556 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องออกจากราชการ และคำสั่งลงวันที่ 14 ม.ค.2557 ที่ลงโทษปลดออกราชการ และให้เพิกถอน มติ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย ในการประชุมเมื่อวัยที่ 4 มี.ค.2556 และให้ศาลสั่งเพิกถอนมติของ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2556
ประเด็น ข้ออ้างในคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องที่ 3 ได้มีมติว่าการเรียกและรับเงินในครั้งที่ 1-6 ไม่มีมูลและให้ยุติ แต่ได้ชี้มูลความผิดในการเรียกและรับเงินในครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นการชี้มูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
นายวิชัยชี้แจงว่า นอกจากนายประสิทธิ์ฯ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาผู้ฟ้องคดีต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งให้ถ้อยคำว่าได้จ่ายเงินให้ผู้ฟ้องคดี รวม 7 ครั้ง เป็นเงินจำนวนสูงถึง 23,000,000 บาท ยังมีข้าราชการสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทในจังหวัดต่างๆ ได้แก่
นายวรพจน์ ธีรอำพน ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ให้ถอยคำว่า ได้เคยจ่ายเงินเพื่อการโยกย้ายตำแหน่ง รวม 2 ครั้ง คือ เมื่อปี พ.ศ. 2538 นายเฉลิม พรหมเลิศ ช่วยเหลือให้พยานได้ย้ายจาก จังหวัดกาฬสินธุ์ มาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดขอนแก่น จึงได้เดินทางมาขอบคุณ นายเฉลิม พรหมเลิศ ที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ได้พบกับผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้บอกกับพยานว่า นายเฉลิมฯไม่มีเงินจะช่วยเหลือเท่าใด ต่อมาพยานได้นำเงินสดมามอบให้กับนายเฉลิมฯ จำนวน 500,000 บาท ที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท แต่นายเฉลิมฯ ได้แจ้งให้พยานนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็ได้รับไว้ และครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2539 พยานได้รับทราบในหมู่ ผู้อำนวยดารศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัด ว่าต้องจัดส่งค่าบริหารงานจำนวน 1% ของงบประมาณโครงการต่างๆ ที่ได้รับปีงบประมาณนั้นๆ ให้แก่ส่วนกลาง ในเดือน กันยายน 2539 ผู้ฟ้องคดีได้โทรศัพท์แจ้งกับพยานให้โอนเงินค่าบริหารดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนมหาไชย ชื่อบัญชี นายประวิทย์ อริยกานนท์ เลขที่บัญชี 037-2-04887-5 ในเดือนตุลาคม 2539 พยานจึงได้โอนเงินจำนวน 3,000,000 บาทเศษ เข้าบัญชีตามที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งไว้ โดยไม่เคยรู้จักเจ้าของบัญชีมาก่อน แต่ผลปรากฏว่าพยานถูกคำสั่งให้ย้ายไปเป็น ผอ.รพช.จังหวัดตราด เนื่องจากส่งเงินล่าช้า
และยังปรากฏหลักฐานว่าข้าราชการสำนักงาน รพช. ได้โอนหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนมหาไชย ชื่อบัญชีนายกิมหงวน แซ่ลิ้ม (นายประวิทย์ อริยกานนท์) เลขที่บัญชี 037-2-04887-5 ดังนี้
นายประดิษฐ์ วิไลลักษณ์ จำนวน 2,000,000 บาท
นายพิสิฐ กาญจนเตชะ หรือคำน้อย จำนวน 1,000,000 บาท
นายไพรินทร์ ปิตะโพธ์ จำนวน 12,000,000 บาท
นายจั่ว หาญห้าว จำนวน 3,000,000 บาท
นายสงวนศักดิ์ เหล่าสิทธิสุข จำนวน 6,500,000 บาท
นายสิรินพร เหล่าสิทธิสุข จำนวน 2,000,000 บาท
นายสันต์ เทศประสิทธิ์ จำนวน 600,000 บาท
นายปรีชา โพธิหัง จำนวน 55,000 บาท
นายประยูร ทัศน์ทอง จำนวน 1,000,000 บาท
นายวีรวงค์ สงวนหงษ์ จำนวน 1,000,000 บาท
นายจงรักษ์ สกุลคู จำนวน 500,000 บาท
นายสอาด ใจเพ็ชร์ จำนวน 500,000 บาท
นายปรีชาชาติ เจริญพิบูลย์ จำนวน 7,900,000 บาท
นายปัญญา หลักเมือง จำนวน 500,000 บาท
นายชัยพันธุ์ หอมวิเศษวงศา จำนวน 500,000 บาท
นายมนัส ซึ่งเจริญยิ่ง จำนวน 3,000,000 บาท (รวม 16 คน)
โดยบุคคลดังกล่าวได้ให้ถ้อยคำยืนยันว่าได้โอนเงินหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นโอนเงินเข้าบัญชีของนายประวิทย์ อริยกานนท์ จริง
เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำของพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า นายประสิทธิ์ฯ และนายวรพจน์ฯ ได้ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันว่า นายเฉลิมฯ แจ้งกับพยานว่าต้องจ่ายเงินเป็นค่าบริหารงานจำนวน 1-2% ของงบประมาณให้แก่ส่วนกลาง โดยผู้ฟ้องคดีจะเป็นผู้มารับช่วงต่อโดยผู้ฟ้องคดีจะรับเงินสดไว้เอง แต่หากเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้โอนเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) สาขาถนนมหาไชย ชื่อบัญชีนายประวิทย์ อริยกานนท์ เลขที่บัญชี 037-2-04887-5
ส่วนพยานบุคคลอื่นที่มีหลักฐานปรากฏว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีของ นายประวิทย์ฯ แม้จะไม่ได้ให้ถ้อยคำเป็นการจ่ายให้กับผู้ฟ้องคดีกับพวก เพื่อช่วยเหลือในการแต่งตั้งโยกย้าย ก็น่าเชื่อว่าเป็นการให้ถ้อยคำเพื่อมิให้ตนต้องเกี่ยวข้องกับการซื้อขายตำแหน่งนั่นเอง โดยพยานกลุ่มดังกล่าวให้ถ้อยคำโดยอ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพยานกับนายประวิทย์ฯ เจ้าของบัญชีมีความสนิทสนมเกี่ยวข้องใกล้ชิดกันเป็นการส่วนตัว
ส่วนนายประวิทย์ฯ ให้ถ้อยคำว่าเป็นเจ้าของร้านเอี่ยมแสงยนต์ จำหน่ายเครื่องจักรให้แก่หน่วยงานราชการ รวมถึงสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 และรู้จักกับเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทเป็นจำนวนมาก และรู้จักเป็นอย่างดีกับผู้ฟ้องคดี ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ออำนวยการกองเจ้าหน้าที่ ซึ่งในเรื่องการโอนเงินเข้าบัญชีของนายประวิทย์ฯ นั้น นายประวิทย์ฯ อ้างว่า
(1) นายสงวนศักดิ์ เหล่าสิทธิสุข โอนมาให้จำนวน 5 รายการ รวมเป็นเงิน 6,500,000 บาท เนื่องจากไม่ต้องการนำเงินสดติดตัวเดินทางมากรุงเทพมหานคร
(2) นายปรีชาชาติ เจริญพิบูลย์ โอนเงินจำนวน 4,500,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินยืม จำนวน 1,000,000 บาท และ 2,500,000 บาท จำไม่ได้ว่าเป็นค่าอะไร
(3) นายจงรักษ์ สกุลคู โอนเงินจำนวน 500,000 บาท เพื่อชำระค่าเช่าพระเครื่อง
(4) นายบุญส่ง จำนามสกุลไม่ได้ ตัวแทนของนายมนัส ซึ่งเจริญยิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดสกลนคร จำนวน 1,500,000 บาท จำไม่ได้ว่าเป็นเงินค่าอะไร
(5) นายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ (ผู้กล่าวหา) จำนวน 7,000,000 บาท เป็นเงินที่นายประสิทธิ์ฯ ได้ฝากแคชเชียร์มาให้ทางไปรษณีย์เพื่อให้นายประวิทย์ฯ นำเข้าบัญชี และเบิกถอนออกมาให้นายประสิทธิ์ฯ จำนวน 2,100,000 บาท จำนวน 2,900,000 บาท และ 3,000,000 บาท เนื่องจากนายประสิทธิ์ฯ ไม่ต้องการพกเงินสดเดินทางเข้ากรุงเทพ
(6) นางพรสววรค์ ทัศน์ทองภรรยาของนายประยูร ทัศน์ทอง ผอ.รพช.นครราชศรีมา จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อให้นายประวิทย์ฯ เบิกถอนคืนให้แก่นายประยูรฯ ที่เดินทางมากรุงเทพ
เห็นได้ว่าการโอนเงินในแต่ละครั้งนั้น เป็นการโอนเงินจำนวนครั้งละ 500,000-7,000,000 บาท ซึ่งเป็นการโอนเงินจำนวนมากดังกล่าว โดยข้ออ้างของนายประวิทย์ฯ ว่าไม่ต้องการพกเงินสด, เงินกู้ยืม หรือค่าเช่าพระเครื่อง ล้วนเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าเป็นการโอนโดยมีมูลหนี้กันจริง ไม่อาจรับฟังได้ และการที่นายประวิทย์ฯ ให้ถ้อยคำว่ามีความสนิทสนมกับผู้ฟ้องคดีเป็นอย่างดี ประกอบกับ จากถ้อยคำของนายประวิทย์ฯ และนายวรพจน์ฯ ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มอบหมายเลขบัญชีธนาคารของนายประวิทย์ฯ ที่จะใช้ในการรับเงิน พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่แจ้งให้ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดต่างๆ จ่ายเงินค่าบริหารงานเป็นเงินสดให้กับตนหรือโอนเข้าบัญชีของนายประวิทย์ฯ จึงส่อให้เห็นเจตนาของผู้ฟ้องคดีว่ามีเจตนาไม่สุจริตในการเรียกรับเงินจาก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือในการแต่งตั้งและโยกย้ายมาตั้งแต่ต้น รวมถึงการที่นายประสิทธิ์ฯ จ่ายเงินให้ในครั้งที่ 1-7 ให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วย โดยเฉพาะการเรียกและรับเงินในครั้งที่ 7 นั้น มีพยานบุคคลให้ถ้อยคำสอดคล้องกันมีน้ำหนักหนักแน่นเพียงพอที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จะมีมติชี้มูลความผิดแก่ผู้ฟ้องคดีได้ ข้อเท็จจริงจึงมิใช่ตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า
และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการไต่สวนโดยชอบ โดยได้พิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจนมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีในการเรียกรับเงินจากนายประสิทธิ์ฯ และนายประสิทธิ์ฯ ได้จ่ายเงินให้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2540 จำนวน 3,000,000 บาท เพื่อช่วยเหลือให้ได้ดำรงตำแหน่ง ผอ.รพช. จังหวัดขอนแก่น ต่อไป โดยไม่ต้องย้ายไปประจำท้องที่จังหวัดอื่น มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ดังนั้น ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีข้อนี้จึงมิอาจรับได้
อย่างไรก็ตาม นายทวี ทวีวงศ์ ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นคำคัดค้าน คำให้การของ ป.ป.ช.ต่อศาลปกครองสูงสุดด้วย
อ่านประกอบ:
แฉแหลก!ซิกแซกงบฯ 1,800 ล.-น้ำมันหาย 6 หมื่นลิตร-จ้างแรงงานผี คดี รพช.
‘สุทัศน์ เงินหมื่น’ ในคดี รพช.! ศาลฎีกาฯยกคำร้อง ‘ไต่สวนอิสระ’
เปิดบันทึก ‘ซี 9’ ถึงอดีตบิ๊ก รมต. ‘ขอเงินที่ส่งตามข้อตกลงคืน’ คดีสินบน รพช.
‘ป๋าเหนาะ-ประภัตร-บัญญัติ’ ชื่อโผล่ ถูก ‘ขอให้ช่วย’ คดีสินบน รพช.
โชว์สเตทเม้นท์ 3 ล. บัญชีเดินสะพัด มัดคดี ผอ.รพช. รับสินบน
ละเอียดยิบ! คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี ผอ.รพช.รับสินบน 3 ล. ในห้องทำงาน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คุก 6 ปี ผอ.รพช.รับสินบน 3 ล.'ซี 9' คดีโยกย้ายตำแหน่ง
ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย
ขมวดปมโอนเงิน 8.9 ล.! ‘ซี 8’ โชว์สัญญากู้ยืม 6 ฉบับ -ดุลพินิจ ป.ป.ช.
INFO : 20 รายชื่อ ขรก.คนใกล้ชิด โอนเงิน คดีซื้อ-ขายเก้าอี้ รพช.
ใบโอนเงิน 12 ล. แบงก์กรุงไทย-กสิกรไทย คดีสินบน รพช.
คำวินิจฉัย ป.ป.ช.กรณีหิ้วเงินสด-เช็ค 6 ครั้ง 20 ล. คดีสินบน รพช.
ไขปมไฉน! ‘เฉลิม’ เรียกคุยขอหัวคิว 2% ฟังไม่ขึ้น คดีสินบน รพช.
พลิกสำนวน ป.ป.ช.!ไขปม ‘ไม่ฟัน’ ซี 9 กรณีโอนเงินผ่านแบงก์ 46 ล. ‘เอาผิดยาก’
เปิดหมด!รายชื่อ 20 ขรก.-เมีย โอนเงิน 46 ล.คดีซื้อเก้าอี้ รพช. ในสำนวน ป.ป.ช.
เปิดหลักฐานใหม่ ! ไม่พบชื่อ‘เมีย’ซี 9 ถือหุ้นรับเหมา ช่วง‘เปิดบัญชี-รับเช็ค 5 ใบ’
เช็ค 5 ใบโผล่ คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช.! 3 ฉบับ 4.2 ล. โอนเข้าบัญชีลูกสาว ซี 9
โฉมหน้า 5 ใบโอนเงิน 6.5 ล.!อ้าง ส.ส. กาฬสินธุ์ เจ้าของตัวจริง คดีสินบน รพช.
เปิดใบโอนเงิน‘ซี 9-เมีย’ 11.5 ล.เข้าบัญชี ‘ประวิทย์’คดีสินบน-อ้าง 6.5 ล.ของ ส.ส.
เปิดตัว-คำให้การ ‘เมีย’ ซี 9 โอน 8.5 ล.เข้าบัญชี ‘ประวิทย์’ คดีสินบน รพช.
‘เมีย’อดีต ขรก.ใหญ่ มีเงินสะพัดเข้าบัญชี 30 ล. โยงคดีสินบนซื้อเก้าอี้ รพช.
INFO : เส้นทางการโอนเงินคดีซื้อขายเก้าอี้ รพช.
สเตทเม้นท์บัญชี ‘ประวิทย์’ มีเงินโอนเข้าเกิน 3 แสน 132 ครั้ง จาก 16 จ. 19 สาขา
พบ ‘ประวิทย์’ จ่ายเช็ค 98 ฉบับให้ลูกชาย 4 คนเบิกเงินสด คดีสินบน รพช.
อดีต ส.ส.-บิ๊ก รพช. ใช้บัญชี ‘ประวิทย์’ โอนเงิน ‘ซื้อที่ดิน-ดาวน์รถ-เช่าพระเครื่อง’
เปิดบทสัมภาษณ์ 'ประวิทย์' เจ้าของบัญชีเงินฝากคดี รพช. "ผมไม่ได้รวยพันล้าน"
เปิดคำให้การ อดีต ผอ. รพช. รับเช็ค 2 ล. ‘ช่วยเมียลูกชายเพื่อนทำยอดเงินฝาก’
ขมวด 5 ขรก. โอนเงินเข้าบัญชี 'เจ้าของร้านเครื่องจักรกล' 27.4 ล. คดี รพช.
คำให้การ'เฉลิม-ชัยสิทธิ์'คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช.-ปัดเปิด ร.ร.สั่งลูกน้องส่งหัวคิว 2%
ไทม์ไลน์ชัดๆ คดีเรียกรับ 3 ล. บิ๊ก รพช. 13 ปีในมือ ป.ป.ช.-ขาดอายุความ 1 ข้อหา
อดีตซี 9 ฟ้อง ผอ.รพช. อีกคดี!เรียกรับ 3 ล.- นักธุรกิจแจงแค่ยืมบัญชีโอนเงิน
เบื้องหลังจ่าย 3 ล.! คำให้การ ซี 8 “นายให้นโยบายต้องจัดส่งค่าบริหารงาน 1%”
พบอีก 2 ขรก. โผล่โอนเงินเข้าบัญชี'เสี่ย ป.'ใกล้ชิดบิ๊ก รพช. 3 ล. 'ไม่รู้ค่าอะไร'
เปิดใบโอนเงิน 3 ล้าน คดีสินบน รพช.
คำให้การลึก! คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช. คนเดียวจ่ายยิบให้ ‘บิ๊ก’ 8 ครั้ง 28 ล้าน
เปิดพฤติการณ์คดีสินบน 3 ล. ซี 9 รพช. เบิกเงินสดจากแบงก์ไปจ่ายถึงห้องทำงาน
ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย